จากคำสั่ง "ห้าม" และ "ปิด" ของรัฐบาลตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ได้นำมาซึ่งเสียงบ่น เสียงครวญ ของหลายๆ ฝ่าย ทั้งภาคเอกชนและประชาชน ที่น่าวิตกในทุกมิติของสังคมและเศรษฐกิจ จนในที่สุด... คำสั่ง "คลายล็อกดาวน์" ก็มาถึง

นับถอยหลังดีเดย์คลายล็อกดาวน์ 1 กันยายน 2564 ที่มี "กฎเกณฑ์" ไม่ได้ฟรีสไตล์แบบใจหวัง ด้วยห้วงวิกฤติโควิด-19 ที่ยังระบาดเป็นวงกว้าง ดังนั้น จึงกลายเป็นว่า คนที่จะได้คลายล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในสภาวะนี้ ขอสงวนสิทธิ์ไว้เพียง "คนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม" หรือ "ครบเกณฑ์" แล้วเท่านั้น!?

ณ วันศุกร์ ที่ 27 สิงหาคม 2564

ศบค. ได้กำหนดมาตรการที่เรียกว่า COVID-FREE Setting และจะถูกนำมาใช้ใน 29 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพฯ, กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครนายก, นครราชสีมา, นราธิวาส, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, อยุธยา, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, ยะลา, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สงขลา, สิงห์บุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระบุรี, สุพรรณบุรี และอ่างทอง

...

โดยมาตรการที่ว่านี้ มี "เงื่อนไข" ที่น่าสนใจอย่างยิ่งโดยเฉพาะส่วนของ "ผู้ประกอบการ/พนักงาน" และ "ผู้รับบริการ/ลูกค้า" ของสถานประกอบการต่างๆ ที่ได้โอกาสในการกลับมา "เปิด" อีกครั้ง นั่นคือ บรรดาร้านอาหารต่างๆ ทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า รวมถึงหาบเร่ แผงลอย รถเข็น เป็นต้น

"เงื่อนไข" ที่ว่านั้นคืออะไร?

     1. COVID-FREE Personnel หรือผู้ประกอบการ/พนักงาน ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

     2. COVID-FREE Customer หรือผู้รับบริการ/ลูกค้า ต้องมี Green Card ที่ยืนยันว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ส่วนคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน หรือตรวจ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน ก็ต้องมี Yellow Card ในการยืนยัน

ซึ่งหาก "คุณ" ตรงตามเงื่อนไขที่ว่ามาทั้งหมด นั่นก็หมายถึงว่า คุณจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าไปนั่งรับประทานอาหารภายในร้านอาหารได้ และคุณก็จะได้รับสิทธิ์ในการเปิดร้านและทำงานให้บริการลูกค้าได้เช่นกัน

สำหรับ "เงื่อนไข" นี้ อยู่ภายใต้ "ข้อกำหนด" อีกชั้นของการให้บริการ กล่าวคือ เปิดให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ไม่เกิน 20.00 น., ห้ามดื่มสุรา/เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และจำกัดการนั่ง แบ่งเป็น พื้นที่ปิด ไม่เกิน 50% ของที่นั่งปกติ และพื้นที่อากาศถ่ายเทดี ไม่เกิน 75% ของที่นั่งปกติ

ในส่วน "เงื่อนไข" ที่พ่วงมานั้น ถ้าเป็นโดยทั่วไปก็คงไม่มีอะไรให้กังวล แต่เมื่อเป็นเงื่อนไขที่ว่า "วัคซีนครบตามเกณฑ์" หรือได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จึงเกิดความน่าสนใจว่า ถ้านับแค่ "ประชาชนในพื้นที่ 29 จังหวัด มีกี่คนที่จะได้สิทธิ์นั้น?"

34,139,692 คน คือ จำนวนประชากรจากทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝงใน 29 จังหวัดนี้

แต่คนที่ได้รับสิทธิ์ภายใต้เงื่อนไข "วัคซีนครบเกณฑ์" หรือฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม กลับมีเพียง 4,320,477 คน หรือคิดเป็น 12.66% เท่านั้น

...

ขณะเดียวกัน หากนับทั้งประเทศ...ก็มีคนที่ได้รับสิทธิ์ในการใช้บริการเต็มรูปแบบภายใต้เงื่อนไขนี้ในพื้นที่ 29 จังหวัด แค่ 7 ล้านกว่าคน หรือ 10.1%

*อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2564 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นั่นหมายความว่า ประชาชนใน 29 จังหวัด ที่เหลืออีกกว่า 80% จะยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้ารับประทานอาหารภายในร้าน (*ยกเว้นมี Yellow Card) หรือให้บริการลูกค้าได้

แล้วคนที่เหลือนั้น... อีกนานแค่ไหนถึงจะได้รับสิทธิ์ หรือจนกว่ารัฐบาลจะผ่อนปรนเงื่อนไข เช่นว่า คนฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็มในทุกประเภทวัคซีน หรือคนฉีดวัคซีนแล้ว 1 เข็มเจาะจงประเภทวัคซีน เพื่อให้ประชาชนได้สิทธิ์อย่างทั่วถึง

หากคิดเฉลี่ยในรอบ 7 วัน เฉพาะที่ดำเนินการฉีดเข็ม 2 เฉลี่ยประมาณ 181,438 คน โดยมากที่สุดที่สามารถฉีดได้ คือ 3 แสนคน

ดังนั้น หากลองคำนวณคร่าวๆ จนถึง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 นี้ หากฉีดเฉลี่ย 1.8 แสนคนต่อวัน ก็จะมีคนได้รับสิทธิ์เพิ่มอีก 5.4 ล้านคน แต่หากฉีดวัคซีนเข็ม 2 เฉลี่ยที่ 3 แสนคน ก็จะมีคนได้รับสิทธิ์เพิ่มอีก 9 ล้านคน

...

เมื่อรวมกับคนที่ได้รับสิทธิ์เดิมภายใต้เงื่อนไขนี้อยู่แล้ว พอถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ก็จะมีราวๆ 9.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 125%!

แน่นอนว่า หากฉีดวัคซีนเข็ม 2 ได้ในอัตราเฉลี่ยเท่านี้ ย่อมเป็นสัญญาณที่ดี แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า วัคซีนโควิด-19 ในคลังที่มีอยู่จะ "เพียงพอ" หรือไม่ด้วย เพราะจากการประมาณการศักยภาพในการฉีดวัคซีนของไทย คาดว่าสามารถทำได้ถึง 1 ล้านโดสต่อวัน! (*รวมดำเนินการเข็ม 1 ด้วย)

ขณะเดียวกัน ด้วย "เงื่อนไข" ที่ว่านี้ เมื่อผูกโยงกับกรณีของวัคซีนโควิด-19 ของไทยที่เป็นปมปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดข้อวิพากษ์เช่นกันว่า สิทธิ์ที่จะควรจะได้รับกลับไม่ได้เป็นเพราะ "ตัวพวกเขาเอง" เสียทั้งหมด แต่ดันเป็นปัญหาที่เกิดจากการบริหารจัดการและจัดสรรวัคซีนของภาครัฐเองด้วย จึงทำให้หลายคนได้รับวัคซีนล่าช้า อันเป็นผลจากความชุลมุนและอลหม่านของการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา

ซึ่งหากเป็นคนที่เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม บางคนกว่าจะได้คิวฉีดเข็มที่ 2 ก็ต้นเดือนตุลาคมเลยทีเดียว แถมยังมีในกรณีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวด้วย

...

อีกทั้งถ้ามาเจาะรายจังหวัดในพื้นที่ 29 จังหวัดแล้วนั้น กลับพบว่ามีมากถึง 15 จังหวัดที่ประชาชนได้รับวัคซีนเข็ม 2 แล้ว ไม่ถึง 10% แม้แต่กรุงเทพฯ ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 มากที่สุดในบรรดาพื้นที่สีแดงเข้ม ก็ยังมีเพียงแค่ 21.6% หรือราว 1.7 ล้านคน

อีก "เงื่อนไข" ในส่วนเฉพาะ "ผู้ประกอบการ/พนักงาน" ที่นอกจากได้รับวัคซีนครบเกณฑ์แล้ว คือ การตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันราคาของ ATK เฉลี่ยที่ 250-350 บาทต่อชิ้น นับว่าค่อนข้างสูง หากเป็นรายใหญ่ที่พอมีทุน อาจจะพอสนับสนุนให้กับพนักงานไหว แต่ถ้าเป็นรายเล็กหรือรายย่อย บางรายอาจมีการทบทวนเปิดให้บริการภายในร้านหลังเห็น "เงื่อนไข" นี้ก็เป็นไปได้

ฉะนั้น ถ้าหาก "เงื่อนไข" ภายใต้มาตรการ COVID-FREE จะคงใช้ไปจนถึงปลายปี หรือจนถึงวันเปิดประเทศแบบ 100% ทางรัฐบาลก็ต้องเร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 และดำเนินการจัดสรรกระจายวัคซีนให้ได้รับการฉีดอย่างทั่วถึงให้เร็วที่สุด รวมถึงสนับสนุน ATK ที่มีราคาย่อมเยากว่านี้

ที่สำคัญ "อัตราการฉีดวัคซีน" ไม่ได้มีผลแค่เพียงการทำให้ประชาชนอีกนับล้านมีใบผ่าน "วัคซีนครบเกณฑ์" เพื่อใช้สิทธิ์คลายล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเท่านั้น

แต่การเร่งอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีผลต่อ "120 วันเปิดประเทศ" ด้วย

หากนับวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ "คำมั่น" 120 วันเปิดประเทศ ดังนั้น วันดีเดย์ของแคมเปญนี้ก็น่าจะประมาณวันที่ 13 ตุลาคม 2564!

ทั้งนี้ "คำมั่น" ที่เกี่ยวโยงกับ "อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19" สำหรับ "120 วันเปิดประเทศ" นั้น มีด้วยกัน 2 ข้อ คือ 1) ฉีดวัคซีนให้ประชาชนเฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน หากวัคซีนเพียงพอ และ 2) ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2564 ประชาชนจะได้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 50 ล้านคน

ในส่วนข้อแรก ช่วงเดือนกรกฎาคมถือว่าทำได้ดี เพราะหากนับจากยอดฉีดรวมทั้งหมด ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มาจนถึงปัจจุบัน (28 ส.ค. 64) เพิ่มขึ้น 12,993,315 โดส

ส่วนข้อ 2 นั้น จากเป้าหมาย 50 ล้านคน มาจนถึงตอนนี้มีคนที่ฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 22,807,078 คน หรือ 45.61% ของเป้าหมาย แต่ความครอบคลุมประชากรอยู่ที่ 31.7%

ดังนั้น หากคิดอัตราฉีดเฉลี่ยวัคซีนเข็ม 1 ในรอบ 7 วัน ที่ทำได้ คือ 3 แสนโดส เมื่อครบ 120 วันเปิดประเทศ ประมาณการได้ว่าจะมีคนฉีดวัคซีนเข็ม 1 ที่ 36,607,078 คน นั่นหมายความว่า "ข้อ 2 นี้ ทำไม่สำเร็จ!"

แต่ถ้าจะหวังทำให้สำเร็จ... ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 1 เพิ่มให้ได้อีกวันละ 5.9 แสนคนขึ้นไป! ซึ่ง "ตัวเลข" ที่ว่านี้ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำได้ เพราะเคยมีวันที่ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ได้เกิน 5 แสนคนมาแล้ว

ขณะเดียวกัน เป้าหมายฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ที่เคยคำนวณไว้แล้ว คือ ต้องมีอัตราฉีดวัคซีนเฉลี่ยมากกว่า 5 แสนโดสขึ้นไป ถึงจะทำได้ตามเป้าหมาย!

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมากรณี "เงื่อนไข" ที่กำหนดสิทธิ์ในการให้บริการและรับบริการของประชาชน อันเกี่ยวเนื่องกับอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ยังไม่นับการจำเพาะเจาะจงกรณีของคนได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ที่ทาง ศบค. มีการประเมินให้วัคซีนเข็มที่ 3 เพราะมีข้อกังวลถึงประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสและระยะเวลาของภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจจะมีผลต่อการประเมิน เงื่อนไข ในการคลายล็อกดาวน์อื่นๆ หรือตั้งเป้าหมายเพื่อ "เปิดประเทศ" อย่างเต็มศักยภาพ 100% ในอนาคต.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Varanya Phae-araya

ข่าวน่าสนใจ: