ภัยพิบัติธรรมชาติต้องติดตาม หลังการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล “ฮังกา ตองกา-ฮังกา ฮายาไป” นาน 8 นาทีในประเทศตองกา เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เถ้าถ่านพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าระยะทาง 20 กิโลเมตร และเกิดคลื่นสึนามิสูงประมาณ 1.2 เมตร ซัดชายฝั่ง รวมถึงหลายประเทศที่ชายฝั่งติดมหาสมุทรแปซิฟิก เกิดคลื่นสึนามิสูง 30-60 ซม.

ไทยไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งชายฝั่งทะเลอันดามันและชายฝั่งอ่าวไทย เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และจุดภูเขาไฟระเบิดอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลบริเวณ จ.นราธิวาส ประมาณ 9,500 กิโลเมตร แต่มีการแชร์ข้อมูลจะเกิดสึนามิบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย ออกมาชี้แจงไม่เป็นความจริง

ภูเขาไฟใต้ทะเลลูกนี้ได้ปะทุมาก่อนหน้า จนทวีความรุนแรง และหน่วยงานกาชาดสากลคาดมีผู้ได้รับผลกระทบ 80,000 คน จากไฟฟ้า การสื่อสารต่างๆ ถูกตัดขาด และเถ้าถ่านภูเขาไฟ หรือละอองหินลาวากระจายไปทั่ว มีความเสี่ยงปนเปื้อนน้ำดื่มส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้ทางการตองกา เตือนให้ประชาชนระวังและสวมหน้ากากป้องกัน

...

ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2358 เคยเกิดการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบรา เกาะซัมบาวา ประเทศอินโดนีเซีย มีความรุนแรงระดับ 7 เทียบเท่าระเบิดปรมาณู 6,000 ลูก เสียงดังก้องไปถึงเกาะสุมาตรา ซึ่งอยู่ไกล 1,930 กม. และสังเวยผู้คนไป 70,000 ศพ นอกจากนี้ฝุ่นเถ้าถ่านละอองภูเขาไฟได้ปะปนชั้นบรรยากาศ จนดวงอาทิตย์มืดสนิทนาน 2 วัน อุณหภูมิทั่วโลกลดลง 3 องศาเซลเซียส ทำให้ประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ ไร้ฤดู ในปี 2359

ความน่ากลัวของภูเขาไฟที่ยังคงคุกรุ่น บนแนวเทือกเขารอบมหาสมุทรแปซิฟิกและก้นลึกมหาสมุทร หรือวงแหวนแห่งไฟครอบคลุม 31 ประเทศ ตั้งแต่ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปอเมริกา ความยาวรวมกัน 40,000 กม. ก่อให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว 90% บนโลก และส่วนใหญ่ 80% เป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้น

ปัจจุบันไทยมีภูเขาไฟลูกหลังสุด 8 แห่ง แต่ดับสนิทหมดแล้ว โดย 6 แห่งใน จ.บุรีรัมย์ มีภูเขาไฟหินพนมรุ้ง ภูเขาไฟอังคาร ภูเขาไฟหินหลุบ ภูเขาไฟคอก ภูเขาไฟกระโดง และภูเขาไฟไปรบัด และอีก 2 แห่งใน จ.ลำปาง มีภูเขาไฟดอยผาดอกจำปาแดด และภูเขาไฟดอยหินคอกผาฟู

ความเป็นไปได้ที่ภูเขาไฟเหล่านี้ในไทย จะปะทุขึ้นมาอีกได้หรือไม่ “ดร.ประหยัด นันทศีล” ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า ไทยเคยมีการระเบิดของภูเขาไฟมาก่อนในช่วงล้านกว่าปี ถึง 10,000 ปี แต่ปัจจุบันไม่แอกทีฟโดยสภาพแวดล้อม หรือรอยต่อทางธรณีหยุดชนกันแล้ว แต่ยังมีภูเขาไฟอายุใหม่ๆ ใน จ.บุรีรัมย์ และลำปาง ยังคงมีรูปทรงภูเขาไฟ แม้ไฟดับสนิทแล้ว แต่มีโอกาสจะปะทุขึ้นมาอีกได้แต่น้อยมากๆ เพราะดับไปเมื่อ 1 แสนปีแล้ว และไม่ได้อยู่แนวมุดตัวเหมือนภูเขาไฟใน จ.เลย และเพชรบูรณ์ เมื่อ 300 ล้านกว่าปีก่อน

ขณะที่งานวิจัยเชื่อว่าหากหินร้อนเสียดสีกันมากขึ้น มายังใต้เปลือกโลกแล้วบางลง จนเกิดจุดความร้อนเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการหลอมละลาย และยกตัวของแมกมาใต้เปลือกโลก แทรกตัวออกจากผิวโลกทางปล่องภูเขาไฟ จนเกิดการปะทุขึ้นมาอีก แต่สามารถป้องกันได้ จึงไม่น่ากังวลภูเขาไฟในไทย

ดร.ประหยัด นันทศีล
ดร.ประหยัด นันทศีล

...

แต่สิ่งที่กังวลคือ หมู่เกาะนิโคบาร์ อยู่บนรอยแยกของเปลือกโลกในทะเลอันดามัน ยังมีภูเขาไฟที่มีพลังเป็นแนวยาว ซึ่งห่างจากไทยบริเวณชายฝั่ง จ.ภูเก็ต และพังงา 600 กว่า กม. จะต้องจับตามอง และไทยต้องเตรียมพร้อมตรวจสอบระบบเตือนภัย รวมถึงการให้ความรู้ในการอพยพคน

“ภูเขาไฟระเบิด ทำให้ผิวโลกสั่นสะเทือน แต่ไม่รุนแรงเท่ากับการมุดตัวของเปลือกโลก ก่อให้เกิดการสูญเสีย แต่การสูญเสียมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ได้รับผลกระทบมีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเยอะหรือไม่ ซึ่งบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ไล่มาตั้งแต่เมียนมา จนถึงเกาะสุมาตรา ระยะทางพันกว่ากิโลเมตร มีภูเขาไฟลูกเล็กลูกน้อย และที่ผ่านมายังไม่แอกทีฟเท่าไร ยังไม่ยืนยันความเสียหาย ส่วนไทย ให้ระวังแถวๆ เกาะสุมาตรา เป็นแนวมุดตัวของเปลือกโลก ก่อให้เกิดเหตุคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547”

อีกทั้งเปลือกโลกแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอายุ 600 ล้านปี เมื่อเวลาผ่านไปเปลือกโลกจะหนาขึ้น หากมีจุดความร้อนหรือฮอตสปอต มากระแทกทำให้เกิดการกระจายตัวของภูมิศาสตร์ ไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดในจุดใด แต่ประวัติศาสตร์ของอายุธรณีวิทยา จะเปลี่ยนไปมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เปลือกโลกเป็นมหาทวีป มีการแตกออกและรวมกันทุกๆ 500 ล้านปี จนจุดความร้อนของโลกที่เป็นฐานกัมมันตรังสี เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และเมื่อคายรังสีก็จะเกิดความร้อนในแกนโลกจนเกิดการระบายถ่ายเทความร้อนตามกลไก

...

จากความกังวลบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ในมหาสมุทรอินเดีย ยังห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทยบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ แต่ใช้เวลานานกว่าจะมาถึงไทย ทำให้มีการเตรียมพร้อมอพยพคนได้ แต่หากเกิดขึ้นในหมู่เกาะนิโคบาร์ เหมือนปี 2547 เชื่อว่ายังสร้างความเสียหายให้กับไทยโดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง แม้มีการซักซ้อมอยู่เป็นประจำ แต่ความสูญเสียด้านชีวิตจะน้อยลง

สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว ยังมาจากการทดลองปรมาณู และอุกกาบาตตกใส่โลก นอกจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน และภูเขาไฟที่เกิดการเสียดสีของเปลือกโลกที่มุดตัว ทำให้เกิดสึนามิเพราะน้ำกระเพื่อมบริเวณน้ำตื้นจนน้ำยกขึ้นสูง โดยเถ้าถ่านที่ปะทุออกมาจะก่อมลภาวะทางอากาศ เนื่องจากมีโลหะหนักจากลาวา เป็นพวกตะกั่ว แคดเมียม สังกะสี และก่อให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นอันตรายต่อปอด หรือแม้แต่ทองคำ และสิ่งที่เกิดขึ้นในตองกา ขอให้ไทยเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาในการรับมือ ป้องกันการสูญเสียโดยเฉพาะชีวิตคน.