สถานการณ์โควิดในช่วงแรกเมื่อต้นปีที่แล้ว ธุรกิจประกันภัยมองเป็นโอกาสจะกอบโกยรายได้ ต่างงัดกลยุทธ์ทำตลาดขายประกันโควิด และไม่คาดคิดจะมีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นในระลอกสาม จนก่อความสั่นสะเทือนกลายเป็นวิกฤติในวงการประกันภัย
เฉพาะยอดเคลมประกันแบบ "เจอจ่ายจบ" ประมาณกว่า 7 ล้านกรมธรรม์ จากจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิดรวมกว่า 20 ล้านกรมธรรม์ ได้ส่งผลต่อระบบการเคลมที่ล่าช้า และหลายบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่อง อย่างล่าสุดบริษัทเอเชียประกันภัยฯ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตั้งแต่ 15 ต.ค. 2564 ต้องใช้เงินกองทุนประกันวินาศภัย จ่ายค่าสินไหมแทน
กรณีการถอนใบอนุญาตและปิดกิจการบริษัทประกันภัย อาจจะมีเพิ่มขึ้นอีก นอกเหนือจากบริษัทเอเชียประกันภัย เพราะมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งกำลังประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน มีโอกาสที่จะ "เจ็บจบเจ๊ง" เช่นเดียวกัน ตราบใดที่การควบคุมโควิดยังเอาไม่อยู่หมัด และการฉีดวัคซีนล่าช้าไม่ทันการณ์
ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับบริษัทประกันภัย จากผลกระทบโควิด “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยจำนวนหนึ่งมีปัญหาสภาพคล่อง จากที่ระยะแรกของการแพร่ระบาดโควิด ธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบน้อยมาก และได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เมื่อปีที่แล้ว พบว่ายอดขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับยอดขายทั้งหมดของธุรกิจประกันก่อนหน้านั้น 1-2 ปีที่ผ่านมา
...
กระทั่งมีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมากขึ้น จากการบริหารจัดการวัคซีนล่าช้า ความล้มเหลวในการควบคุมระบาดระลอกสาม ทำให้ธุรกิจประกันบางแห่งที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่แล้ว ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ขอให้ระมัดระวังกิจการธุรกิจประกัน สหกรณ์ออมทรัพย์ ธุรกิจโรงรับจำนำจะมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มเติม และเกิดหนี้เสียในกลุ่มพิโกไฟแนนซ์และกิจการเช่าซื้อขนาดเล็ก
“อย่าปล่อยให้สถานการณ์ลุกลาม กลายเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤติการเงินและอาจเร็วกว่าคาด ต้องเร่งใช้เม็ดเงินอย่างน้อย 5-7 แสนล้านบาท ออกมาตรการรักษาระดับการจ้างงาน ให้เงินช่วยเหลือโดยตรงกับภาคธุรกิจ หากไม่ทำจะทำให้กิจการเอสเอ็มอีกว่า 2 แสนรายขาดสภาพคล่อง อาจต้องปิดตัวลงอีก และกระทบครัวเรือนกว่า 3 ล้านครัวเรือนที่จะยากจนลงและมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่หากเปิดประเทศได้เต็มที่ และโควิดไม่กลับมาระบาดระลอกสี่ ก็ไม่จำเป็นต้องให้เงินช่วยเหลือ”
งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ตรงกันว่า ผลกระทบโควิด จะส่งผลต่อความต้องการซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิต และการล็อกดาวน์ ได้กระทบต่อฐานะทางการเงินของครอบครัวรายได้น้อย และชนชั้นกลางค่อนข้างมาก ทำให้การซื้อประกันหรือจ่ายค่าเบี้ยประกันในครอบครัวกลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่การซื้อประกันเพิ่มขึ้นเกิดขึ้นในกลุ่มกิจการและนิติบุคคลหรือผู้มีรายได้สูง
กรณีบริษัทเอเชียประกันภัยฯ มาจากความผิดพลาดในการบริหารความเสี่ยง และการบริหารสภาพคล่อง ทำให้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และจากสภาพวิกฤติเศรษฐกิจโดยรวม อัตราผลตอบแทนต่ำยาวนานในตลาดตราสารหนี้ ธุรกิจประกันที่มีการแข่งขันกันสูง รวมถึงภาครัฐไม่สามารถจัดการผลกระทบภัยพิบัติจากโรคระบาดและภัยพิบัติน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ฐานะทางการเงินของธุรกิจประกันหลายแห่งย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว อาจลุกลามไปยังสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ
...
“บริษัทประกันหลายแห่ง ไม่ได้มีฐานะทางการเงินแข็งแรงพอที่จะรองรับกับการเคลมโควิดในระดับพันล้านบาทขึ้นไป และจำนวนผู้ร้องเรียนเคลมก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อถูกซ้ำเติมจากการเคลมประกันภัยพิบัติน้ำท่วมอีก ก็จะมีฐานะทางการเงินอ่อนแอลง”
นอกจากมาตรการที่คปภ.มีอยู่ ควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มทุนให้ฐานะบริษัทประกันเข้มแข็งขึ้น และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการควบรวมกิจการของธุรกิจประกันขนาดเล็ก หรือกับสถาบันการเงินอื่นๆ และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ โดยธนาคารอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก หากมีความจำเป็น เพื่อประคับประคองธุรกิจประกันในช่วงนี้.