ในยามศึกสงครามอาวุธยุทโธปกรณ์ต้องครบ คือภาวะปกติ ในการรักษาความมั่นคงของชาติ แต่ในยามที่ทั้งโลกมีศัตรูร้ายตัวเดียวกันอย่างโควิด-19 จึงเป็นเวลาที่ต้องมีอาวุธเพื่อรบกับเชื้อโรค เอาชนะเพื่อรักษาชีวิตของคนในชาติ หลายประเทศจึงต่างทุ่มเทสรรพกำลัง และงบประมาณเพื่อการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่นี้
แต่ภาพที่ทุกคนเห็นตรงกันในประเทศไทยขณะนี้ คือ รัฐบาลมีรายได้ไม่พอ จนต้องกู้เงินรวมแล้วถึง 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อมาเยียวยาคนในชาติ เพื่อรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลักหมื่นต่อวันแล้ว เพื่อจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทเพื่อฉีดให้ประชาชนได้ครบจำนวนที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ หรือไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคน และยังต้องฉีดเพื่อกระตุ้นต่อไป ซึ่งหมายถึงต้องมีงบซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 เรื่อยๆ
ท่ามกลางความยากลำบาก การดิ้นรนของประชาชนในการตรวจเชื้อโควิด-19 การหาโรงพยาบาลเพื่อรักษา เพราะเตียงไม่พอ ทำให้หลายคนต้องรอจนเสียชีวิตที่บ้าน ใครพอมีกำลังจ่าย ก็จองวัคซีนกับโรงพยาบาลเอกชน ยังไม่นับความลำบากของคนตกงานและไม่มีรายได้ ต้องรอของบริจาคมาช่วยให้อิ่มท้อง
กลับมีสิ่งที่หลายคนไม่คิดว่ารัฐบาลจะยังเดินหน้าต่อในภาวะนี้ คือการซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ด้วยงบประมาณรวม 22,500 ล้านบาท ตามการเปิดเผยของ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ระบุว่า ในงบฯปี 2565 นี้มีการเสนอการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ
แน่นอนว่ากองทัพเรือต้องออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ โดย พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ตัดงบประมาณนี้ส่วนนี้เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชน ซึ่งกองทัพเรือทำตามหน้าที่ในการเสนอทุกปี เป็นขั้นตอนตามปกติ เช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรมตามภารกิจของตัวเอง จะผ่านหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กมธ. และยืนยันว่าไม่ได้มีอะไรซ่อนเร้น
...
คำถามคือ หากไม่ซื้อเรือดำน้ำตอนนี้ แต่เปลี่ยนเอาเงิน 22,500 ล้านบาท มาใช้เพื่อรบกับโควิด-19 ตอนนี้ คนไทยทั้งประเทศจะได้อะไรบ้าง
อย่างแรกคือ วัคซีนต้านโควิด-19 ได้ 123 ล้านโดส ฉีดให้ได้ 61 ล้านคน โดยพิจารณาจากราคาวัคซีนหลักของชาติตัวแรก คือแอสตราเซเนกา ที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติจัดซื้อลอตสองจำนวน 35 ล้านโดส วงเงิน 6,387,285,900 บาท รวมค่าดำเนินการเฉลี่ยเท่ากับราคาโดสละ หรือเข็มละ 182 บาท
หรือเรื่องเร่งด่วนในการคัดกรองผู้ป่วย ด้วยชุดตรวจโควิด-19 รู้ผลภายใน 30 นาที (Rapid Antigen Test) เฉลี่ยราคาทั่วไปชุดละ 350 บาท ตรวจได้ 64 ล้านคน
หรือจัดซื้อชุดป้องกันเชื้อโรค PPE ที่ขายในท้องตลาดเฉลี่ยราคาชุดละ 150 บาท ได้ถึง 166 ล้านชุด หรือซื้อเครื่องวัดออกซิเจนแบบพกพา อุปกรณ์จำเป็นยามเมื่อติดเชื้อแล้ว ที่ขายเฉลี่ย 1,000 บาท ได้ถึง 22.5 ล้านเครื่อง
นี่ไม่ใช่วาระซ่อนเร้น แต่เป็นวาระเร่งด่วน ในยามที่งบประมาณมีจำกัด เพราะหากย้อนกลับไป ดูเหมือนว่าเรือดำน้ำน่าจะรอไปก่อนได้ เพราะโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแผนเดิมที่พยายามมาแล้วหลายครั้ง และรอมีเรือดำน้ำใหม่มานานเกือบ 70 ปี โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน ได้ผลักดันโครงการนี้เป็นระยะ ตามวาระที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยชี้แจงเหตุผลถึงความหวังดีต่อความมั่นคงของชาติมาโดยตลอด
เช่น เมื่อสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงปี 2553 ที่บิ๊กป้อม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สนับสนุนการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองจากเยอรมนี และเปลี่ยนแผนจะซื้อมือหนึ่งจากเกาหลีใต้ แต่ไม่สำเร็จ เพราะช่วงการเมืองขัดแย้งรุนแรง มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล จนโครงการเงียบหายไปพร้อมกับเปลี่ยนรัฐบาล
และแม้จะมีความพยายามอีกครั้งในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในยุคที่มีพลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่พิษของการทุจริตโครงการจำนำข้าว ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องจบลง
ความพยายามสานฝันให้เป็นจริงได้กลับมาอีกครั้ง ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรัฐประหาร โดยปี 2560 ที่พลเอกประวิตร ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ยืนยันความจำเป็นการจัดซื้อเรือดำน้ำอีกครั้ง โดยครั้งนี้ตัดสินใจเลือกซื้อจากประเทศจีน เป็นเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จำนวน 3 ลำ รวม 36,000 ล้านบาท ยืนยันสั่งซื้อแล้ว 1 ลำ
ในห้วงเวลาที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ บริหารประเทศมาแล้ว 7 ปี คงไม่มีเวลาใดที่ผู้คนประสบความยากลำบาก และเสี่ยงต่อความเป็นความตายเช่นในเวลานี้ เสียงเรียกร้องให้แยกแยะว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นต้องทำ และสิ่งที่ยังไม่จำเป็น ต้องเลิกทำ จึงดังสนั่นขึ้นทุกวัน จากคำเตือน วอนขอ และกลายเป็นเสียงโห่ไล่ที่ดังขึ้นอีกในที่สุด
ผู้เขียน : สุกรี แมนชัยนิมิต
กราฟิก : Theerapong.C