• เรื่องฉาวโฉ่ ยิ่งกว่า “นรกบนดิน” ภายในศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี มีการร้องเรียนผ่าน “หมอปลา” หรือ นายจีรพันธ์ เพชรขาว มือปราบสัมภเวสี อ้างว่า มีการซ้อมทรมานผู้บำบัด ให้ทำสัญญาและเรียกเก็บเงิน หากจะออกมา ต้องแลกกับการจ่ายเงิน

  • เมื่อมีการบุกไปพิสูจน์ความจริง ก็ต้องผงะกับสภาพที่ได้เห็นกับตา มีผู้บำบัดกว่า 300 คน อยู่กันอย่างแออัดภายในห้องขนาดยาว 20 เมตร กว้าง 15 เมตร และมีห้องน้ำเพียง 2 ห้องเท่านั้น พร้อมกับหลายๆ ข้อครหา ไม่ชอบมาพากล ไม่น่าจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

  • ปัจจุบันผู้บำบัดถูกย้ายไปโรงพยาบาลสนาม ค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหารเขาชนไก่ ก่อนส่งกลับภูมิลำเนา และหลังการเข้าตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางวัดต้องการยกเลิกศูนย์ดังกล่าว เนื่องจากเจ้าอาวาสในฐานะผู้ดำเนินการ ได้มรณภาพอย่างกะทันหัน เมื่อวันที่ 20 ก.ย. หลังอาพาธมานาน 2 ปี และล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือด่วนที่สุดให้หยุดดำเนินการ

...

“นรกบนดิน” จะเป็นเรื่องจริงราวกับในหนังหรือไม่ ทางกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนสำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะให้เงินอุดหนุนแก่สถานที่บำบัดผู้ติดยาเสพติดแห่งนี้ โดย “วิชัย ไชยมงคล” เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุ แม้ว่าทาง ป.ป.ส. มีอำนาจหน้าที่หลักในการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด แต่การจัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เป็นการดูแลและกำกับควบคุมโดยกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด และ ป.ป.ส. มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ด้านการบำบัดรักษา และประสานสนับสนุนติดตามการดำเนินงานทั้งภายในและระหว่างประเทศเท่านั้น

ที่ผ่านมาศูนย์สงเคราะห์ดังกล่าว ได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้งตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลประเภทสถานฟื้นฟู ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2555 ให้รับผู้บำบัดยาเสพติดได้ 50 คน และต้องจัดให้มีพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขอย่างน้อย 1 คน ในการดูแลสุขภาพผู้ติดยาเสพติดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่ศูนย์สงเคราะห์แห่งนี้ มีผู้บำบัดมากกว่า 200 คน ซึ่งการบำบัด การจ่ายยารักษาเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการควบคุมดูแลสถานที่ให้ถูกตามหลักอนามัยและความปลอดภัย

“ทางสาธารณสุข ทำหน้าที่ดำเนินการทั้งหมด ซึ่งปกติแล้วหากภาคประชาชนในพื้นที่ใด จะจัดตั้งสถานฟื้นฟูในลักษณะนี้ต้องยื่นเรื่องไปยังสาธารณสุขจังหวัด โดยจะมีคณะอนุกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ทำการตรวจสอบคุณสมบัติ ถ้าเป็นบุคคล หรือนิติบุคคล ควรจะมีลักษณะอย่างไร และเสนอไปยังคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ก่อนส่งเรื่องไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

ศูนย์สงเคราะห์ฯ ดังกล่าว มีการจัดตั้งครั้งแรกอย่างถูกต้องในเรื่องวิธีการ และที่ผ่านมาเมื่อปี 2560 ได้ทำเรื่องของบจาก ป.ป.ส. แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ส.จะต้องอุดหนุนงบให้ทุกปี เหมือนกระทรวงสาธารณสุข ต้องจ่ายเงินเป็นรายหัว แต่เป็นงบอุดหนุนที่ ป.ป.ส.จัดสรรให้ภาคประชาชน มาจนถึงปี 2564 ตามระเบียบราชการ เป็นค่าอาหารรายหัว หัวละ 1 พันบาท โดยขอมา 60 คน รวมแล้วประมาณ 4.2 แสนบาท

ผู้บำบัดแน่นทะลัก จากหลักสิบ เป็นหลักร้อย เกินรับมือ

จากปัญหาข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นว่ามีการซ้อมทรมาน หรือทำสิ่งไม่ถูกต้องตามที่เป็นข่าวออกมา ซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ทางกระทรวงสาธารณสุขต้องตรวจสอบ แต่ในเรื่องกิจการทาง ป.ป.ส.ได้ลงไปตรวจสอบบ้าง ในแง่การป้องกันยาเสพติด โดยทั่วประเทศมีศูนย์บำบัดฟื้นฟูฯ ประมาณ 113 แห่ง เพื่อรองรับผู้เสพที่สมัครใจเข้ารักษา

...

เบื้องต้น ในการส่งผู้เสพยาเสพติดไปศูนย์บำบัดฟื้นฟูฯ ถือเป็นผู้ป่วย จะต้องสมัครใจเข้ารับการรักษา โดยไม่ต้องเสียประวัติ หรือครอบครัวใดมีผู้เสพยาเสพติด สามารถโทรไปสายด่วนขอรับการปรึกษาจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สถาบันธัญญารักษ์) และในกรณีที่มีการร้องเรียนมีการเรียกรับเงินค่าบำบัด ไม่น่าจะใช่ ยกเว้นเป็นของเอกชน เพราะไม่ได้รับงบจากภาครัฐ อาจมีการเรียกเก็บเงิน

ในการนำผู้เสพยาเสพติด เข้ารับการบำบัด จะต้องผ่านการคัดกรองว่าอยู่ในระดับใด ตั้งแต่ระดับผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ติด โดยผู้ใช้ เป็นกรณีใช้กับเพื่อนบางครั้งคราว อาจเรียกผู้ปกครองมาตักเตือน ส่วนผู้เสพ เป็นการใช้บ้างไม่ได้บ่อย ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับฝ่ายปกครองของทางจังหวัด จะจัดค่ายอาสาตามหลักสูตร โดย ป.ป.ส.จะเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัว หัวละ 1.5 พันบาท และในกรณีผู้ติด หมายความว่าขาดไม่ได้ อาจเป็นโรคจิต ต้องเข้าสถานพยาบาล

...

ปัจจุบันศูนย์บำบัดฟื้นฟูฯ มีเอกชนจัดตั้งเพื่อช่วยสังคม แต่ส่วนมากเป็นวัด และไม่ได้แออัด ส่วนของทางราชการ มีคนเข้ารับการบำบัดน้อยมาก หรือหาคนเข้ารับการบำบัดยากมาก และในกรณีศูนย์ดังกล่าว พบว่าผู้บำบัดส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน อาจเป็นเพราะผู้ปกครองมีความเชื่อด้านศาสนา อยากให้ลูกหลานไปอยู่กับวัด

“ในช่วงที่เจ้าอาวาส ยังไม่อาพาธ อาจมีคนไม่มาก ไม่เกิน 60 คน กระทั่งมีชื่อเสียงเหมือนโรงเรียนดังๆ ในเรื่องการรักษาให้หาย และในฐานะที่วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ จึงมีการนำลูกหลานมาอยู่กับพระ มีการบอกต่อจนมีคนมาบำบัดเยอะ และพระก็มีความเมตตาอยู่แล้ว เลยไม่ได้ดูเกณฑ์ จนเกินจะรับมือ และต่อมาท่านอาพาธ 2 ปี กระทั่งมรณภาพ”

ชุมชนบำบัด สู่ ก.ม.ฉบับใหม่ ยึดทรัพย์ ตัดวงจรยาเสพติด

ประเด็นที่อ้างว่ามีการขายยาเสพติด ภายในศูนย์บำบัดฟื้นฟูฯ สามารถร้องเรียนมายังป.ป.ส.ได้ แต่จากการตรวจสอบยังไม่มีแต่อย่างใด และต้องยอมรับว่าตั้งเกิดการระบาดของโควิด พบว่าการเสพยาเสพติดลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2 ปี เนื่องจากสถานบันเทิงปิด ส่วนใหญ่ผู้เสพจะหาโอกาสในการรวมตัวได้ยาก อาจมีการลักลอบบ้าง และการจับยาเสพติดลอตใหญ่ เป็นการใช้เส้นทางในไทยเป็นทางผ่านในการขนไอซ์ เฮโรอีนไปยังประเทศที่สาม ส่วนใหญ่ส่งไปทางภาคใต้ เพื่อส่งต่อไปยังยุโรป ซึ่งการใช้ยาเสพติดในไทยนั้น น้อยมากประมาณ 10% มีการเสพยาบ้ามากสุด

...

สถานการณ์โควิด ทำให้การเสพยาเสพติดน้อยลง ส่งผลให้ศูนย์บำบัดฟื้นฟูฯ แต่ละแห่งรับภาระน้อยลง บางแห่งแทบไม่มีผู้บำบัด ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุด เป็นการรักษาในชุมชนให้คนในหมู่บ้านช่วยดูแล หากผู้บำบัดได้รับการยอมรับจากสังคมรอบด้าน ก็จะก่อผลดีในเรื่องจิตใจ เป็นแนวทางชุมชนบำบัด เพราะจากการทดลองในหลายพื้นที่ได้ผลดี และบรรจุอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติด กำลังประกาศบังคับใช้ในเร็วนี้ โดยเฉพาะการยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดทรัพย์ ตัดวงจรยาเสพติด

จากเดิมหากมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ถูกยกฟ้องไม่โดนคดีอาญา จะต้องคืนทรัพย์สินให้ทั้งหมด แต่กฎหมายฉบับใหม่ ถ้ามีหลักฐานที่มาของทรัพย์สินจากการค้ายาเสพติด แม้ไม่โดนคดีอาญา ก็สามารถยึดทรัพย์และยึดทรัพย์ย้อนหลังได้ ซึ่งโทษต่อไปในเรื่องทรัพย์สินจากการค้ายาเสพติดจะแรงมาก

“ถ้าใครค้ายาเสพติด ถ้าโดนจับ จะไม่เหลืออะไร และถ้ามีหลักฐาน ก็ต้องชดใช้ให้หลวง ได้มาเท่าไรก็ชดใช้เท่านั้น แต่ที่ผ่านมาขายได้ 1 ล้าน แต่ยึดได้มา 2 แสนเท่านั้น จึงขอเตือนผู้ค้า ขอให้เลิก ขอให้มีสติ เพราะหลักฐานจากการค้ายา ไม่ได้ผ่านการคำนวณ แต่ต้องผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการระดับสูงจากหลายกระทรวง เพื่อส่งให้ศาลไต่สวน สุดท้ายอยู่ที่ศาลจะใช้ดุลพินิจจากหลักฐานการค้ายา น่าจะทำให้สถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยดีขึ้น และศูนย์บำบัดฟื้นฟูฯ จะได้มีภาระลดน้อยลงในที่สุด”

ผู้เขียน : ปูรณิมา