“ผมอยากให้เป็นข้อมูลที่ทราบทั่วกันว่า ภูเขาไฟในรัศมีที่อาจสร้างผลกระทบให้ไทยได้ คือ ภูเขาไฟ Barren Island หากระเบิดแรงจริงๆ ก็อาจจะมีสึนามิมาถึงประเทศไทย เพราะห่างจากประเทศไทยเพียง 700 กิโลเมตรเท่านั้น”
นี่คือหัวข้อหลักในการพูดคุยวันนี้ ระหว่างทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และ นายนพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
เมื่อหลายวันก่อน เกิดเหตุภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด หลายประเทศต้องเจอกับ “คลื่นสึนามิ” ถล่ม แม้ระดับน้ำไม่สูงนัก แต่หลายๆ เมืองก็ได้รับความเสียหาย ในขณะที่ประเทศไทยเอง ก็มีกระแสข่าวมากมาย และสุดท้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องออกมาหยุดยั้ง “ข่าวลือ” ซึ่งอาจจะช้าไป
ในประเด็นนี้ นายนพดล โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ผิด ที่ไม่ออกมาเตือน เพราะรู้อยู่แล้วว่าประเทศไทย ไม่ได้รับผลกระทบ แต่...ประชาชนก็ไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้ จึงทำให้เกิดความสับสน ที่เป็นห่วงคือ หากภูเขาไฟใต้น้ำ หรือบนเกาะ ในรัศมี 1,000 กิโลเมตร ระเบิดเมื่อไหร่ อาจจะเกิดคลื่น “สึนามิ” มาถึงประเทศไทยได้
...
Baren Island ภูเขาไฟที่ยังปะทุอยู่ หากระเบิด ไทยเจอสึนามิแน่!
นายนพดล กล่าวกับผู้เขียนว่า การเกิดคลื่นสึนามิ ส่วนมากมีสาเหตุมาจาก “แผ่นดินไหว” ใต้ทะเล ส่วนรองลงมา ก็คือ การระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล
จากข้อมูลพบว่าในปี 2554 เคยเกิดภูเขาไฟในทะเลระเบิด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงมีการตื่นตัวเพื่อค้นคว้าข้อมูลการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล โดยมีเป้าหมายจะนำข้อมูลที่ได้มาใช้เตือนภัยล่วงหน้า แต่...นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นได้รับข้อมูลน้อย เพราะเจออุปสรรคเรื่องการสำรวจทางกายภาพ เช่น
เส้นทางภูเขาไฟใต้ทะเลมีความลาดชันสูง ทรัพยากรทางทะเลมากมายทับถม แม้จะแก้ปัญหาด้วยการส่งหุ่นยนต์เข้าไปสำรวจ แต่ข้อมูลที่ได้ไม่ 100%
โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า โดยภาพรวมถือว่า ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะข้อมูลเหล่านี้จะสามารถมาใช้แจ้งเตือนประชาชนในอนาคตได้
ภูเขาไฟที่ใกล้ประเทศไทย และที่ต้องจับตา คือ ภูเขาไฟที่ Barren Island ใกล้ๆ กับ เกาะนิโคบาร์ ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากประเทศไทย 700 กิโลเมตร
**หากเกิดภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด ในรัศมี 1,000 กิโลเมตร จะได้รับผลกระทบ**
อาจารย์นพดล กล่าวต่อว่า จากการติดตามล่าสุด พบว่ายังมีการปลดปล่อยลาวาออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่มันไม่รุนแรงจนทำให้เกิดการกระเพื่อม หรือ ทำให้เกิด “สึนามิ” ได้ หากมองในแง่ของการเตือนภัยคนไทยจำเป็นต้องรู้ว่าภูเขาไฟลูกนี้อยู่ใกล้ “ประเทศไทย” แม้มันจะตั้งอยู่บนเกาะ แต่ถ้าระเบิดก็สามารถสร้างคลื่นสึนามิได้
“ถึงแม้เวลานี้จะยังบอกไม่ได้ว่ามันจะเกิดระเบิดเหมือนที่ “ตองกา” เมื่อไหร่ วันใด หรือเวลาไหน แต่ที่แน่ใจคือ หากมันเกิดระเบิดรุนแรง สึนามิมาถึงไทยแน่นอน..”
คำถามคือว่า “เราจะมีเวลาเตรียมตัวแค่ไหน” โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า “เรามีเวลาประมาณ 45 นาที เพราะแบบนี้เอง ถึงอยากให้คนไทยได้ทราบข้อมูลแบบนี้ จะได้อพยพได้ทัน”
จาก ภูเขาไฟระเบิดที่ “ตองกา” ถึง สิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้
อาจารย์นพดล มองบทเรียนที่เกิดขึ้นกรณี “ตองกา” ที่ไทยได้เรียนรู้ โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น
...
ประเด็นที่ 1 : ภูเขาไฟระเบิด เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ
ภูเขาไฟปะทุที่ตองกา ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะภูเขาไฟต้องปลดปล่อยพลังงาน แต่เนื่องจาก “ภูเขาไฟ” ลูกดังกล่าวไปปะทุในทะเล จนเกิดคลื่นสึนามิ แต่ สึนามิ จะไปกระทบในรัศมี 1,000 กิโลเมตร แต่สำหรับ “ตองกา” ห่างจากประเทศไทยกว่า 10,000 กิโลเมตร
บริบทที่ 2 : ระบบการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชน
ภูเขาไฟระเบิดที่ตองกา ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ “แอ็กชัน” กับเรื่องนี้ ซึ่งจะไปตำหนิเขาก็ไม่ได้ เพราะเหตุการณ์มันไกลมาก แต่เมื่อ “สึนามิ” ขึ้นไปในหลายประเทศ หลายประเทศมีการเตือนภัย และก็มีกระแสข่าวที่ถูกปล่อยทางโซเชียลมีเดีย วิเคราะห์ว่าอาจจะมาถึง “ไทย” ทั้งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ “รู้ทั้งรู้” ว่า ยังไงคลื่นสึนามิ ก็มาไม่ถึง แต่กลับไม่ออกมาให้ข้อมูลเรื่องนี้ ส่งผลให้ประชาชนกลับต้องไปติดตาม “ข่าวลือในโซเชียลฯ”
นี่คือ ประเด็นที่เราต้องทบทวน หน่วยงานทราบข้อมูลดี แต่คนทั่วไปไม่ทราบ ฉะนั้น สิ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวน อย่าปล่อยให้ “ข่าวลือ” ที่มาจากการ “จินตนาการ” ไปว่า คลื่นจะต้องมาถึงประเทศไทย ถึงอ่าวไทย และตอนนี้ไม่มีทุ่นเตือนภัย จะทำให้ได้รับผลกระทบหนัก
...
ประเด็นที่ 3 ระบบเตือนภัย “ชำรุด” ต้องแก้ไข เตรียมพร้อม เพราะไม่รู้ภัยพิบัติจะมาถึงวันใด
อาจารย์นพดล เผยว่า ก่อนปี 2547 เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า “สึนามิ” คืออะไร หลังจากที่เราประสบ จากนั้นจึงได้ริเริ่มระบบเตือนภัย แต่เวลานี้พบว่า ระบบเตือนภัยของเราชำรุดทรุดโทรม ป้ายที่ชี้ให้วิ่งหนีขึ้นภูเขา กลับชี้ลงไปในทะเล ระบบเตือนภัยดังบ้าง ไม่ดังบ้าง
“เรื่องแผ่นดินไหว ไม่สามารถบอกกล่าวล่วงหน้าได้ ระบบเตือนภัยต้องมีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนให้มากที่สุด”
มีอยู่ปีหนึ่งที่เกิดแผ่นดินไหว และเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น คนภูเก็ตก็ต้องอพยพหนีสึนามิด้วย แต่...สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การอพยพไม่ได้เป็นไปตามที่ซ้อมไว้เลย เขาบอกว่า “ห้ามขับรถ” ก็แห่ขับรถออกมาจนติดอยู่บนถนน นี่คือ ประเด็นหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดเสี่ยง หากเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด มีสึนามิจริงๆ จะหนีกันไม่ทัน
“สิ่งสำคัญคือ อย่า!!! (เน้นเสียง) ฝากความหวังที่ระบบเตือนภัย 100% จะต้องเตรียมความพร้อม เพราะบางครั้งระบบเตือนภัยก็ทำงาน หรือ ไม่ทำงาน การฝึกซ้อมที่ผ่านมา ก็คือการฝึกซ้อม จะไม่เหมือนกับสถานการณ์จริง”
...
วิธีการเอาตัวรอดจาก “สึนามิ”
1. ต้องรู้ว่าพื้นที่ที่เราอยู่สุ่มเสี่ยงหรือไม่
2. ภัยธรรมชาติ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จะเกิดซ้ำในอนาคต ฉะนั้นต้องตระหนักรู้เรื่องนี้และไม่ประมาท
“เรายืนยันได้ว่าสึนามิเกิดขึ้นอีกแน่ แต่วันเวลาที่เกิด เราไม่รู้ เนื่องจากในทะเลอันดามัน มีรอยมุดตัวของแผ่นดินอยู่ นั่นมีความล่อแหลมว่า อาจจะเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความมั่นใจกับประชาชน”
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Theerapong C.
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ