• วิกฤติโควิดในไทย ทำให้ทุกคนดิ้นรนเอาชีวิตรอด ทั้งป้องกันระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อ และหาวิธีเพิ่มรายได้ยามเศรษฐกิจฝืดเคือง หลังได้รับผลกระทบ จากหลายมาตรการของรัฐเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

  • จำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีอาการโคม่า พร้อมกับการล้มตายของผู้คน เหมือนใบไม้ร่วง นอกจากวัคซีนเป็นที่พึ่งยามคับขันแล้ว ทางภาครัฐต้องเร่งตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงให้มากที่สุด

  • ภาพประชาชนจำนวนมากนั่งรอ นอนรอกลางสายฝน เพื่อจะเข้าคิวรอตรวจฟรี ตามจุดต่างๆ ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเสี่ยงมากต่อการแพร่เชื้อ สร้างความหดหู่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น นำไปสู่อีกทางเลือกในการนำ ”แรพิด แอนติเจน เทสต์” (Rapid Antigen Test) มาตรวจหาเชื้อ เพื่อลดความแออัด

ปัจจุบัน ให้ใช้เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ เท่านั้น

"แรพิด แอนติเจน เทสต์" (Rapid Antigen Test) ปัจจุบันขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว 24 ยี่ห้อ อนุญาตให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น เป็นการคัดกรองเบื้องต้นจากการตรวจองค์ประกอบไวรัส จากการแยงจมูก หรือลำคอ จากเดิมที่ใช้ RT-PCR ต้องใช้เวลานาน และวันที่ 12 ก.ค.นี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข จะพิจารณาให้ประชาชนสามารถซื้อไปตรวจเอง ซึ่งต้องกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน และในกรณีตรวจพบเชื้อ จะเข้าสู่กระบวนการอย่างใดต่อไป

...

เบื้องต้นทาง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ การใช้แรพิด แอนติเจน เทสต์ ในช่วงแรกจะให้ใช้ในสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียน และมีเตียงรองรับการตรวจ หากมีผลบวกจะตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา และจะพยายามทำชุดตรวจเองที่บ้าน โดยวางระบบมารองรับ

กำหนดกติกา ให้ประชาชน เข้าถึงการตรวจมากขึ้น

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ วางขายในประเทศไทยแล้ว แต่ต้องกำหนดกติกา ในการนำไปใช้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อมากขึ้น เป็นวิธีที่ง่ายกว่า และทราบผลเร็วในการคัดกรองผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในช่วงแพร่กระจายเชื้อ

“ปกติเมื่อเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกาย จะใช้เวลาในการตรวจพบเจอ แต่ชุดตรวจนี้เป็นการตรวจแอนติเจน หรือองค์ประกอบไวรัส ไม่ใช่การตรวจแอนติบอดีจากเลือด และคนตรวจผลเป็นลบ ไม่ใช่ไม่ติดเชื้อ แต่อาจติดเชื้อน้อย อาจต้องยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง”

สำหรับข้อดีทำให้สามารถตรวจเจอคนไข้ ผลเป็นบวกมากขึ้นและเร็วขึ้น ขณะที่ระบบบริการควรให้คนอาการหนัก หากป่วยไม่มากอาจต้องควบคู่กับการให้กักตัวที่บ้านอย่างมีคุณภาพ (Home Isolation) หรือในสถานที่มีระบบดูแลไม่ให้แพร่เชื้อ และป่วยหนักส่งรักษาต่อไป

...

ข้อดีใช้คัดกรองผู้ป่วย ในช่วงแพร่กระจายเชื้อได้

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในฐานะนักไวรัสวิทยา กล่าวว่า ประเด็นของ ”แรพิด แอนติเจน เทสต์” เป็นที่น่าสนใจ เพราะกำลังจะเป็นทางเลือกใหม่ มาช่วยตรวจหาเชื้อในร่างกายผู้ป่วย โดยใช้ตัวอย่างจากการสวอบ (Swab) จมูกหรือคอ ไม่ใช่ชุดที่ใช้เลือดจากปลายนิ้ว ในการตรวจภูมิ แต่ใช้ตรวจไวรัสในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแรกของการติด

“แรพิด แอนติเจน เทสต์ เป็นการตรวจโปรตีนของไวรัส ไม่จำเป็นต้องเอาตัวอย่างไปสกัดอาร์เอ็นเอ แบบการตรวจ RT-PCR, LAMP หรือ CRISPR/Cas13 จึงเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายกว่า และทราบผลเร็ว”

เมื่อวิธีการตรวจทำได้ง่าย และทราบผลเร็ว แต่ทำไมไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายก่อนหน้านี้ เพราะความสามารถของเทคโนโลยีในการตรวจพบเชื้อไม่สูงเท่า RT-PCR แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ไวรัสที่ตรวจเจอ จะสามารถแพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆ ได้หรือไม่ และสมมติถ้าตรวจได้ผลบวกด้วย RT-PCR แต่ไวรัสนั้นอยู่ในระดับต่ำมาก จนไม่สามารถแพร่กระจายไปหาคนอื่นๆ ได้ ก็น่าจะยอมรับได้ สามารถใช้คัดกรองผู้ป่วย กำลังอยู่ในช่วงแพร่กระจายเชื้อได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการแล้ว แต่ ”แรพิด แอนติเจน เทสต์” ต้องได้มาตรฐานเชื่อถือได้.

...

ผู้เขียน : ปูรณิมา

กราฟิก : Theerapong.C