คนไทยรับกรรมไปเต็มๆ ซ้ำเติมโควิดระบาดส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เมื่อราคาสินค้าหลายชนิดโดยเฉพาะในหมวดของสดทยอยปรับขึ้น ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ไข่ไก่ และอื่นๆ อีกมากมายจ่อขยับขึ้น จนแฮชแท็ก #แพงทั้งแผ่นดิน ติดเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์

สะท้อนความเดือดร้อนของคนไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัส ในยุคข้าวยากหมากแพง คงต้องหันมาวางแผนใหม่ในการใช้ชีวิต ด้วยการใช้จ่ายอย่างจำเป็น เพื่อให้อยู่รอด ยิ่งค่าแรงขั้นต่ำเท่าเดิม หลายคนงานหดรายได้ลด ถูกลดเงินเดือน และอีกหลายชีวิตตกงานไม่มีรายได้ จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร

แม้ยุคนี้ข้าวไม่ได้หายาก แต่ราคาข้าวเปลือกกลับตกต่ำ ชาวนาได้รับผลกระทบต่อค่าครองชีพ สวนทางกับสินค้าหลายรายการราคาแพงขึ้น ขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายภาวการณ์ “ข้าวยากหมากแพง” เป็นการขาดแคลนไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ในช่วงสงคราม เกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงในวงกว้าง หรือเกิดโรคระบาดร้ายแรง จนสิ่งของเครื่องใช้ขาดแคลน หาซื้อยาก หรือหาซื้อได้ก็มีราคาแพงมาก

ในปี 2565 ไทยกำลังเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพงอีกครั้ง แม้หาซื้อได้แต่แพงทั้งแผ่นดิน จริงหรือ? “ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยอมรับ สินค้าหลายชนิดขยับแพงขึ้น ก็น่าจะใช่ที่ไทยเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง เป็นสถานการณ์ทางโครงสร้างประเทศตามหลักเศรษฐศาสตร์ จากราคาสินค้าแพงขึ้น แต่รายได้ไม่ได้ขึ้นตาม นั่นหมายถึงคนระดับรากหญ้าทั่วไป ได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ส่วนคนในตลาดหุ้นและคนรวย ยังอยู่รอดอยู่สบาย

...

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร

เมื่อรายได้ของคนรากหญ้าหรือคนระดับล่าง ไม่ได้ปรับขึ้นมา ทำให้เดือดร้อน เกิดความเสี่ยงมากขึ้นเพราะปกติเป็นหนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสินค้าแพงเพราะรายได้เพิ่มขึ้น จะไม่เกิดปัญหาและเป็นวิกฤติเหมือนในขณะนี้ อย่างในต่างประเทศเมื่อคนรายได้มากขึ้นเพราะเศรษฐกิจดี ก็จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จนสินค้าหมดและแพงขึ้น ซึ่งไม่น่ากังวลใจ และวิธีแก้ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้คนออมเงินมากขึ้น เป็นเครื่องมือในการจัดการ

ขณะที่เศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัว ตั้งแต่ปี 2562 จนมาปี 2564 จีดีพีโตเพียง 1% และในปี 2565 คาดจีดีพีจะโต 3-4% เมื่อคิดรวมแล้ว ยังไม่เท่ากับระดับปี 2562 แต่อย่างน้อยในไตรมาส 1 ปี 2566 ก็น่าจะดีขึ้น และสินค้าต่างมาจากต่างประเทศ มีการนำเข้าและผ่านกระบวนการต่างๆ ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามมา และยิ่งไทยมาเจอโรคระบาดในสุกร ยิ่งทำให้ไทยไม่พ้นจากเหว มีความสุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัว

“เป็นโจทย์ที่ภาครัฐ ต้องแก้ปัญหาแบ่งเป็น 2 เฟส ภายใน 2 ไตรมาส หลังเจอภาวะเงินเฟ้อของแพงทั้งหมู ไก่ ไข่ ขึ้นราคา ทั้งๆ ที่คนยังเป็นหนี้ เริ่มจากไปตรวจสอบว่าคนไหน ควรเข้าไปช่วยเหลือก่อน เมื่อรู้แล้วว่าเป็นใคร ควรช่วยด้วยวิธีใด เริ่มจากกลุ่มเปราะบาง คนไม่มีรายได้ ไม่มีเงินเก็บ คนหาเช้ากินค่ำ ต้องช่วยมากกว่าปกติ โดยเติมสวัสดิการให้มากขึ้น และทำให้สถานการณ์โควิดโอมิครอน จบให้เร็วที่สุด น่าจะคลี่คลายปัญหาได้พอสมควร”

การแก้ปัญหาในเฟสแรก ไม่ควรใช้เวลานาน จากนั้นในเฟสหลังต้องทำให้คนออกจากกับดักหนี้ ด้วยการสร้างรายได้ให้กับประชาชน และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้มาตรฐานทั่วประเทศ ซึ่งภาครัฐควรหากิจกรรมที่จะทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ยินดีจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และต้องการแรงงานทักษะอย่างไร เพื่อรัฐจะแก้ปัญหาในการขึ้นค่าแรง หรืออาจฝึกอบรมแรงงานรุ่นใหม่ ให้มีทักษะ รวมถึงสร้างแรงงานคืนถิ่น เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต หากขยายตัวได้ 3% ก็สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ใกล้เคียงสอดคล้องกับจีดีพี

แม้ปริบทของสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงในอดีต มีความแตกต่างกับปัจจุบัน ซึ่งสินค้ามีราคาแพงเพราะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน จากความต้องการซื้อสินค้าและความต้องการขาย รวมถึงการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้ค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตแพงขึ้น จนราคาสินค้าต้องปรับราคา

...

หรือเมื่อใดก็ตามหากสินค้าตัวใดขึ้นราคา ผู้บริโภคจะหันไปใช้สินค้าอย่างอื่น ทำให้ราคาแพงขึ้นตามมา อย่างคนมากินไก่แทนหมู ทำให้ราคาไก่แพงขึ้นตามความต้องการของตลาด และจากสถานการณ์สินค้าขึ้นราคา นอกจากภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือแล้ว คนไทยต้องช่วยตัวเองในการวางแผนในอนาคต เช่น หากปลูกข้าว จะต้องบริหารเรื่องน้ำให้เป็น เพื่อวางแผนการปลูก

“หัวใจสำคัญอีกอย่าง ไม่ให้เป็นกรรมจากการกระทำของเราเอง ต้องรู้จักออมเงิน ไม่ให้เป็นหนี้ชนักติดหลังของคนไทย เพราะนิสัยไม่คิดให้มากๆ ไม่รู้จักเพียงพอ เมื่อมีรายได้มากก็ใช้มากขึ้น ไม่คิดเก็บออมเผื่อเกิดวิกฤติ ให้สามารถมีเงินใช้ได้อย่างน้อย 3-6 เดือน และการที่รัฐเอาเงินมาช่วยเรื่องหมู ก็จะเป็นภาระของประชาชนในอนาคต จึงไม่สามารถเอาเงินมาแทรกแซงได้ทั้งหมด ต้องช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”.