เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งล่าสุด กลางทะเลบริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง หวังว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศทางทะเล โดยในช่วง 45 ปี เกิดเหตุน้ำมันรั่วในทะเลไทย มากกว่า 235 ครั้ง
ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม และท่าเทียบเรือจำนวนมาก มีปริมาณการสัญจรทางน้ำหนาแน่น โดยเฉพาะเรือบรรทุกน้ำมัน ทำให้มีความเสี่ยงการเกิดน้ำมันรั่วไหล ลงสู่ทะเล สูงกว่าจังหวัดชายทะเลอื่น
สถานการณ์ล่าสุด แม้ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลไม่ใช่ 2-4 แสนลิตร แต่รั่วไหลประมาณ 2 หมื่นลิตร มีลักษณะเป็นฟิล์มบางๆ ลอยบนผิวน้ำ แต่จะประมาทไม่ได้ขึ้นอยู่กับทิศทางลมและกระแสน้ำ จะต้องสกัดไม่ให้คราบน้ำมันพัดเข้าฝั่ง จากการใช้เครื่องบินโปรยสารให้น้ำมันสลายตัวจมลงใต้ทะเล และขณะนี้สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด ยังคงมีปริมาณน้ำมันอยู่ในทะเลประมาณ 5.3 ตัน
ขณะที่ความกังวลน้ำมันที่จมลงใต้ทะเล จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลหรือไม่ จะต้องติดตามในระยะยาว ไม่ให้ซ้ำรอยเหตุน้ำมันรั่วจำนวนมหาศาล เมื่อปี 2556 ซึ่งครั้งนั้นเป็นน้ำมันหนัก ควบคุมได้ยากกว่าน้ำมันเบา จากคราบน้ำมันทะลักเข้าชายฝั่งอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ทำให้ทะเลเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว สร้างหายนะต่อทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และการท่องเที่ยว ต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ
...
เหตุน้ำมันรั่ว เกิดขึ้นซ้ำๆ กลางทะเลไทย ไม่เคยถอดเป็นบทเรียนในการแก้ไขอย่างจัง และครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย “ดร.วิจารย์ สิมาฉายา” ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เห็นว่า ต้องมีการทบทวนในเรื่องการขนถ่ายน้ำมัน และควรซ่อมแซมดูแลระบบท่อน้ำมัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งขณะนี้เทคโนโลยีก้าวไกลไปมาก ต้องนำมาใช้ดูแลระบบ มีเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อม เพื่อแก้ไขปัญหาและสกัดกั้นน้ำมันที่ลอยในทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ
สิ่งที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า เมื่อไม่เกิดเหตุก็ไม่มีการพูดถึง จนเกิดการหละหลวม จะต้องทำให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญ และเหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้เป็นน้ำมันเบา กำจัดและสลายได้เร็วกว่าน้ำมันหนัก ถือว่าโชคดีไป ไม่ซ้ำรอยเหตุน้ำมันรั่วพัดไปชายฝั่งเกาะเสม็ด เมื่อปี 2556 ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก หวังว่าเหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสุดท้าย และต่อไปการใช้น้ำมันจะน้อยลง ตามข้อตกลงที่ประชุม COP26 ให้ลดการใช้น้ำมัน มาเป็นพลังงานทางเลือก
“น้ำมันรั่วครั้งนี้ คิดว่าไม่น่าพัดถึงฝั่ง และเรื่องผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลจะต้องมีการศึกษา ซึ่งครั้งนี้อาจกระทบบ้าง ไม่เหมือนน้ำมันหนักรั่วไหล แต่ต้องติดตามระวังให้ดี ต้องป้องกันไว้ก่อน ไม่ให้เกิดความหละหลวม ไม่ใช่ปล่อยๆ ให้ผ่านไป 20 ปี แล้วค่อยมาแก้ไข คิดว่าบริษัทพร้อมจะจ่ายค่าชดเชย เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าไม่มีใครอยากให้เกิด”
สาเหตุที่ทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เกิดน้ำมันรั่วบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ขนส่งทางทะเล และมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แม้การรั่วไหลของน้ำมันไม่มาก เช่นเดียวกับพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามันแถบภูเก็ต แต่เมื่อถูกคลื่นลมพัดขึ้นฝั่ง จะกลายเป็นก้อนน้ำมันสีดำ โดยเฉพาะช่วงฤดูพายุ และกว่าจะสลายต้องใช้เวลานานหลายเดือน เหมือนกับไมโครพลาสติก ซึ่งปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลกินเข้าไป จะเกิดการปนเปื้อนของสารพิษ จากการทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเล เป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก
...
สำหรับสถานการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ น่าจะดีขึ้น แต่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ในการศึกษาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศทางทะเล พร้อมกับถอดบทเรียนนำมาแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ใช่เกิดเหตุแล้วมาล้อมคอกอย่างที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า.