"คุณจะมาหยุดโลกไม่ได้ สิ่งที่คุณทำคือต้องวิ่งตามโลกอย่างเดียว...?"

นี่คือคำพูดของ นายจตุรงค์ แก้วกสิ ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ที่มีโอกาสได้สื่อสารกับรถรับจ้างท้องถิ่น หลังเกิดกรณี ลูกชายหมอฟันคนดัง วิวาทะกับคนขับแท็กซี่ จนเป็นที่มาของการแก้ปัญหาเรื่อง "ค่าโดยสารแพง" ซึ่งถือเป็นประเด็นคลาสสิก ของเมืองท่องเที่ยวหลายๆ แห่ง ที่คนขับรถ "บางคน" เลือกที่จะ "ฉวยโอกาส" จากการ "ไม่รู้" ราคาค่าโดยสาร หรือ บางแห่งก็ยังไม่มีมาตรฐานด้านราคา

ขนส่งจังหวัดภูเก็ต เผยความคืบหน้าคดีนี้ว่า เหตุที่เกิดขึ้น เราได้ลงพื้นที่ "คาเฟ่" ดังกล่าว โดยมีการเชิญผู้จัดการร้าน คนขับรถแท็กซี่ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดไปร่วมพูดคุยเพื่อวางแนวทางการแก้ปัญหาที่สถานีตำรวจ สภ.กมลา ซึ่งก็ได้ทางออกร่วมกัน คือ ทางร้านจะจัดเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลในการเรียกรถแท็กซี่ พร้อมข้อมูลค่าบริการในการใช้รถรับจ้าง โดยจะใช้ "อัตราอ้างอิง" ที่ทางจังหวัดได้ประกาศแนะนำไว้ โดยมีการประสานกับกลุ่มแท็กซี่เพื่อมาให้บริการ

การแก้ปัญหาดังกล่าว เราพยายามหาคนกลาง เพื่อแก้ปัญหาการเจรจาราคาค่าบริการให้จบ ซึ่งทางร้านค้ายืนยันว่าจะแก้ปัญหาให้จบ โดยการตั้งเคาน์เตอร์บริการ ซึ่งทางร้านจะดำเนินการทันที

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดภูเก็ต ที่เพิ่งเข้าประชุมไปเมื่อวันจันทร์ ได้กำชับให้ทางขนส่งฯ ร่วมกับทางตำรวจ ลงพื้นที่ที่มีรถรับจ้างสาธารณะ เช่น ป่าตอง เชิงทะเล กะรน ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญ เพื่อทำความเข้าใจกับผู้บริการรถสาธารณะ โดยเน้นย้ำให้ยึดถือตามประกาศคำแนะนำของจังหวัด เพราะเป็นราคาที่มีความเป็นธรรม หากมีการร้องเรียนใดๆ เราจะใช้ราคาตรงนี้อ้างอิงได้ ไม่ใช่เป็นการ "โก่งราคา"

...

เบื้องหลังการตั้งราคา และมาตรการระยะยาว

นายจตุรงค์ กล่าวกับผู้เขียนว่า มาตรการระยะยาว ทางจังหวัดภูเก็ตจะส่งเสริมการใช้ "แท็กซี่มิเตอร์" มากขึ้น แต่จะมีการทบทวนเรื่อง "อัตราค่าโดยสาร" อีกครั้ง เพราะ "บริบท" ของภูเก็ต กับจังหวัดอื่นๆ มีความแตกต่างกัน เพราะหากไม่สะท้อนการให้บริการตาม "บริบท" ในพื้นที่ อาจจะไม่มีใครสนใจมาให้บริการ...

ตอนนี้ขนส่งฯ กำลังประสานกับหน่วยงานเอกชนแห่งหนึ่งให้ช่วยคำนวนค่าแท็กซี่มิเตอร์ในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าและผู้ใช้บริการพอใจ โดยหวังว่าจะมีผู้ให้บริการแท็กซี่มิเตอร์เพิ่มมากขึ้น

บริบทที่ว่า คืออะไร มาตรฐานการตั้งราคาคิดจากอะไร ขนส่งจังหวัดภูเก็ต อธิบายเพิ่มเติมว่า การขับรถบริการสาธารณะในภูเก็ต เวลานำผู้โดยสารไปส่ง คนขับก็ต้อง "ตีรถเปล่า" กลับ เท่ากับเราวิ่ง 2 ขา (ขาไป-กลับ) ดังนั้น เวลาคิดก็จะคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย แต่.... ไม่ใช่จะคิดราคา "คูณ 2" แต่อาจเป็นการคำนวณค่าขากลับให้ ยกตัวอย่างเช่น จากป่าตองไปกมลา ราคา 400 บาท ราคานี้ คือคิดรวมราคาตีรถเปล่าด้วย 100 บาท

"ถ้าไม่มีต้นทุนเดินรถขากลับ คนขับรถรับจ้างก็อาจจะอยู่ไม่ได้ เชื่อว่าเป้าหมายของคนขับรถไม่ได้หวังที่จะโก่งราคา แต่ก็ยอมรับว่าที่ผ่านมา มีการโก่งราคาจริงๆ เมื่อก่อนเศรษฐกิจดีๆ อาจจะมีการเรียกเป็นพันบาท แต่หลังจากนั้น เราก็สร้างบรรทัดฐานด้วยการออกราคาแนะนำ ทำให้เกิดการโก่งราคาน้อยลงไปมาก"

เปิดราคาแนะนำ มาตรฐานที่ใช้อ้างอิงได้ แอปเรียกรถ คือ "อนาคต"

สำหรับราคาแนะนำที่เป็นประกาศของจังหวัดภูเก็ต อาทิ จากเมืองภูเก็ตไปสนามบิน ราคา 650 บาท ไป อ.กะรน 550 บาท อ่าวฉลอง 300 บาท กมลา 600 บาท เป็นต้น

ขนส่งจังหวัดภูเก็ต เผยว่า ที่ผ่านมาเรามีการให้อัตราค่าโดยสารแนะนำ โดยมีทั้งหมด 17 พื้นที่ เช่น จากเมืองภูเก็ตไปสนามบิน ไปป่าตอง กะรน เป็นต้น การที่เราเพิ่มคำว่า "ต่อรองได้" เพราะ "ปลายทาง" ที่เราจะไปอาจจะเป็นพื้นที่กว้าง เช่น ป่าตอง ที่เกือบจะถึง "กะรน" ซึ่งบางครั้งเป็นพื้นที่ที่ต้องเดินทางขึ้นเขาไปอีก ซึ่งเส้นทางที่จะไปอาจจะไกล หรือใกล้เข้ามา มันทำให้มีการลดหย่อน หรือเพิ่มราคาขึ้นลงได้

...

ทั้งนี้ ผู้โดยสารจะไม่ถูกหลอกลวงหรือโกง เพราะเรามีหลักการคิดค่าโดยสารอยู่ เช่น บอกว่าจะไปป่าตอง คิดราคา 2 พันบาท แบบนี้ทำไม่ได้ เราจะมีหลักคิด หลักต่อรองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย เช่น จากป่าตองไป กมลา อาจจะคิดราคา 400 บาท

"หากเป็นช่วงเวลาปกติ ก็ต้องคิดตามเรตราคา แต่เรตราคาไม่ได้มีการกำหนดช่วงเวลา แต่ถ้าความเป็นจริง มีการจ้างวิ่งในเวลากลางคืน ผู้ให้บริการอาจจะเหลือน้อยลง ผู้ให้บริการอาจจะขอเพิ่ม 100-200 บาท ซึ่งหากมีการต่อรองกัน ก็เชื่อมั่นว่าราคาว่าน่าจะเป็นธรรม เพราะก่อนจะออกราคาแนะนำ เราได้มีการคุยกันหลายฝ่าย ระหว่างผู้ให้บริการ สมาคมท่องเที่ยวในพื้นที่ และผู้บริโภคต้องรับได้

นายจตุรงค์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาที่ถูกจุดที่สุดในเวลานี้ คือ การแก้ปัญหาด้วยการใช้ แอปพลิเคชัน เรียกรถแท็กซี่ ซึ่งในแอปจะบรรจุราคาตามที่ทางการกำหนด และจะเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทำให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้น นอกเหนือจากจุดที่ให้บริการ แอปฯ ที่จะนำมาใช้ ต้องได้รับการรับรองจากกรมขนส่งทางบกเสียก่อน เพราะแอปฯ ที่ได้รับรองจะมีการตรวจสอบอัตราค่าโดยสารตามที่ราชการกำหนด โดยจะไม่มีเรื่องการตลาดแฝงอยู่ ซึ่งปัจจุบันนี้ แอปฯ ชื่อดังบางแอป ทางขนส่งยังไม่แนะนำให้ใช้ จนกว่าจะมีการตรวจสอบได้เรียบร้อย

...

"เวลานี้ แอปฯ ที่ได้รับการรับรองคือ Hello phuket service ส่วนแอปอื่นๆ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการขอให้ทางขนส่งฯ รับรอง ซึ่งเชื่อว่าในเร็วๆ นี้ น่าจะได้รับการพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างตรวจสอบอัตราค่าโดยสารที่จะให้บริการในแอปฯ ส่วนตัวเชื่อว่า อนาคตจะมีให้เลือกใช้หลายแอปฯ แน่ๆ ซึ่งกลุ่มผู้รับจ้างเองก็อาจจะได้ประโยชน์ด้วย"

หลักการคิดค่ามิเตอร์ (ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต)

สำหรับหลักการคิดจะไม่เหมือนแท็กซี่มิเตอร์ จะไม่เหมือนกรุงเทพฯ เพราะหากเป็นกรุงเทพฯ พอเราลงรถ อาจจะมีคนเรียกไปต่อ แต่สำหรับภูเก็ตไม่ใช่ เช่น ลงจากสนามบิน มาป่าตอง เมื่อส่ง โอกาสที่จะได้ลูกค้าต่อมันน้อยมาก ตรงนี้คือที่มา ทำไมถึงมีการให้บริการ "แท็กซี่มิเตอร์" น้อย เพราะได้ค่าโดยสารแค่ขาเดียว ส่งผลให้แท็กซี่มิเตอร์ในภูเก็ต และจังหวัดอื่นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสมมติว่า เขาได้ค่าวิ่ง 600 บาท เท่ากับว่าเขาได้ค่ารถแค่ 300 บาท เพราะอีก 300 บาท เป็นค่าน้ำมันเดินทางกลับ

ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องตั้งหลักคิดโครงสร้างใหม่ โดยอาจจะคำนวณค่าเดินทางกลับในแต่ละเที่ยวให้เหมาะสม ซึ่งยกตัวอย่างสมมติว่า เราอาจจะให้ค่าเดินทางกลับ 25% ของค่ามิเตอร์ที่มา ยกตัวอย่าง มิเตอร์ 200 บาท เราอาจจะต้องจ่าย 250 บาท เพื่อเป็นต้นทุนในการเดินทางกลับ

...

เมื่อถามว่า มีโอกาสจะใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการ บริหารจัดการแบบอื่นหรือไม่ เพื่อไม่ให้ผู้รับจ้างไม่ต้องตีรถเปล่ากลับ นายจตุรงค์ กล่าวว่า ตอนนี้ทางจังหวัดก็พยายามคิด เช่น หาพื้นที่จอดรถรอ ผู้โดยสาร โดยการจัดพื้นที่รอโดยผู้โดยสาร ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นแนวคิดที่ดี เพื่อลดโอกาสตีรถเปล่า เพื่อทำให้โครงสร้างราคาถูกลง เพราะหากมีการวิ่งรถได้เงินทั้ง 2 ขา ค่ารถในภูเก็ตจะไม่แพงแบบนี้ ซึ่งต่อไปอาจจะต้องหาพื้นที่นำร่อง เพื่อดำเนินการต่อไป"

การจัดการไม่มีสูตรสำเร็จ เราก็ต้องคำนวณหาหลายๆ วิธี ซึ่งที่ผ่านมา ภูเก็ตก็โดนกล่าวหาว่าของแพงทุกอย่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่สบายใจ แต่พอมาดูในข้อเท็จจริง สาเหตุที่แพงเพราะต้องตีรถเปล่ากลับ ฉะนั้นอยากให้มองทุกฝ่ายอย่างเข้าใจ และหาทางออกร่วมกัน

ปัญหาเรื่อง "เจ้าถิ่น" อาจจะหมดไปในอนาคต

เมื่อถามว่า การจัดการในส่วนตรงนี้ย่อมมีสูญเสียประโยชน์ และที่ผ่านมา มักมีคำพูดว่า "ห้ามข้ามถิ่น" นายจตุรงค์ ยอมรับว่า ช่วงก่อนโควิด บางคนอาจจะหวงพื้นที่ แต่พอเจอโควิด ทุกคนผ่านความยากลำบากกันมา เมื่อก่อนจากป่าตองไปสนามบิน เก็บ 700-800 บาท แต่เดี๋ยวนี้ 500 บาทก็ไป เพื่อให้อยู่รอด

"วันนี้การเป็นเจ้าถิ่น อาจจะยังมีอยู่ แต่เชื่อว่าไม่เข้มข้นเหมือนเดิม เพราะคนที่ขับรถมารับ ก็เป็นรถรับจ้าง อาชีพเดียวกัน ต่อไปมีแอปฯ อย่างแพร่หลาย เชื่อว่าความเป็นเจ้าของพื้นที่มันจะหายไป เพราะจะเกิดการหากินอย่างเสรี เชื่อว่าเทคโนโลยีจะกลืนกินหมด เพราะถือเป็นความต้องการของผู้บริโภค"

ผมถามคนที่ขับรถว่า...เวลานี้ทุกคนซื้อของออนไลน์กันเป็นใช่ไหม เดี๋ยวนี้ทุกคนต้องปรับตัว หากปรับตัวช้าก็อาจจะตกขบวนรถ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า บางคนยังมีปัญหากับการใช้เทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้มันเรียนรู้กันได้

ผู้เขียน : อาสาม

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ