ปี พ.ศ 2564 มีเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมาย ทั้งหนัก และเบา แตกต่างกันไป ตามเหตุการณ์ ที่หนักหน่วง อย่างคดี “คลุมถุงดำ” ของผู้กำกับโจ้ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ที่สร้างรอยด่างพร้อยให้กับวงการสีกากี
แต่บางเรื่อง ดูคล้ายเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็สร้างความเดือดร้อนรำคาญไปทุกหย่อมหญ้า บางคนตกเป็นเหยื่อสูญเสียทรัพย์สินมากมาย จากการใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงของแก๊งมิจฉาชีพ เช่น แก๊ง SMS หลอกลวง ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยโหด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และที่เลวร้ายคือ การถูกดูดเงินจากบัญชีไม่รู้ตัว ซึ่งทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เขียนเตือนไปยังผู้อ่านหลายครั้ง แต่ก็ดูเหมือนปัญหานี้จะไม่เบาบางลง และวันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลที่เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน
เบื้องหลัง SMS ลวง โทรหลอก มิจฉาชีพลงทุนต่ำ ส่งเหวี่ยงแห ต้องรู้ทัน
ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ หรือ SMS ใครก็สามารถโทร. หรือส่ง SMS มาป่วนคุณได้ ส่วนการส่ง SMS จำนวนมากๆ นั้น จะต้องมีการซื้อบริการผ่านโอเปอเรเตอร์ เช่น ระบบ SMS Modem ซึ่งอาจจะส่ง SMS ทีละเป็นร้อย หรือเป็นพันเบอร์ ซึ่งค่าบริการก็จะถูกกว่าที่เราส่งกันเองมาก เช่น ข้อความละ 3 บาท แต่การซื้อระบบส่ง SMS ส่งครั้งละมากๆ อาจจะอยู่ที่ราคาข้อความละ 10-20 สตางค์เท่านั้น โดยราคาขึ้นอยู่กับจำนวนที่ซื้อ ยิ่งซื้อมากก็ยิ่งราคาถูก
“สิ่งที่เกิดขึ้น โอเปอเรเตอร์ไม่สามารถตรวจสอบได้หมดว่า ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา ซื้อแล้ว เอาไปทำอะไรบ้าง แต่แน่นอน...ก่อนที่จะซื้อ ทางโอเปอเรเตอร์จะต้องมีเอกสารให้กับเอกชนรับทราบ เช่น ห้ามนำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญผู้อื่น...เหมือนเราไปสอบใบขับขี่ ว่าห้ามทำผิดกฎจราจร แต่พอขับจริงก็อาจจะเป็นอีกเรื่อง นี่ก็เช่นเดียวกัน”
...

การซื้อแพ็กเกจ SMS ก็มีอีกแบบ คือ ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา ซื้อแพ็กเกจไปแล้ว แล้วไปปล่อยให้คนอื่นเช่าต่ออีกทอด ซึ่งการให้เช่าต่อนี่แหละ อาจจะเป็นบริษัทต่างประเทศมาเช่าเพื่อทำอะไรไม่ชอบมาพากลก็ได้
ตรวจสอบเนื้อหาก่อนส่งไม่ได้ เพราะเป็นความลับส่วนบุคคล แต่ตรวจสอบเส้นทางได้
ดร.โกเมน เผยต่อไปว่า สิ่งที่โอเปอเรเตอร์ทำได้ คือ การตรวจสอบหากมีการส่ง SMS มารบกวน สร้างความรำคาญ เพราะเขาถือเป็นผู้ให้บริการ เพราะการส่ง SMS ออกไป ทุกอย่างจะถูกเก็บสถิติในระบบอยู่แล้ว
“โอเปอเรเตอร์ ไม่สามารถตรวจดูเนื้อหาก่อนส่ง SMS ได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล แต่ในระหว่างทาง เช่นมีการส่งข้อมูลไปแล้ว และมีการร้องเรียนให้มาตรวจสอบ แบบนี้ถึงจะทำได้ จากนั้นเขาก็จะไปตรวจสอบต้นทางได้ ว่าต้นทาง SMS คือมาจากบริษัทใดเป็นผู้ส่ง แต่ก็จะยังไม่เห็นเนื้อหา ยกเว้นประชาชนส่งให้กับโอเปอเรเตอร์”
อ่านเนื้อหาฉบับเต็ม คลิก

แฉ 3 ทริก “หลอกขายของออนไลน์” เล่ห์เหลี่ยม แอปเงินกู้ จัดระเบียบบัญชีผี
“90% ของการซื้อของออนไลน์ ผู้ซื้อไม่รู้จักผู้ขาย ไม่รู้ว่าปลายทางที่กำลังจะซื้อของ “มีตัวตน” จริงหรือไม่ อันดับแรกผู้ซื้อต้องไม่รีบร้อน นำชื่อผู้ขาย หรือชื่อเฟซบุ๊กมาเช็กในกูเกิลก่อน ถ้าเป็นไปได้ ให้วิดีโอคอลคุย เพราะหากเป็นสุจริตชนก็ย่อมเปิดเผยตัว”
พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง ผบก.สอท. 2 เกริ่นเข้าเรื่อง ก่อนจะอธิบายเล่ห์เหลี่ยมของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่มี 3 ทริก ขายของด้วยความไม่โปร่งใส
1. ประเภทไม่มีสินค้าที่จะขายเลย เพียงแต่ปั้นเรื่อง เสกของขึ้นมา อ้างว่ามีขาย ประเภทนี้เขาอาจจะใช้รูปที่อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตมาหลอกขาย
2. มีสินค้าจริง แต่เวลาขายส่งของไม่ตรงปกมาให้
3. ซื้ออย่าง ได้อีกอย่าง เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ มีการสั่งซื้อแท็บเล็ต ได้ “เขียง”
“ปัญหาของโลกไซเบอร์ที่พบจะมีการหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบ เช่น หลอกลวงการซื้อขายสินค้า หลอกลวงให้โอนเงิน เช่น แอปเงินกู้ นอกจากนี้ ยังมีการหลอกให้โอนเงินแบบ Romance Scam (หลอกให้หลงรัก หลอกให้ทำผิดกฎหมาย) เป็นต้น”
...
อ่านเนื้อหาฉบับเต็ม คลิก

เงินหายจากบัญชี ข้อมูลบัตรถูกฉก เลวร้ายถูกขายบน Dark web แนะวิธีป้องกัน
ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยคอมพิวเตอร์ ได้ไขสาเหตุของการแอบตัดเงินจากบัญชีอย่างน่าสนใจว่า บัตรเครดิต กับบัตรเดบิต แตกต่างกัน “บัตรเดบิต” เวลาใช้จะตัดเงินในบัญชีเลย ส่วนบัตรเครดิต ไม่ว่าจะใช้จ่ายอะไร คนที่จ่ายคนแรก คือ ธนาคาร พอถึงเวลาธนาคารก็จะมาเรียกเก็บ ฉะนั้น สำหรับบัตรเครดิต ธนาคารจะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยง ซึ่งหากเราพิสูจน์ได้ว่าเราไม่ได้ใช้จ่ายก็สามารถปฏิเสธการจ่ายได้
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยคอมพิวเตอร์ เผยว่า สาเหตุที่เลขบัตรเครดิต และเดบิต ของเรา ทั้งเลขหน้า 16 หลัก และ เลขหลังบัตร 3 หลัง ไปตกอยู่ในมือคนอื่น มีได้หลายกรณี
1. ถูกแอบถ่ายเลขบัตรหน้าหลัง ระหว่างจับจ่าย
ดร.โกเมน ได้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน เช่น การเติมน้ำมัน เมื่อเรายื่นบัตรเครดิตหรือเดบิต ให้เขาไป เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กปั๊ม ไม่นำไปแอบถ่ายรูปเก็บไว้ เฉกเช่นเดียวกัน การยื่นบัตรให้กับพนักงานในห้าง หรือซื้อของตามสถานที่ต่างๆ เราจะรอดพ้นจากการแอบถ่ายเลขทั้งด้านหน้าและหลังบัตร
...
2. หลุดจากการซื้อสินค้าออนไลน์
การซื้อสินค้าออนไลน์ ต้องให้เราใส่เลขหน้าและหลังเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการการจองโรงแรม สายการบิน หรือแม้แต่ร้านค้าออนไลน์ต่างๆ หลังจากเราซื้อบริการเหล่านี้ เขาจะเก็บข้อมูลเราทั้งหมด ชื่อ นามสกุล เลขหน้าและเลขหลังบัตร
“พอมีการซื้อขายเยอะๆ เขาก็จะมีข้อมูลเยอะมาก การใช้บริการตรงนี้ก็เป็นไปได้ว่า...ข้อมูลตรงนี้อาจจะหลุดไป ซึ่งข้อนี้แตกต่างจากข้อแรก คือ เวลาหลุด จะหลุดออกไปจำนวนมาก”

สาเหตุแอบตัดเงินทีละน้อย...เพราะไม่มีการแจ้งเตือน
ดร.โกเมน กล่าวต่อไปว่า เมื่อกลุ่มมิจฉาชีพ ได้เลขบัตรเครดิตหรือเดบิตไปแล้ว เขาก็จะนำไปใช้ซื้อของออนไลน์ โดยเฉพาะการเติมเกม เราจะเห็นตัวเลขการตัดเงิน 34 บาท หรือ 37 บาท เพราะเป็นอัตราเรตเงินต่างประเทศ
“เวลาที่เราจะซื้อของ มันจะมีระบบทดลองตัดเงิน เช่น บางบริษัทจะขอธนาคารตัดเงินจำนวนน้อยๆ ก่อน เช่น ตัดเงิน 99 cents (ในบ้านเรามีการทดลองตัด 1 บาท) เรื่องนี้กลายเป็นปกติที่ทำกัน ฉะนั้น มิจฉาชีพเลยใช้ช่องทางนี้ ที่ธนาคารอาจจะไม่มาตรวจสอบ หรือไม่ส่ง SMS เพราะเป็นการตัดเงินน้อยๆ จึงกลายเป็นช่องทาง หักเงินรัวๆ ทีละ 37 บาท”
...
วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด “อย่าปล่อยให้หลุด” ต้องระมัดระวังสูงสุด
สำหรับแนวทางป้องกันที่ ดร.โกเมน แนะนำคือ
1. บัตรเครดิต เดบิต ต้องอยู่ในสายตาเสมอ
2. อย่าผูกบัญชี กับผู้บริการที่มีความเสี่ยง เป็นไปได้จะทำอะไรเกี่ยวกับการเงินควรทำทีละครั้งไป ให้ส่ง OTP ทุกครั้ง โดยเฉพาะการเติมเงินในเกม ถือเป็นบริการที่มีความเสี่ยงสูง
3. ถ้าเลือกได้ อย่าใช้บัตรเดบิตผูกบัญชี เพราะเงินหายแล้ว จะตามคืนยาก
4. ปิดเลขหลังบัตรเครดิต และเดบิต เราอาจจะหาอะไรมาปิดไว้ หรือ ขูดออกเลย แต่ก่อนขูดอย่าลืมจดไว้ที่อื่นหรือจำเลขให้ได้
สำหรับความปลอดภัยของแอปฯ ธนาคาร นั้น ดร.โกเมน เน้นย้ำเรื่องการเข้าใช้ ควรเข้าจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ไม่ควรเข้าผ่าน Wifi สาธารณะ เพราะอาจจะถูกดักข้อมูลไปได้
อ่านเนื้อหาฉบับเต็ม คลิก
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาจากแก๊งมิจฉาชีพที่ออกอาลาวาดในปี 2564 หากเราสังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่า “ราก” ของปัญหานี้ส่วนหนึ่งมาจาก “ข้อมูลส่วนตัว” ของเราหลุดออกไป ทางที่ดี เราทุกคนต้องระมัดระวังในการ “ให้” ข้อมูลเหล่านี้ เพราะเทคโนโลยียิ่งสะดวกสบายเท่าไหร่ ก็ยิ่งง่ายต่อการแฮกข้อมูล...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ