สุดท้ายก็ต้องออกมาขอโทษอย่างจริงจังและจริงใจ (อีกคน) สำหรับ “แจ็ก แปปโฮ” หรือ นายจาตุรงค์ พาโพธิ์ ยูทูบเบอร์สายกวนชื่อดัง ที่มีคนติดตาม 3.75 ล้านคน (ข้อมูล 5 ก.พ.65) ที่มักทำคลิปคล้ายท้าตี ท้าต่อย เขาไปทั่ว บางครั้งก็เล่น “พิเรนทร์” จนถูกวิพากษ์วิจารณ์

แต่...เหตุการณ์ล่าสุดก็ขำไม่ออก เมื่อเข้าไปร่วมงานเลี้ยง ณ ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง ที่มีการจัดเลี้ยงสังสรรค์ภายใน โดยมีเจ้าภาพ คือ “หมอสุนิล” หมอฟันคนดัง เจ้าของคำติดปาก “โย่ว...โย่ว” ซึ่งระหว่างงานเลี้ยง มีจังหวะหนึ่ง นายจตุรงค์ หรือ “แจ็ก แปปโฮ” ได้ใช้เท้าเหยียบขึ้นโต๊ะ เพื่อก้าวไปหาหมอสุนิล จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งต่อมาเจ้าตัวก็ได้อธิบาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็เหมือนราดน้ำมันบนกองเพลิง เพราะประโยคคำถามว่า “คนที่ด่า...เคยทำความดีเหมือนกับเขาไหม?” แถมซ้ำอีกคลิปด้วยการใช้ “เท้ากดโทรศัพท์...ต้องขออนุญาตไหม..?” จนกระทั่งเจอ “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” พิธีกรข่าวชื่อดัง มาตอบแทนให้

แจ็ก แปปโฮ ยกมือไหว้ขอโทษ
แจ็ก แปปโฮ ยกมือไหว้ขอโทษ

...

"พี่ตอบแทนคนดูแล้วกันนะแจ็กนะ อย่าโกรธพี่นะแจ็กนะ แจ็กเอา เท้าปิดโทรศัพท์ตัวเองไม่มีใครโกรธ แต่ถ้าปิดโทรศัพท์พี่ ก็ต้องโดนกลับไปเหมือนกัน ลักษณะเหมือนกันครับ เอาเท้าลูบหน้าตัวเองไม่มีใครว่า แต่ถ้าลูบหน้าคนอื่นก็ต้องโดน เป็นเรื่องปกติ"

หลังจากหนุ่ม กรรชัย ตอบไปไม่นาน “แจ็ก” ก็ออกมาขอโทษอย่างจริงจังในที่สุด

“อย่าว่าแต่ยืนบนโต๊ะเลย ขนาดในร้านที่มีเบาะ สำหรับนั่งพื้น คนญี่ปุ่นยังไม่เหยียบบนเบาะเลย เพราะเขารู้สึกว่า เดี๋ยวจะมีคนอื่นมานั่งต่อ แล้วมันจะเลอะ”

นี่คือคำตอบของ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของนามปากกา เกตุวดี คอลัมนิสต์เว็บไซต์ Marumura ผู้คร่ำหวอดในสังคมญี่ปุ่น

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ  เจ้าของนามปากกา เกตุวดี
ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เจ้าของนามปากกา เกตุวดี

ดร.กฤตินี บอกกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า บริบทการกินอาหารของคนญี่ปุ่น จะยึดถือเรื่องความสะอาดมาก ยกตัวอย่างหากไปรับประทานอาหารประเภท “ซูชิ” ที่มีเคาน์เตอร์ หากเราหยิบจานซูชิไปแล้ว รับประทานแล้ว ในจานมีซอสเลอะอยู่ เขาก็เอาไปทำความสะอาดใหม่ทั้งหมด เพราะคนญี่ปุ่นจะ “ระมัดระวัง” เรื่องนี้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ เวลาเขาจะรับประทานอาหาร เขายังใช้ “สายตา” ร่วมรับประทานด้วย หมายถึงว่า ทุกอย่างต้องดูดี เรียบร้อย และสะอาดสบายตา

“ไม่ว่าจะไปรับประทานอาหารที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ที่ราคาไม่แพงก็ตาม เราเข้าไปที่ร้าน บนโต๊ะอาหารจะสะอาดมาก จะไม่มีเศษอาหารเลย เพราะเขาให้ความสำคัญกับความสบายตา สบายใจ ในความสะอาด”

กูรูประเทศญี่ปุ่น ยังบอกอีกว่า หากสังเกต ครัวในประเทศไทย หรือประเทศอื่นๆ เราจะไม่ค่อยเห็นเขาทำอาหาร แต่ร้านญี่ปุ่นจำนวนมาก จะมีครัวอยู่ข้างหน้าเลย โดยเฉพาะร้าน “ซูชิ” เมื่อลูกค้าเดินเข้ามา เชฟจะมองเห็นก่อน

“ร้านซูชิออกแบบมาแบบนี้ เพื่อให้  “เชฟ” ได้เห็นว่าลูกค้าเป็นใคร เขาจะได้ทำอาหารหรือจัดให้ถูกต้อง เช่น หากเห็นว่าเป็นคนแก่ กินปลาหมึกเหนียวไม่ได้ เขาจะได้จัดอาหารให้ถูกต้อง”

วัฒนธรรมญี่ปุ่น เขาจะเห็นชาติที่ใส่ใจในรายละเอียด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ทุกอย่างต้องดูดี เรียบร้อย เพื่อวันถัดมา เรานำของมาใช้ก็จะยังดูใหม่อยู่เสมอ

หากคนญี่ปุ่น เห็นภาพเหล่านี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร ดร.กฤตินี ตอบว่า คิดว่าเขาอาจจะ “อึ้งๆ ไปเหมือนกัน” เพราะคนญี่ปุ่น ถึงแม้จะเมาหนักแค่ไหน เขาก็จะไม่ทำอะไรแบบนี้ เพราะเขาคิดเสมอว่า เวลาเขาทำอะไร เขาจะนึกถึงคนอื่น คนถัดมาที่มาใช้บริการเสมอ และยิ่งมาเห็นแบบนี้ มาเหยียบบนโต๊ะกินข้าว เขาก็คงรู้สึกแย่”

...

นอกจากนี้ เจ้าของนามปากกา เกตุวดี ยังได้ยกตัวอย่างให้เห็น ในงานประเพณีชงชา หากเราได้รับเชิญไปบ้านเพื่อน ผู้หญิงก็จะใส่ชุดกิโมโน ถุงเท้าสีขาว โดยจะพกถุงเท้าอีก 1 คู่ ไป เพื่อที่ว่า เมื่อเราไปถึงบ้านแขก เราก็จำเป็นต้องเปลี่ยนถุงเท้า เพราะเขารู้สึกว่า “ถุงเท้าที่ใส่เดินข้างนอกมันสกปรก เราจะไม่อยากให้สิ่งสกปรกเข้าไปในบ้านเขา”

ธรรมเนียมนี้ถูกส่งต่อไปถึงบริษัทที่จะช่วยย้ายบ้าน พอถึงบ้านลูกค้าเขาก็จะเปลี่ยนถุง เขาจะบอกลูกค้าว่าเรา “ให้เกียรติสถานที่”

นอกจากนี้ ญี่ปุ่น ยังมี “มารยาท” ที่เปรียบเสมือนกฎที่มองไม่เห็น เช่น เขาคำนึงถึงตำแหน่งนั่งรับประทานอาหาร เช่น หากไปรับประทานกับหัวหน้า หัวหน้าจะต้องนั่งด้านในสุด ถ้าเป็นลูกน้องตำแหน่งเล็กที่สุด อาจจะต้องนั่งหันหลัง ซึ่งการจัดทำแบบนี้ เหมือนกับเป็นการให้เกียรติผู้ใหญ่ จะต้องได้สิ่งที่ดีสุด หรือ ตำแหน่ง นั่งแท็กซี่ หรือ ในรถยนต์ หากเป็นคนที่ตำแหน่งใหญ่สุด จะนั่งด้านหลัง ข้างหลังคนขับรถ ส่วนใครที่เป็นลูกน้องต่ำสุด ก็จะนั่งในตำแหน่งด้านหน้า ข้างๆ คนขับ เพื่อจะได้จ่ายเงิน หรือคอยดูแล

...

ผู้เขียน : อาสาม 

กราฟิก : Chonticha Pinijrob 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ