• ผู้แจ้งเบาะแส หรือ whistleblower คือส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรต่างๆ สามารถแก้ปัญหาการทุจริตหรือการละเมิดกฎหมาย โดยให้คนในองค์กรช่วยกันสอดส่องความผิดปกติ
  • เมื่อเกิดการแฉในวงการต่างๆ สังคมไทยได้พยายามเรียกร้องให้เกิดการปกป้องคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และพูดถึงระบบอุมถัมป์กับค่านิยมบางอย่างที่ทำให้สังคมไทยยากจะมีผู้แจ้งเบาะแสมากยิ่งขึ้น

เรื่องราวของผู้แจ้งเบาะแสกลายเป็นประเด็นที่สังคมจับตามองอีกครั้ง เมื่อมีผู้นำเอกสารในการประชุมเฉพาะกิจร่วมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับข้อสรุปแนวทางการบริการวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่จะเข้าไทยในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยปรึกษากันว่าควรเน้นให้กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง 7 โรคในพื้นที่ระบาด

ความคิดเห็นส่วนหนึ่งในที่ประชุม ปัดตกข้อเสนอใช้วัคซีนไฟเซอร์เข็ม 3 แก่บุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นการยอมรับว่าวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ที่ฉีดให้ก่อนหน้านี้ 2 เข็ม ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 “แสดงว่าเรายอมรับว่าซิโนแวค (Sinovac) ไม่มีผลในการป้องกัน” รวมถึงเหตุผลที่ว่า กลุ่มบุคคลอายุ 12-18 ปี ยังสามารถรอวัคซีนจากการสั่งซื้อได้

ทันทีที่มีผู้นำเอกสารที่อ้างว่าเป็นบันทึกการประชุมมาเผยแพร่ กระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยทันที เนื่องจากประชาชนบางส่วนไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามายังประเทศไทยในเดือนนี้ บางส่วนไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ผู้มีสิทธิตัดสินใจบางคน ไม่อยากให้ฉีดไฟเซอร์แก่บุคลากรหน้าด่าน เพียงเพราะกังวลว่าประชาชนจะแสดงความคิดเห็นว่าวัคซีนซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพ และผู้คนจำนวนมากต่างเรียกร้องให้ปกป้องผู้ที่นำเอกสารออกมาให้กับสำนักข่าว

หากแปลตรงตัว whistleblower จะมีความหมายว่า ‘ผู้เป่านกหวีด’ แต่ในเชิงกฎหมายที่เข้าใจกันในระดับสากล หมายถึง ‘ผู้แจ้งเบาะแส’

ส่วนความหมายของ ผู้แจ้งเบาะแส หมายถึง เมื่อบุคคลในองค์กรหนึ่ง นำข้อมูลในองค์กรที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเกิดการทุจริต ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง โดยข้อมูลที่นำออกมานั้น จะกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง

ฝ่ายวิชาการ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุรายละเอียดของผู้แจงเบาะแสเพิ่มเติมไว้ว่า ‘เป็นกลไกสำคัญที่จะลดปัญหาการคอร์รัปชันหรือประพฤติในทางมิชอบ โดยผู้แจ้งเบาะแสเป็นหนึ่งในเครื่องมือปราบปรามยับยั้งไม่ให้กระทำผิด และหลายประเทศต่างมองเห็นตรงกันว่า ผู้แจ้งเบาะแสสมควรที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมาย’

ประเทศไทยได้นำแนวคิดทางกฎหมายจากหลายชาติมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางสังคม อาทิ การนำกฎหมายคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น มาปรับใช้ รวมถึง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และการแก้ไขเพิ่มเติม ไปจนถึงบางมาตราของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่ถึงอย่างนั้น การคุ้มครองพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสก็ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

เมื่อมองไปยังสหรัฐอเมริกา ประเทศต้นแบบที่ไทยมักนำข้อกฎหมายเกี่ยวกับผู้แจ้งเบาะแสมาปรับใช้ สหรัฐฯ เริ่มมีการปกป้องผู้แจ้งเบาะแสอย่างเป็นทางการ ด้วยการผ่านร่างกฎหมาย The Civil Service Reform Act of 1978 (พ.ศ. 2521) ก่อนแก้เป็นคำจำเพาะเจาะจง The Whistleblower Protection Act of 1989 (พ.ศ. 2532)

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้เคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้ข้อมูลสำคัญแก่รัฐบาล ทั้งเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ การใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่คุ้มค่า หรือการกระทำใดอันเป็นอันตรายร้ายต่อสาธารณะ

ส่วนการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลในภาคเอกชน จะถูกกำหนดไว้ใน รัฐบัญญัติความรับผิดชอบต่อการฉ้อโกงขององค์กรและอาญา (Corporate and Criminal Fraud Accountability Act) ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2002

ผู้แจ้งเบาะแสสามารถนำข้อมูลภายในที่ผิดกฎหมายมาเปิดโปงได้หลายวิธี ส่วนใหญ่มักส่งข้อมูลให้กับสำนักข่าว เมื่อรัฐบาลส่งหน่วยงานเข้าดูแลผู้แจ้งเบาะแส จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสโดยไม่ได้รับการอนุญาตยินยอมจากเจ้าตัว

กรณีตัวอย่างเกี่ยวกับผู้แจ้งเบาะแสเกิดขึ้นทั่วทุกแห่งบนโลก อาทิ แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ (Clare Rewcastle Brown) นักข่าวสัญชาติอังกฤษ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต (Sarawak Report) ได้ข้อมูลเชิงลึกจาก ซาเวียร์ จัสโต (Xavier Justo) เพื่อเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวครั้งประวัติในมาเลเซีย กับการทุจริตโครงการกองทุกพัฒนาประเทศมาเลเซีย ที่โลกรู้จักในชื่อ 1MDB ที่ส่งผลกระทบแบบโดมิโนไปทั่วโลก

ซาเวียร์และแคลร์ใช้เวลาหลายปีในการรวบรวมข้อมูล ได้เป็นหลักฐานทางอีเมลกว่า 230,000 ฉบับ จนทำให้เหล่านักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถปฏิเสธต่อการมีส่วนร่วมในการคอร์รัปชันครั้งนี้ได้เลย

ทว่าสิ่งที่ทั้งคู่ได้รับจากการเป็นทั้งผู้สืบสวน ผู้ให้เบาะแส และผู้เปิดโปง คือการถูกคุกคามด้วยวิธีการหลากหลาย ทั้งการส่งคนมาเฝ้าแถวบ้าน การสะกดรอยตาม การถูกข่มขู่เอาชีวิต และถูกตั้งข้อหาในคดีอาญา กรณีดังกล่าวเคยทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของผู้แจ้งเบาะแส แต่กระแสเหล่านี้มักมาแล้วไปในเวลาไม่นาน

ในปี 1997 รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจแก้กฎหมาย The Whistleblower Protection Act ขยายความคุ้มครองจากเดิมที่มีแค่เจ้าหน้าที่รัฐ เพิ่มเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ส่วนเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรอง อาทิ สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) หรือเจ้าหน้าที่ในศาล เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในรัฐสภา จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายในกฎหมายฉบับอื่น

ในประเทศที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองอย่างชัดเจน หรือมีกฎหมายคุ้มครองชัดเจนแต่ไม่มีการจัดการที่เป็นรูปธรรม บางพื้นที่ยังคงอุดมด้วยความเหลื่อมล้ำ คนที่มีต้นทุนมากกว่าสามารถมีแรงผลักดันในการสู้คดีมากว่าคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายวงการ หรือไม่มีเงินทุนหรือมีเวลามากพอที่จะแบ่งมายังจุดนี้ ยิ่งทำให้เกิด ผู้แจ้งเบาะแสยากขึ้นไปอีก

รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 63 ระบุว่า 'กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริต และประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ’

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ชี้เบาะแสเป็นเจ้าพนักงานรัฐ หากให้ปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดเดิมต่อไปอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สามารถเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้คุ้มครอง เสนอให้กำหนดตำแหน่งและสิทธิประโยชน์อื่นในหน่วยงานอื่นที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม หรือการระบุว่า ผู้ชี้เบาะแสในคดีที่เจ้าพนักงานรัฐร่ำรวยผิดปกติ จนเป็นผลให้ศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินที่ผิดปกติกลับคืนสู่แผ่นดิน ผู้แจ้งเบาะแสย่อมมีสิทธิรับเงินรางวัล

พ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริต กล่าวถึงข้อกำหนดของผู้แจ้งเบาะแสไว้หลายประการ อาทิ

หากผู้แจ้งเบาะแสไม่นำเรื่องหรือหลักฐานมามอบที่ศูนย์ประสานความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ท.ท.) ตามมาตรา 30 เท่ากับว่า หากผู้แจ้งเบาะแสเดินทางไปแจ้งความ ส่งข้อมูลหลักฐานให้สื่อมวลชน โพสต์หลักฐานผ่านโซเชียลมีเดีย หรือจัดงานแถลงข่าวชี้แจ้งด้วยตัวเอง ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามร่างกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ผู้แจ้งเบาะแสต้องเป็นสมาชิกเครือข่ายต้านทุจริต ที่มีสมาชิกในเครือข่ายมากกว่า 15 คน รวมถึงต้องขอคำร้องจากรัฐก่อน และ มาตรา 20 ก.1 กำหนดให้เครือข่ายที่จะยื่นขอคำรับรองต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น กำหนดให้ผู้แจ้งเบาะแสเปิดเผยชื่อ ที่อยู่ สวนทางกับสิ่งที่ควรทำในการปกปิดตัวตนของผู้แจ้งเบาะแส ให้ความสำคัญกับหลักฐานที่นำมามอบให้มากกว่าการลงชื่อว่าผู้แจ้งเบาะแสเป็นใครหรืออาศัยอยู่ที่ไหน

ประเด็นยิบย่อยทางกฎหมายทำให้เกิดการวิจารณ์ว่า รายละเอียดบางอย่างที่ไม่จำเป็น ยิ่งทำให้สังคมไทยไม่สามารถสร้างผู้แจ้งเบาะแสในแวดวงต่างๆ ได้เลย

ไม่ใช่แค่เรื่องข้อกฎหมายเท่านั้นที่ควรกังวล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งต่อผู้แจ้งเบาะแสคือความยุ่งเหยิงที่ตามมา เมื่อองค์กรหรือผู้ใดมีความผิดตามที่ผู้แจ้งเบาะแสกล่าวหา ทั้งจากคำบอกเล่าและชื่อที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานที่นำออกมา เป็นเรื่องปกติที่บางส่วนจะยอมรับผิดแต่โดยดี บางส่วนอาจเชื่อว่าตนไม่ได้ทำผิดและพยายามค้านเท่าที่ทำได้ ไปจนถึงบุคคลที่พยายามเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก สิ่งเหล่านั้นสามารถทำได้ด้วยการโต้กลับทั้งฟ้องศาล โจมตีทางโซเชียล ลามไปถึงการคุกคามข่มขู่

ความยุ่งยากวุ่นวายเรื่องการขึ้นโรงขึ้นศาล ถือเป็นภาพตัวอย่างชัดเจนทำให้คนส่วนใหญ่ที่เห็นปัญหาอยู่ตรงหน้ามองแล้วเลยผ่านไป ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรานำสิ่งไม่ถูกต้องที่เห็นต้องหน้ามาเผยแพร่ ผลลัพธ์คือความยุ่งยากขณะดำเนินคดี ความเครียดและวิตกกังวล การถูกข่มขู่ ค่าใช้จ่ายรายทางระหว่างอยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย พานคิดว่าไม่คุ้มเอาเสียเลยที่จะทำตัวเป็นผู้แจ้งเบาะแส

ในแง่การวิพากษ์วิจารณ์ ต้องยอมรับว่าบางสังคมยังคงมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับผู้ให้เบาะแส หรือใครก็ตามที่ออกมาพูดว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในองค์กร เมื่อมีใครออกมาพูด อาจถูกมองว่าเป็นพวก ‘ปากโป้ง’ ‘ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่’ หรือถูกตราหน้าว่าเป็นพวกชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน และต้องเผชิญกับความเสี่ยงถูกกลั่นแกล้งหรือต้องตกงาน ลามไปถึงปัญหาทางด้านสุขภาพจิตจากความกดดันรอบตัว

ในการประชุมสภาฯ วันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรื่องการคุ้มครองแหล่งข่าวถูกนำเข้าไปสู่สภา ชื่อของ คารม พลพรกลาง, ราเมศ รัตนะเชวง และ ทศพร เสรีรักษ์ ถูกเสนอเป็นคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา ที่สังคมต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิดว่าสภาฯ จะทำให้การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเดินไปในทิศทางไหน

ทางแก้ของปัญหาทั้งหมดที่ว่ามา จะต้องเริ่มการสร้างมาตรการที่ชัดเจนในแง่การให้ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และกฎหมายเข้มแข็งที่สามารถปกป้องผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงการสร้างรางวัลเพื่อเป็นสิ่งจูงใจ ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจใหม่ในหลายองค์กร ที่อุดมด้วยระบบอุปถัมภ์และดูจะเป็นไปได้ยากในเอเชียที่จะมีผู้แจ้งเบาะแสกล้าออกมาพูดในเรื่องที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

...


อ้างอิง