ถึงวันนี้ มีผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยแล้วกว่า 1.4 ล้านคน ซึ่งถือเป็นประเทศติดเชื้อมากที่สุด ในอันดับ 29 ของโลก มีผู้เสียชีวิต กว่า 1.4 หมื่นคน และหายป่วยมากกว่า 1.2 ล้านคน
แม้จะบอกว่าหายป่วยแล้ว แต่หลายๆ คนยังประสบปัญหา “ลองโควิด” (Long Covid) ซึ่งก็มีหลายอาการแตกต่างกันไป 1 ในนั้นก็คืออาการ “ผมร่วง”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ หมอโบนัส หรือ รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป หัวหน้าศูนย์โรคเส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เจ้าของรางวัลงานวิจัยระดับโลก ในการรักษาผมร่วงศีรษะล้านจากพันธุกรรม
อาการ “ผมร่วง” ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ ประเด็น ผมร่วงหลังจากป่วยโควิด และผมร่วงหลังฉีดวัคซีน
ใช่แล้ว...การฉีดวัคซีน จะส่งผลต่อผมร่วงได้จริงหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบ
ประเด็นที่ 1 : หายป่วยโควิด เกิด “ผมร่วงแบบฉับพลัน”
...
อาการ “ผมร่วง” หลังจากหายป่วยโควิด คุณหมอโบนัส ได้อธิบายว่า มันคืออาการผมร่วงแบบฉับพลัน หรือ Telogen effluvium
รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร เผยว่า อาการผมร่วงจากผู้ที่หายป่วยโควิด จะเรียกว่า อาการ “ผมร่วงแบบฉับพลัน” จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า จะเกิดขึ้นประมาณ 20% ของคนป่วยโควิด และพบว่าเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยรายงานจากประเทศสเปน พบว่า มีผู้หญิงป่วย 150 คน ผู้ชาย 41 คน
“อาการผมร่วง จะเกิดขึ้นหลังจากหายป่วยแล้วประมาณ 1-3 เดือน โดยจะมีผมร่วงวันละมากกว่า 100 เส้น แต่ในบางรายอาจจะร่วงสูงถึง 700-1,000 เส้นต่อวัน”
สำหรับความรุนแรงของอาการผมร่วง หมอโบนัส บอกว่า แต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่โดยสัดส่วนที่พบคือ คนที่มีอาการผมร่วง จาก 100 คน จะพบว่ามีอาการรุนแรงถึง 30% โดยเฉพาะผู้หญิงที่ป่วยโควิดแล้วน้ำหนักลดลงมากๆ เพราะบางคนไม่ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กิน ส่งผลให้กินข้าวไม่ลง น้ำหนักลดลงฉับพลัน ก็อาจจะทำให้เกิดผมร่วงมากได้หลังจากหายป่วยแล้ว ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นก็ต้องมาพบแพทย์”
**หมายเหตุ คนที่ลดน้ำหนักตามธรรมชาติ ก็อาจจะผมร่วงได้อยู่แล้ว **
วงจรการทำงานของเส้นผม เกิดขึ้น 1-3 เดือน
ส่วนสาเหตุ “อาการผมร่วง” หมอโบนัส อธิบายว่า ตอนที่ป่วยโควิด ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอวัยวะภายในร่างกายของเรา จะมีอาการอักเสบ เช่น ไข้สูง ปอดอักเสบ ซึ่งจะมีสารที่ชื่อว่า ไซโตไคน์ (Cytokines) สูง มีผลให้ไปทำลายระบบบางส่วนในร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบ
ร่างกายที่ไม่สบายเวลานั้น ทำให้ “เส้นผมเกิดอาการช็อก” ซึ่งเส้นผมเป็นเหมือนเครื่องสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายภายในของเรา เมื่อร่างกายไม่สบาย เส้นผมก็ไม่สบายไปด้วย
แต่...อาการผมร่วง จะไม่ร่วงในเวลานั้นทันที แต่มันจะเกิดผลกระทบเป็นวงจร หลังจากร่างกายป่วย 1-3 เดือน นี่เองคือคำตอบว่า ทำไมคนไข้ที่หายป่วยจากโควิด-19 ถึงผมร่วงในช่วงเวลาแบบนี้
เครียด ผลข้างเคียงยา กินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ทำให้ผมร่วง
“ความเครียด” ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการผมร่วง หมอโบนัสเชื่อว่าคนป่วยโควิดแทบทุกคนมีความเครียด บางคนถึงขั้นซึมเศร้า การกักตัวเองอยู่ในห้อง ในเวลานานๆ ก็ทำให้เกิดอาการผมร่วงได้
...
อีกปัจจัย คือ “ผลข้างเคียงจากยา” อาทิ ยาพาราเซตามอล ยาละลายลิ่มเลือด ยาปฏิชีวนะ
“แม้พาราฯ จะเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่การกินยาบ่อยๆ ก็ส่งผลทำให้เกิดอาการค้างเคียงอย่างผมร่วงได้ เพราะผู้ป่วยบางคนไข้ไม่ลดก็จำเป็นต้องกินยาต่อเนื่อง"
เมื่อถามว่า ยา “ฟาวิพิราเวียร์” หรือ “ฟ้าทะลายโจร” ล่ะมีผลต่ออาการผมร่วงหรือไม่ คุณหมอโบนัส ระบุว่า “เท่าที่ศึกษา..ยังไม่มีรายงานเรื่องนี้”
ยาทุกชนิดก็มีผลต่อร่างกาย กินพาราฯ มากๆ ก็จะผลกระทบไปถึงตับ ส่วนยาสมุนไพร กินมากๆ ก็อาจจะมีผลกับไตของเราด้วย ฉะนั้น เราต้องระมัดระวังเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะยาสมุนไพรที่ขายในท้องตลาด ต้องระวังของปลอมด้วย เพราะหากกระบวนการผลิตไม่สะอาด มีสิ่งปนเปื้อนมา ก็อาจจะส่งผลกระทบกับไต
คนผมน้อย...ร่วงแล้ว “อาจไม่เหมือนเดิม”
คนผมน้อย...ป่วยโควิด จะเป็นอย่างไร คุณหมอรัชต์ธร บอกว่า คนที่ผมหนา..แล้วเกิดอาการผมร่วง ก็ไม่ต้องกังวล เพราะโรคนี้มันหายได้เอง หากกินอาหารครบ 5 หมู่ แต่คนที่ผมบางอยู่แล้ว ยังร่วงเยอะอีก คนกลุ่มนี้ส่วนมากจะมาพบแพทย์
...
“มีอยู่บางเคสถึงขั้นเก็บผมที่ร่วงเป็นถุงๆ มาให้หมอดู ซึ่งเขาก็เครียดมาก เพราะเส้นผมมันส่งผลต่อความมั่นใจ หมอเองก็ได้แต่ปลอบใจ ซึ่งกรณีแบบนี้ สำหรับผู้ที่มีผมบางที่เกิดจากโรค หรือ พันธุกรรม หากร่วงไปแล้ว ก็อาจจะกลับมาไม่เท่าเดิมได้
** หมายเหตุ อาการผมร่วงแบบมีแผลเป็น และไม่มีแผลเป็น หมอโบนัส อธิบายว่า อาการผมร่วง จริงๆ (ไม่เกี่ยวกับโควิด) มี 2 แบบ แบบแรก คือ ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น คือ ร่วงแล้วก็ขึ้นใหม่ แต่...บางกรณี คือ ผมร่วงแล้วเกิดแผลเป็น สาเหตุเพราะเชื้อจากอาการอักเสบไปกินสเต็มเซลล์ในส่วนรากผม ทำให้เกิดแผลเป็น ทำให้ร่วงแล้วไม่ขึ้นอีก **
วิธีป้องกัน “ผมร่วง” หลังป่วยโควิด
รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ได้แนะนำผู้ที่กำลังป่วยโควิดอยู่ แล้วไม่อยาก “ผมร่วง” วิธีง่ายๆ คือ ต้องพยายามกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพยายามไม่เครียดจนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมา เราก็เห็นทีมแพทย์พยายามช่วยคนไข้ลดความเครียด หรือ ถ้าเป็นไปได้ ก็พยายามโทรไปเยี่ยมผู้ป่วยบ่อยๆ
...
“ส่วนผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้วมีอาการผมร่วงไม่ควรวิตกกังวล เนื่องจากอาการสามารถหายได้เอง โดยหากมีผมร่วงมากอาจใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ผมจะหยุดร่วงและงอกขึ้นใหม่เป็นปกติ ซึ่งอาจจะใช้เวลา 6-12 เดือน แนะนำให้กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ยาทาในกลุ่มไมน๊อกซิดิล (minoxidil) และอาจรับประทานวิตามินที่จำเป็นเสริมจะช่วยทำให้ผมที่ร่วงขึ้นมาใหม่ได้เร็วขึ้น”
ประเด็นที่ 2 : อาการ “ผมร่วงเป็นหย่อม” หลังฉีดวัคซีนโควิด-19
สำหรับ อาการโรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือ Alopecia areata รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ยอมรับว่า เวลานี้เราพบว่ามีคนป่วยโรคนี้ หลังจากไปฉีดวัคซีน 1-2 เดือน ทั้งนี้จากรายงานต่างประเทศ พบเพียงแค่ 3 ฉบับ แต่ก็หาข้อสรุปไม่ได้ ว่าเกิดมาจากวัคซีนหรือไม่
คุณหมอโบนัสยอมรับว่า ถึงเวลานี้ยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดหรือไม่ แต่ก็พบว่ามีคนป่วยโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จากคนที่ไปรับวัคซีนเกือบทุกชนิด (ทั้งเชื้อตาย mRNA และอื่นๆ)
ทั้งนี้ โรคผมร่วงเป็นหย่อม มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่โดยมากมาจาก “ความเครียด” ซึ่งเวลานี้คนในสังคมเกิดความเครียดกันมาก จึงทำให้ยากจะแยกแยะว่า มีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับกรณีนี้ไม่มาก และยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็น “เหตุบังเอิญ” ก็ได้
เมื่อถามว่ามีสาเหตุอื่นนอกจากความเครียดไหม คุณหมอโบนัส บอกว่า อาจจะมาจากการติดเชื้อไวรัส หรือโควิดก็ได้ เหมือนกับร่างกายไม่สบาย เฉกเช่นเดียวกับอาการผมร่วงฉับพลัน เพราะความเครียดจากทางร่างกาย หรือ จิตใจ มันส่งผลกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้
สำหรับอาการ “ผมร่วงเป็นหย่อม” จะมีลักษณะร่วงเป็นกระจุก เท่ากับเหรียญบาท เหรียญสิบบาท สามารถเกิดขึ้นได้ หลังจากป่วยโควิด 1-2 เดือน ซึ่งอาการผมร่วงดังกล่าว อาจร่วงแค่หย่อมเดียว หรือหลายหย่อมก็ได้
“แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจพบผมร่วงทั่วทั้งศีรษะ หรือแม้แต่ขนตามตัว เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนจมูก ด้วย โดยคนที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการรุนแรงมาก คิดเป็น 30%”
การรักษา “ผมร่วงเป็นหย่อม” จะแตกต่างกับโรคผมร่วงฉับพลัน เพราะโรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากอาการผิดปกติภูมิคุ้มกัน หรือเม็ดเลือดขาว แทนที่จะไปทำลายเชื้อโรค แต่กลับมาทำลายเซลล์รากผม ส่งผลให้เกิดโรคนี้ ฉะนั้น การรักษาจึงต้องให้ยายับยั้งเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติ เช่น ยาสเตียรอยด์ชนิดทา หรือฉีดเข้าที่หนังศีรษะ
ในช่วงท้าย หมอโบนัส ได้ฝากไว้ว่า การดูแลเส้นผมนั้น คือการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนให้เพียงพอ และอาจจะเลือกรับประทานวิตามินเสริม โดยเฉพาะวิตามิน D สังกะสี และธาตุเหล็ก ซึ่งถือเป็นการเสริมวงจรเส้นผมได้
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ