อำพันทะเล ถือเป็นของล้ำค่าที่อยู่ในทะเล ซึ่งล่าสุดวันนี้ (20 ก.พ.) มีรายงานว่า นางอัญมณี สะรียายอ สาวผู้โชคดี เจออำพันทะเลหนักกว่า 30 กิโลกรัม ระหว่างไปเที่ยวพักผ่อนที่หาดตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จ.ปัตตานี ได้ประกาศขายอำพันทะเลดังกล่าว หลังจากนำไปตรวจที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ว่าเป็นอำพันทะเลของจริง
อำพันทะเล ข้อมูลจากเว็บไซต์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ระบุไว้ว่า อำพันทะเล (Ambergris) คือ ขี้วาฬ หรือ อ้วกวาฬหัวทุย (ขึ้นอยู่กับวาฬจะขับออกมาทางไหน) เกิดจากอาหารที่วาฬกินเข้าไป คือจำพวกหมึก แต่ร่างกายของวาฬไม่สามารถขับไขมันจากหมึกได้ ทำให้ไขมันของหมึกสะสมอยู่ในลำไส้ จนร่างกายขับถ่ายไขมันส่วนนี้ออกมาพร้อมอุจจาระ หรือสำรอกไขมันออกมา ที่เรียกว่า อ้วก ส่วนที่ออกมาสามารถละลายในน้ำทะเลได้อย่างอุจจาระ อ้วก หรือสารอื่นๆ ก็จะละลายไปกับน้ำทะเล แต่ไขมันจากหมึก ไม่สามารถย่อยสลายได้ จึงลอยตัวอยู่บนผิวทะเล
...
ปกติแล้วอำพันทะเลจะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์สักเท่าไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป เป็นเดือน ปี แสงแดดและน้ำทะเลจะทำปฏิกิริยากลายสภาพเป็นก้อนสีขาว น้ำตาล เทา หรือสีดำ ตามระยะเวลาของการทำปฏิกิริยา เมื่อเวลานานไป กลิ่นของขี้วาฬกลายเป็นกลิ่นหอม คล้ายกลิ่นน้ำมันหอมระเหย โดยเมื่อหลายร้อยปีก่อน นักทำน้ำหอมได้มีการจัดลำดับคุณภาพของขี้วาฬ ตามสีสันของมัน โดยสีออกดำนั้นจะมีมูลค่าน้อยสุด
ถึงแม้มูลค่าของ “อำพันทะเล” จะมีราคาสูง เหมาะสมในการทำน้ำหอมเกรดพรีเมียม แต่...เป็นที่ต้องการแค่ไหน คนที่เคยเจอในอดีต ขายได้หรือยัง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงสอบถามไปยังผู้ที่เคยค้นพบ “อ้วกวาฬ” หรือ “อำพันทะเล” เมื่อปีที่แล้ว คือ นายณรงค์ เพชรราช หรือแมว อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35/6 หมู่ 3 ต.ตะกรบ อ.ไชยา อาชีพทำประมงพื้นบ้าน ที่เคยเจอ “อำพันทะเล” น้ำหนักกว่า 30 กิโลกรัม โดยนายณรงค์ ตอบว่า “ป่านนี้ยังขายไม่ได้เลย มีแต่คนมาดูแล้วก็ไป ทั้งที่มีการพิสูจน์จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา แล้วก็ตาม ซึ่งก็ยืนยันว่ามันคือก้อนที่มาจากไขมันสัตว์ในทะเล”
ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงบางเขน กล่าวว่า “ขี้วาฬ” นั้นเป็นของเฉพาะ และคนที่ต้องการของเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเมืองไทย เพราะเขาจะนำไปใช้เป็นสูตรผสมทำ “หัวน้ำหอม” ระดับพรีเมียม ส่วนมากทำในยุโรป ฉะนั้นการที่เขาจะเดินทางมาซื้อถึงประเทศไทยนั้นอาจจะไม่จำเป็นขนาดนั้น เพราะอย่างประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เขาก็มี หรือแม้ในประเทศยุโรปก็มี
“อำพันทะเล” ถามว่ามีมูลค่าสูงไหม... ดร.ธรณ์ บอกว่า สูงมาก แต่...ถ้ามันขายได้นะ ซึ่งถามว่ามีความต้องการมากแค่ไหน คำตอบคือ “มีจำกัด” เพราะเป็นของที่นักธุรกิจบางกลุ่มต้องการ อีกทั้งไม่ได้อยู่ในเมืองไทย และก็เฉพาะเจาะจงต้องมาตามหาซื้อที่เมืองไทย..
ที่ผ่านมาก็มีการพบเจอ “อำพันทะเล” ค่อนข้างบ่อย แต่คำถามคือ เจอแล้วไปพิสูจน์ และหากพิสูจน์เสร็จแล้วยังไงต่อ...ก็ทำได้แค่เก็บไว้ และวันหนึ่งหากเขาต้องการเมื่อไหร่ เขาก็อาจจะมาหาซื้อ แต่ของแบบนี้ไม่เหมือนทองคำที่สามารถเดินไปขายได้เลย
ถามว่า ที่มีการเจอในเมืองไทย ใช่...ขี้วาฬไหม ดร.ธรณ์ ตอบว่า มันอาจจะใช่ เพราะ ขี้วาฬ อ้วกวาฬ เหล่านี้มันก็ลอยมาตามทะเล และในประเทศไทยก็พบวาฬหัวทุยอยู่บ้าง หรืออาจจะลอยมาจากที่อื่นก็ได้
ซึ่งคุณภาพของขี้วาฬก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งถามว่ามูลค่าแตกต่างกันแค่ไหน ก็คงขึ้นอยู่กับผู้รับซื้อ ผมเองก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนซื้อ อีกทั้งเชื่อว่าบริษัทน้ำหอมก็คงไม่เอาราคามาบอกง่ายๆ น่าจะเป็นเรื่อง “ความลับ” บริษัท
...
เมื่อถามว่า ในขั้นตอนการตรวจสอบ ในใบเซอร์ ก็ไม่ได้บอกว่าเป็น “อ้วกวาฬ” หรือ “อำพันทะเล” แค่ระบุว่าเป็นไขมันสัตว์จากทะเล ดร.ธรณ์ อธิบายในประเด็นนี้ว่า ถือเป็นเรื่องปกติ ที่สถาบันที่รับตรวจ เขาจะระบุว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง ระบุว่าเป็นไขมันจากสัตว์ทะเล ซึ่ง “ไขมันจากสัตว์ทะเล” จะเข้าใจกันว่า คืออ้วก หรือขี้วาฬ แต่นี่คือความเข้าใจทั่วไป ใช่ว่ามันคือ “อ้วกวาฬ” แล้วจะขายได้
“อำพันทะเล” อาจจะมาจากวาฬชนิดอื่นๆ ได้ แต่ที่นิยมและมีราคาแพงก็ต้องมาจาก “วาฬหัวทุย” เพราะเขานิยมใช้จากวาฬชนิดนี้มานับร้อยปีแล้ว คิดว่าน่าจะได้สูตรผสมลงตัวกันมาแล้ว.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
...