ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สื่อสารออกไป เมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 มิ.ย.จะเปิดประเทศภายใน 120 วัน และล่าสุด ครม. 22 มิ.ย. เดินตามแนวทางเห็นชอบแผนการเปิด "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" เริ่ม 1 ก.ค. และพื้นที่ เกาะสมุย เกาะพงัน และ เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เริ่ม 15 ก.ค.นี้
ไม่สนข้อทักท้วง คัดค้านของหลายฝ่าย เพราะดูสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด จะเข้าสู่ระลอก 4 อีกทั้งขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันทะลุ 3 พันราย ไม่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่วัคซีนมีไม่เพียงพอ ฉีดไม่ถึง 50% ของประชากรทั้งประเทศ และหวั่นกันว่าเชื้อโควิดกลายพันธุ์ จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไม่อยู่
ข้อมูลการฉีดวัคซีนของไทย ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ถึงวันที่ 21 มิ.ย. ฉีดไปแล้ว 7,679,057 คน ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็นเข็มแรก 5,526,039 โดส หรือ 8.3% ของประชากร โดยฉีดวัคซีนซิโนแวค 3,347,039 โดส และแอสตราเซเนกา 2,179,000 โดส ส่วนเข็มสอง 2,153,018 โดส หรือ 3.3% ของประชากร โดยฉีดซิโนแวค 2,103,956 โดส และแอสตราเซเนกา 49,062 โดส
ในส่วนจังหวัดเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยว พบว่าภูเก็ต ฉีดวัคซีนเข็มแรก 63.33% ของประชากร และเข็มสอง 40.73% ของประชากร ขณะที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในพื้นที่เกาะสมุย ฉีดเข็มแรก 45.99% ของประชากร เข็มสอง 21.65% ของประชากร ส่วนเกาะเต่า ฉีดเข็มแรก19.24% ของประชากร เข็มสอง 10.09% ของประชากร และเกาะพะงัน เข็มแรก 9.06% และเข็มสอง 5.98% ของประชากร

...
ไทยเปิดประเทศ เสี่ยงโควิดกลายพันธุ์ ระบาดครั้งใหญ่
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ แสดงความห่วงใยต่อการเร่งเปิดประเทศ โดยไม่มีมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ดีพอ อาจทำให้ไทยเผชิญความเสี่ยงการระบาดของโควิดกลายพันธุ์ครั้งใหญ่ และอาจซ้ำรอยความผิดพลาดของประเทศชิลี ต้องกลับมาปิดประเทศและปิดเมืองหลวงอีกรอบ แม้มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 75% แต่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อระลอกใหม่ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในระดับ 7,000 รายต่อวัน
“ชิลีใช้ ซิโนแวค เช่นเดียวกับไทย อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่ำ แม้จะป้องกันการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตได้ก็ตาม ถือเป็นกรณีศึกษาที่ไทยสมควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง”

จากข้อมูลพบว่าประเทศชิลี ใช้วัคซีนซิโนแวค จำนวน 17.2 ล้านโดส คิดเป็น 75% ของวัคซีนทั้งหมดที่ใช้ และที่เหลืออีก 25% เป็นของไฟเซอร์ และแอสตราเซเนกา ส่วนไทยฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นส่วนใหญ่ โดยการระบาดระลอกสามในขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อวันละมากกว่า 3,000 คน
“ไทยใช้วัคซีนซิโนแวค เช่นเดียวกับชิลี ต้องระมัดระวังไม่ให้ระบาดระลอกใหม่ ไม่ควรประมาทว่าเมื่อได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วร่างกายจะปลอดภัยหยุดรับ หรือแพร่เชื้อได้”
ขณะที่ทฤษฎีการเข้าสู่ภาวะมีภูมิคุ้มกันหมู่ที่ 70% ของประชากร ยังมีเงื่อนไขเรื่องของการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง จนครบ 2 เข็ม และร่ายกายได้สร้างภูมิคุ้มกันจนสำเร็จหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์

จากการประเมินความเสี่ยงต่างๆ และการกระจายวัคซีนในไทย ควรชะลอการเปิดประเทศในช่วงต้นเดือนธ.ค.และ เลื่อน "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" มาเป็นต้นเดือน ก.ย. หากเร่งเปิดประเทศ เปิดเมืองท่องเที่ยว โดยที่ยังไม่พร้อมในการรับมือการควบคุมการแพร่ระบาดได้มากกว่า 90% ต้องชะลอแผนเปิดเมืองไปก่อน
ส่วนธุรกิจและผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณชดเชยรายได้และบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจไปอีก 2 เดือนนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. หากต้องการเร่งเปิดเกาะภูเก็ตในเดือน ก.ค. ไม่ควรอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติออกไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกเกาะภูเก็ต หากมีความจำเป็นต้องเดินทาง ให้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่และต้องมีผลการตรวจโควิด เป็นลบเท่านั้น

...
ภูมิคุ้มกันหมู่ยังอีกไกล วัคซีนไม่ดีพอ เพิ่มความเสี่ยงหนัก
เช่นเดียวกับ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอมองว่า แผนเปิดประเทศในอีก 120 วัน เป็นเป้าหมายในอุดมคติ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย เคยคาดการณ์อย่างเร็วที่สุด ประชาชน 70% จะได้วัคซีน 2 โดส ในเดือน ก.พ. 2565 ถึงจะเปิดเศรษฐกิจได้ ซึ่งต้องมองในมุมทั้งการควบคุมการระบาดและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีตั้งไว้ หากทำสำเร็จ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเกือบ 5 แสนล้านบาท หรืออาจมากกว่านั้น เป็นการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคของประชาชน
“แผนของรัฐบาลจะฉีดเข็มแรกในเดือน มิ.ย. และอีก 4 เดือนข้างหน้า ต้องฉีดให้ได้ถึง 60% ของประชากร ก็ยังไม่ถึงภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะได้ 70% และยังมีปัญหาส่วนหนึ่งยังไม่ได้ฉีดเข็ม 2 ถ้าเลือกจะฉีดเข็ม 1 ก่อน หมายความว่า รัฐบาลเลือกทางเสี่ยงที่จะเปิดประเทศในช่วงที่ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ อีกทั้งในทางการแพทย์ถือว่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไทยได้รับ ป้องกันการแพร่ระบาดไม่ดีนัก เสี่ยงจะมีการแพร่ระบาดในวงกว้างมากขึ้นหลังเปิดประเทศ”

...
หากเปรียบเทียบโมเดลของต่างประเทศที่เคยเปิดประเทศมาแล้ว อย่างประเทศชิลี และอังกฤษ หลังฉีดวัคซีน แต่สุดท้ายเจอสถานการณ์เลวร้าย ทำให้ต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงในการระบาดระดับสูง และขณะนี้ไทยยังคุมการระบาดระลอก 3 ไม่ได้ หากมีเชื้อกลายพันธุ์จากสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์เบต้า จะลำบากมากเกินกว่าระบบสาธารณสุขจะรับไหว

“อังกฤษ ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา ระยะแรกเหมือนจะดี แต่พอเจอสายพันธุ์เดลตา ก็ต้านไม่ไหวต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง เช่นเดียวกับชิลี ใช้วัคซีนซิโนแวค ก็ต้องกลับมาปิดประเทศอีกรอบ เชื่อว่าประสิทธิภาพของวัคซีนมีผลต่อการเปิดประเทศ และไทยใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นส่วนใหญ่ ช่วยป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดได้”

...
หากการระบาดเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดประเทศ และประชาชนยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่อย่างแท้จริง จะทำให้กลับมาระบาดใหม่ ล็อกดาวน์กันใหม่ และจะเกิดความไม่แน่นอนกลายเป็นปิดๆ เปิดๆ ส่งผลกับเศรษฐกิจต่อไป.