หลายๆ ครั้ง เรามักจะเอ่ยถึงวิกฤติที่น่ากังวลอันเกี่ยวเนื่องกับ "ลูกจ้าง" และ "แรงงาน" ทั้งหลาย โดยเฉพาะการขาดทักษะที่เหมาะสมกับ "ตำแหน่งงาน" ในอนาคต มาวันนี้... ถึงคราว "นายจ้าง" ต้องผวากันบ้างแล้ว กับปรากฏการณ์ใหม่ที่ค่อยๆ เริ่มต้นขึ้นแล้วบนผืนแผ่นดินมหาอำนาจตะวันตกอย่าง "อเมริกา" ที่แม้แต่ "ไทย" เองก็ไม่ควรเพิกเฉย

ปรากฏการณ์ที่ว่านั้น คือ ปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า The Great Resignation!!

The Great Resignation!!

The Great Resignation ค่อยๆ ปรากฏและเริ่มชัดขึ้นในห้วงวิกฤติโควิด-19 (COVID-19) นี้นี่เอง หลังจากที่หลายๆ คนต้องเผชิญกับความเครียดของการทำงาน รวมถึงการ Work from Home (WFH) อันยาวนานที่ทำให้หลายคนเริ่มคุ้นชินและรู้สึกว่าชีวิตการทำงานของพวกเขามีความยืดหยุ่นขึ้น

แต่แล้วเมื่อวิกฤติทางสาธารณสุขอันเลวร้ายมีแนวโน้มผ่อนคลาย บริษัทต่างๆ ก็เริ่มทยอยส่งอีเมลแจ้งเตือนเรียก "พนักงาน" กลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศเหมือนเช่นเดิม

...

และนั่นก็ได้กลายเป็น "จุดเปลี่ยน" เกิดการตั้งคำถามถึง "บทบาท" ในการทำงานที่เกี่ยวโยงกับชีวิตของตัวเอง จนไปกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจ "ลาออก" จากตำแหน่งงานหรืออาชีพที่เคยทำ... โดยพบเห็นได้ตั้งแต่พนักงานแนวหน้า ไปจนถึงระดับผู้บริหารอาวุโส

จากข้อมูลการวิจัยของไมโครซอฟท์ (Microsoft) พบว่า มากกว่า 40% ของกำลังแรงงานทั่วโลก กำลังพิจารณาลาออกจากงานภายในปีนี้ (2564)

ขณะที่ ผลสำรวจของ Gallup ก็พบว่า มากกว่า 48% ของแรงงานอเมริกัน กำลังค้นหางานหรือมองโอกาสใหม่ๆ อย่างกระตือรือร้น โดยพวกเขาไม่ได้พิจารณาแค่เพียงขอบข่ายอุตสาหกรรม, ตำแหน่ง หรือค่าแรง แต่ยังพิจารณาไปถึงการทำงานลักษณะ WFH ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น อีกผลสำรวจของ CNBC ร่วมกับ SurveyMonkey ก็ทำให้เห็นว่า การตัดสินใจออกจากงาน ไม่ใช่เพราะเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความต้องการในการมีส่วนร่วมและการพัฒนา หรือแม้กระทั่งการให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความครอบคลุม โดยเกือบ 80% ของแรงงาน ต้องการทำงานให้กับบริษัทที่ให้คุณค่ากับความหลากหลาย, ความเสมอภาค และความครอบคลุม

แน่นอน หลายๆ คนคงสงสัยว่า การลาออกครั้งใหญ่นี้สำคัญอย่างไร?

ตามรายงานของ Gallup แสดงความกังวลว่า การสูญเสียลูกจ้างครั้งใหญ่ของบริษัทต่างๆ นี้ จะทำให้เกิดภาวะสิ้นหวังหรือท้อแท้ แถมยังมี "ราคาแพง" มากเสียด้วย นั่นคือ ต้นทุนการหาลูกจ้างทดแทนมีราคาเทียบเท่ากับเงินเดือนลูกจ้างถึง 2 เท่า!

โดยมุมมองของ แอรอน แมคอีวาน นักพฤติกรรมศาสตร์ ประจำบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยระดับโลก Gartner เปรียบปรากฏการณ์ลาออกครั้งใหญ่นี้ว่าเป็นการเคลื่อนย้ายทางปัญญาที่มีนัยสำคัญและรุนแรงมาก

อะไรคือ ตัวกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางปัญญา?

...

"พวกเขาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่พนักงาน ลูกจ้าง หรือแรงงาน"

เมื่อพวกเขามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ก็ทำให้การไตร่ตรองเทียบระหว่างงานและชีวิตของพวกเขามากขึ้นเช่นกัน จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า "เราได้อะไรกลับมาหลังจากยอมแลกการทำงานหนัก, อุทิศเวลา และความพยายามทั้งหมดไป?"

เดิมทีแล้ว บริษัทต่างๆ จะเสาะหาพนักงานที่มากประสบการณ์ แลกกับเงินเดือนที่ดี, ออฟฟิศอันยอดเยี่ยม และผลตอบแทนที่พวกเขาสามารถจัดให้ได้

แต่ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ผลตอบแทนที่ว่านั้น อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการในมุมมองของลูกจ้างอีกต่อไป

อย่างประโยคด้านบนที่บอกไว้ว่า ลูกจ้างไม่ต้องการให้นายจ้างมองแค่ในฐานะแรงงานหรือพนักงานเท่านั้น พวกเขาต้องการให้มองในฐานะมนุษย์เชิงซ้อน ที่ดำรงอยู่ได้ด้วยคุณค่าและชีวิตที่สมบูรณ์ หมายความว่า พวกเขาสนใจในสิ่งที่นายจ้างจะทำให้พวกเขามีประสบการณ์ชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง

หนึ่งในกลุ่มตัวอย่างของแบบสอบถาม ให้ความเห็นว่า ในช่วงโควิด-19 มีบางอย่างกระตุ้นให้เกิดความเครียดในการทำงาน แล้วก็เริ่มทำให้เขาคิดถึงความปลอดภัย, สุขภาพ และครอบครัว ซึ่งเขาไม่อยากให้การทำงานเป็นแหล่งเพิ่มความเครียดอีก เขาต้องการค้นหางานที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินในการทำงาน

...

นอกจากนี้ จากการสำรวจหลายสำนักยังเห็นอีกว่า The Great Resignation อาจทำให้อาชีพต่างๆ มีการปรับลดไซส์ลง

ด้วยเหตุผลว่า พวกเขาเลือกที่จะหลบหลีกจากความทะเยอทะยาน ไปสู่การให้ความสำคัญในแง่มุมอื่นๆ ของชีวิตมากกว่า และยินดีหากอาชีพที่ทำอยู่จะถูกลดไซส์ ซึ่งเกี่ยวพันกับชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง, ความรับผิดชอบน้อยลง และความเครียดน้อยลง

ข้อกังวลที่ "นายจ้าง" ต้องพึงนึก คือ อาชีพหรือตำแหน่งบางอย่าง มีความต้องการสูง ดังนั้น ลูกจ้างสามารถที่จะหาบริษัทหรือนายจ้างที่ทำให้เขาทำงานได้ง่ายกว่า หรือสนองต่อข้อเสนอที่พวกเขาต้องการได้

แล้ว "นายจ้าง" ทำอะไรได้บ้าง?

คำแนะนำโดย เกรซี่ แคนตาลูโป ผู้บริหารฝ่ายการตลาด (CMO) ประจำ Mentorcliq คือ

     1) เมื่อลูกจ้างเริ่มตำแหน่งใหม่ ทางนายจ้างควรมีการแนะแนว ให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากลูกจ้างคนอื่นๆ และควรได้รับการพัฒนาด้านความเป็นผู้นำและการให้คำปรึกษา เพื่อที่จะลับทักษะให้คมมากขึ้น

     2) นายจ้างควรให้ความยืดหยุ่นแก่ลูกจ้าง แม้ทำงานต่างสถานที่ ต่างเวลา ก็สามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมงานได้

...

     3) สำคัญอย่างยิ่ง คือ ภายใต้พื้นฐานความหลากหลาย นายจ้างต้องทำให้ลูกจ้างรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและมีคุณค่าต่อองค์กร สร้างวัฒนธรรมที่ครอบคลุมภายในออฟฟิศ

     4) นายจ้างควรสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในลักษณะบนลงล่าง การแถลงต่อสาธารณะและลงมือดำเนินการทันที ทั้งกรณีในองค์กรหรือนอกองค์กร ในหลากหลายประเด็น เช่น การเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ

     5) ลูกจ้างควรได้รับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพ เมื่อต้องเริ่มตำแหน่งงานใหม่หรือบทบาทใหม่ ก็ควรรู้ถึงสิ่งที่เป็นไปได้ และเส้นทางที่สามารถไปต่อได้ นายจ้างไม่ควรทำให้รู้สึกว่า ลูกจ้างอยู่ในทางตัน หรือตำแหน่งงานที่ไม่มีความก้าวหน้าใดๆ อีกแล้ว

ขณะที่ ข้อกังวลและข้อเสนอแนะต่อไทยจากกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คือ

     1) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอาจส่งผลต่อความสามารถในการขยายตัวและต้นทุนการประกอบกิจการต่างๆ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

     2) คาดการณ์ว่า แนวโน้มการเปลี่ยนงานจะเกิดขึ้นทั่วโลก มิได้เป็นแค่ในอเมริกา ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมวางแผนรับมือกับกระแสที่เปลี่ยนแปลงเสียแต่เนิ่นๆ รวมถึงการให้ความสำคัญในการบริหารจัดการบุคลากร ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมองค์กรและโครงสร้างที่เปลี่ยนไป อาทิ การปรับชั่วโมงการทำงานให้มีความยืดหยุ่น การจัดสรรและมอบหมายงานที่เหมาะสมกับบุคลากร

อีกด้านหนึ่ง ไรอัน โรลันสกี ผู้บริหารสูงสุด LinkedIn มองว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเป็น The Great Reshuffle หรือปรากฏการณ์การปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานครั้งใหญ่มากกว่า โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และมิลเลนเนียล

จากการสำรวจผ่านแพลตฟอร์ม LinkedIn พบว่า มีการเปลี่ยนงานเพิ่มขึ้น 54% เทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะ Gen Z เพิ่มขึ้นถึง 80% รองลงมาคือ มิลเลนเนียล 50%, Gen X เพิ่มขึ้น 31% และบูมเมอร์เพิ่มขึ้นเพียง 5%

ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่า ปัจจุบันจะยังไม่เห็นปรากฏการณ์ลาออกครั้งใหญ่ขยายวงกว้างในประเทศอื่นๆ มากนัก แต่นับเป็นสัญญาณสำคัญที่ถูกซุกซ่อนอยู่ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า หากพ้นปีนี้ (2564) ไป แล้วลูกจ้างไม่ได้รับโบนัสอย่างที่หวัง พลาดการโปรโมตอย่างที่ควรจะได้รับ ให้สมกับที่ทำงานหนักมาทั้งปี มีความเป็นไปได้ว่า ปีหน้า (2565) ปรากฏการณ์ The Great Resignation จะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่

ซึ่งหากใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้...

คำแนะนำของนักพฤติกรรมศาสตร์ คือ เริ่มจากจุดเล็กๆ ก้าวแบบเด็กๆ เพื่อก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่คุณต้องการ แทนที่จะกระโดดก้าวใหญ่ไปในเส้นทางใหม่ทันที เช่นว่า การบิดงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน หรือความรับผิดชอบของคุณ ให้เหมาะสมกับชีวิตที่คุณต้องการมากกว่า รวมถึงเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พบผู้คนในแวดวงและเพิ่มพูนทักษะ.

ข่าวน่าสนใจ: