โควิด-19 มีจุดกำเนิดมาจาก “อู่ฮั่น” ประเทศจีน เมื่อวันเวลาผ่านไป ด้วยความเฉียบขาดของโมเดลจีนทำให้สามารถรับมือกับมหันตภัยนี้ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง และมีจุดเด่นจากการ “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” และใช้วิธีสุดคลาสสิกด้วยการปิดประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้จีนจะปิดประเทศได้นานนับปี แต่ในที่สุด เชื้อร้ายที่กลายพันธุ์ก็เล็ดลอดฝ่าด่านบุกแดนมังกรได้สำเร็จและกระจายไปหลายเมือง จากต้นตอที่เริ่มจากเครื่องบินเหินฟ้าจากรัสเซียมาลงจอดที่สนามบิน “หนานจิง”
จากวันนั้น จุดระบาดของเชื้อร้ายเริ่มต้นที่อู่ฮั่น ก่อนจะแพร่กระจายและกลายพันธุ์ไปทั่วโลก จนในขณะนี้ มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 204 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 4.3 ล้านคน ในวันนี้ มันกลับเข้ามาถึง “อู่ฮั่น” อีกครั้ง พร้อมอัปเลเวลกลายพันธุ์ดุร้ายกว่าเดิม ติดง่ายกว่าเดิม ด้วยการบุกฝ่าแนวกั้น “กำแพงเมืองจีน” และแพร่เชื้อในประเทศจีนไปแล้วหลายมณฑล ซึ่งคลื่นโควิดระลอกใหม่ ส่งผลทำให้คนจีนติดเชื้อแล้วหลักพันคน
แต่... “จีน” ก็คือ “จีน” ด้วยการนำทัพของ ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ก็ยังคงเด็ดขาด และรวดเร็วไม่แปรเปลี่ยน เพื่อเอาชนะศัตรูอันดับ 1 ของชาติ คือ ไวรัสร้ายรายนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่คร่ำหวอดเกี่ยวกับประเทศจีน และเดินทางไปจีนครบทุกมณฑล เปิดเผยเบื้องหลังการระบาดระลอกใหม่ในจีนว่า จุดเริ่มต้นการระบาดครั้งนี้มาจากมีผู้โดยสารติดเชื้อเดลตาบินมากับเครื่องบินจากประเทศรัสเซีย แล้วลงจอดในสนามบิน “หนานจิง” (เป็นเมืองเอกของมณฑลเจียงซู) ด้วยความหละหลวมของพนักงานทำความสะอาดและเจ้าหน้าที่ในสนามบิน ทำให้เชื้อโควิดกลายพันธุ์เดลตาเล็ดลอดเข้าจีนมาจนได้ กลายเป็นคลัสเตอร์สนามบินหนานจิง ก่อนจะแพร่กระจายไปหลายเมือง หลายมณฑล รวมทั้งเมืองอู่ฮั่น
...
ลงดาบ 47 เจ้าหน้าที่ “การ์ดตก” พลาดพลั้งปล่อยโควิดเล็ดลอดเข้าแดนมังกร
ดร.อักษรศรี เล่าว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในสายพันธุ์เดลตา แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายาม “ซีล” ประเทศ รวมถึงการระดมฉีดวัคซีน ก็ยังสกัดการเข้ามาของเดลตาไม่ได้ เป็นเพราะความ “หละหลวม” ในการปฏิบัติหน้าที่ และมีชาวจีนที่เริ่ม “การ์ดตก” ซึ่งต่อมา ได้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ในหลายระดับไปแล้วอย่างน้อย 47 ราย ตั้งแต่ระดับหัวหน้ารัฐบาลท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาล และสนามบิน ทั้งความผิดทางวินัยและโทษฐานปล่อยปละละเลย
“จุดเด่นของจีน เมื่อเขาเจอปัญหา เขาจะรีบจัดการอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ดี ต้นตอของเชื้อเดลตาบุกจีนรอบนี้ คือ ความหละหลวมของมนุษย์ แล้วเชื้อเดลตาติดง่ายและไม่แสดงอาการ จึงมีการระบาดกระจายไปหลายเมือง ด้วยหลายสาเหตุหลายเหตุการณ์ ”
คลัสเตอร์โรงละครเมืองจางเจียเจี้ย-คลัสเตอร์ป้ามหาภัยไพ่นกกระจอก
หนึ่งในคลัสเตอร์ที่แพร่เชื้อเดลตาออกไปมาก คือ โรงละครที่เมืองจางเจียเจี้ย (Zhangjiajie) พบว่า มีผู้ชมบางส่วนติดเชื้อเดลตามาจากคลัสเตอร์สนามบินหนานจิง แล้วมาเข้ามาในโรงละครที่มีผู้ชมกว่า 2 พันคน แต่หลังจากพบว่า เกิดคลัสเตอร์นี้ขึ้น เจ้าหน้าที่จีนก็ได้เร่งตรวจสอบ และพบผู้มีความเสี่ยงกว่า 7 หมื่นคนที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์โรงละครแห่งนี้ จึงได้เร่งตรวจเชิงรุก และแยกกักตัวอย่างรวดเร็วและจริงจัง
ดร.อักษรศรี ยังเล่าให้ฟังถึงอีกคลัสเตอร์ที่เป็นข่าวดัง กรณีคลัสเตอร์ไพ่นกกระจอกที่ระบาดในเมือง “หยางโจว”(Yangzhou) โดยเริ่มจากคุณป้าวัย 64 ปี ที่เดินทางมาจากหนานจิง ซึ่งเกิดคลัสเตอร์สนามบินมาก่อนหน้า แต่เมื่อคุณป้าเดินทางมาถึงเมืองหยางโจว ก็ปกปิดข้อมูลและไม่กักตัว แถมยังไปร่วมวงเล่นไพ่นกกระจอก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้สูงอายุจีน จนทำให้กลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ของกลุ่มผู้สูงอายุกว่า 70% ของผู้ติดเชื้อในหยางโจว สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า คนจีนบางส่วนเองก็การ์ดตก และไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งถือว่าเป็นการระบาดที่จัดการได้ยาก เพราะโควิดสายพันธุ์นี้ ติดเชื้อง่ายและไม่ค่อยแสดงอาการ จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระจายเป็นวงกว้าง
นอกจากนี้ ยังมีเชื้อเดลตาที่คาดว่า จะหลุดลอดมาจากชายแดนเมียนมา เนื่องจากในระยะแรกตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด 3 รายในเมืองรุ่ยลี่ (ในมณฑลยูนนาน) ที่ติดกับชายแดนเมียนมา และ 1 ใน 3 รายนี้เป็นชาวเมียนมา อีกด้วย
...
“ซื่อจ่าว” หรือ “ปฏิบัติการ 4 ก่อน” ตรวจค้นก่อน รายงานก่อน แยกตัวก่อน และรักษาก่อน
จากเหตุการณ์คลัสเตอร์หลายเมือง หลายมณฑล ทางการจีนได้ใช้แนวทาง “ซื่อจ่าว” หรือ “ปฏิบัติการ 4 ก่อน” เพื่อเร่งสางปัญหา โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจีน กล่าวว่า ขอยกตัวอย่าง ที่เมืองรุ่ยลี่ ในมณฑลยูนนาน (ชายแดนเมียนมา) แม้จะพบผู้ติดเชื้อแค่ 3 คน ทางการจีนก็รีบออกคำสั่ง “ล็อกดาวน์”ในจุดที่ตรวจพบ เพื่อสกัดการแพร่เชื้อ และเร่งระดมตรวจเชื้อให้ชาวเมืองทุกคน กว่า 2 แสนคน เสร็จครบภายใน 2 วัน
หลักการ “ซื่อจ่าว” คือ
1. ตรวจค้นก่อน : ปูพรมตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาเชื้ออย่างรวดเร็ว
2. รายงานก่อน : หลังตรวจพบต้องรีบรายงานทันที และนำข้อมูลเข้า Data Platform
3. แยกตัวก่อน : หลังจากพบผู้ติดเชื้อก็รีบกักตัวทันที
4. รักษาก่อน : ให้การรักษาอย่างทันท่วงที ไม่มีการรอเตียง
...
จากตัวอย่างกรณีเมืองรุ่ยลี่ มีการออกคำสั่งห้ามเดินทางในจุดที่มีการล็อกดาวน์ โดยจะอนุญาตให้ตามความจำเป็นเท่านั้น เช่น อนุญาตสมาชิกในบ้านเพียง 1 คน ออกไปซื้ออาหารได้ เพื่อเน้นสกัดการเคลื่อนย้ายผู้คน และจะอนุญาตตามระดับความเสี่ยงที่วิเคราะห์โดยใช้ data ที่บันทึกไว้ในช่องทางต่างๆ เช่น ดูจากประวัติ Health Code ของประชาชนที่เก็บรวบรวมในฐานข้อมูลของรัฐอย่างเป็นระบบ เช่น
1. สีเขียว อนุญาตให้เดินทางในท้องที่ได้ (คนที่ออกจากบ้านไปซื้ออาหารได้)
2. สีเหลือง ต้องกักตัวอยู่ในที่พัก
3. สีแดง กักตัวเข้ม อนุญาตให้ออกจากบ้านไปโรงพยาบาลเท่านั้น
กรณีที่จะมีการออกนอกเมือง ต้องมีผลตรวจเชื้อภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 48 ชั่วโมง
ดร.อักษรศรี เผยว่า สิ่งสำคัญที่จีนเน้นมากคือการตรวจเชิงรุก ต้องตรวจให้ไวกว่าการระบาด ต้องสกัดและควบคุมการระบาดให้ได้ ถึงแม้จีนจะเป็นประเทศที่ใหญ่ แต่เวลาเขาทำอะไรก็จะมีความเป็นเอกภาพ และระดมสรรพกำลังได้เต็มที่
“แม้เชื้อเดลตาบุกจีนได้แล้วและเริ่มระบาดในจีนหลายมณฑล แต่ถ้าดูจากตัวเลขผู้ป่วย ยังถือว่าไม่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เพราะจีนเน้นสกัดการเคลื่อนย้ายผู้คนด้วยมาตรการเข้มข้น แต่จีนก็ไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งเมืองแบบที่เคยใช้อู่ฮั่นโมเดล เพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจตามมามากเกินไป”
...
จาก “อู่ฮั่นโมเดล” สู่ “กวางโจวโมเดล” และโมเดลผสมผสาน เพื่อรับมือเดลตา
ดร.อักษรศรี อธิบายว่า การระบาดระลอกนี้ แม้จีนจะมีการป้องกัน กักกัน แต่การระบาดยังสามารถไปถึงเมือง “อู่ฮั่น” ซึ่งเป็นต้นตอของโควิด-19 ครั้งแรก จีนใช้แนวทาง “ซื่อจ่าว” ตรวจเชิงรุก รายงานเร็ว รีบแยกตัวก่อน และรักษาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการปูพรมตรวจเชิงรุกให้คนอู่ฮั่นกว่า 11 ล้านคนได้เสร็จภายใน 5 วัน นอกจากนี้ ใช้โมเดลผสมผสานในการแก้ปัญหา และรับมือโควิด-19 ระลอกนี้
“การจัดการเดลตาครั้งนี้ จีนไม่ได้ใช้ “อู่ฮั่นโมเดล” ด้วยการล็อกดาวน์ทั้งเมือง เพราะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมาใหญ่หลวง แต่ใช้การล็อกดาวน์เฉพาะจุด ล็อกเร็ว และล็อกสั้น รีบเผด็จศึก เพื่อลดผลกระทบให้มีน้อยที่สุด เป็นการผสมผสานกับ “กวางโจวโมเดล” คือ ล็อกเฉพาะจุดที่ระบาด ล็อกเฉพาะพื้นที่ในชุมชนนั้น หรือปิดซีลตึกที่เกิดเหตุ แล้วเร่งปูพรมตรวจเชิงรุกให้เร็วกว่าการระบาดของเชื้อ พบเร็ว แยกกักตัวเร็วและเข้มข้น รวมทั้งเร่งระดมฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่”
แม้จีนจะกักตัวและล็อกเฉพาะจุดอย่างเข้มข้น แต่ก็จะมีการดูแลจัดส่งอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความยากลำบากของผู้คนที่ถูกล็อกในแต่ละจุด
ดร.อักษรศรี อธิบายต่อไปว่า การระบาดของ “เดลตา” ก็ใช่ว่าจะคุมง่ายๆ ทางจีน จึงเลือกใช้โมเดลแบบผสมผสาน แม้ยังมีผู้ติดเชื้อโดยรวมไม่มากนัก แต่สิ่งที่จีนเน้นตอนนี้ คือ ความพยายามลดการเคลื่อนย้ายของผู้คนข้ามเมืองข้ามมณฑล เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา จึงมีการ “ขอความร่วมมือ” (ยังไม่ถึงขั้นบังคับ) ไม่ให้เดินทางข้ามมณฑล (สถานการณ์ช่วงกลางเดือนสิงหาคม)
“คนจีนที่ผ่านประสบการณ์น่าขมขื่นจากเชื้อโควิดเมื่อปีที่แล้ว หลายคนจึงรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องให้รัฐบาลบังคับ แต่เขาก็เลือกที่จะ “ล็อกดาวน์ตัวเอง” ในการไม่เดินทางโดยไม่จำเป็น เพื่อตัวเองและครอบครัว เพราะตระหนักดีว่า ไวรัสกลายพันธุ์เดลตานี้ติดง่ายและไม่แสดงอาการ” คนจีนส่วนใหญ่ (แม้จะไม่ใช่ทุกคน) จึงร่วมแรงร่วมใจ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ”
6 ลักษณะเด่น การจัดการโควิด ศัตรูอันดับ 1 ของชาติ
สำหรับความสำเร็จของจีนในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงขณะนี้ ดร.อักษรศรี สรุปว่า จีนมองว่า เชื้อโควิดคือ ศัตรูอันดับ 1 ของชาติ จึงทุ่มเทในการจัดการอย่างเต็มที่ด้วย 6 ลักษณะเด่น ดังนี้
1. เน้นความเด็ดขาดและรวดเร็วฉับไว แนวทาง “ซื่อจ่าว” 4 ก่อน 4 ด้านที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว คือตรวจก่อน/ตรวจเร็ว รายงานเร็ว แยกตัวเร็ว และรักษาเร็ว และใช้มาตรการอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี เช่น ลงโทษผู้บริหารที่ผิดพลาด ผู้หละหลวม จัดการผู้ขาดจิตสำนึก
2. บทบาทผู้นำและกลไกรัฐ จีนไม่มีวิกฤติศรัทธาในตัวผู้นำ และไม่หวาดระแวงกลไกรัฐ จึงทำให้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนส่วนใหญ่
3. ความเป็นเอกภาพของระบบแบบจีน มีทิศทางชัดเจน และขับเคลื่อนได้อย่างมีเอกภาพ มีการรับลูกไปดำเนินการอย่างสอดคล้องกัน ทั้งระดับรัฐบาลกลางและระดับท้องถิ่น ไม่สับสน คลายปมทีละจุด
4. การนำเทคโนโลยีมาจัดการ data platform ในการรับมือกับปัญหา มีเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. วัคซีนคืออาวุธสำคัญในการรับมือโควิด จีนเน้นเร่งระดมฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และไม่หยุดพัฒนาคิดค้นวัคซีนใหม่ๆ เพื่อต่อสู้ไวรัสกลายพันธุ์
6. ความมีวินัยสูงของคนจีนส่วนใหญ่ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ และหลายคนสมัครใจที่จะล็อกดาวน์ตัวเองเพื่อครอบครัว (แม้จะยังมีอยู่บ้างที่การ์ดตก มีคนจีนที่ขาดจิตสำนึก เช่น คุณป้าไพ่นกกระจอก)
ไวรัสกลายพันธุ์ วัคซีนก็ต้องพัฒนา ลุยผลิต วัคซีน mRNA มาใช้เอง
ในเมื่อจีนมองว่า “โควิด” คือ ศัตรูภัยร้ายของชาติ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับศัตรูก็คือ “วัคซีน” ที่ผ่านมา มีหลายองค์กรของจีนที่ทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีน และมีหลายรายที่ผลิตวัคซีนออกมาได้สำเร็จ จนได้รับการยอมรับจาก WHO และมีการส่งออก รวมทั้งบริจาคให้หลายประเทศ
ดร.อักษรศรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา จีนเน้นฉีดวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตาย เพื่อรับมือไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม คือ “ซิโนแวค” และ “ซิโนฟาร์ม” และต่อมาได้พัฒนาวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ (viral vector vaccine) โดยบริษัท แคนซิโน (CanSino) ที่เริ่มนำมาฉีดให้คนจีนแล้วเช่นกัน
“เวลานี้จีนระดมฉีดวัคซีน 3 ตัวหลักนี้ โดยฉีดไปแล้ว 1.83 พันล้านโดส (ข้อมูล ณ 13 ส.ค. 2564) ครอบคลุม 65.4% ของประชากร ซึ่งถือว่าเป็นการทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างไรก็ดี เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์และได้ฝ่ากำแพงเมืองจีนไปได้แล้ว เช่น เชื้อเดลตา ทำให้วัคซีนที่มีอยู่เดิมไม่มีประสิทธิภาพมากพอ และการฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็มอาจจะไม่เพียงพอ จีนจึงจำเป็นต้องคิดหาวิธีฉีดเข็มที่ 3 และเร่งพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ ออกมารับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ต่อไป”
มีตัวอย่างการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ ของจีนด้วยเทคโนโลยี mRNA เช่น
1) บริษัท Fosun Pharma (ฝอซาน ฟาร์มา) จับมือกับ BioNTech จากเยอรมนี
2) บริษัท Suzhou Abogen จับมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์ของกองทัพจีน
ทางการจีนหวังว่า วัคซีนตัวใหม่ๆ ของจีนที่กำลังเร่งพัฒนานี้ จะสามารถนำมาใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของเดลตาได้ในที่สุด
ในช่วงท้าย ดร.อักษรศรี สรุปว่า “จีนตื่นตัวตลอดเวลา ไวรัสยิ่งกลายพันธุ์ เขายิ่งต้องเร่งปรับวิธีการให้เร็วและทันท่วงที ส่วนรูปแบบที่ใช้รับมือกับเดลตา เป็นโมเดลแบบผสมผสาน ไม่ได้ใช้เพียง “กวางโจวโมเดล” และถ้าจะใช้ “อู่ฮั่นโมเดล”แบบเดิมก็คงแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและจะสร้างวิกฤติเศรษฐกิจหนักตามมา จึงต้องใช้รูปแบบผสมผสานด้วยความฉับไว เน้นตรวจปูพรมให้เร็วกว่าการระบาด เพื่อเร่งสกัดให้อยู่หมัด พร้อมๆ ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนและคิดค้นวัคซีนใหม่ๆ เพื่อต่อสู้เอาชนะไวรัสกลายพันธุ์ให้จงได้
ผู้เขียน : อาสาม
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ