การยุติสงครามอันยาวนาน 20 ปี จากการประกาศของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการถอนกำลังทหาร ออกจากอัฟกานิสถาน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 และให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ ก่อนกำหนดในวันครบรอบ 20 ปี การก่อวินาศกรรมเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 11 กันยายน 2544 หรือ 9/11 ซึ่งเป็นจุดเริ่มการทำสงครามนับตั้งแต่นั้นกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ที่อยู่เบื้องหลัง และไล่ล่าแกนนำอย่างอุซามะห์ บิน ลาเดน

เหตุผลหนึ่งของโจ ไบเดน ต้องการรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่ของโควิดและปัญหาโลกร้อน และตามข้อตกลงที่รัฐบาลทรัมป์ เคยทำกับกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งตาลีบันเมื่อเดือนก.พ. 2563 ในการถอนกำลังทหาร ภายในเดือน พ.ค. 2564 แลกกับการที่กลุ่มตาลีบัน จะไม่กลับไปสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรม 9/11 รวมถึงกลุ่มนักรบต่างชาติหัวรุนแรงกลุ่มอื่น

ส่งผลให้กองกำลังนาโต และอังกฤษ ตัดสินใจถอนกำลังตามสหรัฐฯ กลายเป็นความวิตกกังวล ยิ่งก่อให้เกิดความสั่นคลอนต่อกองกำลังรัฐบาลอัฟกานิสถาน จากการกลับเข้ามาโจมตียึดครองพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 2 เดือน ของกองกำลังตาลีบัน เคยปกครองอัฟกานิสถาน เมื่อปี 2544 ได้ยึดพื้นที่ไปกว่าครึ่งประเทศแล้ว รวมทั้งชายแดนเชื่อมต่อกับอิหร่าน, อุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน และปากีสถาน

...

เป็นไปได้ว่าการสู้รบในอัฟกานิสถาน จะยืดเยื้อไปอีกนาน และอาจทำให้กลุ่มตาลีบัน ได้รับชัยชนะครอบครองอัฟกานิสถาน ภายใน 6 เดือน เพราะฉะนั้นการจะชะลอการบุกรุกและลดความรุนแรงลง ทางรัฐบาลอัฟกานิสถาน ได้ประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่คืนวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ห้ามออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 22.00 น.-04.00 น. ในพื้นที่ 31 จังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงคาบูล จังหวัดปัญจชีร์ และจังหวัดนันการ์ฮาร์

ย้อนไปในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เคยมีกองกำลังทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน ประมาณ 1 แสนนาย ปฏิบัติภารกิจโค่นล้มกองกำลังตาลีบัน โดยตลอดช่วง 20 ปี สหรัฐฯ หมดงบในการทำสงครามไปมหาศาล 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีทหารเสียชีวิต 2 พันกว่าศพ แต่เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พ้นจากเก้าอี้ จำนวนทหารได้ลดลง เหลือเพียง 2 พันกว่านาย

ดราม่า #IRoamAlone ทำคนอยากรู้จักอัฟกานิสถาน

จากการประกาศจะถอนกำลังของสหรัฐฯ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แต่กว่าจะเสร็จสิ้นก็น่าจะไม่เกินสิ้นเดือนส.ค. ได้เกิดไฟสงครามปะทุขึ้น ในช่วง 2 เดือน ทำให้อัฟกานิสถาน เป็นพื้นที่เสี่ยงอันตราย และเมื่อบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว “มิ้นท์ I Roam Alone” ออกเดินทางเพียงลำพังไปยังอัฟกานิสถาน ในขณะสถานการณ์ไม่ค่อยสู้ดี จากการโจมตีของกองกำลังตาลีบัน จนกลายเป็นดราม่าเดือดในโลกโซเชียล ยิ่งทำให้คนอยากรู้เรื่องราวของอัฟกานิสถาน มากยิ่งขึ้น

“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับดร.บัณฑิต อารอมัน นักวิจัยศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสนใจประเด็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างชาติพันธุ์ในเอเชียใต้ ทั้งกลุ่มแนวคิดสุดโต่ง และกลุ่มก่อการร้าย บอกว่า ในกรณีของ "มิ้นท์ I Roam Alone" เดินทางเข้าไปอัฟกานิสถาน ถือว่ากล้ามาก แต่ก่อนเดินทางน่าจะศึกษาเรื่องราวในพื้นที่พอสมควรมาแล้วว่า เส้นทางใดมีความปลอดภัย สังเกตได้จากการอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่รัฐบาลอัฟกานิสถาน ควบคุมดูแลอยู่ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ในช่วงสถานการณ์กำลังสับสนวุ่นวาย

...

อนาคตสันติภาพอัฟกานิสถาน หลังสหรัฐฯ ถอนกำลัง

ส่วนอนาคตของอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากสหรัฐฯ ถอนกำลังทหาร มองได้ 2 รูปแบบ 1. ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานและกองกำลังตาลีบัน ยังตกลงกันไม่ได้ เป็นข้อขัดแย้งเรื่องการปกครอง โดยกลุ่มตาลีบัน มุ่งหวังจะเข้าปกครอง ขณะเดียวกันรัฐบาลอัฟกานิสถาน ก็ไม่อยากให้กลุ่มตาลีบันกลับมา แบบมุสลิมแนวเคร่งครัด ทำให้ข้อขัดแย้งหาทางลงไม่ได้

แน่นอนเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเข้ารูปแบบที่ 2 ซึ่งมองไม่เห็นสันติภาพที่แท้จริงในอัฟกานิสถาน เพราะปัจจุบันกลุ่มตาลีบัน มีความเข้มแข็งมากกว่ารัฐบาลอัฟกานิสถาน โดยพื้นที่รอบๆ ทางกลุ่มตาลีบันได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนท้องถิ่น ในการจะปกครองระบอบชารีอะห์ ทำให้มุสลิมสายใหม่ หรือสายกลาง มองว่าเป็นแนวคิดสุดโต่งหรือไม่

“ถือว่าทั้ง 2 ฝ่าย มีอาวุธในการต่อสู้ที่แตกต่าง เพราะอีกฝ่ายก็ได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ ประเทศ แม้สหรัฐฯ จะถอนกำลังไปก็ตาม คือต่างฝ่ายได้รับการสนับสนุน มีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกซ้อนอยู่ ทำให้การหาสันติภาพ ก็ยังยากอยู่”

...

เพราะจากยุทธวิธีของตาลีบัน ในการปิดล้อมเมืองคาบูล โดยรอบที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ทั้งทางตอนใต้และติดกับอิหร่าน มีการปกครองโดยกลุ่มตาลีบัน ทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถาน จะพึ่งทางบกไม่ได้ ยกเว้นทางอากาศผ่านสนามบิน ซึ่งการขนส่งจะทำได้เฉพาะเมืองใกล้ๆ เท่านั้น เพราะเส้นทางหลักถูกปิดกั้น

ในการเจรจาเพื่อให้ 2 ฝ่าย หยุดปะทะระหว่างกัน มีความพยายามจากหลายประเทศ จะเข้ามาเป็นตัวกลาง ทั้งกาตาร์ ตุรกี และอิหร่าน เพราะถือว่าอัฟกานิสถาน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเป็นประเทศมุสลิมเช่นเดียวกัน

หากไม่มีความสงบ จะก่อให้เกิดกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงขึ้นมาอีก ทั้งเครือข่ายอัลกออิดะห์ และไอเอสเดิมที่อยู่ในพรมแดนอัฟกานิสถาน จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของมุสลิม เพราะกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งเป็นแนวร่วมมุมกลับ และมีผู้ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว จึงไม่น่าไว้วางใจ

บานปลาย เกิดสงครามระหว่างประเทศ หรือไม่?

ประเด็นสำคัญในขณะนี้ จะเห็นสงครามภายในระหว่างอัฟกานิสถาน และกลุ่มตาลีบัน ส่วนจะลุกลามบานปลาย กลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ ยังมองไม่เห็น เพราะเป้าหมายของตาลีบัน ต้องการเข้ามาปกครองในอัฟกานิสถาน ส่วนจะใช้ระบอบใดนั้น ขึ้นอยู่กับการช่วงชิงอำนาจ และข้อตกลงในสัดส่วนการปกครองจะเป็นอย่างไร อีกทั้งที่ผ่านมากลุ่มผู้นำตาลีบัน มีความชัดเจนและพูดคุยกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน โดยมีวาระ เพื่อให้เกิดสันติภาพเหมือนกัน

...

ขณะที่นักวิชาการหลายคน มองว่ากลุ่มตาลีบันในปัจจุบัน ไม่ใช่มุสลิมกองกำลังติดอาวุธ หัวรุนแรงสายสุดโต่ง แต่เป็นกลุ่มใหม่หัวก้าวหน้า มีความเป็น "โมเดิร์น อิสลามิก มายเซต" ที่เกิดขึ้นแล้ว จากเดิมที่เคยเป็นสายสุดโต่ง มีความตั้งใจจะเจรจา ให้เกิดสันติภาพมาโดยตลอด แต่ทำควบคู่กับการสู้รบไปด้วย เนื่องจากข้อตกลงบางอย่างไม่ลงตัว

เบื้องหลังสหรัฐฯ ยอมถอย เพิ่มความเข้มข้นต้านจีน

ในส่วนการถอนกำลังของสหรัฐฯ เกิดจากหลายปัจจัยจากปัญหาในประเทศ การสูญเสียทรัพยากรจำนวนมาก ทำให้ความฮึกเหิมในการสู้รบ ไม่สมบรูณ์เท่าที่ควร หากยังยืดเยื้อออกไปอีก ก็ยิ่งไม่ได้ประโยชน์

นอกจากนี้สหรัฐฯ ต้องสร้างความมั่นคงในการต่อต้านจีน ซึ่งแพร่ขยายอำนาจไปทั่ว และจีนมีสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มตาลีบัน เพราะมีเส้นทางลงทุนไปยังเอเชียกลาง ทำให้จีนต้องการความมั่นคง จึงให้การสนับสนุน โดยตาลีบัน ต้องอำนวยความสะดวก จะต้องไม่มีฐานที่มั่นของชาวอุยกูร์ เป็นข้อแลกเปลี่ยน

บทสรุปการทำสงครามของสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อในอัฟกานิสถาน กว่า 20 ปี มิได้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น แต่กลับเห็นประเทศที่บอบช้ำมากกว่าเดิม ประชาชนที่ตกอยู่ท่ามกลางความรุนแรง ความหวาดกลัว และความแตกแยกที่ยังคงเกิดขึ้นได้เสมอ ในสายตาของนานาประเทศ อัฟกานิสถานยังคงเป็นสมรภูมิรบของคนต่างชาติพันธุ์ ต่างความคิด และต่างอุดมการณ์ในการปกครองประเทศไม่จบไม่สิ้น.