• วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้แรงงานต่างชาติอยู่ในประเทศไทยต่อไปได้เป็นกรณีพิเศษ ในวันเดียวกันมีเอกสารราชการกระทรวงแรงงาน เรื่อง ‘แจ้งยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข’ ถูกเผยแพร่และแชร์ต่อกันในโซเชียลมีเดีย
  • ประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน และต้องพึ่งพาแรงงานจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว และเมียนมา เป็นจำนวนมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งก็ยังไม่พอ
  • แรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แต่ภาครัฐกลับไม่ดูแลอย่างที่ควร สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เปิดเผยว่า ก่อนจะมีคำสั่งยกเลิกตรวจแรงงาน 3 สัญชาติก็แทบจะไม่มีการตรวจอยู่แล้ว ส่วนวัคซีนที่ภาครัฐบอกว่าจะจัดหาให้คนงานก่อสร้างก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้เมื่อใด


อาจจะเป็นการสั่งการที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผล (อีกเรื่อง) ของภาครัฐ ที่เห็นได้จากข่าว 2 ข่าวในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ข่าวหนึ่งเป็นข่าวแจกจากกระทรวงแรงงานมีเนื้อหาสาระว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผ่อนผันให้แรงงานต่างชาติอยู่ในประเทศไทยต่อไปได้เป็นกรณีพิเศษ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ย้ำเตือนให้กระทรวงแรงงานบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสภาวะทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน รวมทั้งดูแลสถานประกอบการที่มีความต้องการกำลังแรงงานให้สามารถขับเคลื่อนกิจการต่อไปได้ โดยยึดความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตของทั้งแรงงานต่างด้าว แรงงานไทย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชน และประชาชนโดยรวม” คือคำกล่าวของ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้ให้ข่าวนี้

อีกข่าวเป็นการเผยแพร่เอกสารราชการของกระทรวงแรงงาน เรื่อง ‘แจ้งยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข’ ซึ่งเป็นการสั่งยกเลิกการตรวจโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามคำสั่งเดิมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ให้ตรวจและให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ

สองข่าวนี้สะท้อนความจริงที่ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องการพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไทยกลับเลือกปฏิบัติ ไม่ดูแลพวกเขาอย่างที่ควรจะเป็น 

เมื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและสอบถามคนในวงการก็ได้ข้อมูลอีกว่า ณ เวลาที่คำสั่งให้ตรวจหาเชื้อยังไม่ถูกยกเลิกนั้นก็ไม่ได้มีการตรวจอย่างจริงจัง

นอกจากสะท้อนความบกพร่องด้านมนุษยธรรมแล้ว ก็ยังสะท้อนความบกพร่องด้านการดูแลบุคลากรด้วย

...

ไทยขาดแคลนแรงงาน ต้องพึ่งพาเพื่อนบ้าน


“ปัจจุบันตลาดแรงงานในประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และเชิงภูมิศาสตร์” คือความจริงที่ปรากฏเป็นข้อความใน ‘ยุทธศาสตร์การแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนแรงงาน พ.ศ. 2560 - 2564’ ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาต่อเนื่องมานานมากกว่า 10 ปี ทำให้ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง 91 เปอร์เซ็นต์ของชาวต่างชาติที่ทำงานในไทยมาจาก 3 ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา

ข้อมูลสถิติของสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ เดือนมิถุนายน 2564 แสดงตัวเลขว่า มีชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือในประเทศไทยจำนวน 2,380,767 คน เป็นแรงงานจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามการอนุญาตประเภทต่างๆ จำนวน 2,168,925 คน (ไม่นับผู้เข้ามาทำงานตามมาตรา 62 ส่งเสริมการลงทุน ซึ่งไม่ใช่ระดับใช้แรงงาน)

นอกจากนี้ยังมีแรงงานที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าสามารถหาจำนวนและนำมาบวกเพิ่มแล้วยิ่งจะเห็นว่าไทยพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสูงมาก

ภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ภาคการผลิต (อุตสาหกรรม) ภาคการก่อสร้าง และภาคการค้า

ส่วนกลุ่มงานที่พึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มข้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็คือ งานประเภท 3 D ที่แรงงานไทยมักไม่ทำ ได้แก่ งานสกปรก (Dirty Job) งานยาก (Difficult Job) และงานอันตราย (Dangerous Job) อย่างเช่น งานในภาคประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่มีลักษณะของงานอันไม่พึงประสงค์มากกว่า 1 D จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมประมงหาแรงงานยากกว่าอุตสาหกรรมอื่น

ในปัจจุบัน แม้มีคนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในไทยมากกว่า 2,000,000 คน แต่จำนวนนี้ก็ยังไม่พอ ไทยยังคงขาดแคลนแรงงาน และต้องพึ่งพาแรงงานจากเพื่อนบ้านมากกว่านี้


นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็เพิ่มดีกรีขึ้น และสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ประกอบการ เพราะแรงงานบางส่วนเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดแล้วยังไม่สามารถกลับมาได้ ภาคเอกชนจึงได้ขอต่อรัฐบาลให้ผ่อนปรนการต่ออายุแรงงาน เพื่อรักษาแรงงานในระบบเอาไว้

ในการแถลงข่าวของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานว่า เฉพาะในภาคการผลิตขาดแคลนแรงงานมากถึง 400,000 คน โดยเฉพาะงานที่คนไทยไม่ทำ อย่างเช่น ก่อสร้าง ประมง ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก จึงเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานเข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น


แรงงานต่างชาติสำคัญแค่ไหนต่อเศรษฐกิจไทย


การที่ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนหลายล้านคน นั่นแปลว่า แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย ชนิดที่หากขาดพวกเขาไป บางอุตสาหกรรมจะต้องสะดุดหรืออาจจะถึงขั้นหยุดชะงักเดินเครื่องไม่ได้

ยกตัวอย่าง ภาคอุตสาหกรรมประมง ในแต่ละปีประเทศไทยส่งออกสินค้าประมงประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท - 60,000 ล้านบาท ยังไม่นับมูลค่าที่เกิดจากการบริโภคภายในประเทศอีก 

อุตสาหกรรมสิ่งทอและครื่องนุ่งห่ม ส่งออกสินค้าเป็นมูลค่า 186,810 ล้านบาท ในปี 2563

ส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้าง ปี 2563 มีมูลค่างานก่อสร้าง 1,300,000 ล้านบาท คิดเป็น 8.1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ตัวเลขทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงๆ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ข้ามพรมแดนมาทำงานในบ้านเรา

ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ว่า ประเทศไทยเราขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานก่อสร้างที่เป็นงานร้อนและงานสกปรก ซึ่งคนไทยไม่ค่อยทำ แม้ว่าธุรกิจก่อสร้างจะใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรมากขึ้นแล้ว แต่แรงงานคนก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ อีกทั้งต้องใช้แรงงานฝีมือที่ทักษะเฉพาะ ไม่ใช่จะหาใครมาทำก็ได้ จึงจำเป็นต้องรักษาแรงงานฝีมือที่มีอยู่เอาไว้

“เราต้องพึ่งพิงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน จากนี้ไปเราต้องให้ความชัดเจนในเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานของเรา และน่าจะมีแรงจูงใจให้แรงงานต่างชาติเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย และดูแลเขาอย่างเป็นธรรม ให้เขาอยากมาทำงานกับเรา ถ้าเรามองว่าในอนาคตประเทศไทยจะโต เราก็ต้องใช้คน เพราะฉะนั้นแรงงานต่างชาติมีความสำคัญ ก็อยากให้เราคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มากๆ จะทำอย่างไรให้แรงงานฝีมือของประเทศเขามาอยู่กับเรา และช่วยเราผลักดันเศรษฐกิจ ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ” เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ บอกถึงความสำคัญของแรงงาน 3 ชาติเพื่อนบ้าน

...


อยากใช้ประโยชน์ แต่ไยไม่ดูแล


หลังจากคำสั่งมาตรการหยุดงานก่อสร้างและปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเมื่อปลายเดือนมิถุนายนจนถึงวันนี้ เป็นเวลามากกว่าครึ่งเดือน มีเรื่องราวความเดือดร้อนของแรงงานในแคมป์คนงานก่อสร้างถูกนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านสื่อหลักและในสังคมออนไลน์


เมื่อมีการเปิดเผยเอกสารสั่งยกเลิกการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่แรงงาน 3 สัญชาติ ก็ยิ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ มิติ

เอกสารราชการของกระทรวงแรงงาน ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ‘แจ้งยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข’ ระบุว่าเป็นแรงงาน 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยบอกเหตุผลการยกเลิกว่า

“...ปัจจุบันโรงพยาบาลประสบปัญหาทางด้านสาธารณสุข เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่รองรับผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินที่มีจำนวนจำกัด ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่ตรวจพบรายใหม่ได้ รวมทั้งสถานพยาบาลผู้รับจ้างประสบปัญหาเช่นเดียวกับสถานพยาบาลอื่นๆ จึงไม่สามารถปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะงานที่กรมการจัดหางานกำหนดได้ ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงมีนโยบายให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ชี้แจงเรื่องนี้ว่า การยกเลิกการตรวจหาเชื้อในแรงงาน 3 สัญชาติ เป็นไปตามข้อสรุปจากการคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครว่า การตรวจคัดกรองในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนกรมการจัดหางานไม่ได้นิ่งนอนใจ อยู่ระหว่างเตรียมการช่วยเหลือแรงงาน 3 สัญชาติในด้านอื่นๆ ตามภารกิจของกรมการจัดหางานต่อไป

คำบอกเล่าของ ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เผยให้เห็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า เรื่องการตรวจและการยกเลิกตรวจไม่มีความชัดเจน การตรวจหาเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้างนั้นแทบไม่มีมาตั้งแต่แรก ทางสมาคมฯ ติดต่อไปถามเรื่องนี้ที่กระทรวงแรงงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้รับคำตอบว่า ไม่ตรวจแล้ว แต่จะให้ฉีดวัคซีน ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้ฉีดเมื่อไหร่

“ไม่มีครับ การตรวจไม่มี อันนี้คอนเฟิร์ม” เขายืนยัน และบอกอีกว่า ที่มีการดูแลคือถ้าใครมีอาการป่วยก็นำเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งก็ไม่ทั่วถึงทุกแคมป์

แต่ถึงอย่างนั้น เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ บอกว่า เข้าใจว่าภาครัฐมีทรัพยากรจำกัด จึงต้องเลือกว่าจะใช้ทรัพยากรนั้นกับใคร ดังนั้น ในอีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการจะต้องจดทะเบียนเข้าระบบให้ถูกต้อง และให้แรงงานเข้าระบบให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับการดูแลจากภาครัฐ

“เราเชื่ออยู่แล้วว่าความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ล้วนเท่ากันหมด เพียงแต่ในมุมของรัฐบาลจะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เหมาะสมได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ผมว่าในระยะยาวเราต้องจูงใจให้ต่างชาติซึ่งเป็นกำลังหลักในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่างเราเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง และได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม เพื่อจะได้พัฒนาอย่างยั่งยืน ผมว่าต้องเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนด้วย” ตัวแทนสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ แสดงความคิดเห็น

จริงหรือไม่ว่า คนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศก็ต้องการรายได้ สวัสดิการ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยก็คงคาดหวังเช่นนั้นเหมือนกัน หรือแม้แต่การทำงานในประเทศของตัวเองก็ตาม ทุกคนล้วนคาดหวังการสวัสดิการที่ดี คาดหวังสถานที่ทำงานที่ดีกับตัวเอง

ในเมื่อทั้งภาครัฐและเอกชนก็ทราบดีว่า ไทยต้องการใช้แรงงานของพวกเขาเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของเรา ดังนั้น การดูแลให้มีสภาพการทำงานที่ดี และการให้สวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย เป็นขั้นพื้นฐานที่ไทยต้องทำ ไม่อย่างนั้น ในอนาคตอันใกล้ที่เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านก็กำลังพัฒนา ไทยอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหล่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเลือกอีกต่อไป.

...