- รัฐบาลบอกมาตลอดว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวหลักของไทยคือวัคซีนของแอสตราเซเนกา ซึ่งมียอดจองแล้ว 2 ครั้ง รวม 61 ล้านโดส และยังอยู่ในแผนจัดหาเพิ่มเติมอีก
- แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ มีการระบาดระลอกใหญ่ก่อนที่วัคซีนหลักจะส่งมอบได้ รัฐบาลจึงสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเข้ามาฉีดให้ประชาชนลอตแล้วลอตเล่า ถึงตอนนี้มีการจัดหาจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคแล้ว 19.5 ล้านโดส และมีแผนจะจัดหาอีก 28 ล้านโดส ทำให้ประมาณการจำนวนวัคซีนซิโนแวคที่ไทยจะนำเข้ามาถึง 47.5 ล้านโดส
- จากการอ่านสรุปการประชุมคณะรัฐมนตรีนานกว่า 9 เดือน และค้นมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 พบว่ามีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณสำหรับซื้อวัคซีนซิโนแวคบางลอตเท่านั้น ส่วนอีกหลายลอต ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของวัคซีนทั้งหมด ยังไม่ปรากฏแหล่งงบประมาณที่ใช้ซื้อหา
ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวไทยรับรู้ข้อมูลจากภาครัฐว่าวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เป็น ‘วัคซีนหลัก’ ของประเทศไทย นับตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยเริ่มลงนามจัดซื้อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเดือนพฤศจิกายนปี 2563
การที่รัฐบาลสั่งจองวัคซีนของแอสตราเซเนกาเพียงเจ้าเดียวทั้งที่ยังไม่ทราบว่าจะผลิตได้สำเร็จและส่งมอบได้ทันการณ์หรือไม่ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลไทยฝากความหวังไว้กับบริษัทเดียว มีคำเปรียบเปรยว่า ‘รัฐบาลแทงม้าตัวเดียว’ ซึ่งเสี่ยงมากเกินไป ควรจะกระจายความเสี่ยงโดยการจองวัคซีนของหลายๆ บริษัทจะดีกว่า
รัฐบาลจองวัคซีนแอสตราเซเนกาครั้งแรก 26 ล้านโดส ต่อมาจองอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส และ ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ก็ยังมีแผนจะจองเพิ่มอีก 37 ล้านโดส
อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดูจะมั่นใจในวัคซีนหลักตัวนี้มากถึงขนาดเคยกล่าวว่า การจองวัคซีนแอสตราเซเนกาเปรียบเหมือน ‘การแทงม้าเต็ง’ และคนไทยยังจะเป็น ‘เจ้าของคอกม้า’ ด้วย เพราะหลายหน่วยงานหลายบริษัทในไทยกำลังวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19
แต่ไปๆ มาๆ วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ซึ่งเดิมถูกใช้เป็นวัคซีนแก้ขัดที่นำเข้ามาใช้เร่งด่วนระหว่างยังไม่ได้รับวัคซีนหลัก กลับกลายเป็นวัคซีนที่รัฐบาลไทยทยอยนำเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ จนเสมือนเป็นวัคซีนหลักเข้าไปแล้ว
การนำวัคซีนซิโนแวคเข้ามาใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งคงจะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามมากนัก หากว่าวัคซีนตัวนี้ไม่ได้มีสิทธิภาพเพียง 50.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประสิทธิภาพต่ำที่สุดในบรรดาวัคซีนที่ผลิตออกมาใช้กันอยู่ในเวลานี้
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ไทยจัดหาและจองวัคซีนซิโนแวคแล้วรวมทั้งหมด 19.5 ล้านโดส นำเข้ามาแล้ว 9.5 ล้านโดส และยังมีแผนที่จะสั่งจองเพิ่มเติมอีก 28 ล้านโดส หากเป็นไปตามแผนนี้ก็จะมีวัคซีนซิโนแวคในไทยมากถึง 47.5 ล้านโดส
วัคซีนซิโนแวคเปลี่ยนสถานะจาก ‘วัคซีนแก้ขัด’ มาเป็นเสมือน ‘วัคซีนหลัก’ ของไทยตั้งแต่เมื่อไหร่? วัคซีนที่ซื้อหาเข้ามาลอตแล้วลอตเล่านี้ใช้เงินงบประมาณเท่าไร ใช้งบประมาณส่วนไหนไปจ่าย? เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการซื้อวัคซีนแต่ละครั้ง
ไทยรัฐออนไลน์อ่านข้อมูลสรุปการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงเรื่อง ‘การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19’ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลไทย ไล่ตามไทม์ไลน์มาจนถึงปัจจุบัน และค้นหารายละเอียดมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนซิโนแวคเพื่อหาคำตอบ-คลายความสงสัยที่ว่านี้
มาดูว่า จากข้อมูลที่หาได้ เราพบมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวคอย่างไรบ้าง แล้วข้อมูลที่พบสามารถตอบข้อสงสัยของคนไทยได้มากน้อยแค่ไหน และยังมีอะไรอีกบ้างที่ยังเป็นคำถาม ค้นไม่พบ-หาไม่เจอ ทั้งที่รัฐบาลควรชี้แจงอย่างโปร่งใส มากกว่าปล่อยให้ประชาชนต้องงมเข็มหาข้อมูลเอง
...
ไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนของไทย
12 ตุลาคม 2563
กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวง เรื่อง ‘การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19’ ปลดล็อกให้ไทยสามารถจัดซื้อจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าได้ จากเดิมก่อนหน้านี้กฎหมายของไทยไม่อนุญาตให้จัดซื้อสินค้าโดยการจองซื้อล่วงหน้าหน้า จึงนับว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นการจัดหาจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการ
17 พฤศจิกายน 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ‘งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ วงเงิน 2,379,430,600 บาท ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK
วงเงินงบประมาณที่อนุมัติเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองวัคซีนแอสตราเซเนกาล่วงหน้า ภายใต้กรอบวงเงินรวม 6,049,723,117 บาท ประกอบด้วย
1. เงินจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า วงเงิน 2,379,430,600 บาท รับผิดชอบโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
2. เงินจัดซื้อวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้าเมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนให้ได้สำเร็จ วงเงิน 1,586,287,067 บาท รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค
3. เงินบริหารจัดการวัคซีน วงเงิน 2,084,005,450 บาท รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค
27 พฤศจิกายน 2563
รัฐบาลไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้า และสัญญาการจัดซื้อวัคซีน กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
5 มกราคม 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโรคโควิด-19 เพิ่มเติมให้ครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 จำนวน 33 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ประกอบด้วย
1. การจัดหาวัคซีนจากการตกลงแบบทวิภาคี โดยสั่งจองล่วงหน้ากับบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ร้อยละ 20 (จำนวน 26,000,000 โดส) คาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนมิถุนายน 2564 และที่ประชุมมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมจำนวนวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ประเทศไทยจัดหาจำนวน 61 ล้านโดส
2. การจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ร้อยละ 10 กระทรวงสาธารณสุขได้เจรจาซื้อวัคซีนซิโนแวคเพื่อให้ได้รับวัคซีนเร่งด่วนภายในไตรมาสแรกของปี 2564 จำนวน 2 ล้านโดส วงเงินงบประมาณ 1,228,208,000 บาท
3. การจัดหาวัคซีนจากโครงการ COVAX Facility ร้อยละ 20 อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง
19 มกราคม 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติปรับกรอบงบประมาณโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยการจองวัคซีนแอสตราเซเนกาล่วงหน้า จำนวน 21 ล้านโดส ที่ลงนามเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เพิ่มเงินงบประมาณ 166,530,000 บาท จากวงเงินเดิม 6,049.72 ล้านบาท เป็นวงเงินงบประมาณ 6,216.25 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
2 กุมภาพันธ์ 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ‘งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ วงเงิน 2,741,336,000 บาท ให้กรมควบคุมโรคดำเนินการภายใต้โครงการจัดหาวัคซีน ในส่วนที่กรมควบคุมโรคมีหน้าที่ชำระเงินร้อยละ 40 ของค่าวัคซีน และบริหารจัดการวัคซีน ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
22 กุมภาพันธ์ 2564
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนแวคให้ใช้ในประเทศไทยได้ในภาวะฉุกเฉิน
24 กุมภาพันธ์ 2564
ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 200,000 โดส เป็นลอตที่ 1 จากสัญญาจัดซื้อ 2 ล้านโดส ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบในวันที่ 5 มกราคม 2564
2 มีนาคม 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ‘งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ กรอบวงเงิน 6,387,285,900 บาท ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม 35 ล้านโดส ซึ่งระบุเป้าหมายเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกาทั้ง 35 ล้านโดส
20 มีนาคม 2564
ในแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังระบุว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนหลักของไทย แบ่งเป็นการจัดหาครั้งแรกจำนวน 26 ล้านโดส และครั้งที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 จำนวน 35 ล้านโดส ส่วนวัคซีนซิโนแวคอยู่ในแผนเพียง 2 ล้านโดส
20 มีนาคม 2564
ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 800,000 โดส เป็นลอตที่ 2 จากสัญญาจัดซื้อ 2 ล้านโดส ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 มกราคม 2564 รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคแล้ว 1 ล้านโดส
10 เมษายน 2564
ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค จำนวน 1 ล้านโดส เป็นลอตสุดท้ายจากสัญญาจัดซื้อ 2 ล้านโดส ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 มกราคม 2564 รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 ล้านโดส
24 เมษายน 2564
ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค จำนวน 500,000 โดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค ณ เวลานั้นเป็นจำนวน 2.5 ล้านโดส
27 เมษายน 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายละเอียดโครงการจัดหาวัคซีนของซิโนแวค เพิ่มเติม จำนวน 500,000 โดส และมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 321,604,000 บาท สำหรับจัดหาวัคซีนดังกล่าว
5 พฤษภาคม 2564
กระทรวงสาธารณสุขเสนอแผนการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุจำนวนวัคซีนในแผนรวม 100 ล้านโดส ซึ่ง ณ ขณะนั้นมีการจัดหาวัคซีนแล้ว 63 ล้านโดส จึงต้องจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมอีกจำนวน 37 ล้านโดส
ในแผนจัดซื้อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมยังคงระบุวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเป้าหมาย ภาพรวมของแผนจำแนกดังนี้
-วัคซีนซิโนแวค จำนวน 2.5 ล้านโดส (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564)
-วัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 26 ล้านโดส (เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564) และจัดหาเพิ่มเติมอีก 37 ล้านโดส
-วัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 35,000,000 โดส (เดือนกันยายน-ธันวาคม 2564)
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเพียงรับทราบแผนการจัดหาและการฉีดวัคซีนเพิ่มเป็น 100 ล้านโดส ไม่ได้มีติเห็นชอบจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา เพิ่ม 37 ล้านโดส แต่มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดหาวัคซีนให้หลากหลาย โดยแบ่งเป็น
1. ภาครัฐจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer Biontech) จำนวน 5-20 ล้านโดส, สปุตนิก วี (Sputnik V) จำนวน 5-10 ล้านโดส, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) จำนวน 5-10 ล้านโดส, ซิโนแวค จำนวน 5 ล้าน-10 ล้านโดส และวัคซีนอื่นๆ เช่น โมเดอร์นา (Moderna), ซิโนฟาร์ม (Sinopharm), ภารัต (Bharat) หรือวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ
2. ภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีนอื่นๆ เพิ่มเติม ตามแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
6 พฤษภาคม 2564
ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค อีก 1 ล้านโดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค ณ เวลานั้นเป็นจำนวน 3.5 ล้านโดส
14 พฤษภาคม 2564
วัคซีนซิโนแวค จำนวน 500,000 โดสที่ประเทศจีนบริจาคให้ไทยถูกขนส่งมาถึงประเทศไทย รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค เป็นจำนวน 4 ล้านโดส
15 พฤษภาคม 2564
ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค อีก 500,000 โดสที่จัดซื้อจัดหาเพิ่มเติม รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค (รวมวัคซีนที่จีนบริจาค) เป็นจำนวน 4.5 ล้านโดส
17 พฤษภาคม 2564
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามรับมอบวัคซีนซิโนแวค จำนวน 500,000 โดสที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีน ซึ่งขนส่งมาถึงไทยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม
“ในนามของรัฐบาลและคนไทยขอขอบคุณรัฐบาลจีน โดยเฉพาะอุปทูตหยางซินที่แนะนำให้ประเทศไทยทำจดหมายขอรับการสนับสนุนวัคซีนจากจีน 1 ล้านโดส โดยขอให้นำวัคซีนส่วนหนึ่งมาฉีดให้คนจีนในประเทศไทยด้วย จึงเป็นที่มาของการรับมอบวัคซีนในครั้งนี้ และจะมีมาเพิ่มอีกเร็วๆ นี้ รวมถึงช่วยประสานให้ประเทศไทยสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวคได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางในการส่งวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว จนถึงขณะนี้ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 4.5 ล้านโดส” รมว.สาธารณสุขกล่าว
20 พฤษภาคม 2564
ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค อีก 1.5 ล้านโดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค (รวมทั้งวัคซีนที่จีนบริจาค 500,000) เป็น 6 ล้านโดส
2 มิถุนายน 2564
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจกแจงว่า ประเทศไทยได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว จำนวน 6 ล้านโดส เป็นวัคซีนที่รัฐบาลสั่งซื้อ 5.5 ล้านโดส และวัคซีนที่รัฐบาลจีนบริจาค 500,000 โดส ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 จะมีวัคซีนซิโนแวค จำนวน 11 ล้านโดส ทยอยเข้ามาเดือนละประมาณ 2.5-3 ล้านโดส
“วัคซีนซิโนแวคที่จัดซื้อเข้ามานี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ให้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่มจากวัคซีนหลักคือ แอสตราเซเนกาให้ครอบคลุมประชาชนไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดส”
5 มิถุนายน 2564
วัคซีนซิโนแวค จำนวน 500,000 โดสที่ประเทศจีนบริจาคให้ไทยถูกขนส่งมาถึงประเทศไทย รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเป็นจำนวน 6.5 ล้านโดส
10 มิถุนายน 2564
ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค จำนวน 1 ล้านโดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค (รวมทั้งวัคซีนที่จีนบริจาค 1 ล้านโดส) เป็นจำนวน 7.5 ล้านโดส
18 มิถุนายน 2564
ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อนุมัติแผนจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 เพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีนเดิม 100 ล้านโดสภายในปี 2564 เป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก สบค. เปิดเผยว่า ดำเนินการจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตราเซเนกา จำนวน 61 ล้านโดส, ซิโนแวค จำนวน 19.5 ล้านโดส, ไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 5 ล้านโดส ส่วนวัคซีน 50 ล้านโดสที่จะจัดหาเพิ่มเติมนั้น กระทรวงสาธารณสุขเสนอเป็นวัคซีนซิโนแวค จำนวน 28 ล้านโดส และวัคซีนของบริษัทอื่นๆ 22 ล้านโดส
22 มิถุนายน 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการการจัดหาวัคซีน และเห็นชอบแผนจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมให้เป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
23 มิถุนายน 2564
ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวคอีก 2 ล้านโดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีน (รวมทั้งวัคซีนที่จีนบริจาค 1 ล้านโดส) เป็นจำนวน 9.5 ล้านโดส
30 มิถุนายน 2564
สรุป ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ไทยจัดหาและจองวัคซีนซิโนแวคแล้ว 19.5 ล้านโดส และมีแผนจะจัดหาจัดซื้อเพิ่มอีก 28 ล้านโดส ตามกรอบการจัดหาวัคซีน 150 ล้านโดส ภายในปี 2565
...
วัคซีนแต่ละลอตมีที่มาอย่างไร ครม.อนุมัติเมื่อไหร่ ใช้งบส่วนไหน?
สิ่งที่ได้ทราบและสิ่งที่ยังไม่ทราบเกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคจากการอ่านสรุปบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีและการค้นรายละเอียดมติคณะรัฐมนตรี สรุปออกมาได้เป็น 10 ข้อ ดังนี้
1. การซื้อวัคซีนซิโนแวคครั้งแรกจำนวน 2 ล้านโดส ทยอยเข้ามา 3 ลอตในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 เป็นการจัดหาวัคซีนเพื่อใช้ในกรณีเร่งด่วนภายในไตรมาสแรกของปี 2564 เนื่องจากเกิดการระบาดระลอกที่ 2 ในช่วงปลายปี 2563
วัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดสนี้อยู่ในแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 จำนวน 33 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ เป็นแผนเดียวกันกับการสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 35 ล้านโดส ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขนำเสนอความคืบหน้าแผนนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 มกราคม 2564 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่เสนอ
กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า วัคซีนซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดสนี้ใช้วงเงินงบประมาณ 1,228,208,000 บาท แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าใช้งบประมาณจากแหล่งใด
2. วัคซีนซิโนแวคลอตที่ 4 จำนวน 500,000 โดส เข้ามาถึงประเทศไทยวันที่ 24 เมษายน 2564 เป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้ในกรณีเร่งด่วนหลังการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564
โครงการจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมจำนวน 5 แสนโดสนี้ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 เมษายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายละเอียดและมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 321,604,000 บาท สำหรับจัดหาวัคซีนลอตนี้
3. จุดเปลี่ยนที่ทำให้วัคซีนซิโนแวคกลายเป็นวัคซีนที่ใช้เป็นหลักในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการจัดหาวัคซีนให้หลากหลาย ซึ่งระบุชื่อผู้ผลิตวัคซีนไว้หลายบริษัท หนึ่งในนั้นคือซิโนแวค โดยให้ภาครัฐจัดหาจำนวน 5-10 ล้านโดส แต่ไม่มีการกล่าวถึงแหล่งเงินงบประมาณว่าใช้เงินงบประมาณส่วนใด และใช้วงเงินเท่าใด
4. เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเปิดทางให้ซื้อวัคซีนของบริษัทต่างๆ อย่างหลากหลาย ขณะที่วัคซีนหลัก แอสตราเซเนกายังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งมอบได้เมื่อใด วัคซีนซิโนแวคที่ซื้อหาง่าย และได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐบาลจีนให้ดำเนินการจัดส่งได้อย่างรวดเร็ว จึงถูกสั่งซื้อและนำเข้ามาอีกหลายลอต ดังนี้
-วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1 ล้านโดส
-วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 จำนวน 5 แสนโดส
-วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1.5 ล้านโดส
-วันที่ 10 มิถุนายน 2564 จำนวน 1 ล้านโดส
-วันที่ 23 มิถุนายน 2564 จำนวน 2 ล้านโดส
ซึ่งทั้ง 5 ลอตนี้ไม่ปรากฏข้อมูลว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณสำหรับจัดซื้อ
5. หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 รัฐบาลไทยซื้อและนำเข้าวัคซีน Sinovac แล้วจำนวน 6 ล้านโดส
6. ส่วนจำนวนวัคซีนซิโนแวคทั้งหมดที่รัฐบาลไทยซื้อและนำเข้ามาแล้วทั้งก่อนและหลังวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 รวมเป็นจำนวน 8.5 ล้านโดส
7. นอกจากนั้น ไทยยังได้รับการบริจาควัคซีนซิโนแวคจากรัฐบาลจีนจำนวน 1 ล้านโดส แบ่งเข้ามา 2 ลอต ลอตละ 5 แสนโดส ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 และวันที่ 5 มิถุนายน 2564
8. รวมจำนวนวัคซีนซิโนแวคที่นำเข้ามาแล้ว ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ทั้งที่รัฐบาลไทยซื้อและรัฐบาลจีนบริจาค เป็นจำนวน 9.5 ล้านโดส
9. สรุป ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ไทยจัดหาและจองวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 19.5 ล้านโดส และมีแผนจะจัดหาจัดซื้อเพิ่มอีก 28 ล้านโดส ตามกรอบการจัดหาวัคซีน 150 ล้านโดสภายในปี 2565 ซึ่งหากเป็นไปตามแผนนี้ ไทยจะมีวัคซีนซิโนแวคมากถึง 47.5 ล้านโดส
10.การซื้อวัคซีนซิโนแวคส่วนใหญ่ไม่ทราบแหล่งเงินงบประมาณว่าใช้งบประมาณส่วนใด มีเพียงการซื้อครั้งแรกจำนวน 2 ล้านโดสที่ทราบวงเงินงบประมาณว่าใช้วงเงินงบประมาณ 1,228,208,000 บาท และการซื้อครั้งที่ 2 จำนวน 500,000 โดสที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ที่ทราบวงเงินและแหล่งเงินงบประมาณชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ใช้งบประมาณประจำปี 2564 ‘งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ กรอบวงเงิน 321,604,000 บาท
ทั้งหมดที่ว่ามาคือการเดินทางของวัคซีนซิโนแวคจากจีนถึงไทย จากวัคซีนแก้ขัดสู่วัคซีนตัวหลัก ที่สืบเสาะค้นหาแล้วก็ยังไม่พบว่าใช้เงินงบประมาณส่วนไหนซื้อ และนับวันประชาชนยิ่งตั้งคำถามกับรัฐบาลมากขึ้นว่า ทำไมยังดึงดันซื้อวัคซีนที่ประสิทธิภาพต่ำสุดในท้องตลาดมาฉีดให้ประชาชนอยู่อีก.
อ้างอิง:
thaigov.go.th
resolution.soc.go.th
ข่าวกระทรวงสาธารณสุข
...