- สร้างความสงสัย เมื่อฟังก์ชันแจ้งข้อมูลฉีดวัคซีนโควิด ในแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" นอกจากแจงตัวเลขผู้ได้รับการฉีดในแต่ละวัน แยกเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 แล้ว ยังระบุปริมาณวัคซีนที่ฉีดในแต่ละยี่ห้อ ทั้งซิโนแวค แอสตราเซเนกา และซิโนฟาร์ม แต่ที่น่าแปลกกลับมียี่ห้อจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มีการฉีดไปแล้วประมาณ 4 พันโดส
- เกิดคำถามถึงต้นตอ การเข้ามาไทยของวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จากการทำสัญญากับรัฐบาลไทยหรือไม่? แล้วมีการฉีดให้กับกลุ่มใดบ้าง เพราะก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยออกมาระบุไทยได้ลงนามสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้อนี้ 5 ล้านโดส เพิ่มเติมกับยี่ห้ออื่นๆ ให้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564
- ท่ามกลางข้อครหาการกระจายวัคซีนที่บิดเบือน ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ จากปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอและไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งการเลื่อนฉีดวัคซีนออกไป จนกระทบกับผู้มีความประสงค์อยากจะฉีดให้เร็วที่สุด เพราะกลัวตายจากติดเชื้อโควิด
แผนจัดหาวัคซีนของไทย 150 ล้านโดส ภายในปี 65
...
ปัจจุบันไทยได้จัดหาวัคซีนซิโนแวค จำนวน 19.5 ล้านโดส มีการส่งมอบแล้ว 11.5 ล้านโดส และจีนบริจาคอีก 1 ล้านโดส ส่วนแอสตราเซเนกา จำนวน 61 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 7.14 ล้านโดส ได้รับบริจาคจากญี่ปุ่น 1.05 ล้านโดส และไทยจะได้รับจากอังกฤษอีก 4.15 แสนโดส
รวมถึงวัคซีนซิโนฟาร์ม ส่งมอบแล้ว 3 ล้านโดส ขณะที่วัคซีนรอการส่งมอบ ในส่วนของไฟเซอร์ 20 ล้านโดส จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส และไทยมีแผนจะจัดหาให้ครบ 150 ล้านโดส ภายในปี 2565 โดยสั่งซื้อซิโนแวคเพิ่มเติมอีก 28 ล้านโดส และวัคซีนอื่นๆ 22 ล้านโดส
ในกรณีของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แม้ทางอย.ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2564 ผ่านไปกว่า 3 เดือน พร้อมกับความเงียบงันในการลงนามทำสัญญาสั่งซื้อ กระทั่งสิ้นเดือนมิ.ย.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาป่าวประกาศคนหาย เมื่อวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่เตรียมลงนามสัญญาเทอมชีท ไม่สามารถติดต่อกับบริษัทแจนเซ่น ซีแลค จำกัด ได้
น่าจะเป็นสัญญาณบอกว่าการจะเข้ามาของวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ภายในปี 2564 อาจเป็นไปไม่ได้ ส่วนความพยายามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะจัดหาวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เพราะฉีดเพียงเข็มเดียว เร่งปูพรมฉีดให้กับประชากร 70% จากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผ่านการจัดซื้อโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะทำได้หรือไม่ในเรื่องข้อกฎหมาย ต้องติดตามกันต่อไป เพราะล่าสุดยังไม่ได้ข้อสรุป
ที่มาวัคซีนจอห์นสันฯ ฉีดในไทย ให้คนฝรั่งเศส
ส่วนที่มาของวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เข้ามาในไทยได้อย่างไร ทางทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ รีบยิงคำถามไปยัง "นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้หายคาใจกับข้อสันนิษฐานจะเกี่ยวข้องกับสถานทูตฝรั่งเศสหรือไม่ ในการขออนุญาตนำเข้ามา จำนวน 1 หมื่นโดส เมื่อปลายเดือนมิ.ย. ฉีดให้กับชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในประเทศไทย ภายหลังกรมควบคุมโรค ได้ให้การเห็นชอบ และได้คำตอบชัดเจนว่าเป็นความจริง ตามที่มีข้อมูลในแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" มีการทยอยฉีดไปแล้ว 4 พันโดส แต่การที่ไทยจะสั่งซื้อเข้ามา จำนวน 5 ล้านโดส ภายในไตรมาส 4 ตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านั้น ไม่สามารถทำได้
...
ยอดสั่งซื้อ 5 ล้านโดส ติดปัญหา เลื่อนไปปีหน้า
นพ.โสภณ ให้เหตุผลว่า โรงงานผลิตในสหรัฐฯ มีปัญหาในการผลิต ต้องทิ้งวัคซีนไปจำนวน 60 ล้านโดส และซัพพลายเออร์ไม่มี ทำให้ทุกประเทศที่สั่งซื้อไปแล้วต้องรอไปก่อน คาดในส่วนของไทยจะได้รับมอบในปีหน้า นำไปสู่การปรับแผนในการจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่น มาเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ อาจจะสั่งซื้อไฟเซอร์เพิ่ม จากเดิม 20 ล้านโดส มาเป็น 25 ล้านโดส เพราะได้ลงนามเซ็นสัญญาไปแล้ว การจะสั่งซื้อเพิ่มจึงไม่ใช่เรื่องยาก
...
จากปัญหาการผลิตในโรงงานสหรัฐฯ แน่นอนน่าจะกระทบต่อแนวทางการจัดหาวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันของจังหวัดชายแดนใต้ และไม่แน่ใจในข้อกฎหมายว่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะมีอำนาจจัดซื้อได้เองหรือไม่ เช่นเดียวกับสภากาชาด และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
โรงงานผลิตวัคซีนจอห์นสันฯ มีปัญหา กระทบส่งมอบ
ก่อนหน้านั้นสำนักข่าวต่างประเทศ เคยรายงานว่าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จำนวนหลายล้านโดสที่ผลิตจากโรงงานอิเมอร์เจนท์ ไบโอโซลูชันส์ เมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ มีปัญหาไม่สามารถใช้ได้ เพราะอาจมีการปนเปื้อน โดยสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ระบุมีวัคซีนประมาณ 60 ล้านโดส ถูกนำไปทำลาย และได้สั่งระงับการผลิตวัคซีนที่โรงงานดังกล่าวไป เมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังส่งผลให้จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ต้องสั่งนำเข้าวัคซีนที่ผลิตในเนเธอร์แลนด์ จำนวนหลายล้านโดสมาใช้ในสหรัฐฯ และยังประสบปัญหาส่งมอบวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ไม่ทันตามกำหนดอีกด้วย.
ผู้เขียน : ปูรณิมา