Long COVID หรืออาการหลังหายจากโควิด-19 จนถึงตอนนี้มีการค้นพบอะไรบ้าง? ...หา "คำตอบ" ได้จากผลการศึกษาที่นักวิจัยทั่วโลก รวมถึง WHO กำลังขมักเขม้นสืบเสาะแทบทุกวินาที!
ทำไมถึงต้องกลับมาคุยกันถึงภาวะ Long COVID อีกครั้ง คำตอบสั้นๆ ในเวลานี้ คือ เพราะบรรดานักวิจัยทั้งหลายพบว่า แม้คนเหล่านั้นจะหายจากอาการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ร่างกายของ "พวกเขา" กลับไม่เหมือนเดิม
นับตั้งแต่การเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อปี 2563 จนถึง ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ตามการรายงานของ ศบค. มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รักษาหายแล้ว 600,152 ราย และกำลังรักษาอยู่อีก 210,042 ราย ในจำนวนนี้... อยู่โรงพยาบาล 61,384 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 148,658 ราย
สำหรับ 6 แสนกว่ารายที่รักษาหายแล้วนั้น แม้ว่า "คุณ" จะฟื้นตัวจากอาการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ก็อยากให้สังเกต "อาการ" ของคุณอีกครั้งว่า "ร่างกายมีอะไรบางอย่างผิดปกติหรือไม่?" หากพบว่า คุณพบอาการบางอย่างนั้นอยู่...ขอให้มาทำความเข้าใจกันตรงนี้ เพราะคุณอาจกำลังเผชิญกับภาวะ "อาการหลังโควิด" หรือ Post-COVID ที่มักจะเรียกกันว่า "ลองโควิด" (Long COVID) นั่นเอง
อย่างที่เกริ่นในตอนต้นไว้ว่า "จนถึงตอนนี้ เรารู้อะไรเพิ่มเติมแล้วบ้างกับอาการหลังโควิด ที่เรียกว่า Long COVID นี้?"
"คำถาม" นั้น หา "คำตอบ" ได้จากผลการศึกษาที่นักวิจัยทั่วโลก รวมถึงองค์การอนามัยโลก หรือ WHO พยายามค้นคว้าและสืบเสาะเพื่อทำผลสรุปเบื้องต้นให้ได้ติดตามกัน...นับแต่บรรทัดนี้!
...
อนึ่ง อาการ Long COVID มีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด โดยจากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC แบ่งภาวะสุขภาพผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ออกเป็น 3 แบบ คือ Long-Haul COVID, Post-Acute COVID-19 และ Chronic COVID ไล่เรียงง่ายๆ ว่าอาการเป็นตั้งแต่ระยะยาว 1 เดือน หรือนานกว่านั้น ไปจนถึงขั้นเป็น "อาการเรื้อรัง" นับจากการติดเชื้อครั้งแรก
โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะฟื้นฟูได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าอาการรุนแรงแค่ไหน แต่กับคนที่มีระยะเวลาฟื้นฟูยาวนานกว่านั้น มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า อาการเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต, ร่างกาย และสภาพจิตใจอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมรรถภาพที่จะกลับไปทำงานอาจไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว
แต่แม้จะมี "หลักฐาน" พอจะบ่งชี้สิ่งต่างๆ ได้ บรรดานักวิจัยและ WHO ก็ยังยอมรับว่า ลักษณะอาการมีการแปรผันสูง ซึ่ง "ยาก" ต่อการให้คำนิยามที่แน่ชัด เหตุผลก็เพราะมีผู้ป่วยหลายรายที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาลระหว่างที่ติดเชื้อโควิด-19
คณะวิจัย Therapies for Long COVID (TLC) ประจำมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ได้ดำเนินการศึกษาถึงอาการ Long COVID อย่างจริงจัง ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายผลการศึกษาที่ทำให้เห็นถึงความชุกของโรค และที่สำคัญ คือ ทำให้เราเห็น "ผลกระทบ" และ "ภาวะแทรกซ้อน" ของ Long COVID
หากว่ากันถึงอาการ Long COVID แล้วนั้น พบว่า ผู้ป่วยหลายคนเผชิญอาการต่างๆ กันไปที่โดยส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับระบบภายในร่างกาย ตั้งแต่การหายใจ, ประสาทวิทยา และระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจากข้อมูลที่คณะวิจัย TLC รวบรวมไว้ได้จนถึงตอนนี้ มีทั้งหมด 10 อาการที่พบมากที่สุดใน Long COVID คือ 1) เหนื่อยล้า, 2) หายใจไม่อิ่ม, 3) ปวดกล้ามเนื้อ, 4) ไอ, 5) ปวดหัว, 6) เจ็บข้อต่อ, 7) เจ็บหน้าอก, 8) การรับรู้กลิ่นเปลี่ยนไป, 9) อาการท้องร่วง และ 10) การรับรสเปลี่ยนไป
ขณะที่ อาการอื่นๆ ที่พบทั่วไป ได้แก่ "ภาวะสมองล้า" หมายความว่า คนที่ป่วยด้วยอาการนี้ ระบบการนึกคิดจะเลอะเลือนและซึมเซาเอื่อยเฉื่อย, สูญเสียความทรงจำ, การนอนหลับผิดปกติ, ใจสั่น และเจ็บคอ
...
อีกส่วนหนึ่ง... แม้จะพบได้ยาก แต่ "ผลลัพธ์" ที่เกิดขึ้นน่ากังวลไม่น้อย คือ อาการชัก และอาจนำไปสู่การคิดทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตาย
ทั้งนี้ ในส่วนผลกระทบระยะกลางและระยะยาวที่เป็นเกิดจาก Long COVID นั้นยังไม่ชัดแจ้งนัก แต่หลักฐานต่างๆ บ่งชี้ได้ว่า คนที่มีอาการ Long COVID มี "คุณภาพชีวิต" ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือกระทั่งว่าการจะทำกิจวัตรประจำวันให้ผ่านพ้นลุล่วงและกลับไปเป็น "แรงงานเต็มเวลา" (แรงงานประจำ) ก็เป็นเรื่องยาก อีกทั้งยังเกิดปัญหาทางสภาพจิตใจ
ผลการศึกษาหนึ่งที่คณะวิจัย TLC รวบรวมไว้ รายงานว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เผชิญกับภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้านานถึง 6 เดือน หลังจากเริ่มมีอาการ
ที่น่าห่วง คือ อาการ Long COVID ยังคงถูกละเลยความสำคัญ โดยมีรายงานระบุว่า ผู้ป่วย Long COVID ขาดการบำบัดรักษาที่ดีจากมืออาชีพด้านสุขภาพ หรือบางรายแม้จะได้รับการสนับสนุนการรักษา แต่ก็เป็นเพียงเล็กน้อย
สำหรับคนที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อยู่ แล้วเกิดสงสัยว่า "เราจะเป็น Long COVID ไหม?"
...
อีกหนึ่งผลการศึกษาที่คณะวิจัย TLC รวบรวมไว้ รายงานว่า ความเชื่อมโยงที่จะพัฒนาไปสู่อาการ Long COVID คือ มีอาการโควิด-19 มากกว่า 5 อาการในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ ไม่ว่าจะอายุหรือเพศใดก็ตาม
นอกจากนี้ ก็พบ "นัยสำคัญ" ที่เชื่อมโยงความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่ภาวะ Long COVID คือ กลุ่มผู้สูงอายุ, เพศหญิง และเคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงมีโรคพื้นเดิมหอบหืด ขณะเดียวกัน หากมีอาการลักษณะเช่นว่า หายใจลำบาก, เจ็บหน้าอก และหัวใจเต้นผิดปกติ ก็อาจพัฒนาไปสู่อาการ Long COVID ที่ยาวนาน
ด้านหนึ่ง ดร.เจเน็ต ดิแอซ หัวหน้าทีม Clinical Care ประจำโครงการภาวะฉุกเฉินของ WHO อธิบายถึงอาการ Long COVID ไว้อย่างน่าสนใจเช่นเดียวกันว่า
"อาการที่พบมากที่สุดของภาวะอาการหลังโควิด-19 (Post-COVID) หรือ Long COVID มีตั้งแต่อาการหายใจไม่อิ่ม, ภาวะความผิดปกติทางการรับรู้และความคิดหรือสมองเสื่อม ที่คนมักเรียกว่า ภาวะสมองล้า (Brain Fog) และความเหนื่อยล้า แต่จริงๆ แล้วจากรายงานการติดตามข้อมูลผู้ป่วย Long COVID มีมากกว่า 200 อาการ เช่น เจ็บหน้าอกที่ทำให้พูดลำบาก หรือบางรายก็มีอาการวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า, ปวดกล้ามเนื้อ, ไข้, สูญเสียการรับรู้กลิ่น-รัส โดยรวมมีระยะอาการป่วยยาวนาน"
...
อาการ Long COVID จะแฝงในร่างกาย "คุณ" นานแค่ไหน?
ดร.เจเน็ต ให้คำตอบไว้ว่า จากการทำการศึกษาจนถึงเวลานี้ ระยะเวลาของอาการที่นานที่สุดยังคงไม่มีความชัดเจน แต่ก็พอประเมินได้ว่า ระยะเวลานานที่สุดมีตั้งแต่ 3 เดือน, 6 เดือน และมีความเป็นไปได้ถึง 9 เดือน
"วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) และป้องกันการพัฒนาไปสู่ภาวะอาการ Long COVID คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งเรารู้ดีว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ช่วยลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตได้ หรือแม้แต่การสวมหน้ากาก, เว้นระยะห่างทางกายภาพ และล้างมือก็ล้วนสำคัญ"
ถ้า "คุณ" ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว มีโอกาสเป็น Long COVID หรือไม่?
คำตอบสั้นๆ คือ "ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้!"
โดยมีความเป็นไปได้ว่า อาการจะลากยาวตั้งแต่ 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน หรือนานกว่านั้น หลังติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรก หรือแม้ว่าจะรับวัคซีนต้านโควิด-19 ครบสูตรแล้วก็ตาม
เหตุผลก็เพราะ... มันมีความเป็นไปได้ที่คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จนมีแอนติบอดีในระดับหนึ่ง หรือฉีดวัคซีนครบสูตรแล้ว จะกลับมาติดเชื้อซ้ำอีกครั้งได้ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ "โลกใบนี้" มีสายพันธุ์ใหม่ๆ ถือกำเนิดอยู่เรื่อยๆ เช่น สายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้ง่าย
เอกสาร CDC ระบุไว้ว่า "แม้คนคนนั้นจะไม่มีอาการโควิด-19 ยาวนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์หลังจากติดเชื้อ ก็สามารถมีอาการ Long COVID ได้ โดยอาการต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลาย และสามารถผสมปนเปกับปัญหาสุขภาพเดิมในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกัน"
นั่นหมายถึงว่า ผู้ป่วย Long COVID จะลงเอยด้วยอาการเหนื่อยล้าเรื้อรังได้ ซึ่งเป็นอาการส่วนใหญ่ที่พบโดยทั่วไป รวมถึงยังมีปัญหาการหายใจ, ปัญหาผิวหนัง หรือระบบทางเดินอาหารทำงานน้อยลง
จากการศึกษาอีกฉบับของคณะวิจัย TLC พบว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีอาการอย่างน้อย 1 อาการที่ลากยาวนาน 30 วัน (1 เดือน) หรือมากกว่านั้น หลังติดเชื้อ
ตัวอย่างหนึ่งที่ทำการวิเคราะห์โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร พบว่า ความชุกของอาการ Long COVID อยู่ที่ 12 สัปดาห์ (3 เดือน) หลังติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอน และประมาณการการแปรผกผัน คือ ตั้งแต่ 2.3% - 37% ในกลุ่มติดเชื้อ ซึ่งนับว่ากว้างมาก
จนถึงตอนนี้ บุคลากรทางการแพทย์, นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุข ก็ล้วนยัง "ไม่ฟันธง" เพื่อให้คนที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ครบสูตรแล้ววางใจว่า ตัวเองจะรอดจากอาการ Long COVID หากบังเอิญติดเชื้อโควิด-19 เข้า
"บ็อบ เว็คชเตอร์" แพทย์และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโก ได้หยิบยกข้อมูลของ "อิสราเอล" ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ที่แสดงให้เห็นว่า 20% ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ฉีดวัคซีนแล้ว มีโอกาสที่อาการต่างๆ จะพัฒนาเฉียดการเป็น Long COVID ในระยะสั้นๆ 6 สัปดาห์ (1 เดือนครึ่ง) หลังการติดเชื้อ
แล้วจากอาการ Long COVID ที่ว่ามา... มีโอกาสรักษาได้หรือไม่?
ดร.เจเน็ต แห่ง WHO ให้ "คำตอบ" ไว้ว่า วิธีการรักษาอาการ Long COVID ไม่ควรจำเพาะเจาะจง แต่ควรรักษาในหลากหลายแขนง ความหมายคือ พวกเขาควรเข้ารับการดูแลรักษาเบื้องต้น และเชื่อมโยงต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพด้านต่างๆ เพื่อทำให้สุขภาพกลับมาปกติ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ดูแลสังคม, เจ้าหน้าที่เยียวยาสภาพจิตใจสังคม, ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต สำหรับการบำบัดรักษาเฉพาะทางเกี่ยวกับ Long COVID คงต้องให้เวลาในการเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะเพิ่งเผชิญกับโควิด-19 เพียงปีครึ่งเท่านั้น แต่ก็หวังว่า ในเวลาต่อมา เราจะมีการบำบัดรักษาเฉพาะทาง Long COVID นี้
อย่างที่ ดร.เจเน็ต ว่าไว้ จนถึงตอนนี้อาการ Long COVID นับเป็นอาการหลังโควิด-19 ที่น่าจับตา เพราะมีการแปรผกผันของอาการหลากหลายอย่าง อีกทั้งยังมี "ตัวแปร" ของโรคพื้นเดิม และกลไกภูมิคุ้มกันของ Long COVID ด้วย เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นได้ว่า บรรดานักวิจัย รวมถึง WHO จึงพยายามหาทางศึกษาอย่างเร่งด่วน เพื่อพัฒนาการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม "ผลกระทบ" ที่น่าเป็นห่วงของคนป่วยอาการ Long COVID ในรายงานต่างๆ นั้น พบว่า มี 3 อย่างด้วยกัน คือ จากสภาวะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลาอันยาวนาน กำลังส่งผลให้ "พวกเขา" เกิดปัญหาในการดำรงชีวิต, ทำงาน และสภาพจิตใจ
ดังนั้น Long COVID จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน!... ที่จะต้องประเมินอาการและสอบสวนกลไกโรคพื้นเดิม... มิเช่นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อ "กำลังแรงงาน" ในอนาคตได้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ:
- หายจากโควิดแล้ว...ใช่ว่าสบายดี Long COVID อาการต่อเนื่องที่ต้องจับตา
- ครึ่งปีหลัง "วัคซีนฟรี" ที่รัฐจัดให้ เข้า "โคแวกซ์" เวลานี้ไม่ได้ช้าไป?
- WHO ถึงไทย "เดลตา" บุก ผู้สูงอายุเสี่ยงแม้อยู่บ้าน เร่งเข้าถึงวัคซีน
- "รัสเซีย" ความน่ากลัวที่ "ไทย" ต้องรับมือ แทรกซึมอิทธิพล ท้าชนอำนาจโลก
- "รถทัวร์ไทย" รัฐไม่เหลียวแล รายเล็กตายสนิท จอดทิ้งเป็นขยะ วิ่งแค่ 10%