• เดือน พ.ย. 2564 จะเป็นเดือนสุดท้ายที่ขบวนรถไฟจากทุกสารทิศทั้งระยะใกล้และไกล จะเข้า-ออกสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือหัวลำโพง จริงหรือไม่? ในการเป็นสถานีต้นทางและปลายทาง และย้ายไปสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศไทย

  • ตามที่ ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ได้ให้โจทย์การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องย้ายการเดินรถทุกขบวนทั้งขบวนเชิงพาณิชย์ รถไฟทางใกล้ และรถไฟทางไกล จากสถานีหัวลำโพง มายังสถานีกลางบางซื่อให้หมด ภายในเดือน พ.ย.นี้

  • หากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าสถานีกลางบางซื่อจะเป็นสถานีสุดท้าย จะไม่มีขบวนรถผ่านสถานีสามเสน ยมราชและหัวลำโพง เข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงอีกต่อไป แม้ ขสมก.จะนำรถมาวิ่งรับช่วงผู้โดยสารต่อ แต่อาจสร้างความยุ่งยากมากขึ้นให้กับคนเดินทาง โดยเฉพาะการจราจรที่ติดขัด ทำให้ต้องปรับตัวในการชีวิต ประเมินกันว่าจะมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน
สถานีกลางบางซื่อ
สถานีกลางบางซื่อ

...

หรือแม้ในอนาคตสถานีหัวลำโพง จะรองรับรถไฟสายสีแดง และสายสีน้ำเงิน ซึ่งยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน แต่บทบาทที่เคยเป็นสถานีต้นทางและปลายทาง ใกล้ยุติลง เสมือนปิดตำนาน 105 ปี จากการคุ้นชินของผู้ใช้บริการในแต่ละยุคแต่ละสมัย ตั้งแต่เริ่มวางรากฐานเส้นทางคมนาคมระบบรางในสยามประเทศ สมัยรัชกาลที่ 5

ก่อนเตรียมพัฒนาแปลงโฉมใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ และแหล่งเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บนเนื้อที่ 121 ไร่ ในการเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงย่านเมืองเก่าและย่านการค้าใหม่

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คน โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรถไฟมานาน อาจไม่เห็นด้วยต่อการไม่ให้ขบวนรถระยะใกล้เข้า-ออกสถานีหัวลำโพง และขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนว่าจริงหรือไม่ว่า สถานีหัวลำโพงจะเปิดไปจนถึงวันที่ 22 ธ.ค. จากระบบตั๋วที่ล็อกล่วงหน้าไปจนถึงวันนั้น และวันที่ 23 ธ.ค. จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

พร้อมกับเสียงพร่ำบ่นกันมากขึ้นของผู้ใช้บริการรถไฟ กับภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นในการใช้บริการรถไฟ MRT เข้าสู่ใจกลางเมือง หรือหากจะใช้บริการรถเมล์ ขสมก. อาจไม่มั่นใจในเรื่องการจราจรใน กทม. ซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ สุ่มเสี่ยงที่จะไปทำงานสาย หรือผิดนัดสำคัญได้

หนุนพัฒนาที่ดินหัวลำโพง เชิงพาณิชย์ สร้างฮวงจุ้ยเมือง

“ดร.โสภณ พรโชคชัย” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการผังเมือง เห็นว่า การย้ายหัวลำโพงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะได้ผ่านการวางแผนการสร้างสถานีกลางบางซื่อมานานแล้ว และไม่เฉพาะจะเป็นสถานีกลางสำหรับรถไฟ แต่ยังเป็นศูนย์รวมรถไฟฟ้า ทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่อีกด้วย

สถานีกลางบางซื่อ
สถานีกลางบางซื่อ

...

“สถานีรถไฟกลาง สถานีรถ บขส. ไปต่างจังหวัด และศูนย์รวมสถานีรถไฟฟ้า ควรจะอยู่รวมกัน ยกตัวอย่าง บขส. และหัวลำโพง ของนครนิวยอร์ก ตั้งอยู่ใกล้กันในย่านใจกลางเมืองบนเกาะแมนฮัตตัน หรือ บขส.ในกรุงลอนดอน ก็อยู่ใกล้พระราชวังบักกิ้งแฮม หากกรณีกรุงเทพฯ ตั้งอยู่นอกเมือง ห่างไป 40 กิโลเมตร ก็เท่ากับไม่มีรถ บขส.เข้าเมืองในอนาคต ต้องต่อรถเสียค่าใช้จ่าย 300-400 บาท หากนั่งแท็กซี่เข้าเมือง แพงกว่าค่าโดยสารรถ บขส. จากต่างจังหวัดเสียอีก”

หากเดินทางไปในญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตกอื่นๆ เช่น เกาะฮอกไกโด จะเห็นศูนย์คมนาคมในหลายเมือง เช่น ซัปโปโร และเมืองเล็กๆ อื่นๆ มีสถานีรถไฟกลางเมือง สถานีรถประจำทางในเมือง และระหว่างเมือง สถานีรถไฟใต้ดิน รวมทั้งศูนย์แท็กซี่ อยู่ในที่เดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางทั้งภายในเมืองและระหว่างเมือง

ในกรณีสถานีหัวลำโพง เมื่อย้ายออกไปแล้ว จะนำไปทำอะไรกับที่ดินใจกลางเมือง ยกตัวอย่าง ค่ายทหารกลางกรุงมะนิลาหลายแห่ง มีการย้ายออกและพัฒนาเป็นศูนย์การค้า ส่วนท่าเรือกลางกรุงลอนดอน จำนวน 1,338 ไร่ นำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น หรือที่ตั้งเวิลด์เอ็กซ์โป กลางนครเซี่ยงไฮ้ แต่เดิมเป็นย่านโรงงาน-โกดังเก่า ได้นำมาพัฒนาเพื่อรับใช้คนเมือง

...

“ไม่ได้คิดจะเก็บโกดังเก่าแก่ไว้เป็นอนุสรณ์สถานแต่อย่างใด หรือสถานีรถไฟนครโอซากา ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เพราะรถไฟลงใต้ดินหมด ได้นำมาประมูลหาประโยชน์เข้ารัฐ ดังนั้นหัวลำโพงของไทย แทนที่จะคิดนำไปทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เก็บอาคารทรงโค้งที่ไม่มีใครสร้างแบบนี้ไว้เป็นอนุสรณ์ ก็เท่ากับให้คนตายขายคนเป็น แต่ควรย้ายอาคารดังกล่าวไปสร้างเป็นอนุสรณ์สถานในที่อื่น”

ส่วนที่ดินแปลงใหญ่ที่เป็นหัวลำโพงเดิม นำมาประมูลเพื่อสร้างเป็นศูนย์ธุรกิจ นำความเจริญเข้าสู่เมือง นำรายได้มาพัฒนาประเทศ จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อส่วนรวม ในการนำหัวลำโพงมาเสริมสร้างฮวงจุ้ยของเมืองด้วยการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ให้บริษัทเอกชนใหญ่ๆ มาเช่าเป็นสำนักงานในระยะเวลา 50 ปีตามกฎหมายที่มีอยู่ ในการสร้างอาคารสำนักงาน เพราะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน มีความเจริญเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

...

“ฮวงจุ้ยของเมืองก็ได้รับการส่งเสริม ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่นึกง่ายๆ แค่เอาไปเป็นโบราณสถาน เอาไปเป็นพิพิธภัณฑ์เท่านั้น เพราะการพัฒนาเมืองต้องคิดให้รอบคอบ เราไม่ลืมอดีต ใครอยากชื่นชมความขลังของอาคารโกดัง โรงซ่อมรถไฟอายุร้อยปี ก็สามารถไปชื่นชมที่หัวลำโพง นำไปสร้างไว้รวมกันเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่อย่าให้คนตายขายคนเป็น”.

ผู้เขียน : ปูรณิมา