• ช่วงโควิดระบาดแต่คดีอาญาไม่ได้ลดน้อยลง จากข้อมูลภาวะสังคมไทยของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อ้างอิงข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นคดีอาญาโดยรวม ในไตรมาส 3 ปี 2564 เพิ่มขึ้น 10.3% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563

  • คดียาเสพติด 78,329 คดี เพิ่มขึ้น 10.5% คิดเป็น 83.3% ของคดีอาญารวม โดยเฉพาะการเสพยาเสพติดมากสุด 52.3% และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ 12,623 คดี เพิ่มขึ้น 17.3% โดยคดีลักทรัพย์มากสุด 45.4% ขณะที่คดีความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกายและเพศ 3,085 คดี ลดลง 14.7%

  • ด้านปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ย. 2564 จากรายงานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบว่ามีมากถึง 33,080 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากสถิติทั้งปี 2563 ที่มีจำนวน 20,619 ครั้ง ทั้งการหลอกลวง สินค้าไม่ตรงปก ไม่ตรงตามโฆษณา

คดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แม้อยู่ในช่วงโควิดกลับไม่ได้ลดน้อยลงไป จะต้องปรับปรุงแก้ไขแนวทางปฏิบัติด้วยการบูรณาการร่วมกันจากหลายฝ่าย และนโยบายต่างๆ ให้มีความพร้อมในการรับมือให้ทันสถานการณ์ปัจจุบัน “รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัญหายาเสพติดยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และตั้งแต่ต้นปี 2564 แม้การจำหน่ายยาเสพติดจะแผ่วลง ถ้าเทียบกับเมื่อ 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ขบวนการค้ายาเสพติดได้ปรับรูปแบบในการจำหน่ายผ่านออนไลน์ และผ่านหลากหลายรูปแบบมากขึ้น

...

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

ขณะที่การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์มีมากขึ้น ทั้งการหลอกลวงทางออนไลน์ ขายสินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้มาตรฐาน การพนันออนไลน์ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งไทย นอกจากนี้ยังเกิดความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากการจำกัดการเดินทางช่วงโควิด ทำให้เกิดความเครียดด้านเศรษฐกิจ จากการถูกลดเงินเดือน ลดโอที และตกงาน ยิ่งไปกระตุ้นความเครียดมากขึ้นในการก่อความรุนแรงในครอบครัว

คดียาเสพติดมากสุด หวังก.ม.ใหม่ ทลายล้างขบวนการ

ในห้วงโควิดคดีอาชญากรรมไม่ได้ลดน้อยลง โดยคดียาเสพติดมีมากสุด รองลงมาเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ มีการลักทรัพย์ และประทุษร้ายต่อทรัพย์ ตามด้วยความผิดต่อร่างกาย พยายามฆ่าทำร้ายร่างกาย และความผิดทั่วไปมีโทษทางอาญา เช่น เล่นการพนัน ความผิดพ.ร.บ.อาวุธปืน

ทั้งนี้ทั้งนั้นมาจากสถิติที่ตำรวจรับแจ้งความเท่านั้น แต่หลายครั้งที่ตำรวจไม่รับทำคดี ทำให้ไม่ลงในระบบ เพราะจากที่เคยทำข้อมูลสถานการณ์อาชญากรรม 5 ปี ให้กับกระทรวงยุติธรรม พบว่ามีการกำหนดสถานีตำรวจใดมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาก อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมในระดับพื้นที่นั้นๆ และจะส่งผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายผู้กำกับ หัวหน้าสถานีตำรวจ

“จึงอาจเข้มงวดเรื่องสถิติการรับคดี โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หากรับคดีความ จะต้องมีตัวเลขการสืบสวน ติดตามจับกุมผู้กระทำผิดให้ได้ไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เป็นที่มาทำให้สถิติผู้ต้องขังที่กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ลดน้อยลง”

...

นอกจากนี้ต้องเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับการพนัน และซื้อของออนไลน์ รวมถึงการขายของออนไลน์ไม่ได้มาตรฐาน หรือหลอกให้โอนเงินแล้วปิดระบบหนี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกสทช.และกระทรวงดีอีเอส ต้องปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบ กฎหมายในการขอความร่วมมือบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือว่าคนกระทำผิดคือใคร แต่ที่ผ่านมาได้รับการปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้การทำงานไม่ง่าย ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

แม้มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งแน่นอนต้องได้รับความคุ้มครอง แต่ต้องยกเว้นในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยและความปลอดภัยสาธารณะ ในการป้องกันกลุ่มหลอกลวงทางออนไลน์ ต้องมีการหารือกันระหว่างภาคเอกชน ผู้ใช้กฎหมาย ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ทำหน้าที่จับกุม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

ขณะที่กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 จะเป็นมิติแรกที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน และทางป.ป.ส.ต้องร่วมกับชุมชนในการขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ให้เกิดการตระหนักในการป้องกันนักเสพหน้าใหม่

อีกทั้งข้อมูลในการยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติดเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ค้า และผู้เสพ แต่ที่ผ่านมายึดทรัพย์ผู้ค้ารายใหญ่น้อยมาก ทั้งที่มีการจับหลักแสน แต่ยึดทรัพย์ได้หลักร้อยเท่านั้น จะต้องรอดูว่ากฎหมายฉบับใหม่ จะสามารถหยุดยั้งได้หรือไม่ โดยเฉพาะการป้องกันฟอกเงิน และการยึดทรัพย์ย้อนหลัง ในการทลายเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมยาเสพติด

...

นำเทคโนโลยี มาช่วย รื้อโครงสร้างตำรวจ เพิ่มประสิทธิผล

ส่วนความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ซึ่งองค์ประกอบหลักๆ มาจากเหยื่อ คนร้าย และสถานที่ หากพร้อมเมื่อไรก็จะเกิดเหตุ เพราะฉะนั้นเหยื่อต้องระมัดระวังเรื่องทรัพย์ไม่ให้เกิดการล่อตาล่อใจ หรือวางทรัพย์สินทิ้งไว้โดยไม่ดูแล และหน่วยงานต้องลดโอกาสก่อเหตุ มีการเพิ่มสายตรวจ และมีระบบคัดเลือกให้ประชาชนในชุมชนร่วมออกตรวจในการดูแล

รวมถึงใช้เทคโนโลยี และระบบ Artificial Intelligence หรือเอไอ มาใช้ในการป้องปราม เช่น คนที่เคยก่อเหตุ หรือคนมีหมายจับ หากเข้ามาในชุมชนจะมีการเตือน และแจ้งตำรวจ ซึ่งต้องทำในระดับนโยบาย และภาคเอกชน ต้องลงทุนในการติดกล้องวงจรปิด จากการสร้างแรงจูงใจในการลดหย่อนภาษี

“การติดตั้งกล้องขึ้นอยู่กับคุณภาพ และตำแหน่งการติดตั้งกล้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าติดกล้องแล้ว จะไม่เกิดเหตุ และตำรวจไม่ใช่พระเอกมาจัดการเรื่องความปลอดภัย ต้องอาศัยประชาชนเข้ามาช่วยดูแล แจ้งเบาะแส ทำให้เกิดประสิทธิผล”

ในแง่หลักเชิงโครงสร้างของตำรวจ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เอื้อต่อการปราบปรามอาชญากรรม รวมทั้งรับมืออาชญากรรมใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย เกี่ยวข้องกับตำแหน่งและอำนาจ แต่ไม่มีการวางแผนรับมือ ควรมีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้าย มีผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้โดยเฉพาะ ซึ่งตำรวจไม่สามารถทำได้ และไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับประชาชน จึงต้องแก้ปัญหาโครงสร้างของหน่วยงานตำรวจให้ได้ในที่สุด.

...

ผู้เขียน : ปูรณิมา