14 ต.ค. 2564 ครบ 120 วัน ตามนโยบายเปิดประเทศจากการประกาศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 แต่การระบาดของโควิด ยังไม่จบสิ้น มีผู้ติดเชื้อหมื่นกว่าคนต่อวัน และโควิดคงอยู่อีกนาน ซึ่งความเดือดร้อนเรื่องปากท้องของคนไทยรอไม่ได้ หลังเศรษฐกิจชะลอตัวมานาน จากผลกระทบโควิด
การเปิดประเทศต้องเดินหน้า พร้อมกับการคลายล็อกดาวน์หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มให้ครอบคลุม 70% ของประชากรโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติในการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย เหมือนหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อิสราเอล และสิงคโปร์
ประเมินกันว่าไทย น่าจะเปิดประเทศแบบเต็มตัวได้ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 และทยอยยกเลิกนโยบายเข้มงวด เตรียมใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ฉบับแก้ไข แทนการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คาดหวังว่าประชาชนจะสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ สู่เป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศต่อไป
ท่ามกลางการขานรับของภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาพยายามรวบรวมข้อเสนอแนะ สนับสนุนการเปิดประเทศมาโดยตลอด ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุข จากตัวอย่างการนำร่องโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ต่อด้วย “สมุยพลัสโมเดล” ในการต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการ
กรุงเทพฯ หนึ่งในพื้นที่เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยว ตามแผนระยะที่ 2 เดิมมีกำหนดในวันที่ 1 ต.ค. คงต้องเลื่อนออกไปก่อน จนกว่าจะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มให้ได้ 70% ของประชากร ตามเกณฑ์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุความกังวลและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิดในไทย จะยังสูงอยู่อย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564 หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม โดยมาตรการควบคุมการระบาดยังมีความจำเป็น และการผ่อนคลายมาตรการ ควรดำเนินการไปทีละขั้นตอนด้วยความระมัดระวังตลอดทั้งปี อาจมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเพิ่มเติมในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ หรือในช่วงที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่า 150 รายต่อวัน
...
"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" โมเดลเปิดประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจ
“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า เมื่อโควิดยังอยู่อีกนาน ต้องคิดว่าจะอยู่กันอย่างไรต่อไป นำไปสู่นโยบายการเปิดประเทศ จากการสนับสนุนของภาคเอกชน นำกรณี “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่ดำเนินมาตรการอย่างเข้มแข็ง มาเป็นแบบอย่าง แม้ตัวเลขไม่ถึงเป้าหมายก็ตาม แต่เป็นตัวอย่างในการเปิดประเทศ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้กับนักท่องเที่ยว และเป็นสัญญาณว่าการระบาดของโควิดไม่ได้มาจากนักท่องเที่ยว แต่ระบาดจากคนในประเทศ ทำให้การเปิดประเทศยังไม่ใช่ทั้งประเทศ ต้องเป็นในลักษณะ “แซนด์บ็อกซ์” เหมือนภูเก็ต
“การนำร่องเปิดพื้นที่ภูเก็ต รับนักท่องเที่ยว มีการตรวจทุกขั้นตอน เป็นข้อดีในการควบคุมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพราะนอกจากต้องฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีการตรวจ PCR ตรวจ ATK เป็นแนวทางที่จำเป็นมากต่อการเดินหน้าต่อในการเปิดประเทศ คงจะอยู่นิ่งไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจจะถดถอยไปเรื่อยๆ และประชาชนจะหากินไม่ได้ ต้องมีความชัดเจนด้านมาตรการและฉีดวัคซีนให้มากที่สุด”
เพราะฉะนั้นแล้วในการจะเปิดประเทศไม่ว่าจะที่ใด ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ และต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากร โดยบางมาตรการที่ออกแบบอาจไม่เหมาะกับกรุงเทพฯ แต่เหมาะสมกับบางเมืองบางจังหวัด โดยนำโมเดลภูเก็ตมาใช้ ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่จะได้รับจากเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวแล้ว จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน ในการนำเงินมาลงทุนในประเทศ ซึ่งจะต้องเห็นของจริง และได้รับความสะดวก ทั้งมติ ครม.ล่าสุดที่ออกมา เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และการออกประกาศเพิ่มเติมของกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจ PCR และลดการกักตัว
“จากเดิมเข้มมากต้องกักตัว 14 วัน ทำให้ไปไหนไม่ได้ เพราะนักธุรกิจคงไม่อยากกักตัว ควรกำหนดใหม่ในระหว่างกักตัวไม่ครบ 7 วัน ควรมีมาตรการอย่างไร โดยนำสถิติที่สำคัญมาออกแบบ เช่น การฉีดวัคซีน นักท่องเที่ยวกักตัวกี่วัน และหากติดเชื้อจะปฏิบัติอย่างไร ไปสู่การตั้งกฎระเบียบในการเปิดประเทศ หวังว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัว 6-7% หลังผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เหมือนการส่งออกกลับมาโตอีกครั้ง”
โควิดยากคาดเดา แต่ต้องเปิดประเทศ ปรับตัวให้ได้
...
แม้สถานการณ์ยังไม่ได้นิ่ง ยากจะคาดเดาได้ แต่ก็มีความหวังจะไปให้ถึงตามเป้า อาจมีอุปสรรคเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องเดินหน้าเปิดประเทศ พร้อมกับการมีวัคซีนเข็ม 4 เข็ม 5 บวกกับยารักษาที่อาจจะตรงโรคตรงจุด เชื่อว่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะโลกขณะนี้ค่อนข้างรู้จักโรคนี้ได้ดีขึ้น ทำให้ยังพอมีเสื้อเกราะ มีอาวุธไปต่อสู้กับโควิดได้บ้างแล้ว ซึ่งต้องรอ
ที่ผ่านมาโควิดได้สอนให้นักธุรกิจได้รู้ว่า จะอยู่ในคอมฟอร์ดโซน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นชินแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะที่ผ่านมามีเรื่องย้อนแย้ง ผิดความคาดหมายอยู่ตลอด แต่ปัจจุบันจะอยู่กับที่ไม่ได้แล้ว ต้องหาทางปรับตัวให้เจ็บตัวน้อยที่สุด พยายามพลิกฟื้นให้ได้โดยเร็ว เหมือนการ WFH ทำงานที่บ้าน แม้อาจไม่ได้ประสิทธิผล แต่มีข้อดีในการทำงานที่ยาวนานมากกว่าปกติ เพื่อให้งานออกมามีคุณภาพ
เช่นเดียวกับการเปิดประเทศ จะต้องเดินหน้า พร้อมกับการออกแบบมาตรการให้เหมาะสมกับพื้นที่ และให้คนกลับมาลืมตาอ้าปากในการทำมาหากิน อยู่คู่กับโควิด ภายใต้ความคาดหวังหากมีการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และประเทศจะได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วยิ่งขึ้น.
...