การเสียชีวิตของนักแสดงสาว "แตงโม นิดา" ยังมีเงื่อนงำ เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างคลี่คลายคดี และเป็นประเด็นที่สังคมติดตาม พยายามหาข้อมูลความผิดปกติต่างๆ มาเทียบเคียง และเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ราวกับเป็นนักสืบโคนัน
กระทั่งมีข้อสงสัยเพิ่มเติมอีก เมื่อกลุ่มเพื่อนสนิทของแตงโม ได้ออกมาเปิดเผยว่า แตงโมได้ทำประกันอุบัติเหตุ กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง วงเงิน 1 ล้านบาท โดยบุตรบุญธรรม ซึ่งเป็นลูกสาวแท้ๆ วัย 6 ขวบ ของกระติก ผู้จัดการส่วนตัวของแตงโม เป็นผู้รับผลประโยชน์
สร้างความงุนงงให้กับคุณแม่ของแตงโม ซึ่งไม่เคยล่วงรู้มาก่อน และกำลังให้ทนายตรวจสอบ เพราะแตงโมยังไม่ได้แจ้งรับเป็นลูกบุญธรรม ไม่มีเอกสารใดๆ ที่แสดงว่าเป็นลูกบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย และมองว่าผลประโยชน์หลังการเสียชีวิตของแตงโม ควรต้องตกเป็นของทายาท หรือบุคคลในครอบครัว
โดยทั่วไปแล้วบริษัทประกันส่วนใหญ่ จะแจ้งว่าผู้รับผลประโยชน์ประกัน จะต้องเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ตามทะเบียนราษฎร หรือผูกพันทางสายเลือด เพื่อป้องกันความเสี่ยง อาจเกิดขึ้นจากการฆาตกรรมผู้ทำประกันเพื่อหวังเงินประกัน และกรณีต้องการจะมอบผลประโยชน์ให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่ทางสายเลือด เป็นสิทธิขาดของผู้ทำประกัน สามารถทำได้ แต่ต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัดถึงเหตุผล และมีส่วนได้เสียกับผู้ที่เอาประกันตามกฎหมาย
...
เช่นเดียวกับกรณีผู้ทำประกันแต่งงาน แต่ไม่ได้จดทะเบียน หรือมีคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทประกันหลายแห่งรับทำประกัน แต่จะต้องแสดงหลักฐานเพิ่มเติมตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัทที่กำหนดขึ้นมา
นอกจากนี้ การระบุผู้รับผลประโยชน์ คนละนามสกุลกับผู้ทำประกัน หรือไม่ใช่ญาติ หากผู้ทำประกันเสียชีวิต อาจนำมาซึ่งปัญหา ฝ่ายญาติที่แท้จริงอาจมีการฟ้องร้องและสงสัยในการทำประกัน หรือญาติมองว่าผู้รับผลประโยชน์ทำการฆาตกรรม เพื่อหวังเงินประกันก็ได้
เพื่อขยายความในเรื่องนี้ให้ชัดเจน กรณี แตงโม ระบุผู้รับผลประโยชน์ประกันอุบัติเหตุ วงเงิน 1 ล้านบาท เป็นของลูกสาวกระติก จะเข้าข่ายเป็นโมฆียะหรือไม่ เพราะไม่ได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ด้าน "นิติธร แก้วโต" หรือ ทนายเจมส์ อธิบายว่า เป็นเรื่องสิทธิของผู้ทำประกันในการมอบผลประโยชน์ให้กับคนอื่น และขณะนี้ยังไม่เห็นตัวกรมธรรม์ว่ามีเงื่อนไขอะไรเป็นข้อห้ามในการจ่ายค่าสินไหม จึงไม่สามารถฟันธงได้อย่างชัดเจน
แต่ได้ตั้งข้อสังเกต บริษัทประกันสามารถปฏิเสธในการจ่ายค่าสินไหมได้ใน 2 กรณี โดยกรณีที่ 1 ผู้ทำประกันปกปิดสาระสำคัญ เช่น หากบุคคลทำประกันให้กับผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันทางความสัมพันธ์ เพื่อป้องกันธุรกิจการค้าความตาย เพราะอาจมีการจ้างให้ทำประกัน
"เพราะฉะนั้นบริษัทประกัน เลยบอกว่าคนที่จะทำประกันจะมอบผลประโยชน์ให้กับใคร ต้องมีความสัมพันธ์กันไว้ก่อน แม้หลังๆ นี้มีบางบริษัทประกันเปิดให้คู่รัก LGBT ทำประกันบ้างแล้วก็ตาม และกรณีบุตรบุญธรรม ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ทางบริษัทประกันสามารถปฏิเสธได้ และอ้างว่าคุณแตงโม ปกปิดข้อมูลก็ได้ เพราะตามสัญญาประกันระบุว่า ผู้ทำประกันมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ทราบ เป็นส่วนหนึ่งในการทำสัญญา ทำให้สุดท้ายไม่จ่ายก็ได้”
อีกกรณีหนึ่งซึ่งทุกกรมธรรม์ระบุไว้ชัด ในการปฏิเสธการจ่าย หากผู้ประกันถูกฆาตกรรมโดยผู้รับผลประโยชน์ แต่กลับกลายว่าผู้รับผลประโยชน์เป็นเด็ก สมมติว่าพ่อแม่เด็กผู้รับผลประโยชน์ มีการวางแผนฆาตกรรม เป็นเงื่อนไขที่บริษัทประกันไม่จ่ายอย่างแน่นอน เพราะผู้มีสิทธิเปิดบัญชีเป็นพ่อแม่ และเด็กเล็กไม่สามารถไปเปิดบัญชีได้ หรือถ้าผู้รับประโยชน์ร่วมมือฆาตกรรม ก็เข้าเงื่อนไขไม่จ่ายค่าสินไหม
...
กรณีของแตงโม ทำประกันให้กับบุตรบุญธรรม ยังไม่มีที่มาที่ไปว่าได้ทำโดยตรงด้วยตัวเองหรือไม่อย่างไร และการทำสัญญาประกัน ทางแตงโมได้บอกข้อมูลสาระสำคัญและเหตุผลในการให้บุตรบุญธรรมรับผลประโยชน์อย่างชัดเจนหรือไม่
“หากกระติกทำเอง ระบุชื่อแตงโมเป็นผู้ทำประกัน ก็ถือว่าคิดสั้นที่สุด เพราะเหตุที่เกิดขึ้นยังตอบสังคมไม่เคลียร์ และมาทำอย่างนี้อีก ต้องดูว่าบริษัทประกันจะพิจารณาอย่างไร เพราะไม่มีใครเห็นกรมธรรม์ หรือปฏิเสธการจ่ายด้วยการคืนเบี้ยทั้งหมดให้กับแม่แตงโม เพราะคนอื่นไม่มีสิทธินั้น ยกเว้นไม่มีการระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ ก็จะตกเป็นของทายาทโดยธรรม”.
...