โรค MIS-C (มิสซี) หรือชื่อเต็มๆ ว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children คือ ภาวะอักเสบทั่วร่างกายที่เกิดขึ้นในเด็ก หลังหายจากโควิด-19 ฉะนั้น ผู้ปกครองอย่าชะล่าใจ... โปรดสังเกตอาการของลูกหลานท่านให้ดีๆ

ทั่วประเทศไทย ณ เวลานี้ (6 ต.ค. 64) มีรายงานตัวเลขของเด็กที่หายจากโควิด-19 (COVID-19) และมีอาการป่วยโรคมิสซีแล้วกว่า 30-40 ราย!!

หากถามว่า ตัวเลข 30-40 รายนี้ น่ากังวลหรือน่าวิตกไหม?

และอาการของ "โรคมิสซี" รุนแรงแค่ไหนกัน?

วันนี้... "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" มีคำตอบจาก นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ที่จะอธิบายให้ "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ได้เข้าใจและเฝ้าระวังลูกหลานของท่าน

ถ้าจำกันได้... เมื่อปีที่แล้ว (2563) ไม่ค่อยมีเด็กป่วยโควิด-19 มากนัก แต่พอมาปีนี้ (2564) ก็เริ่มมีรายงานจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่เป็นเด็กเยอะขึ้น โดยเฉพาะระลอกหลังๆ ล่าสุด ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นเด็กมากถึงแสนกว่าราย!!

...

เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบว่า การเจอเด็กป่วยโรคมิสซี 30-40 ราย ก็จะคิดเป็นประมาณ 2 ในหมื่น หรือ 0.02%

"ถามว่าน่าตกใจหรือไม่ สัดส่วน 2 ต่อหมื่น ก็ไม่ถึงกับน่าตกใจ แต่ว่าก็เป็นภาวะที่ต้องระวังเอาไว้ เพราะเราเริ่มเจอว่า ยิ่งเด็กป่วยโควิด-19 มากขึ้น ก็จะยิ่งมีเด็กป่วยมิสซีเพิ่มขึ้นไปด้วย"

ในประเทศไทย เด็กป่วยโรคมิสซีจะมีอายุเฉลี่ยไม่มากนัก ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 10 ปี

อาการเบื้องต้น "โรคมิสซี"

อาการไข้ต่อเนื่อง (38 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลา 24 ชั่วโมง) บวกกับอาการอื่นๆ เพิ่มเติม

- ปวดท้อง
- ตาแดง
- ท้องเสีย/ท้องร่วง
- เวียนศีรษะ/มึนหัว
- ผื่นตามผิวหนัง
- อาเจียน

ข้อควรรู้: ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีอาการทั้งหมดนั้นเหมือนกัน

ความเชื่อมโยงระหว่างโควิด-19 และโรคมิสซี

ปกติแล้ว เด็กจะมีภาวะที่เป็น Multisystem Inflammatory Syndrome หรืออาการอักเสบหลายๆ อย่างเกิดขึ้นภายในร่างกายตัวเอง แม้ไม่มีเชื้อโควิด-19 ก็เกิดขึ้นได้

เมื่อก่อนจะมีอีกโรคหนึ่งเรียกว่า "โรคคาวาซากิ" (Kawasaki) ที่ปีหนึ่งๆ จะเจอสัก 100 กว่าราย ถึงเกือบ 200 ราย

โดยลักษณะของโรคคาวาซากิจะมีการอักเสบหลายๆ ระบบร่วมกัน คล้ายๆ โรคมิสซี อาการก็จะคล้ายๆ กันด้วย นั่นคือ เด็กมักจะมีไข้ ตาแดง และอาจจะมีอาเจียน ถ่ายเหลว หรืออาการอะไรต่างๆ ร่วมด้วย อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจที่มีปัญหา

แต่ตามปกติแล้วนั้น โรคคาวาซากิเจอไม่บ่อย แต่เมื่อการมาถึงของเชื้อโควิด-19 ที่มีผลทำให้เกิดอาการอักเสบในหลายๆ ระบบ ทั้งระบบหัวใจ/หลอดเลือด ระบบประสาท ระบบของลำไส้ ซึ่งจะเรียกเป็น POST-COVID ในเด็กก็ว่าได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นหลังจากหายโควิด-19 แล้ว 2-4 สัปดาห์

บริเวณ "อักเสบ" ที่น่ากังวลที่สุด!

...

"บริเวณการอักเสบที่เป็นส่วนที่น่ากังวลมากที่สุด คือ หัวใจ"

นั่นเพราะว่า อาจทำให้เด็กมีภาวะช็อกจากการที่หัวใจเต้นผิดปกติได้ เพราะเป็นการอักเสบของระบบหลอดเลือด แล้วพอหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจผิดปกติ ก็จะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ แล้วก็จะช็อกได้ หรืออีกส่วน คือ หลอดเลือดเลี้ยงสมอง ซึ่งเด็กอาจมีอาการหลอดเลือดอุดตันสมอง เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้

แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบในขณะนี้ (6 ต.ค. 64) บริเวณสมองจะน้อย แต่ "หัวใจ" จะเยอะ

เมื่อใดที่ควรเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน!?

"บางทีผู้ปกครองอาจจะนึกไม่ถึง เด็กมีไข้ก็คิดว่าเป็นโรคอื่น ไม่ได้รีเช็ก และถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมิสซี"

ผู้ปกครองต้องสังเกต ถ้าลูกหลานเคยเป็นโควิด-19 แล้วหลังจากนั้น 2-4 สัปดาห์ อยู่ๆ เด็กกลับมามีไข้สูง เกิน 24 ชั่วโมง บวกกับมีตาแดง ถ่ายเหลว ปวดหัวมาก หรือมีอาการช็อก เช่นจะเป็นลม เพราะถ้ากล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดปกติ ก็จะทำให้ช็อกหรือเป็นลมได้ ต้องรีบพาส่งโรงพยาบาล มีโอกาสที่จะรุนแรงได้

...

โดยส่วนใหญ่ ถ้าเริ่มมีอาการ โรงพยาบาลจะรับไว้ทันที เบื้องต้น การรักษาก็จะให้ยาต้านอักเสบ อาทิ สเตียรอยด์ เป็นต้น

ดังนั้น โปรดสังเกตอาการของลูกหลานท่าน นอกเหนือจากอาการเบื้องต้นด้านบนแล้ว หากพบการแสดงอาการบางอย่างเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาฉุกเฉินทันที!

- หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอกเรื้อรัง
- การรับรู้ลดลง/ไม่ตื่นตัว
- ซีดเซียว, ซึม หรือผิวหนัง/ริมฝีปาก/เนื้อใต้เล็บช้ำ

ทั้งนี้ แพทย์อาจทำการทดสอบเพื่อความมั่นใจในการเฝ้าระวังสำหรับการอักเสบหรือสัญญาณอื่นๆ ของโรคเพิ่มเติม ผ่านวิธีการดังนี้:

- การตรวจเลือด
- เอกซเรย์หน้าอก
- อัลตราซาวนด์หัวใจ
- อัลตราซาวนด์ช่องท้อง

เด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการป่วยด้วย "โรคมิสซี" (MIS-C) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤติ หรือ "ไอซียูเด็ก" (PICU)

ว่าแต่... ผู้ใหญ่มีโอกาสเป็น "โรคมิสซี" หรือไม่?

...

สำหรับผู้ใหญ่นั้นจะเป็นอาการที่เรียกว่า LONG COVID (ลอง โควิด)

"พื้นฐานของโรคโควิด คือ สามารถทำให้เกิดการอักเสบของทุกๆ ระบบได้ หลักๆ ก็หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงทุกอวัยวะ ไปเลี้ยงสมอง เลี้ยงหัวใจ เลี้ยงระบบทางเดินอาหาร เลี้ยงตับ เลี้ยงไต ที่จะทำให้เกิดปัญหาต่ออวัยวะเหล่านั้นได้ ดังนั้น อาการอักเสบลักษณะนี้เกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่คำว่า มิสซี (MIS-C) เป็นชื่อโรคที่ระบุเฉพาะเด็ก"

ข้อสำคัญที่อยากเน้นย้ำ... "โรคมิสซี" ยิ่งรักษาได้เร็ว ก็จะยิ่งปลอดภัย ตัวอย่างเช่น เมื่อเจออาการแน่นหน้าอกผิดปกติ ถ้าเราปล่อยให้หัวใจเต้นผิดปกติไปนานๆ เขาอาจจะช็อก ถ้าไม่รีบสังเกตก็อาจจะเสียชีวิตได้ แต่ถ้าถึงมือแพทย์เร็ว เข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็จะมีโอกาสหายและไม่มีภาวะอื่นสอดแทรก

ยังมีอะไรอีกบ้างที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับ "โรคมิสซี" (MIS-C)

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ระบุว่า "โรคมิสซี" ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับโควิด-19 ยังคงอยู่ในกระบวนการเรียนรู้เพิ่มเติม รวมถึงผลกระทบในเด็กด้วย ดังนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่า ทำไมเด็กบางคนถึงมีอาการป่วยโรคมิสซี และจะมีโรคอื่นๆ อีกไหม

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองทุกท่านต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด เพราะแม้จะหายป่วยโควิด-19 แล้วก็ใช่ว่าจะสบายดี หมดห่วงเสียทีเดียว ในระยะ 2-4 สัปดาห์ โปรดอย่าชะล่าใจ!.

ข่าวน่าสนใจ: