ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ยาเม็ดรักษาโควิด เป็นความหวังล่าสุดของมนุษย์โลกในการสู้กับโควิด-19 รวมทั้งประเทศไทยก็เตรียมซื้อยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว หลังจากบริษัท เมอร์ค (Merck) ออกมาแถลงผลการทดลองการใช้ยาเม็ดโมลนูพิราเวียร์รักษาโควิด-19 ว่า สามารถลดอาการหนัก และการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ โดยล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้สั่งซื้อไว้เพื่อรักษาผู้ป่วยแล้ว 1.7 ล้านคน

สำหรับความคืบหน้าแผนของประเทศไทยในการซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ เพื่อมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยนั้น นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่า ในส่วนของระดับนโยบายรัฐบาลนั้น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล เห็นชอบให้สั่งซื้อเพื่อรักษาผู้ป่วยแล้ว 2 แสนคอร์ส หรือสำหรับ 2 แสนคน โดยจะใช้งบกลางที่ต้องเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเป็นลำดับต่อไป

ส่วนช่วงเวลาที่คาดว่าจะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์เข้ามานั้น คาดว่าจะเริ่มนำเข้าไม่เกินต้นเดือนธันวาคมนี้ โดยขึ้นอยู่กับขั้นตอนสำคัญ 2 ขั้นตอนคือ 1. ยาโมลนูพิราเวียร์ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือเอฟดีเอ เพื่อใช้กรณีฉุกเฉินเป็นยารักษาโควิด-19 จากนั้นต้องผ่านขั้นที่ 2 คือ ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย.ของไทย

สำหรับราคานั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต แต่โดยหลักการบริษัทเมอร์ค จะคิดราคาแต่ละประเทศต่างกัน ขึ้นอยู่กับฐานรายได้ของประชากรในประเทศนั้นๆ และไทยซื้อได้ราคาถูกกว่าสหรัฐอเมริกาแน่นอน

...

นายแพทย์สมศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า ได้เริ่มหารือกับบริษัทผู้ผลิตมาเกือบสองเดือนแล้ว และขณะนี้ยังกำลังเจรจาอยู่ ซึ่งตามข้อตกลงในการเจรจาสั่งซื้อนั้น ราคาเป็นความลับ แต่มีเงื่อนไขของการลงนามสั่งซื้อคือ ผู้ผลิตต้องเผยแพร่ผลการทดลองว่าใช้ได้ผลจริง และได้รับการอนุมัติจากเอฟดีเอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามกำหนดการเดิมคาดว่าจะอยู่ในช่วงกลางเดือนต.ค.นี้ จากนั้นเดือนพ.ย.ทางอย.ไทยพิจารณาอนุมัติ และนำเข้าได้ช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้

ส่วนรายละเอียดการใช้ยารักษาผู้ป่วยการติดโควิด-19 นั้น ต้องรอการสรุปผลศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญว่าจะใช้อย่างไรต่อไป

ผลการทดลองการกินยาโมลนูพิราเวียร์
ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับยาโมลนูพิราเวียร์ จนกลายเป็นความหวังในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา เวลา 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา บริษัท เมอร์ค ได้เปิดเผยผลการทดลองวิจัยทางคลินิก ระยะที่ 3 ว่ายาโมลนูพิราเวียร์ สามารถต้านโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ รวมไปถึงสายพันธุ์เดลตา เพราะตัวยาโมลนูพิราเวียร์ เข้าไปทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสผิดพลาด จนเชื้อไวรัสไม่สามารถขยายตัวได้

จากเอกสารของบริษัทเมอร์ค ได้สรุปกลุ่มคนที่เข้าร่วมทดลองไว้ว่า เป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการ จำนวน 775 คนที่สมัครใจร่วมทดลอง และยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 โดยแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปี กลุ่มโรคเรื้อรังอย่าง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ แบ่งการทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์และอีกกลุ่มให้ยาหลอก ภายในเวลา 5 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการ

ผลการทดลองพบว่า ผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่าคนที่ได้ยาหลอกครึ่งหนึ่ง และไม่มีผู้เสียชีวิต รายละเอียดแยกได้เป็น ผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ 7.3 เปอร์เซ็นต์ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้ที่ได้รับยาหลอก 14.1 เปอร์เซ็นต์ ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และมีผู้เสียชีวิต 8 ศพ

ในเอกสารแถลงความคืบหน้าของบริษัท เมอร์ค ยังระบุว่าขณะนี้กำลังผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ และคาดว่าจะผลิตได้ 10 ล้านคอร์ส และจำนวนการผลิตจะมากขึ้นในปีหน้า สำหรับปริมาณการใช้ยานั้นยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการว่า แต่ละคอร์สใช้ยาโมลนูพิราเวียร์กี่เม็ด และราคาเท่าไร

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว 1.7 ล้านคอร์ส หรือรักษาได้ 1.7 ล้านคน ด้วยราคา 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคอร์ส หรือประมาณ 23,100 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 1 ต.ค. 2564)