หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การคลี่คลายคดีการเสียชีวิตที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำและการตั้งคำถาม โดยเฉพาะหากพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุให้การที่ส่อไปในทางว่า “มีพิรุธ” นั่นก็คือ “เวลาการเสียชีวิต” ของผู้ตาย
แล้วอะไรคือ “หนึ่งในความจริง” ที่สามารถพิสูจน์เรื่องนี้ได้แบบชนิดไม่สามารถ “บิดพลิ้ว” ได้เหมือนกับ “ลิ้นของมนุษย์” กันได้บ้างล่ะ? วันนี้ “เรา” ค่อยๆ มาร่วมพิจารณาในประเด็นเหล่านั้นกัน
สิ่งแรกที่ควรรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงของศพหลังจากเสียชีวิต :
1. การแข็งตัวของศพ :
ปกติศพมักจะเกิดการแข็งตัวเมื่อเสียชีวิตประมาณ 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากพลังงานในกล้ามเนื้อลดลง กล้ามเนื้อจึงเกิดการยึดตัว
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เกิดการจมน้ำเสียชีวิตนั้น มีความเป็นไปได้ที่การใช้แรงมหาศาลเพื่อพยายามว่ายน้ำเอาชีวิตรอดอาจทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย และกล้ามเนื้อใช้พลังงานมาก เมื่อเสียชีวิตจึงมีความเป็นไปได้ที่ร่างกายอาจจะแข็งตัวเร็วกว่าปกติได้เช่นกัน
2. เลือดตกสู่เบื้องต่ำ :
เมื่อเสียชีวิต เม็ดเลือดแดงจะตกตะกอนไปอยู่เบื้องต่ำของร่างกายตามแรงโน้มถ่วงโลก เช่น กรณีแขวนคอเสียชีวิต เลือดจะไปตกที่บริเวณปลายมือ ปลายเท้า หรือ หากเสียชีวิตในขณะนอนหงาย เลือดก็จะไปตกอยู่ที่แผ่นหลังเป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากเป็นการเสียชีวิตเพราะการจมน้ำ การเปลี่ยนแปลงการตายโดยการมีเลือดตกสู่เบื้องต่ำจะไม่แสดงออก เนื่องจากกระแสน้ำจะทำให้ศพที่กำลังจมไม่อยู่นิ่งและมีการหมุนไปมาตลอดเวลาในห้วงน้ำ
...
3. การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกาย :
โดยปกติร่างกายของมนุษย์จะมีอุณหภูมิปกติอยู่ที่ประมาณ 37.3 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเสียชีวิตในช่วงชั่วโมงแรก อุณหภูมิในร่างกายจะค่อยๆ ลดลงประมาณ 1-2 องศา จากนั้นจะค่อยๆ ช้าลงๆ
อย่างไรก็ดีหากเป็นการเสียชีวิตเพราะการจมน้ำ อุณหภูมิในร่างกายของศพจะลดลงเร็วกว่าปกติ เนื่องจากใต้น้ำมีอุณหภูมิเย็นกว่าบนบก
4. ภาวะอาการเน่าของศพ :
หลังสภาพศพเกิดการเปลี่ยนแปลงดังที่ได้ร่ายยาวในบรรทัดด้านบนทั้งหมดแล้ว ระยะต่อมาคือ “ภาวะอาการเน่าของศพ” โดยปกติในประเทศไทย กรณีเสียชีวิตเกิน 24 ชั่วโมง
ศพจำนวนมากมักจะเกิดอาการเน่าให้เห็นได้อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะที่บริเวณท้องน้อยที่มักจะสังเกตเห็นได้ก่อน เนื่องจากจะเริ่มมีสีเขียวคล้ำ เพราะแบคทีเรียจำนวนมากในลำไส้ไปทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
สำหรับกรณีจมน้ำเสียชีวิตนั้น หากศพจมอยู่ใต้ห้วงท้องน้ำ (ศพโดนกดทับจนจมอยู่ใต้น้ำ) โดยมากมักจะเกิดอาการเน่าช้ากว่าศพที่ลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำ เนื่องจากศพที่อยู่ใต้ห้วงน้ำจะสัมผัสกับออกซิเจนในระดับต่ำกว่าในระดับผิวน้ำ
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่ากรณีการจมน้ำเสียชีวิตการเปลี่ยนแปลงของศพ อาจจะทำให้การประเมิน “เวลา” ที่แน่ชัดในการเสียชีวิต “เกิดความคลาดเคลื่อนได้ค่อนข้างสูง”
นอกจากนี้ปัจจัยเรื่อง “อุณหภูมิ” ยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อ “การเปลี่ยนแปลงของศพ” ด้วย นั่นเป็นเพราะ หากศพอยู่ในอุณหภูมิที่สูงมากๆ (อากาศร้อนจัดๆ) โดยมากศพมักจะเกิดการแข็งตัวเร็วกว่าปกติได้ (ศพอาจจะเกิดการแข็งตัว ภายในระยะเวลาต่ำกว่า 1 ชั่วโมง) กลับกัน หากอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ (อาการเย็นมากๆ) ศพก็มักจะเกิดการแข็งตัวช้ากว่าปกติได้เช่นกัน (หลังจากเสียชีวิต อาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 2-3 ชั่วโมง ศพจึงจะแข็งตัว)
ด้วยเหตุนี้ กรณีการจมน้ำเสียชีวิต หากจะให้ได้ข้อเท็จจริงจากศพให้ได้มากที่สุด จึงขึ้นอยู่กับว่า สามารถ “พบศพ” ได้เร็วมากขนาดไหนด้วย!
หากพบศพภายใน 1 วัน สภาพศพจะยังคงสามารถค้นหาร่องรอยต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดพบรอยฟกช้ำต่างๆ ตามร่างกายได้อย่างชัดเจน แต่หากเลยเวลาจากนั้นไปแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะสามารถบ่งชี้ได้อย่างแน่ชัดว่า ร่องรอยต่างๆ ที่พบบนศพนั้น... “เป็นรอยฟกช้ำหรือเกิดจากการเน่าของศพกันแน่?”
...
แล้วยังพอมีอะไรที่เป็นหลักฐานจากศพ ซึ่งสามารถบ่งชี้ระยะเวลาในการเสียชีวิตได้บ้าง :
“อาหารที่อยู่กระเพาะผู้ตาย” คือ คำตอบที่ว่านี้!
อาหารในกระเพาะผู้ตาย สามารถบอกอะไรได้บ้าง :
สิ่งแรกควรรู้ คือ “อาหารไม่เน่าเร็วเท่ากับศพ” เพราะถึงแม้ร่ายกายภายนอกจะเกิดอาการเน่าภายในระยะเวลา 3-5 วัน แต่ “อาหารที่อยู่ในกระเพาะศพ” จะยังสามารถคงรูปเอาไว้ได้นานกว่า
ในกรณีที่เพิ่งกินอาหารเข้าไปภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง จะพบว่าอาหารต่างๆ ที่กินเข้าไป ส่วนใหญ่จะยังคงรูป (ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากนัก) อยู่ในกระเพาะของผู้ตาย
ประเด็นนี้ สามารถบอกอะไรได้บ้าง :
รู้ระยะเวลาการกินอาหารมื้อสุดท้ายกับเวลาการเสียชีวิต มีระยะเวลาห่างกันประมาณกี่ชั่วโมง?
โดยเบื้องต้น หากพบว่าในกระเพาะผู้ตาย อาหารยังไม่ย่อยเลย หรือ อาหารมีลักษณะเป็นของกึ่งเหลว ก็แปลว่า เพิ่งกินอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเสียชีวิตไม่น่าจะเกิน 1 ชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมงครึ่ง
...
แต่หากในกระเพาะพบว่า มีอาหารลักษณะหนืดๆ เหลวๆ และเหลือจำนวนอาหารไม่มากเท่าไร ซึ่งเป็นลักษณะของกระเพาะเริ่มบีบตัวคลุกเคล้าอาหารกับน้ำย่อยเพื่อส่งต่อไปยังลำไส้ ซึ่งนั่นแปลว่า ผู้ตายน่าจะกินอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
แต่หากว่าในกระเพาะอาหารว่างเปล่า ก็แปลว่า อาหารมื้อสุดท้ายที่ผู้ตายกินเข้าไปก่อนการเสียชีวิตน่าจะเลยระยะเวลามากกว่า 2 ชั่วโมงไปแล้ว หรือ ยังไม่เคยได้กินอะไรมาก่อนหน้านี้ เป็นต้น อย่างไรก็ดีในกรณีที่ไม่พบอาหารในกระเพาะนั้น โดยมากมักจะมีการตรวจพิสูจน์ต่อยังที่ลำไส้เล็กด้วยนั่นเป็นเพราะ “มีอาหารบางประเภทย่อยไม่ได้” โดยเฉพาะอาหารจำพวกผักหรือไฟเบอร์ต่างๆ เช่น ส้มโอ ส้มเช้ง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี “หลักฐานที่พบกระเพาะอาหารผู้ตายนี้” ยังมีจุดที่ต้องมีหลักฐานอื่นๆ ประกอบเพิ่มเติมด้วย เช่น...
1. “เวลา” ที่แน่ชัดว่าผู้ตายกินอาหารมื้อสุดท้ายกี่โมง ประเภทของอาหาร รวมถึง ปริมาณอาหารเบื้องต้นที่ผู้ตายกินเข้าไป
2. หลักฐานประกอบอื่นๆ ที่สามารถยืนยัน “ห้วงระยะเวลาต่างๆ ก่อนเกิดเหตุ” ได้อย่างแน่ชัด
เพื่อขจัดข้อต่อสู้ที่ว่า “แต่ละคนมีระยะเวลาในการย่อยอาหารที่แตกต่างกัน” รวมถึง การให้การเรื่องระยะเวลาที่คลาดเคลื่อนของผู้ที่ให้การเป็น “พยาน” นั่นเอง!
ทั้งนี้โดยหลักการทั่วไปแล้ว การสรุปการเสียชีวิตที่มีเงื่อนงำ สิ่งแรกที่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดต้องทำให้ “สิ้นสงสัย” คือ การมีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดให้ได้ก่อนว่า การเสียชีวิตนั้นไม่ใช่คดีฆาตกรรม
...
อย่างไรก็ดี “ตามมาตรฐานสากล” การจะไปให้ถึงข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าการเสียชีวิตในแต่ละเคสไม่ใช่การฆาตกรรม นั้น อย่างเร็วที่สุดระยะเวลาในการทำงานอยู่ที่ประมาณตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :