โควิด-19 อยู่กับโลกใบนี้มาแล้ว 2 ปี ผู้คนในโลกเสียชีวิตไปแล้วเกือบ 4 ล้านคน (ข้อมูล มิ.ย.) และเพราะมีการระบาดอย่างรวดเร็วนี่เอง ทำให้มนุษยชาติต้องแก้ปัญหาด้วยการ “ล็อกดาวน์” ส่งผลให้กระทบต่อการสัญจรของผู้คน รวมไปถึงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ทั่วโลก
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การระบาดของโควิด-19 ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ “ธรรมชาติ” ได้ฟื้นตัว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว ที่จำเป็นต้อง “ปิดรับ” ผู้คนมาชมความงามทางธรรมชาติ
นายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เผยว่า เวลานี้อุทยานฯ ยังคงปิดให้บริการ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเปิดได้เมื่อไหร่ แต่คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน...ค่อยมาประเมินกันอีกที
...
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ยังเปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ธรรมชาติในพื้นที่อุทยานก็ฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะปะการัง และชายหาด เราจะเห็นหาดทรายขาวสะอาดขึ้นมากมาย
“การที่คนไม่ได้เข้ามาท่องเที่ยวเลย มันก็เป็นโอกาสฟื้นตัวของธรรมชาติ ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่ใช้ครีมกันแดด สารเคมีเหล่านี้มันจะส่งผลต่อการเติบโตของปะการัง แต่เมื่อไม่มีปะการังเหล่านี้ก็ถือว่าได้โอกาสเจริญเติบโต”
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้ยลโฉมกับเจ้า “ฉลามหูดำ” ทั้งที่เมื่อก่อนแทบไม่เคยได้พบเจอเลย เมื่อก่อน ใช่ว่าเราไม่มีฉลามหูดำ แต่...เราไม่มีโอกาสพบมันมากกว่า เพราะเรือนักท่องเที่ยววิ่งกวัดไกวไปมาอยู่ตลอด มันจึงไม่เข้าใกล้ หรือพบได้ง่ายๆ แต่เมื่อช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เรือนักท่องเที่ยวน้อยลงมาก เราจึงมีโอกาสได้พบเห็น
เฉกเช่นเดียวกับ จ.ภูเก็ต ที่กำลังจะเปิดรับนักท่องเที่ยววันที่ 1 กรกฎาคมนี้ กับโครงการแห่งความหวัง (ที่ต้องลุ้น) “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” (Phuket Sandbox)
หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญในจังหวัดภูเก็ต คือ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ซึ่ง นายปราโมทย์ แก้วนาม หัวหน้าอุทยานฯ เผยว่า ในช่วงระหว่างการปิดอุทยานแห่งชาติ เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ทำให้สามารถพบเห็นสัตว์ชนิดต่างๆ ในพื้นที่ออกหากินมากขึ้น เช่น นกกะรางหัวแขวน นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกหัวขวานด่างแคระปักษ์ใต้ นกหัวโตทรายเล็กฝูงใหญ่ที่รวมกลุ่มหากินบริเวณชายหาด
ส่วนสัตว์ทะเลหายากที่มีโอกาสได้พบเห็นอีกครั้งหลังจากห่างหายไปหลายปี คือ เต่ามะเฟือง โดยพบมีการวางไข่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถถึง 3 รัง ใน 1 ฤดูกาล นอกจากนั้นก็พบเต่าตนุ และเต่าหญ้า รวมถึงสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โลมา วาฬ เป็นต้น
นายปราโมทย์ เผยว่า ในอดีต อุทยานแห่งชาติสิรินาถ มีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่มีความสมบูรณ์ แต่เมื่อมีการพัฒนาและใช้สอยประโยชน์พื้นที่มากขึ้น มีการขุดลอกคูคลองเพื่อช่วยระบายน้ำในฤดูฝนที่ตกหนักท่วมขังพื้นที่ ทำให้น้ำฝน (น้ำจืด) ที่ไหลลงสู่ทะเลส่งผลกระทบต่อแนวปะการังน้ำตื้นเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการเสื่อมโทรมดังเช่นในปัจจุบัน
“ส่วนแนวปะการัง ที่ผ่านมา มักโดนนักท่องเที่ยวที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปเหยียบย่ำบ้าง ในช่วงน้ำลงต่ำสุดทำให้ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังน้ำตื้นบางส่วน อย่างไรก็ตาม แนวปะการังน้ำตื้นยังคงเป็นแนวปะการังที่มีศักยภาพในการฟื้นตัว เนื่องจากมักพบตัวอ่อนปะการังที่ลงเกาะใหม่อยู่เสมอ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเร่งฟื้นฟูบริเวณดังกล่าวให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม”
...
ส่วนระบบนิเวศอื่นๆ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เผยว่า หญ้าทะเล ยังคงมีความสมบูรณ์ปานกลาง แนวปะการังน้ำลึกยังคงมีความสวยงาม แต่บางส่วนได้รับผลกระทบจากขยะทะเลประเภทเศษแหอวน
ข้อกังวลจากการกลับมาให้บริการท่องเที่ยว หัวหน้าอุทยานทั้ง 2 แห่ง ทั้ง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า จะต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด คือ จะต้อนรับนักท่องเที่ยวตามโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์”
กฎระเบียบที่จะเปิดใช้ก็จะคล้ายๆ กับสถานที่อื่นๆ คือ รับวัคซีนแล้ว 2 โดส หรือผ่านการตรวจโควิด-19 มาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 72 ชั่วโมง
ส่วนมาตรการสำหรับเรือ จะใช้บริการแบบ Social Distancing คือ เว้นระยะห่าง สมมติว่าเรือนั่งได้ 100 คน เราจะอนุญาตที่ 60 คน โดยระหว่างที่นั่งเรือจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
“แต่ไม่รวมเวลาเล่นน้ำทะเลนะ...คงไม่มีใครต้องใส่แมสก์เล่นน้ำทะเลกันหรอก” หัวหน้าประยูร กล่าวพลางหัวเราะ
...
ขณะที่นายปราโมทย์ ระบุว่า อุทยานแห่งชาติสิรินาถจะมีระบบ check in และ check out โดยผ่านแอปพลิเคชันและการลงทะเบียนเมื่อนักท่องเที่ยวต้องการเข้าใช้บริการในพื้นที่ เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบและการเก็บข้อมูล นอกจากนี้มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่บริเวณต่างๆ ให้ดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
“ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติสิรินาถ มีการซักซ้อมการเปิดการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยว โดยมีการติดป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการและการปฏิบัติตนของนักท่องเที่ยว ตามยุค New Normal จัดพื้นที่และติดป้ายเว้นระยะห่าง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค มีมาตรการคัดกรองบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียม และให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามายังอุทยานฯ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา”
หัวหน้าประยูร แห่งหมู่เกาะพีพี ยอมรับว่า สิ่งที่เป็นข้อกังวลในขณะนี้ คือ กลัวเรื่อง “คลัสเตอร์ใหม่” ที่จะเกิดขึ้น..เราจึงต้องมีมาตรการค่อนข้างเข้มงวด
“เจ้าหน้าที่ของเราเอง ก็ยังได้วัคซีนไม่ครบ ฉะนั้น สิ่งที่หวังในเวลานี้ คือ อยากให้ทุกคนได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ก่อนเปิดให้บริการ ตรงนี้ยังไม่รวมผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นไปได้ก็อยากให้ได้รับวัคซีนครบก่อน ทั้งคนขับรถ เรือ”
...
ที่ผ่านมา อุทยานมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการเก็บค่าบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ โดยจะได้รับส่วนแบ่ง 20% ของรายได้ เพื่อนำงบประมาณไปใช้พัฒนาพื้นที่และดูแลเจ้าหน้าที่
แต่...เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่เองก็เดือดร้อนในระดับหนึ่ง ก็หวังว่าทางส่วนกลางจะจัดสรรงบมาช่วยเหลือ
สำหรับรายได้จากเก็บค่าบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ 3 อันดับในรอบ 3 ปี ได้แก่ ตั้งแต่ปี 2562-2564 พบว่า อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เก็บรายได้ ได้มากที่สุด รวม 574 ล้านบาท
ในปี 2562 เก็บรายได้ 374,299,080 บาท มีนักท่องเที่ยว 1,142,113 คน แบ่งเป็น คนไทย 245,246 คน คนต่างชาติ 921,308 คน
ในปี 2563 เก็บรายได้ 185,975,530 บาท นักท่องเที่ยว รวม 559,720 คน แบ่งเป็นคนไทย 166,026 คน คนต่างชาติ 433,694 คน
ปี 2564 เก็บรายได้ 14,327,500 บาท (ข้อมูล 9 เดือน ต.ค.63 - พ.ค.64) มีนักท่องเที่ยว 236,826 คน แบ่งเป็นคนไทย 228,026 คน คนต่างชาติ 8,800 คน
รองลงมา คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา มีรายได้ 3 ปี ทั้งสิ้น 571 ล้าน แบ่งเป็น...
ปี 2562 เก็บรายได้ 327,998,130 บาท มีนักท่องเที่ยวรวม 676,793 คน แบ่งเป็น คนไทย 25,950 และชาวต่างชาติ 647,203 คน
ส่วนในปี 2563 เก็บรายได้ 222,565,500 บาท มีนักท่องเที่ยวรวม 422,307 คน แบ่งเป็นคนไทย 19,899 คน คนต่างชาติ 402,408 คน
ปี 2564 เก็บรายได้ 21,411,250 บาท มีนักท่องเที่ยวรวม 107,522 คน แบ่งเป็นคนไทย 99,885 คน คนต่างชาติ 10,637 คน
ส่วนอันดับที่ 3 ได้แก่... อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง รายได้รวม 3 ปี 392 ล้านบาท แบ่งเป็น
ปี 2562 เก็บรายได้ 247,652,890 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวรวม 1,619,908 คน แบ่งเป็นคนไทย 494,047 คน คนต่างชาติ 1,125,861 คน
ปี 2563 เก็บรายได้ 128,082,255 บาท มีนักท่องเที่ยวรวม 920,964 คน แบ่งเป็น คนไทย 361,356 คน ต่างชาติ 559,608 คน
และในปี 2564 เก็บรายได้ 17,016,650 บาท (9 เดือน ต.ค.63 - พ.ค.64) โดยมีนักท่องเที่ยว รวม 366,660 คน คนไทย 348,521 คน คนต่างชาติ 18,139 คน
**ข้อมูลสำนักอุทยานแห่งชาติ ไม่รวมตัวเลขผู้สูงอายุและคนพิการที่เฉลี่ยอยู่ที่หลักพันถึงหมื่นคน**
เมื่อพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ทุกคนคงจะทราบกันดีว่า สาเหตุก็ไม่ใช่ใครที่ไหน มันก็คือเชื้อร้ายที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลก
แต่...ประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งคำถามคือ มาตรการที่จะใช้ จะเอาเชื้อไวรัส “โควิด-19” ที่มันกำลังพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ อยู่หรือไม่ แล้วถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงระดับ 3-4 พัน จะมีประเทศไหนให้คนของตัวเองมาเที่ยวหรือไม่...คงต้องรอลุ้นดู
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Theerapong Chaiyatep
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ