“ตกลงประเทศคุณมาเที่ยวได้ไหม...”
“เงื่อนไขการตรวจโควิดเป็นยังไง...”
“มีโอกาสผ่อนปรนเงื่อนไข 14 วันไหม ลดลงกว่านี้ได้ไหม...”

นี่คือ คำถามหลักๆ ที่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวถูกถามไถ่ ในช่วงนี้ ซึ่งวันที่บทความนี้เผยแพร่ ก็คือ กลางเดือนมิถุนายน นั่นหมายความว่า มีเวลาเหลืออีก 15 วัน ก็จะถึงวันปลดล็อก (1 กรกฎาคม 2564) ที่จะเริ่มโครงการ ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ (phuket sandbox) ซึ่งถือเป็นความหวังของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พันธมิตรในส่วนของเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ที่ขวบปีที่ผ่านมา เรียกว่า “เจ็บมาเยอะ”

ซึ่งหนึ่งในคำถามสำคัญ และกลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การจะให้นักท่องเที่ยว พำนักในภูเก็ต จากที่มีแนวคิดว่าจะอยู่ 7 วัน แต่ไปๆ มาๆ มติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ก็ฟันเปรี้ยงลงมาว่าต้อง 14 วัน และได้รับคำยืนยันจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ว่า ได้ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแผนจะมาเที่ยวภูเก็ตในเดือนกรกฎาคมนี้ "หายไปครึ่งหนึ่ง" เลยทีเดียว (ต่างชาติเข้าไทยหด 50% ศบศ.ยืดเวลา “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” 14 วัน

...

เมื่อสอบถามเรื่องนี้ไปยังกลุ่มท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กลับไม่มีข้อมูลตรงนี้ แต่ก็ได้รับคำบอกเล่าเบื้องหลังต่างๆ เกี่ยวกับการเดินหน้าลุยโครงการ “phuket sandbox” ให้ฟังอย่างน่าสนใจ

นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต หนึ่งในขุนพลที่ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและหารายได้เข้าจังหวัด เผยว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “phuket sandbox” ไม่ใช่แผนการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต แต่เป็นการท่องเที่ยวประเทศไทย แบบ New Normal และไม่ได้จำกัดที่จะต้องเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

"ตัวเลข 7 วัน ที่ตอนแรกตั้งใจให้เป็นแบบนั้น ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เราคิดขึ้นเอง แต่...มันมาจาก ศบค. โดยใช้มาตรการ Alternative State Quarantine (ASQ) หรือ สถานที่กักตัวทางเลือก กับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่จากข้อมูลที่มีล่าสุด คือ ศบค. ได้มีการปรับตัวเลขไปที่ 14 วัน ทุกเงื่อนไข รวมทั้ง ASQ และ ALQ (Alternative Local Quarantine) หรือ โรงแรมกักตัวระดับจังหวัด”

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต อธิบายว่า สิ่งที่แตกต่างระหว่าง ASQ ALQ และ phuket sandbox คือ ASQ และ ALQ เขามากักตัวในประเทศไทย 14 วัน แล้วเขาก็อยู่ในประเทศไทยต่อ...แต่ phuket sandbox ไม่ใช่แบบนั้น คือ เขาจะมาเที่ยวภูเก็ตและประสงค์จะไปที่อื่นต่อ เช่น มาภูเก็ตแล้ว อยากมาเที่ยวที่กรุงเทพฯ หรือ อุดรธานีต่อ แบบนี้แหละ คือ นักท่องเที่ยวที่เข้ามา จำเป็นต้องอยู่ 14 วันก่อน หรือจะเป็นอีกแบบ ที่นักท่องเที่ยวตั้งใจมาเที่ยวแค่ภูเก็ต ไม่กี่วันแล้วกลับ แบบนี้ก็ทำได้อยู่แล้ว เพราะเขาไม่ได้ไปที่อื่น

"ผมเชื่อว่า กฎระเบียบที่ออกมา อาจจะเป็นความห่วงใยของภาครัฐ และระบบสาธารณสุข เนื่องจากเชื้อโรคระบาดมีการกลายพันธุ์ออกมาเยอะ ทางฝ่ายหมอจึงมีข้อกังวล"

ยังไม่มีข้อมูล ตัวเลขนักท่องเที่ยวหาย 50% ความจริงคือ มาตรการไม่นิ่ง..นักท่องเที่ยวไม่คอนเฟิร์ม

นายธเนศ ยอมรับตรงๆ ว่า ข่าวที่บอกว่ามีการยกเลิกมาเที่ยวในภูเก็ต 50% นั้นผมยังไม่เห็น เพราะยอดจองหรือ Booking เวลานี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดเลย เพราะนโยบายหลายมาตรที่สำคัญยังไม่ได้รับการอนุมัติ ยกตัวอย่าง
1.ประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำ กลุ่มเสี่ยงกลาง มีกี่ประเทศอะไรบ้าง ซึ่งมันต้องระบุรายละเอียด
2.เงื่อนไขการตรวจโควิด ซึ่งแนวคิดเดิมมีว่าจะต้องตรวจ วันที่ 1 6 และ 12 (ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ประชุมมีมติให้นักท่องเที่ยวตรวจโควิดในวันที่ 7 และ 14 รวมถึงต้องกักตัวเองในจังหวัดภูเก็ตจนครบ 14 วันก่อนเดินทางไปจังหวัดอื่น) 

ประเด็นนี้ สำคัญมาก ที่ผ่านมา พยายามนำเสนอว่าก่อน ก่อนนักท่องเที่ยวบินเข้าเมืองไทย จะมีการตรวจก่อน 72 ชั่วโมง คำถามคือมีความจำเป็น หรือความเสี่ยงขนาดไหน ที่จะต้องตรวจในวันแรกที่มาถึง

...

3.ระบบแอปพลิเคชันและการติดตามตัว กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็มีการนำเสนอแนวคิดไปว่า "ถ้าเราเข้มงวดมากเกินไป ความเป็นส่วนตัวก็จะหายไปบ้าง" ยกตัวอย่าง ว่าเราจะถูกเรียกรายงานตรวจ ตรวจโควิด บ่อยๆ มันจะไหวไหม

"ระบบ แอปพลิเคชัน มันต้องควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวด้วย”ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าว

เปิด 3 กลุ่มเป้าหมายความหวัง ดึงมาเที่ยวภูเก็ต

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะมีโอกาสได้ใช้มาตรการนี้ นายธเนศ เผยว่า

1.นักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไป
2.กลุ่มคนทำงานทั่วไป ทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะเลือกมาประชุมคุยงาน ที่ จ.ภูเก็ต และได้ท่องเที่ยวได้ด้วย (ไม่จำเป็นต้องขังตัวเองในโรงแรม ASQ ALQ)
3.นักเรียน นานาชาติ หรือ คนไทยบินกลับบ้านเกิด เท่าที่ทราบทุกวันมีคนกลุ่มนี้บินเข้ากรุงเทพฯ หลายร้อยคน

สำหรับ คำถามที่ถูกถามบ่อยๆ คือ
1.บินเข้าประเทศไทยได้เลยไหม
2.เข้ามาเมืองไทยแล้วจะถูกขังในห้องหรือในโรงแรมหรือเปล่า

ส่วนคนไทยที่อยากเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต มีเงื่อนไข ดังนี้

...

1.ฉีดวัคซีน 1 เข็ม ของแอสตราเซเนกา หรือ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนซิโนแวค จะต้องฉีดครบ 2 เข็ม
2.กลุ่มที่เคยเป็นโควิด-19 และรักษาหายแล้วเกิน 90 วัน (เชื่อว่ามีภูมิคุ้มกัน)
3.นักท่องเที่ยวไทย ที่มีผลตรวจโควิด-19 อย่างน้อยต้องตรวจด้วยวิธี Rapid Test (ค่าใช้จ่ายไม่แพง ผลตรวจออกเร็ว)

“เราหวังว่า ต่อไปทุกๆ สนามบิน จะมีการตรวจโควิดแบบ Rapid Test ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ไม่จำเป็นต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล และยังเพิ่มความอุ่นใจในการท่องเที่ยวด้วย”

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต เชื่อว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยว ททท. จะเป็นผู้เก็บ ซึ่งเดิมมีการตั้งเป้าไว้ 125,000 คน ในช่วง 3 เดือน ซึ่งตัวเลขมันเป็นลักษณะแบบดับเบิ้ล ยกตัวอย่าง เดือน 7 อาจจะเข้ามา 2 หมื่น เดือน 8 เข้ามาเพิ่มขึ้นสองเท่า หรือ อาจจะเป็นสามเท่าถ้ามีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์บางอย่าง

“การทำงานตรงนี้จะยึดแค่ฝ่ายท่องเที่ยวก็ไม่ได้ เพราะมันคือความเสี่ยงของประเทศ สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องหาจุดสมดุลของการท่องเที่ยว และความปลอดภัยของประชาชน”

...

ถามตรงๆ ในมุมการท่องเที่ยว ตัวเลข 7 กับ 14 วัน มีผลแค่ไหน

นายธเนศ บอกว่า ถ้ามองมุมนักท่องเที่ยวต่างชาติ คนที่มาภูเก็ต เขาก็ไม่ได้เที่ยวแต่ในภูเก็ต 100% แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกหลายแห่ง ใช้ "ภูเก็ต" เป็นจุดเชื่อมโยง ยกตัวอย่างง่ายๆ "เกาะพีพี"

ถ้าวันนี้ไม่มี phuket sandbox นักท่องเที่ยวครึ่งโลกอาจจะเพิ่งรู้ว่า สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งไม่ได้อยู่ในจังหวัดภูเก็ต เช่น เกาะพีพี เขาหลัก เป็นต้น

“โลกแห่งความเป็นจริง "แบรนด์ภูเก็ต" ยิ่งใหญ่และเข้มแข็งระดับโลกไปแล้ว สมมติว่าเราเดินไปที่ไหนก็ได้ในโลก ถ้าบอกว่าเรามาจากภูเก็ต เขาก็จะรู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของแผนที่โลก ด้วยเหตุนี้ การโปรโมตท่องเที่ยวที่ผ่านมา จึงมักใช้ “ภูเก็ต” เป็นจุดเชื่อมโยง ด้วย 2 เหตุผล คือ 1.แบรนด์ที่เข้มแข็ง 2.เป็น hub ของสายการบิน (เคยมีสายการบินขึ้น-ลง วันละเกือบ 400 เที่ยวบิน)

เงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด
เงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด

แต่เมื่อถามว่า 7 กับ 14 วัน มีผลต่อนักท่องเที่ยวไหม.. นายธเนศ กล่าวว่า ในแง่ความรู้สึกก็อาจจะมี แต่ก็คิดว่าน่าท่องเที่ยวอาจจะต้องตัดสินใจเอง

เมื่อเราคุยมาถึงตรงนี้ หลายๆ คำถามก็ประดังขึ้น ทำไมไม่รวมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญไปเลย ทั้งกระบี่ พังงา ภูเก็ต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ก็ยอมรับว่าเคยมีแนวคิดนี้มาก่อน ด้วยการใช้พื้นที่ต่างๆ เป็นซีลรูด คือ ลงเครื่องปุ๊บ ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ต่อ โดยไม่แวะที่ไหน แต่ฝ่ายบริหารอยากให้ทดลองที่ภูเก็ตไปก่อน 1 เดือน ถ้าสัมฤทธิผล ค่อยเดินเครื่องจังหวัดอื่นๆ (มีแผนไว้ 10 จังหวัด)

"ถึงตอนนี้ไม่ว่าผู้อนุมัติเขาจะมีเงื่อนไขอย่างไร เราก็ยินดีพร้อมปฏิบัติตาม เช่น เงื่อนไขโรงแรมต้องเป็นมาตรฐาน SHA+ เวลานี้ ผู้ประกอบการก็แห่มายื่นขอสัญลักษณ์ผ่าน ททท.

สำหรับนักท่องเที่ยวไทย ทาง ททท. เองก็ให้ความสำคัญของค่อนข้างเยอะ ที่ผ่านมา ท่านยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าฯ ททท. ก็เคยพูด คนไทยคือนักท่องเที่ยวคนสำคัญของการท่องเที่ยวไทย และให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งก็ช่วยสร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เยอะ

จนถึง ณ เวลานี้...มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจองเขามามากน้อยแค่ไหน...

"เท่าที่มีข้อมูลคุยกันในกลุ่มเล็กๆ ก็ประมาณหลักพันคน จาก สหรัฐฯ อังกฤษ หรือแม้แต่สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน แต่ก็เป็นการสอบถามเข้ามา ว่าช่วงเวลานี้มีห้องหรือไม่...ในใจคิดว่าไม่เห็นต้องถามเลยว่ามีห้องไหม (หัวเราะ) เพราะมันมีอยู่แล้ว เพราะตอนนี้ตลาดภายในและต่างประเทศถูกปิด"

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผู้ประกอบการไม่รู้จะตอบยังไง

นอกจากนี้ ยังมีอีกเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญมาก คือ คำถามที่ว่า เมื่อพวกเขากลับบ้านแล้วจะถูกกักตัวไหม...

ตรงนี้คือหน้าที่ของผู้มีอำนาจเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ก.ต่างประเทศ ศบค. ที่ต้องเร่งเจรจาให้เกิดกรอบความร่วมมือ Travel Bubble (ข้อตกลงระหว่างประเทศในการเดินทางข้ามแดนเพื่อท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวอย่างเข้มงวด)

"ถ้าเราทำให้กระบวนการต่างๆ ได้ดี มีตัวชี้วัดชัดเจน เชื่อว่าทั่วโลกก็จะนำไปเป็นมาตรฐาน"

ถีงเวลานี้ คนภูเก็ตได้รับวัคซีน 330,000 คน หรือร้อยละ 60 ทำให้หลายฝ่ายยังมั่นใจว่าจะเปิดการท่องเที่ยวได้ ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ กฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องชัดเจน มีรายละเอียดครบถ้วน ไม่สร้างความสับสนให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ 

ผู้เขียน : อาสาม 

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ