เวลานี้ต้องส่งน้ำใจ และกำลังใจไปให้พี่น้องคนไทย ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน หลายๆ จังหวัด อาทิ ชัยภูมิ นครราชสีมา ลพบุรี อยุธยา สุโขทัย ที่กำลังเจออุทกภัยอย่างหนักหน่วง ปัจจุบันมีผู้ได้รับความเดือดร้อนแล้วมากกว่า 7 หมื่นคน เสียชีวิต 6 คน และสูญหายอีก 2 คน
นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) “TEAMG” หรือ ทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า ปกติเวลานี้ถือเป็นฤดูฝนปกติ ซึ่งมีการตกเป็นบริเวณกว้าง แต่...สำหรับ พายุ “เตี้ยนหมู่” กรมอุตุนิยมวิทยา ก็ได้ติดตามมาตลอด แต่..ทีแรกคาดการณ์ว่าอาจจะมีผลเป็นเพียงร่องความกดอากาศต่ำ แต่เมื่อตามดูได้สักระยะ ก็พบว่าพายุลูกนี้จ่อขึ้นฝั่งดานัง และก็เข้ามาถึงไทย ซึ่งปกติเวลานี้ฝนก็เยอะอยู่แล้ว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง เหนือ และอีสาน
“จากฝนประจำถิ่นที่ตกอยู่แล้ว เมื่อพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” เข้ามา และขึ้นฝั่งเวียดนาม ด้วยกำลังที่เริ่มอ่อนลง จึงกลายเป็นดีเปรสชัน มาถึงประเทศลาว ก็กลายเป็นหย่อมกดอากาศต่ำ แล้วก็หอบเข้ามาทางฝั่งอุบลราชธานี”
...
ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ ยอมรับว่า มีหลายจังหวัดที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมหนักๆ และปัญหาเรื่องการระบายน้ำ เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก นอกจากนี้ ยังมี อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพราะบริเวณนั้นเป็นหุบเขา เมื่อมีฝนตก น้ำป่าก็จะไหลบ่าลงมา
เมื่อถามว่า กรมอุตุฯ เตือนประชาชนช้าไปหรือไม่ นายชวลิต นิ่งไปครู่ใหญ่ ก่อนจะตอบว่า “จะว่าช้าก็ไม่ช้า แต่ทางกรมอุตุฯ คงไม่มั่นใจว่าจะขึ้นฝั่งมาถึงไทยหรือไม่ แต่เนื่องจากพายุลูกนี้เคลื่อนตัวเร็วมาก และทิศทางไม่ชัดเจน”
ส่วนสาเหตุที่น้ำท่วมหลายจังหวัด เพราะหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น ฝั่งตะวันตก จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อมีการปล่อยน้ำจากข้างบนลงมา มันก็ไหลไปยังแม่น้ำสาขาต่างๆ เช่น แม่น้ำน้อย พอน้ำเข้าไปแล้ว ก็จะเอ่อขึ้นที่คลองโผงเผง จากนั้นก็ไหลมาที่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ ซึ่งอำเภอเหล่านี้อยู่นอกคันกั้นน้ำ
ส่วนฝั่งตะวันออก ก็อัดน้ำลงคลองชัยนาท-ป่าสัก ก็ทำให้หลายจังหวัดมีเยอะ เช่น จ.ลพบุรี บวกกับฝนในทุ่งมีจำนวนหนึ่ง ทำให้ต้องเร่งระบายลงแม่น้ำลพบุรี
มั่นใจ น้ำไม่ท่วมหนัก เหมือนปี 2554
ปริมาณฝน มวลน้ำ มากมายเทียบกับปี 2554 ได้หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ยืนยันว่าไม่เหมือนแน่นอน ปี 2554 เราโดนพายุติดต่อกัน 3 ลูก ภายในเวลาเพียง 10 กว่าวัน แต่กับปัจจุบันนี้เราโดนพายุแค่ลูกเดียว และมีเวลาทิ้งห่างกว่า 10 วัน
“เตี้ยนหมู่ผ่านประเทศไทยแค่ 2 วัน ก็ไปเมียนมา แต่ปี 2554 เราโดน พายุไห่ถาง เข้ามาประมาณวันที่ 30 กันยายน และสลายตัวในประเทศไทย ซึ่งปริมาณฝนประมาณ 100 กว่ามิลลิเมตร ถามว่าเยอะไหมก็ไม่ได้เยอะ แต่ตกกระจายเป็นวงกว้าง ต่อมาวันที่ 2 ต.ค. 54 เรามาเจอพายุ “เนสาด” เรียกว่าเวลานั้นน้ำเต็มที่ทุ่งแล้ว มาเจอตกซ้ำอีก เติมมาเรื่อยๆ วันที่ 5-6 ต.ค. “นาลแก” เข้ามาเติมอีก เรียกว่าพายุแต่ละลูกหอบน้ำมามากกว่า 100 มิลลิเมตร โดนไป 3 รอบ นั่นคือสาเหตุที่เกิดน้ำท่วมหนักมากในปี 2554”
อย่างไรก็ตาม นายชวลิต ยังพูดถึงการจับตาพายุลูกใหม่ ที่อาจจะเข้าประเทศไทยในช่วงวันที่ 7 ตุลาคมนี้ ว่า ถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจ แต่ก็ควรเตรียมตัวไว้ให้พร้อม ขุดลอกคูคลองไว้ เวลานี้ฝนยังไม่มาก็ควรเร่งขจัดสิ่งปฏิกูลที่ขวางทางน้ำให้เรียบร้อย
...
10 ปี ผ่าน...แผนรับมือน้ำท่วม ยังไม่เสร็จ เหตุขาดงบประมาณต่อเนื่อง
ทีมข่าวฯ ถามว่า จาก ปี 2554 ที่เราโดนน้ำท่วมใหญ่ ถึงวันนี้แผนการรับมือไปถึงไหน ผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการน้ำ ระบุว่า หากจะไล่การทำงานที่ผ่านมา ก็ต้องเริ่มตั้งแต่บนสุด คือ “บางระกำโมเดล” ซึ่งถือว่าช่วยรับน้ำได้มาก เพราะเวลาน้ำท่วมมาถึงที่ลุ่มต่ำ บางระกำ ก็รับน้ำไว้ มีการเปิด-ปิด กักเก็บน้ำ ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ก็ได้ปรับแผนการปลูกข้าวสำหรับเกษตรกร โดยให้ปลูกข้าวเร็วขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน พอถึงเดือนสิงหาคมก็เริ่มเก็บเกี่ยว
“ตรงนี้ถือว่าช่วยเกษตรกรได้ เพราะหลายพื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น “แก้มลิง” ซึ่งถึงเวลานี้ยังมีแก้มลิงอีกกว่า 12 แห่ง ที่ยังไม่ได้ใช้ ส่วนหนึ่งเพราะปลูกข้าวยังไม่ได้เกี่ยว ด้วยเหตุนี้ ทางกรมชลฯ จึงผันน้ำเข้าไปยังคลองสายต่างๆ เข้าสู่เจ้าพระยา จนกระทั่งมีข่าวลือผิดๆ ว่า เขาเปิดประตูน้ำ 12 บาน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะต้องเร่งพร่องน้ำ เพื่อรับน้ำใหม่ที่ยังค้างอยู่ทุ่งต่างๆ ที่อยู่เหนือ จ.นครสวรรค์ ที่ยังค้างอยู่จำนวนมาก”
นายชวลิต เผยว่า ที่จริงๆ เรามีแผนแม่บทสำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา เรายังมีเงินไม่เพียงพอที่จะทำอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง เรามีคลองผันน้ำขนาดใหญ่ อย่างคลองชัยนาท-ป่าสัก มีการออกแบบเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีเงินสร้าง..
...
“เราสามารถสร้างคลองที่มีการผันน้ำเหนือชัยนาทไปให้ลงอ่าวไทยเลยก็ได้ เพียงแค่ขยายให้ “คลองส่งน้ำ” กลายเป็น “คลองระบายน้ำ” โดยมีการเพิ่มบานประตูให้ใช้งานได้อย่างครบวงจร ซึ่งมันต้องใช้งบประมาณ เพราะเป็นเส้นทางกว่า 100 กิโลเมตร อีกช่วงหนึ่ง คือ “เขื่อนพระราม 6” ต่อไปลงทะเล อันนี้ยังออกแบบไม่เสร็จ...ก็รองบประมาณ”
แต่...มันผ่านมา 10 ปีแล้วนะครับ นายชวลิต กล่าวว่า รัฐบาลเขาก็เอาเงินไปใช้กับเรื่องที่ด่วนกว่า
“สิ่งที่ทำไปแล้วก็เป็น “คันกั้นน้ำ” กรุงเทพฯ ปทุมธานี และ นนทบุรี ถือว่าแข็งแรงดีแล้ว แต่ปัญหาคือฝนภายใน ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา ก็กำลังทำกันอยู่ที่ คลองบางบาล-บางไทร”
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำกังวล คือ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งไปจัดการเปิดทางน้ำให้เร็วที่สุด ก่อนถึงวันที่ 7 ต.ค. ถึงแม้จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าพายุที่จะเข้ามาอาจจะยังไม่มีกำลังมากเท่าไหร่
...
“เชื่อว่าลำน้ำเจ้าพระยายังสามารถรับน้ำได้ ฉะนั้น สิ่งที่ทำคือ พยายามจัดการจราจร ทำทางน้ำใหญ่ และยังไหลผ่านไปได้ดี ฝนก็เริ่มหยุดแล้ว เหลือเพียงฝนประจำถิ่น”
ส่วนสิ่งที่ กรุงเทพมหานครควรทำ นอกจากจัดการเรื่องสิ่งปฏิกูลที่ขวางทางน้ำแล้ว ก็ควรไปเช็กระบบปั๊มน้ำ ในพื้นน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะเป็นพื้นที่ต่ำ ไปลองสตาร์ตเครื่องสูบน้ำไว้ก่อน หากไม่ติด ก็จะได้เร่งแก้ไขก่อนน้ำมาถึง...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ