- พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 แก้ไขจาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 โดยการพิจารณาของ สนช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.
- จุดประสงค์ของการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน คือ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม และลดปัญหาข้อร้องเรียนความโปร่งใส
- รายละเอียดสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน ที่ต่างจากฉบับเดิม คือ เปลี่ยนนิยามของโรงงาน ไม่ต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และใช้ผู้ตรวจสอบเอกชนแทนเจ้าหน้าที่รัฐ
วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ผู้ผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กลายเป็นเหตุระเบิด เปลวไฟพวยพุ่ง ควันของสารเคมีลอยสูง เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องทำงานหนักเพื่อควบคุมสถานการณ์นานข้ามวัน
นอกจากผังเมืองและโซนนิ่งที่กลายเป็นคำถามว่า ทำไมมีโรงงานมาตั้งกลางย่านที่พักอาศัย หรือเหตุผลอะไรชุมชนใหม่ๆ ถึงขยายมาล้อมรอบโรงงาน อีกประเด็นหนึ่งคือ ใบอนุญาตของโรงงาน มาตรการความปลอดภัย และการตรวจสอบโรงงาน
ไม่เฉพาะหมิงตี้เคมีคอล สำหรับโรงงานทุกแห่ง ‘ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน’ คือสิ่งที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.โรงงาน เช่นเดียวกับมาตรฐานและขั้นตอนต่างๆ ว่ากว่าจะตั้งโรงงานหนึ่งแห่งและดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง
พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 คือกฎหมายควบคุมโรงงานฉบับก่อนหน้า เวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี ขั้นตอนหลายอย่างนำมาซึ่งความยุ่งยาก ซับซ้อนโดยใช่เหตุ เป็นที่มาของการแก้ไขและออก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 ขึ้นมาใช้แทน
การแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน เกิดขึ้นในสมัย อุตตม สาวนายน อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์ตั้งต้นคือปลดล็อกโรงงาน ให้ผู้ประกอบการไม่ต้องขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) จากเดิมที่ต้องต่อทุกๆ 5 ปี โดยอุตตมให้เหตุผลไว้เมื่อปี 2561 ว่าจะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ 60,000 รายที่ต้องต่ออายุใบอนุญาต ร.ง.4 ในช่วงปี 2562-2566 สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องโดยไม่ติดขัด
“มาตรการนี้จะส่งผลชัดเจนแบบ 2 เพิ่ม 2 ลด คือ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม และลดปัญหาข้อร้องเรียนความโปร่งใส ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนมายังไทยเพิ่มขึ้น”
จากนั้น พ.ร.บ.โรงงานฉบับปัจจุบันก็ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 โดยมีทั้งปรับเปลี่ยนและยกเลิกบางมาตราของ พ.ร.บ.โรงงานฉบับเดิม
เมื่อจุดประสงค์หลักของการร่าง พ.ร.บ.โรงงาน 2562 คือการเอื้อต่อผู้ประกอบการ โรงงานขนาดเล็กสามารถดำเนินกิจการในภาคการผลิตได้ง่ายขึ้น โรงงานใหญ่ได้รับความสะดวก เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ แต่ในความ ‘ง่าย’ นี้ก็มีข้อกังวลต่อปัญหาที่อาจ ‘ยาก’ ต่อการแก้ไขในอนาคตหลายประการ
และนี่คือบางส่วนที่น่าสนใจในการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน ยุค คสช.
...
1. โรงงานที่ไม่ใช่โรงงาน
ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้นิยามโรงงานว่า “อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 5 แรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม สำหรับทำ ผลิต ประกอบ บรรจุซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใดๆ”
แต่การแก้ไขนิยามใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 กำหนดว่า โรงงานคือ “อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวม ตั้งแต่ 50 แรงม้า หรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ห้า 50 คนขึ้นไป โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม เพื่อประกอบกิจการโรงงาน”
หมายความว่า สิ่งที่เคยเรียกว่า ‘โรงงาน’ ภายใต้นิยาม พ.ร.บ. ฉบับเดิม หลายแห่งจะไม่ใช่โรงงานอีกต่อไป เพราะกำลังเครื่องจักรและจำนวนคนงานไม่ถึงเกณฑ์ของความเป็นโรงงาน ดังนั้น จึงไม่ถูกกำกับโดยกฎหมายโรงงาน แต่อยู่ภายใต้ข้อบัญญัติของหน่วยงานท้องถิ่น และ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ทำให้ไม่ต้องคำนึงถึงทำเลที่ตั้งหรือโซนนิ่งตามผังเมือง
ตัวอย่างเช่น โรงงานแยกขยะ แยกของเสีย รีไซเคิล จัดเก็บสารเคมี ที่อาจจะใช้คนงานจำนวนน้อย เครื่องจักรขนาดเล็ก จนไม่เข้าข่าย ‘โรงงาน’ ในนิยามใหม่ แต่สร้างผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างและสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิด
2. การตั้งโรงงานคือเรื่องของเครื่องจักร ไม่ใช่ตัวอาคาร
ต่อเนื่องจากความหมายของโรงงาน ที่ตั้งของโรงงานก็เป็นความเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 กับจุดประสงค์เพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการ จึงมีการแก้ไขประเด็นนี้ จากเดิมใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ความหมายของการ ‘ตั้งโรงงาน’ ตามมาตรา 5 คือ “การก่อสร้างอาคารเพื่อติดตั้งเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการ โรงงาน หรือนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคารสถานที่ หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการ” และมีมาตรา 12 กำกับว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาต”
ขณะที่ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 ให้ความหมายของการ ‘ตั้งโรงงาน’ ว่า “การนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการโรงงาน หรือนำคนงานมาประกอบกิจการโรงงานในกรณีที่ไม่มีการใช้เครื่องจักร”
ความแตกต่างเรื่องการตั้งโรงงานอาจเป็นเรื่องของคำไม่กี่คำ แต่ในทางปฏิบัติ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 ได้เปิดช่องให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างอาคารได้ก่อน โดยไม่ต้องรอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จากนั้นค่อยนำเครื่องจักรมาติดตั้ง จึงนับเป็นโรงงาน ทำให้ไม่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของที่ตั้งอาคาร โดยเฉพาะขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA/ EHIA) ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่รอบข้างในภายหลัง
3. ปลดล็อกใหญ่ ใบอนุญาตไม่มีวันหมดอายุ
จาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เคยกำหนดว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ต้องต่ออายุทุกๆ 5 ปี แต่การต่ออายุให้มากเรื่องก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ระบุว่า "ให้ยกเลิกมาตรา 14 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535"
สองมาตราที่ว่านี้คืออะไร
มาตรา 14 ว่าด้วยการสิ้นอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ส่วนมาตรา 15 ว่าด้วยการขอต่อใบอนุญาต
เรื่องนี้ส่งผลกระทบมากกว่าทำให้หลายโรงงานกลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่โรงงาน เพราะการขอและต่อใบอนุญาตนั้นมีจุดประสงค์ทำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบโรงงานในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาการต่ออายุให้ดำเนินกิจการต่อไป หากพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ ก็จะต่ออายุไม่ได้ ดังนั้น เมื่อขั้นตอนการตรวจสอบหายไป ปฏิเสธได้ยากว่าโรงงานบางแห่งอาจมีอันตรายที่ไม่มีใครมองเห็นซ่อนอยู่
4. ผู้ตรวจสอบโรงงานเอกชนเข้ามาแทนเจ้าหน้าที่รัฐ
เมื่อไม่ต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ก็ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบ เนื่องมาจากวัตถุประสงค์ลดขั้นตอนยุ่งยาก ลดการทำงานที่ไม่โปร่งใส และลดโอกาสที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเรียกเก็บสินบน แต่ก็ใช่ว่ามาตรการควบคุมความพร้อมและความปลอดภัยจะถูกยกเลิกไปเสียทั้งหมด เพราะตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 ได้เปิดช่องให้มีผู้ตรวจสอบเอกชนขึ้นมา
ผู้ตรวจสอบเอกชนคือใคร?
ผู้ตรวจสอบเอกชน คือผู้ได้รับอนุญาตและตรวจสอบตาม พ.ร.บ. โดยมาตรา 9 ระบุว่า “ในกรณีที่บทบัญญัติใดแห่งพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบโรงงาน หรือเครื่องจักร หรือดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง อาจกำหนดให้ผู้ตรวจสอบเอกชนดำเนินการและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้” และผู้ประกอบกิจการมีหน้าที่เสนอรายงานที่ได้จากผู้ตรวจสอบเอกชนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้ตรวจสอบเอกชนนั้นต้องขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (third party) มีใบประกอบวิชาชีพ มีประสบการณ์ในการทำงานในงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สารเคมี ไฟฟ้า พลังงาน เครื่องกล ด้านโยธาฯ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานวิธีการตรวจสอบ กำหนดเวลา และการจัดทำรายงาน การให้คำรับรอง และค่าบริการตรวจสอบ
ข้อกังวลของเรื่องนี้คือ เมื่อให้โรงงานตรวจสอบตนเอง บวกกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อรัฐ เรามั่นใจได้อย่างไรว่ามีการตรวจสอบโรงงานนี้จริง จะเกิดการละเว้นการตรวจสอบหรือไม่ และปัญหาเทาๆ นี้อาจนำมาซึ่งความเสียหายมหาศาล
...