กระแสการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่บ้านด้วยตัวเอง โดยใช้ Rapid Antigen Test ถูกพูดถึงทุกวันในโลกโซเชียลฯ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ หากเสิร์ชคำว่า Rapid Antigen Test ในช่องค้นหา จะพบว่ามีร้านค้าออนไลน์และประชาชนจำนวนมากรับหิ้วชุดตรวจจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งราคาส่วนใหญ่เริ่มต้นชุดละ 300 บาท และพุ่งสูงเกิน 600 บาท

Rapid Antigen Test คือชุดทดสอบสำหรับตรวจหาโควิด-19 ที่มีข้อดีตรงความง่ายและความเร็ว ด้วยเวลาเพียง 10-30 นาที จากการเก็บตัวอย่างทางจมูกหรือในลำคอ และมีหน้าตาคล้ายกับชุดตรวจครรภ์ เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อมาแล้วประมาณ 5-14 วัน จึงจะได้ผลที่แม่นยำ

ความนิยมของ Rapid Antigen Test ในช่วงนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมติเห็นชอบให้ปลดล็อกชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในประเทศไทย เพื่อลดการแออัดของประชาชนจำนวนมากที่ต้องไปต่อแถวรอตรวจโควิด-19 ตามจุดตรวจทั่วประเทศ

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในอนาคตอันใกล้ Rapid Antigen Test สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป คลินิก และสถานพยาบาล ในราคาไม่เกิน 300-400 บาท

ทุกสถานพยาบาลจะมี Rapid Antigen Test ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึง และระบุว่า หากเข้ารับการตรวจแล้วผลที่ได้เป็นลบ ผู้ป่วยต้องรับการตรวจซ้ำอีกครั้งภายใน 3-5 วัน หากมีอาการเข้าข่ายว่าติดเชื้อ สามารถตรวจซ้ำได้ทันที

หลายประเทศบนโลกอนุมัติให้ใช้ Rapid Antigen Test มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะที่อีกไม่น้อยเริ่มอนุญาตให้ใช้ได้ในปีนี้ แต่รัฐบาลที่ดีมักมีการตรวจหาโรคแบบเชิงรุกอยู่แล้ว ทั้งรถตรวจโควิด-19 เคลื่อนที่ การปูพรมสุ่มตรวจตามย่านชุมชนต่างๆ และได้เพิ่มการตรวจแบบ Rapid Antigen Test เพื่อให้ประชาชนหมั่นเช็กตัวเองอยู่เสมอว่าตนติดโควิด-19 หรือไม่

...

ไทยรัฐออนไลน์ได้สำรวจราคา Rapid Antigen Test แบบ 1 ชุด สำหรับใช้ 1 คน 1 ครั้ง ในหลายประเทศ ก่อนเปรียบเทียบราคาชุดตรวจดังกล่าวกับค่าครองชีพ เพื่อดูว่าประชากรแต่ละประเทศสามารถเข้าถึง Rapid Antigen Test ได้ง่ายหรือยากแค่ไหน


ตัวอย่างประเทศแจก Rapid Antigen Test ให้ประชาชนแบบฟรีๆ

อังกฤษเริ่มแจก Rapid Antigen Test ฟรีแก่ประชาชน คิดเป็นสัปดาห์ละสองครั้ง ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2021 ด้วยการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ NHS ของระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ แล้วชุดตรวจกล่องใหญ่ที่มีเครื่องตรวจ 7-10 ชุด จะถูกส่งมาถึงบ้าน

หากชาวอังกฤษคนใดไม่สะดวกใจกรอกที่อยู่ในเว็บไซต์ สามารถรับชุดตรวจฟรีได้ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย ร้านขายยา และสถานที่ราชการใกล้บ้าน ส่งผลให้เรามักไม่ค่อยเห็น Rapid Antigen Test วางขายในอังกฤษเท่าไรนัก และค่าแรงขั้นต่ำในอังกฤษอยู่ที่ 8.91 ปอนด์ต่อชั่วโมง หรือ 385 บาท โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งเงินดังกล่าวไปซื้อชุดตรวจแต่อย่างใด

ส่วน แคนาดา มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 11.05-16 ดอลลาร์แคนาดาต่อชั่วโมง คิดเป็นเงินไทยประมาณ 261-377 บาท สวิตเซอร์แลนด์ มีค่าแรงขั้นต่ำ 23 ฟรังก์สวิสต่อชั่วโมง หรือ 790 บาท และ เยอรมนี มีค่าแรงขั้นต่ำ 9.60 ยูโรต่อชั่วโมง หรือ 370 บาท (เพิ่งปรับขึ้นอีกครั้งจาก 9.50 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 9.60 ยูโรต่อชั่วโมง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2021) ล้วนมีรัฐบาลที่ออกนโยบายแจก Rapid Antigen Test ฟรีเช่นเดียวกับอังกฤษ

สิ่งที่น่าสนใจของการแจก Rapid Antigen Test ให้แบบฟรีๆ อยู่ที่เยอรมนี เนื่องจากเยอรมนีเป็นหนึ่งประเทศผู้ผลิตชุดตรวจโควิด-19 รายใหญ่ เมื่อรัฐบาลอนุมัติแจกแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ชุดตรวจที่วางขายตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อตั้งแต่แรก จำต้องนำสินค้าในสต๊อกมาลดราคากันยกใหญ่ ทำให้เวลานี้ Rapid Antigen Test ในเยอรมนีมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ชุดละ 0.80-1.99 ยูโร หรือประมาณ 31-77 บาทเท่านั้น

ส่วนร้าน Lidi ซุปเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติเยอรมัน ที่มีสาขาทั่วทั้งยุโรป จำหน่าย Rapid Antigen Test เฉลี่ยชุดละ 0.80 ยูโร ราคาไม่แตกต่างจากที่จำหน่ายในเยอรมนี


ตัวอย่างประเทศที่จำหน่าย Rapid Antigen Test

ฟินแลนด์ ถือเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกเสมอ ในปีนี้ ฟินแลนด์มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 26.96 ยูโรต่อชั่วโมง หรือประมาณ 1,011 บาท และประชากรในประเทศจะสามารถหาซื้อ Rapid Antigen Test ได้ในราคา 5 ยูโรต่อชุด หรือ 194 บาท

ทางด้านของสวีเดน ประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 112 โครนาสวีเดนต่อชั่วโมง หรือ 461 บาท สามารถหาซื้อเครื่องตรวจได้ในราคาชุดละ 79 โครนาสวีเดน คิดเป็นเงินไทยราว 298 บาท

อินเดียนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญกับโควิด-19 หนักหนาที่สุด ตอนนี้รัฐบาลกลางอนุมัติให้ประชาชนสามารถซื้อ Rapid Antigen Test ไปตรวจเองที่บ้านได้แล้ว โดยราคาของชุดตรวจจะถูกแบ่งเป็นสองประเภท คือ ‘ชุดตรวจที่ผลิตในอินเดีย’ กับ ‘ชุดตรวจที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ’ หากต้องการ Rapid Antigen Test ของต่างชาติ ตกราคาชุดละ 250-399 รูปี หรือ 110-175 บาท

ถ้าเป็นชุดตรวจของศูนย์วิจัยเอกชนในอินเดียเป็นผู้ผลิต จะมีราคาจำหน่ายเพียงชุดละ 50 รูปี หรือ 25 บาท เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 104-213 รูปีต่อชั่วโมง (46-91 บาท) แตกต่างกันในแต่ละรัฐ ส่งผลให้ Rapid Antigen Test ของอินเดียถือเป็นตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อคนในชาติอย่างมาก

...

ญี่ปุ่นมีการจำหน่าย Rapid Antigen Test ในรูปแบบหลากหลายตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งการจำหน่ายในแฟลตฟอร์มออนไลน์ หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงตู้อัตโนมัติริมถนน ด้วยราคาเริ่มต้น 980-4,000 เยน (290-1,190 บาท) แตกต่างไปตามยี่ห้อและบางร้านยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยตู้อัตโนมัติบางเจ้าขายอยู่ที่ 3,800 เยน (1,129 บาท) บางตู้ขายในราคา 4,000 เยน และค่าแรงขั้นต่ำของญี่ปุ่นอยู่ที่ 902 เยนต่อชั่วโมง หรือ 270 บาท

ประเทศใกล้กับญี่ปุ่นอย่างเกาหลีใต้ รัฐบาลอนุมัติให้ร้านขายยาจำหน่าย Rapid Antigen Test ได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2021 หากสำรวจการขายในช่วงนี้จะพบว่า ชุดตรวจที่อยู่ในร้านมักเป็นแบบกล่องใหญ่ มีทั้งหมด 2 ชุด ราคากล่องละ 8,000-15,000 วอน (230-430 บาท) เมื่อคำนวณเป็นเงินไทยเฉลี่ย 125-200 บาท ราคาแตกต่างกันตามยี่ห้อที่เลือกซื้อ และค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีใต้อยู่ที่ 8,720 วอนต่อชั่วโมง หรือ 240 บาท

แทบไม่น่าเชื่อว่าดินแดนที่แรกเริ่มมีการควบคุมโควิด-19 ได้ดีอันดับต้นๆ ของโลกอย่างไต้หวัน กลับต้องพบกับการระบาดหนักอีกครั้ง รัฐบาลไต้หวันได้ประกาศให้ร้านขายยาสามารถจำหน่าย Rapid Antigen Test ได้ ส่วนใหญ่ขาย 350 ดอลลาร์ไต้หวัน (407 บาท) เมื่อตีเป็นเงินไทยอาจพบว่าราคาสูงพอสมควร แต่ค่าแรงขั้นต่ำของไต้หวันเฉลี่ย 160 ดอลลาร์ไต้หวันต่อชั่วโมง หรือ 179 บาท ถือว่ายังเป็นตัวเลขที่พอรับได้หากเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย

แวะไปทางฝั่งสิงคโปร์กันบ้าง ต้องการหาซื้อชุดตรวจด้วยตัวเองในสิงคโปร์ เพียงแค่เดินไปที่ร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อก็จะพบกับ Rapid Antigen Test สองยี่ห้อ คือ Abbott PanBio TM และ QuickVue At-Home OTC Covid-19 ในราคา 10-30 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยราว 250-300 บาท ถือเป็นชุดตรวจที่มีราคาใกล้เคียงกับที่กระทรวงสาธารณสุขไทยกำหนดไว้

...

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่ได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ แต่ข้อมูลของบทความ ‘ปูพรม ราคาถูก แจกฟรี สำรวจการใช้ Rapid Test ในต่างประเทศ’ ระบุเงินเดือนของพนักงานทำความสะอาดในสิงคโปร์ไว้ที่ 32,000 บาทต่อเดือน


ราคาการซื้อ-ขาย Rapid Antigen Test ในไทย

ความคืบหน้าของการตรวจโควิด-19 ด้วย Rapid Antigen Test ยังคงไม่คืบหน้าเท่าไรนัก ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข เคยกล่าวถึงชุดตรวจโควิด-19 ที่บ้านไว้หลายครั้ง ทั้งการยืนยันว่าประชาชนที่ต้องการรับชุดตรวจฟรี สามารถไปรับได้ที่หน่วยบริการ สถานพยาบาลใกล้บ้าน แต่จะต้องผ่านการซักประวัติและความเสี่ยง

ทางกระทรวงฯ ได้ย้ำกับประชาชนว่า เนื่องจาก Rapid Antigen Test ถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงไม่แนะนำให้หาซื้อทางอินเทอร์เน็ตเด็ดขาด

แม้รัฐบาลจะแนะนำว่าไม่ควรซื้อผ่านทางออนไลน์ เวลานี้เกิดการซื้อ-ขาย Rapid Antigen Test เป็นจำนวนมาก ราคาส่วนใหญ่ที่ขายในทวิตเตอร์ตกชุดละ 350-590 บาท รวมถึงการจำหน่ายแบบกล่อง 25 ชุด ราคา 7,500-8,000 บาท ขณะที่ประเทศไทยมีค่าแรงขั้นต่ำ 305-310 บาทต่อวัน

ด้วยราคาที่พุ่งสูงจนน่าตกใจ หลายคนพยายามหาคำตอบว่าเพราะเหตุใด Rapid Antigen Test ในไทยถึงแพงมากหากเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ ร้านค้าออนไลน์บางส่วนระบุว่าเป็นเพราะต้องคิดค่าหิ้วและภาษีนำเข้า ทว่าวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้ชี้แจงในกรณีดังกล่าวว่า Rapid Antigen Test จะได้รับยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ เพราะถือเป็นกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์

...

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขยายเวลายกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาใช้ในการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ จนถึงเดือนมีนาคม 2565 อย่างไรก็ตาม กรณีการนำเข้าดังกล่าวยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ที่ 7 เปอร์เซ็นต์อยู่

“ทั้งนี้ การนำเข้าชุดตรวจโควิด-19 ดังกล่าวต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนดำเนินการ ไม่สามารถนำเข้ามาเองโดยไม่มีใบอนุญาตจาก อย. ได้ ขอเตือนหากมีการสั่งซื้อส่งทางไปรษณีย์จากต่างประเทศ หรือหิ้วเข้ามาโดยไม่มีอนุญาต หากตรวจพบก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้”

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยการขึ้นทะเบียน นำเข้า และจำหน่าย Antigen Test kit ว่า ชุดตรวจที่เดิมใช้กับสถานพยาบาล ซึ่งการใช้กับประชาชนทั่วไปต้องมีเอกสารข้อมูลคำอธิบายขั้นตอนต่างๆ ที่อยู่ในชุดตรวจ และจะมีข้อความกำกับว่าสำหรับประชาชนทั่วไป ล่าสุดกำลังเริ่มออกทะเบียนให้กับ 3 บริษัท และวันที่ 16 กรกฎาคม อีก 2 บริษัท

ในสัปดาห์นี้จะมี 5 บริษัทที่สามารถขายได้ และทยอยส่งสินค้าออกไปตั้งแต่พรุ่งนี้ โดยจากนี้น่าจะมีหลายๆ บริษัททยอยมาขอขึ้นทะเบียน ส่วนที่เห็นตามอินเทอร์เน็ตอาจจะไม่ใช่สินค้าที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. หรือขึ้นทะเบียนแต่ใช้เฉพาะกับสถานพยาบาล ไม่แนะนำให้ซื้อ

เหตุผลทั้งการระบาดหนัก ความหวาดกลัวโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ การสั่งห้ามนำเข้าโดยศุลกากร และข้อสรุปที่ยังไม่แน่ชัดจากกระทรวงสาธารณสุขหรือ ศบค. ว่าประชาชนจะได้ชุดตรวจเองที่บ้านเมื่อไหร่ ทั้งหมดทำให้ Rapid Antigen Test กลายเป็นสินค้าราคาแพง เหมือนกับการฉายภาพซ้ำในครั้งที่ประเทศไทยเคยขาดแคลนหน้ากากอนามัยเมื่อปีก่อน



อ้างอิง