“90% ของการซื้อของออนไลน์ ผู้ซื้อไม่รู้จักผู้ขาย ไม่รู้ว่าปลายทางที่กำลังจะซื้อของ “มีตัวตน” จริงหรือไม่ อันดับแรกผู้ซื้อต้องไม่รีบร้อน นำชื่อผู้ขาย หรือชื่อเฟซบุ๊กมาเช็กในกูเกิลก่อน ถ้าเป็นไปได้ ให้วิดีโอคอลคุย เพราะหากเป็นสุจริตชนก็ย่อมเปิดเผยตัว”
ครับ...นี่คือบทสนทนาแรก ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง ผบก.สอท. 2 ซึ่งอยู่ภายใต้ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. เพิ่งแถลงข่าวจับกุม “แม่ค้าออนไลน์” อายุเพียง 19 ปี หลอกขายไอโฟนให้เด็กอายุ 14 ในราคา 5 พันบาท แต่เมื่อโอนเงินมาแล้ว กลับไม่ได้ของทำให้เด็กวัย 14 ปี ที่ตั้งใจจะนำมาใช้เรียนออนไลน์ ถึงกับเครียด เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกและเสียชีวิตในที่สุด
น่าเสียใจนะครับ กรณีแบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้น แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว นอกเหนือจากนี้ ยังมีเหยื่อรายอื่นๆ เข้ามาแห่แจ้งความจับแม่ค้าวัยรุ่นคนนี้ และยังมีเคสลักษณะใกล้เคียงกันด้วยการหลอกขายของให้กับคนพิการ
...
พล.ต.ต.กานตพงศ์ เปิดเผยว่า ปัญหาของโลกไซเบอร์ที่พบจะมีการหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบ เช่น หลอกลวงการซื้อขายสินค้า หลอกลวงให้โอนเงิน เช่น แอปเงินกู้ นอกจากนี้ ยังมีการหลอกให้โอนเงินแบบ Romance Scam (หลอกให้หลงรัก หลอกให้ทำผิดกฎหมาย) เป็นต้น
3 ทริก เล่เหลี่ยม “หลอกขายของออนไลน์”
สำหรับการหลอกขายของออนไลน์นั้น พล.ต.ต.กานตพงศ์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออะไร เราต้องเข้าใจว่า “ของถูกและดี” ไม่มีจริงในโลก ฉะนั้น แผนของคนร้ายส่วนใหญ่ที่ใช้คือ การตั้งราคาสินค้าถูกๆ เพื่อมาหลอกล่อให้เข้ามาซื้อ ซึ่งการหลอกขายออนไลน์ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ประเภทไม่มีสินค้าที่จะขายเลย เพียงแต่ปั้นเรื่อง เสกของขึ้นมา อ้างว่ามีขาย ประเภทนี้เขาอาจจะใช้รูปที่อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตมาหลอกขาย
2. มีสินค้าจริง แต่เวลาขายส่งของไม่ตรงปกมาให้
3. ซื้ออย่าง ได้อีกอย่าง เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ มีการสั่งซื้อแท็บเล็ต ได้ “เขียง” ซึ่งเคสนี้ก็กำลังติดตาม
เมื่อถามว่า คดีในลักษณะนี้มีเก็บสถิติไว้บ้างหรือไม่ พล.ต.ต.กานตพงศ์ ยอมรับว่า หน่วยงานเราเพิ่งจะตั้งเมื่อปลายปี เป็นรูปเป็นร่างเมื่อต้นปี ที่สำคัญ คดีเหล่านี้ส่วนมากเป็นคดีเล็กๆ เมื่อเกิดเหตุขึ้น ก็จะมีการโพสต์แจ้งเตือนกันในกลุ่ม หรือไม่ก็ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ ดังนั้น สถิติจึงยังไม่ได้เก็บไว้มากนัก
“ที่เราเก็บไว้ก็คือ มีการมาร้องเรียนกับหน่วยงานเราตรงๆ ซึ่งเคสเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นคดีใหญ่ มีความเกี่ยวข้องไปหลายพื้นที่ มีผู้เสียหายจำนวนมาก ความเสียหายค่อนข้างสูง”
แก๊ง “แอปเงินกู้” อาละวาด ลวงให้โอนเงินก่อนกู้
พล.ต.ต.กานตพงศ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทาง บช.สอท. ได้ทลายแก๊งแอปเงินกู้ได้ 6 แอป โดยมีผู้ต้องหากว่า 30 คน
“แอปบางแอปที่ถูกสร้างขึ้นมาในเวลานี้ บางแอปไม่ได้มีไว้ปล่อยเงินกู้ เพียงแต่ใช้ช่องทางหลอกลวงประชาชน เช่น ถ้าอยากได้เงินกู้ 50,000 บาท คุณต้องโอนค่าธรรมเนียม หรือค่าประกันมาก่อน 5,000 (10% ของยอดกู้) ซึ่งแน่นอน เมื่อเราโอนเงินไปให้เขาแล้ว เขาก็จะบ่ายเบี่ยงส่งเงินมาให้ อ้างสารพัดปัญหา แต่เมื่อเราอยากจะได้คืน เงินที่โอนไป เขาก็ต้องโอนค่าธรรมเนียมมาอีก อ้างว่าปิดบัญชี ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
นี่คือเล่เหลี่ยมของ “แอปเงินกู้” ที่จะหลอกลวงประชาชน
...
ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น พล.ต.ต.กานตพงศ์ ตอนนี้ทราบว่าเป็นเงินหลัก 10 ล้านบาท ตัวเลขดังกล่าว เป็นตัวเลขที่คนเดินทางมาร้องเรียนกับหน่วยงานเท่านั้น ยังไม่รวมบางคนที่หลงเชื่อไปแล้ว และไม่ติดตาม คิดว่าเป็นการ “ฟาดเคราะห์”
“บางคนโดนหลอกซ้ำซ้อน ให้โอนเงินหลายครั้ง บางคนกู้เงิน 50,000 บาท แต่กลับถูกหลอกให้โอนเงินรวมแล้ว 70,000 บาทก็มี ซึ่งแก๊งเหล่านี้ เท่าที่มีการสืบสวนทราบว่า “มีนายทุนต่างชาติ” ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งคนต่างชาติที่ว่า คือกลุ่มประเทศในเอเชียนี่แหละ”
ข้อควรระวังสำหรับการกู้เงินแอปเหล่านี้คือ พล.ต.ต.กานตพงศ์ เน้นย้ำว่า ถ้าใครมาให้กู้เงิน แล้วต้องโอนเงินไปก่อน แบบนี้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่าเป็นการหลอกลวง เพราะไม่มีธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ไหนเขาทำแบบนี้ นอกเสียจาก “มิจฉาชีพ” การโอนเงินให้ไปก่อนมันผิดหลักการการกู้เงินอยู่แล้ว
Romance Scam หลอกให้รัก ลวงให้โอนเงิน
ส่วนกรณี Romance Scam ที่ผ่านมาก็เจอกันเยอะมาก พล.ต.ต.กานตพงศ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วหลักการก็จะไม่แตกต่างจากการซื้อขายของออนไลน์ เพราะหากจริงใจต่อกัน เราควรจะเปิดเผยตัว เผยหน้า วิดีโอคอลฯ หากันเลย คนจะรักชอบกันมีที่ไหน จะแชตคุยกันอย่างเดียว เรื่องแบบนี้เป็นไปไม่ได้
...
“หากจะให้โอนเงิน ต้องเอาเลขบัญชี พร้อมบัตรประชาชนมาโชว์เลย ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร เลขบัญชีอะไร ถ้าคนร้ายเลือกที่จะใช้วิธีการนี้หลอกลวง เราก็จะจับคนร้ายได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มักจะไม่รู้ว่าปลายทางคือใคร”
อนาคตจัดระเบียบบัญชี สร้างทางเดินสุจริตชน
สำหรับมาตรการป้องกัน ตำรวจไซเบอร์ เผยว่า ผมได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการ ให้หารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้แก้ปัญหาเรื่องการ “รับจ้างเปิดบัญชี” และการจัดการบัญชี เพื่อแก้ปัญหาการหลอกขายของออนไลน์ โดยมีข้อเสนอให้ทางธนาคารทุกแห่งจัดกลุ่มประเภท โดยอาจจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม
1. กลุ่มร้านค้าขายของ
2. กลุ่มประชาสัมพันธ์ ไอที และโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก
3. กลุ่มการขนส่ง
4. กลุ่มบัญชีและการเงิน
“เราโฟกัสไปที่กลุ่ม 4 เป็นหลัก เพราะข้อ 1-3 จะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีการโอนเงิน โดยเฉพาะเรื่องความน่าเชื่อถือของบัญชี เพื่อพิสูจน์ทราบตัวตน สิ่งที่เราพยายามทำในเวลานี้ คือ การสร้างเส้นทางให้สุจริตชนเดิน เช่น หากใครจะเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายของออนไลน์ ก็อยากให้ไปลงทะเบียนเพิ่มกับธนาคารเพื่อสร้างเครดิตให้กับทางร้าน”
หากเป็นบัญชีม้า หรือ บัญชีผี เชื่อว่าบัญชีเหล่านี้จะไม่มีใครไปยืนยันตัวตนแน่นอน เพราะบัญชีเหล่านี้ มีคนบางกลุ่มรับจ้างเปิด แล้วนำไปขายให้กลุ่มมิจฉาชีพ บัญชีละ 2,500 บาทเอง หากทำเรื่องนี้ได้ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหากลุ่มมิจฉาชีพที่หากินจากช่องทางไซเบอร์ได้มาก
...
ในเบื้องต้น ทางธนาคารรับหลักการนี้แล้ว แต่ยังต้องหารือเพื่อหาข้อสรุปกันต่อ โดยการเชิญสมาคมธนาคาร และ ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) โดยคาดว่าน่าจะเป็นรูปเป็นร่างภายในปีนี้ เพราะทาง ผบ.ตร. และ ผบ.สอท. ได้กำชับมา
“หากเราจัดการเรื่องบัญชีผี บัญชีม้า ได้ เคสกรณีเด็กอายุ 14 ที่เสียชีวิตจากความเครียด เพราะถูกหลอกเงินไป 5,000 บาทก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะคนร้ายตัวจริง มักจะไม่ใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงของตัวเอง”
คำถามคือ ที่ผ่านมา เราจัดการ “รับจ้างเปิดบัญชี” แล้ว ทำไมยังมีบัญชีม้า บัญชีผีอีก พล.ต.ต.กานตพงศ์ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับ ธปท. ก็ยืนยันว่า พยายามให้ธนาคารทุกแห่งติดป้ายเตือนแล้ว แต่ดูเหมือนว่า มาตรการที่ใช้จะไม่ได้ผล เหมือน “ดื้อยา”
ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องสร้างมาตรการป้องกันมากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นผลดีกับทางร้านค้าเอง ถ้าหากมีการยืนยันตัวตนกับธนาคารแล้ว ก็จะทำให้ดูน่าเชื่อถือ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทางธนาคารประสานกับทางเจ้าหน้าที่เร่งแก้ปัญหากรณีมิจฉาชีพแบบนี้ให้เข้าถึง อายัดบัญชีได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาคืนให้กับประชาชน
พล.ต.ต.กานตพงศ์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องระวังและฝากไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง คือ เวลานี้เด็กๆ เข้าถึงโลกโซเชียลอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวก การแชตพูดคุยกับใครสามารถทำได้หมด ฉะนั้นจึงต้องหมั่นดูแลลูกหลานท่านให้ดี
ผู้เขียน : อาสาม
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ