"เราควรฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ได้แล้วหรือยัง?"

คำถามใหญ่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อสัดส่วนจำนวนประชากรในระดับสูง (มาก) จนต้องเริ่มมองไปที่กลุ่มเป้าหมายถัดไป สำหรับการทำให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการให้เด็กๆ ได้กลับไปเรียนในสถานศึกษา

ท่ามกลางความ "เห็นต่าง" ทั้งที่ "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย"

ในวันนี้ "เรา" จะไปฟังความทั้งสองด้านในประเด็นนี้กันว่า แต่ละฝ่ายมีเหตุผลต่อประเด็นร้อนนี้อย่างไรกันบ้าง?

ฝ่ายสนับสนุน

     1) ปัจจุบันมีประเทศใดบ้างที่เริ่มต้นการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปแล้ว และใช้วัคซีนชนิดใดบ้าง?

คำตอบ

     1. ประเทศสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในเด็กกลุ่มอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม

...

     2. ประเทศจีน อนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ในเด็กกลุ่มอายุ 12-15 ปี โดยมีการวางเป้าหมายเอาไว้ว่าจะฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มอายุดังกล่าวได้ครบทุกคนภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

     3. ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในเดือนพฤษภาคม ต่อมาในเดือนสิงหาคมได้มีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ในกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 3-17 ปี

     4. ประเทศอินโดนีเซีย อนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวค กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ในวันที่ 28 มิถุนายน

     5. ประเทศสิงคโปร์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน

     6. ประเทศญี่ปุ่น อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-16 ปี ในเดือนมิถุนายน

     7. ประเทศฟิลิปปินส์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม

     8. ประเทศนิวซีแลนด์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน

     9. ประเทศเม็กซิโก อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน

     10. ประเทศบราซิล อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน

     11. ประเทศแคนาดา อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม

     12. ประเทศชิลี อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-16 ปี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม

     13. ประเทศปารากวัย อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี เฉพาะที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น

     14. ประเทศอิสราเอล อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในเดือนมิถุนายน

สำหรับชาติสมาชิกอียูที่ฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ประกอบด้วย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย เอสโตเนีย ฮังการี อิตาลี ลิทัวเนีย สเปน โดยส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกวัคซีน mRNA เกือบทั้งหมด

*หมายเหตุ: อัปเดตข้อมูลสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2564

     2) รายงานวิจัยที่รองรับการเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป?

...

องค์การยายุโรป (European Medicines Agency) หรือ EMA ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์สำหรับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยอ้างอิงผลการศึกษาในกลุ่มเด็กช่วงวัยดังกล่าว จำนวน 2,259 คน ซึ่งแสดงให้เห็นการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกัน ซึ่งเทียบเท่าได้กับกลุ่มอายุ 16-25 ปี ที่ได้รับวัคซีน

จากนั้นในเดือนสิงหาคม EMA ได้อนุมัติวัคซีนโมเดอร์นาสำหรับฉีดให้กับกลุ่มวัยดังกล่าว โดยคราวนี้ อ้างอิงงานศึกษาวิจัยที่มีผู้เข้าร่วมการทดสอบจำนวน 3,732 คน ซึ่งพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 เลยสักคนเดียว

ประเทศจีน เปิดเผยผลการทดลองทางคลินิกที่แสดงให้เห็นว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในเด็กอายุ 3-17 ได้ และพบอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรง

ประเทศสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC สั่งเริ่มเดินหน้าฉีดวัคซีน mRNA ให้กับเด็กอายุ 12-15 ปี มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตามนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ต้องการกระจายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมอเมริกันชนทุกกลุ่มวัยโดยเร็วที่สุด

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วัคซีนไฟเซอร์ผ่านการทดลองและการประเมินทางคลินิกในเดือนพฤษภาคม ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์มผ่านการทดลองทางคลินิกกับเด็กจำนวน 900 คนในกรุงอาบูดาบี ในเดือนสิงหาคม

...

ความเห็นจากองค์การอนามัยโลก

จนถึงปัจจุบัน (14 ก.ย.64) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO Strategic Advisory Group Experts) หรือ SAGE

ยังคงแนะนำว่า วัคซีนไฟเซอร์ คือ วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป

สำหรับกลุ่มอายุ 12-15 ปี ขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ขั้นรุนแรง อาจได้รับวัคซีนไฟเซอร์ควบคู่ไปกับกลุ่มเปราะบางอื่นๆ

อย่างไรก็ดี กลุ่มเด็กถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำในกรณีติดเชื้อแล้วทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนถือเป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อเป็นหลัก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยๆ หรือสวมหน้ากากอนามัยได้เช่นกัน

ทั้งนี้ การทดลองวัคซีนสำหรับกลุ่มเด็กกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และ WHO จะมีการปรับปรุงคำแนะนำเมื่อหลักฐานหรือสถานการณ์ด้านระบาดวิทยา เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลง

ฝ่ายคัดค้าน

...

     1. กลุ่มเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย

     2. พบอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และอาการโรคเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericarditis) ในหลายประเทศที่ฉีดวัคซีน mRNA ให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี

     3. คณะกรรมการร่วมด้านการให้วัคซีนและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค (Joint Committee on Vaccination and Immunisation หรือ JCVI) ของสหราชอาณาจักร ยืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานมากเพียงพอ ทั้งในแง่ผลข้างเคียงและการป้องกันอาการเจ็บป่วยหนักที่จะสามารถยืนยันได้ การฉีดวัคซีน mRNA จะให้ประโยชน์กับเด็กอายุ 12-15 ปี มากกว่าความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น (โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, โรคเยื่อหุ้มหัวใจ) หลังการฉีดวัคซีน

การโต้แย้ง

     1. ฉีดให้กลุ่มวัย 12-15 ปี ได้ไม่คุ้มเสีย

ช่วยเรื่องอาการเจ็บป่วยรุนแรง มีความเสี่ยงมากกว่าได้ประโยชน์?

JCVI อ้างอิงข้อมูลทางสถิติที่พบด้วยว่า เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงในกลุ่มวัยนี้ ในทุกๆ 1 ล้านคน จะมีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จะมีอาการเจ็บป่วยหนักจนต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ช่วยเรื่องอาการเจ็บป่วยรุนแรง ได้ประโยชน์ มากกว่า ความเสี่ยง?

คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA ให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี เอาไว้ว่า แม้เด็กส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย แต่เด็กกลุ่มนี้มักจะกลายเป็นพาหะในการแพร่เชื้อไปยังกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเมื่อมีการไปเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ในสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะภายในบริเวณโรงเรียน

นอกจากนี้ การปรากฏตัวของสายพันธุ์เดลตา ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหนัก ทำให้อาจไม่สามารถรับประกันได้ว่า กลุ่มวัยนี้จะไม่เกิดอาการเจ็บป่วยหนักขึ้นหากติดเชื้อ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน มีรายงานที่ชัดเจนยืนยันได้ว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อและป่วยอาการหนักรวมถึงเสียชีวิตในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนด้วย

     2. ความเสี่ยงจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคเยื่อหุ้มหัวใจ

เสี่ยงน้อย

รายงานวิจัยที่ถูกจัดทำโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า จากการฉีดวัคซีน mRNA ในสหรัฐอเมริกาจำนวนมากกว่า 300 ล้านโดส พบผู้มีอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและโรคเยื่อหุ้มหัวใจเพียง 1,000 กว่ารายเท่านั้น และถึงแม้ว่าในจำนวนดังกล่าวจะเป็นกลุ่มวัยหนุ่มสาวถึง 79% แต่ทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรง

ด้าน CDC ได้อ้างอิงข้อมูลทางสถิติที่ระบุว่า ทุกๆ การฉีดวัคซีน mRNA 1 ล้านโดส จะพบผู้ที่มีอาการป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือโรคเยื่อหุ้มหัวใจเพียง 67 รายเท่านั้นในกลุ่มอายุตั้งแต่ 12-17 ปี ส่วนในกลุ่มอายุ 18-24 ปี อัตราส่วนจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน จะพบเพียง 56 คน ส่วนกลุ่มอายุ 25-29 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน จะพบเพียง 20 คน ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำเท่านั้น

เสี่ยงมาก

รายงานผลการศึกษาล่าสุดของ ดร.เทรซี่ ฮีก (Tracy Hoeg) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า จากการวิเคราะห์อาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ในสหรัฐอเมริกาช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า อัตราการเกิดอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและโรคเยื่อหุ้มหัวใจ หลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ในกลุ่มเด็กชายอายุ 12-15 ปี ที่มีสุขภาพดี อยู่ที่ประมาณ 162.2 คน ใน 1 ล้านคน ในขณะที่ กลุ่มเด็กชายสุขภาพดี อายุระหว่าง 16-17 ปี อยู่ที่อัตราส่วน 94 คน ใน 1 ล้านคน

และในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน สำหรับกลุ่มเด็กหญิง อายุ 12-15 ปี ที่มีสุขภาพดี จะอยู่ที่ 13.4 คน ใน 1 ล้านคน ส่วนเด็กหญิง อายุระหว่าง 16-17 ปี จะอยู่ที่ 13 คน ใน 1 ล้านคน

ขณะที่ อัตราการติดเชื้อในสหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่กลุ่มวัยรุ่นที่มีสุขภาพดี อาจจะติดเชื้อโควิด-19 จนต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในอีก 120 วันข้างหน้า (หลังผลรายงานวิจัยชิ้นนี้) อยู่ที่ประมาณ 44 คน ต่อ 1 ล้านคน

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังพบว่า กลุ่มเด็กชายอายุ 12-15 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัว มีโอกาสที่จะเกิดอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและโรคเยื่อหุ้มหัวใจ หลังได้รับวัคซีน mRNA ครบ 2 เข็ม มากกว่าโอกาสที่จะมีอาการเจ็บป่วยจนเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จากการติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 4-6 เท่า ในช่วงระยะเวลานับจาก 4 เดือนที่ผ่านมา

โดยเด็กส่วนใหญ่ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้ยากนี้ จะเกิดอาการภายในไม่กี่วันหลังได้รับวัคซีน mRNA เข็มที่ 2 และในจำนวนนี้ ซึ่งเกือบ 86% เป็นเด็กชาย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

และทั้งหมดนี้ คือ ทั้งสองมุมในเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไปที่ "เรา" รวบรวมมาให้ "คุณ" ได้ลองพิจารณากันดู!

ข่าวน่าสนใจ: