ณ ห้วงเวลานี้ “วัคซีนโควิด-19” คือความหวังของมวลมนุษยชาติ ซึ่งจากข้อมูล บลูมเบิร์ก ระบุว่า ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว 1,389,522,366 โดส (ข้อมูลวันที่ 12 พ.ค.64)
จนถึงขณะนี้ ประเทศจีน เป็นชาติที่มีการฉีดวัคซีนมากที่สุด คือ 354 ล้านโดส หรือคิดเป็น 12.7% ของจำนวนประชากรจีน รองลงมาเป็นสหรัฐฯ 266 ล้านโดส สหภาพยุโรป 186 ล้านโดส ส่วนของไทย ฉีดไปแล้วราว 2 ล้านกว่าโดสเท่านั้น
วานนี้ (14 พ.ค.) ไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอบทความ 6 ข้อ “โมเดลจีน” ชนะโควิด เร็ว แรง ศรัทธา ใช้ Data ไร้วิวาทะนักการเมือง เนื้อหาในวันนี้ คือตอนต่อ ที่ว่าด้วยแผนการจัดการวัคซีนโควิด ของแดนมังกร โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่คร่ำหวอดเกี่ยวกับประเทศจีน และเดินทางไปจีนครบทุกมณฑล จะมาเปิดเผยเบื้องหลังและไขข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนของจีนและการผลิตของวัคซีนสัญชาติจีน 2 ยี่ห้อ คือ “ซิโนแวค” และ “ซิโนฟาร์ม”
...
จีนตั้งเป้าฉีดวัคซีนทะลุหลัก 900-1,000 ล้านคน
ดร.อักษรศรี กล่าวว่า รัฐบาลจีนมีนโยบายฉีดวัคซีนฟรีให้ประชาชนจีน และเร่งระดมฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชน จีนตั้งเป้าหมายที่จะเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมสัดส่วนถึง 40% ของจำนวนประชากร (ประมาณ 560 ล้านคน) ภายในครึ่งแรกของปี 2564 นี้ และคาดว่า ภายในปีหน้า 2565 การฉีดวัคซีนของจีนจะบรรลุมาตรฐานสากลในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) นั่นคือ ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรในจีนมากถึง 900 ถึง 1,000 ล้านคน
ขั้นตอนการฉีดวัคซีนแดนมังกร
กูรูประเทศจีน เปิดเผยว่า “แม้ว่าจีนมีประชากรจำนวนมากหลักพันล้านคนและมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการจัดการเพื่อฉีดวัคซีน เนื่องจากจีนเน้นใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการจัดการ big data โดยรัฐบาลจีนจะกำหนดให้คนจีนต้องลงทะเบียนล่วงหน้าในการขอรับการฉีดวัคซีน และเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้รับระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดก็เพื่อมุ่งสร้างความสะดวกให้กับประชาชน”
ขั้นตอนการ “ลงทะเบียน” ของประชาชนเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนในจีนก็ไม่ยุ่งยาก ชาวจีนสามารถเลือกลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตามสะดวก โดยมี 2 ลักษณะหลัก คือ (1) การลงทะเบียนผ่านองค์กรที่สังกัด/บริษัทที่ทำงาน และ (2) การลงทะเบียนด้วยตัวเองในเขตพื้นที่ที่ตนพักอาศัยที่มีการติดประกาศเป็น QR code ให้ลงทะเบียนออนไลน์จองคิว เพื่อไปรับบริการฉีดวัคซีนในสถานที่ใกล้ที่พักหรือที่ทำงาน ตามวันเวลาที่นัดหมาย และจะมีข้อความ msg ส่งมาเตือนในมือถือด้วยเมื่อถึงวันนัด
หลังจากลงทะเบียนเสร็จ ข้อมูลด้าน health code ส่วนตัวจะอัปเดตข้อมูลทันที และเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว จะมีเลขประจำตัวลงทะเบียนผู้รับการฉีดและหมายเลขวัคซีนที่ได้รับการฉีดนั้นๆ
ดร.อักษรศรี เผยว่า ทุกคนคงตระหนักดีว่า “วัคซีน” คือ อาวุธสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤติใหญ่ในครั้งนี้ จีนจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และได้มุ่งมั่นในการวิจัยค้นคว้าเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของจีนเอง จนถึงขณะนี้ จีนสามารถผลิตวัคซีนได้ 5 ยี่ห้อแล้ว ไม่ได้มีแค่ “ซิโนแวค” หรือ “ซิโนฟาร์ม” เท่านั้น” โดยทั้ง 5 ยี่ห้อที่ผลิตในจีน จะแบ่งเป็น
...
1.วัคซีนชนิดเชื้อตาย 3 ตัว
2.วัคซีนแบบ เวกเตอร์อะดีโนไวรัสวัคซีน (vector Adenovirus) 1 ตัว ที่ได้รับการอนุมัติออกสู่ตลาดโดยมีเงื่อนไข
3.วัคซีนป้องกันโควิด-19 (เซลล์ CHO) 1 ตัว ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
“จนถึงวันนี้ จีนถือเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก คือ มากกว่า 350 ล้านโดส นับจากวันแรกที่จีนเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชน คือวันที่ 3 มกราคม 2564 จึงถือว่า จีนสามารถเร่งระดมฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วมาก และในการบริหารจัดการวัคซีน จีนก็ได้ตั้งศูนย์ป้องกัน และควบคุมโรคระดับชาติ ระดับมณฑล ระดับเทศบาลและกระจายไปยังระดับเขตพื้นที่ มีสถาบันทางการแพทย์ และหน่วยฉีดวัคซีนที่ให้ความสำคัญกับระบบข้อมูล มีสร้างระบบข้อมูล data platform ตั้งแต่การจัดเก็บวัคซีน การลงทะเบียนเข้าออกของวัคซีน การขนส่งวัคซีน รวมไปถึงการสร้างระบบการตรวจสอบย้อนหลังที่สมบูรณ์แบบ”
ประชาชนในจีนได้ฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไร
“สำหรับวัคซีนหลักๆ ที่รัฐบาลจัดฉีดฟรีให้กับประชาชนในจีน คือ ซิโนฟาร์ม และ ซิโนแวค จากจำนวน 300 กว่าล้านโดสที่ฉีดไปแล้ว ก็จะแบ่งเป็น ซิโนฟาร์ม 200 กว่าล้านโดส และซิโนแวค 100 กว่าล้านโดส”
...
หลายคนอาจจะสนใจว่า ทำไมคนจีนได้รับการฉีด “ซิโนฟาร์ม” มากกว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ “ซิโนฟาร์ม” คือ วัคซีนที่ผลิตโดยรัฐวิสาหกิจจีน และในระยะแรกเน้นผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ “ซิโนแวค” เป็นการผลิตของบริษัทเอกชนจีน และที่ผ่านมาเน้นการส่งออกในสัดส่วนสูงถึง 60% จากข้อมูลเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ประธานบริษัท “ซิโนแวค” ได้กล่าวในงาน BOAO FORUM ในจีนว่า “ทางบริษัทฯ ได้ผลิตวัคซีนทั้งหมด 260 ล้านโดส ส่วนใหญ่เพื่อการส่งออกในสัดส่วน 60 % และอีก 40% ของการผลิต “ซิโนแวค” ใช้เพื่อฉีดให้ชาวจีน (นั่นคือ ประมาณ 104 ล้านโดส)
ดังนั้น ในแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลจีน จึงมุ่งที่จะให้รัฐวิสาหกิจของตน คือ “ซิโนฟาร์ม” เป็นผู้ผลิตหลักเพื่อนำวัคซีนที่ผลิตได้มาเน้นฉีดให้ประชาชนในประเทศนั่นเอง ซึ่งรัฐวิสาหกิจจีนรายนี้ ก็คือ กลุ่ม China National Biotec Group (CNBG) และเนื่องจากต้องมีการผลิตวัคซีนจำนวนมหาศาลเป็นหลักหลายร้อยล้านโดส ทางกลุ่ม CNBG ก็ได้มอบหมายให้ 2 บริษัทจีนไปทำการผลิตด้วย ได้แก่ อู่ฮั่น Wuhan Institute of Biological Products และปักกิ่ง Beijing Institute of Biological Products เพื่อรับไปทำการผลิตวัคซีน “ซิโนฟาร์ม”
...
ใครจะได้รับการฉีดวัคซีนในจีนบ้าง
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะให้มาเข้ารับการฉีดวัคซีน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คล้ายๆ กับกรณีของไทย คือ
1.กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงต่างๆ เช่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หรือ อาชีพที่ต้องให้บริการใกล้ชิดกับประชาชน เช่น เจ้าหน้าที่เขต เจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือ/สนามบิน เป็นต้น
2.กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
3.กลุ่มประชาชนทั่วไป
ในการบริหารจัดการฯ ดร.อักษรศรี ระบุว่า จีนให้ความสำคัญกับการใช้ระบบ data มาช่วยบริหารจัดการด้านอุปสงค์และอุปทานของวัคซีน ให้เป็นไปตามแผนความต้องการวัคซีนของแต่ละมณฑล/เขต/ท้องที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อทำการผลิต/จัดหาวัคซีนและจัดส่งไปยังสถานที่ต่างๆ ตามความต้องการโดยใช้วิธีการที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับแต่ละกรณีของความต้องการ มีการเร่งการหมุนเวียน และตอบสนองต่ออุปสงค์ความต้องการกับอุปทานการผลิต เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดสรรวัคซีนให้ได้อย่างเพียงพอ
ผู้คร่ำหวอดเกี่ยวกับประเทศจีน ยังย้ำว่า วัคซีนเป็นสิ่งที่จีนกำลังเร่งดำเนินการสูงสุด ทั้งด้านอุปทาน เพื่อเร่งผลิตวัคซีนให้มากพอ และด้านอุปสงค์ เพื่อเร่งรณรงค์ให้คนจีนมารับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด
ชาวต่างชาติในจีนมีสิทธิเข้ารับการฉีดวัคซีนฟรี
ประเด็นที่น่าสนใจจาก ดร.อักษรศรี คือ ไม่ใช่เฉพาะคนจีนเท่านั้น หากแต่ทางการจีนได้จัดการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติที่ทำงานในจีนด้วยเช่นกัน และสามารถรับการฉีดได้ฟรี หากมีประกันสังคมในจีน (ในกรณีต่างชาติที่ไม่มีประกันสังคมจีนและต้องจ่ายเองประมาณเข็มละ 90 กว่าหยวน) โดยตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลจีนได้เริ่มเปิดให้ต่างชาติที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในจีน และมีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานต่างๆ จะได้รับการฉีดวัคซีนด้วย
ในกรณีของชาวต่างชาติในจีนก็ต้องนัดล่วงหน้าลงทะเบียนผ่านองค์กรที่ตนสังกัด/ทำงานด้วย ตัวอย่างชาวต่างชาติในจีนที่รับการฉีดวัคซีนแล้ว เช่น ไทย แอฟริกา เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงชาวฝรั่งชาติตะวันตกที่ทำงานในจีน ศูนย์ฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติ อาจจะไปตั้งในโรงพยาบาลเอกชนของจีน เนื่องจากมีทีมงานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้และสะดวกกับการให้บริการ
คนจีนลังเลหรือกลัวการฉีดวัคซีนไหม... ดร.อักษรศรี ยิ้ม ก่อนจะตอบว่า “ก็มีบ้างเป็นธรรมดา ในบางพื้นที่อาจจะมีชาวจีนที่ไม่ค่อยกระตือรือร้นจะไปฉีดวัคซีน รัฐบาลท้องถิ่นในพื้นที่เหล่านั้นก็อาจจะให้รางวัลหรือสร้างแรงจูงใจให้คนจีนมาเข้ารับการฉีดวัคซีน เช่น แจกไข่ ขนม นมสด คูปองลดราคาสินค้า เป็นต้น”
รัฐบาลจีนเยียวยาประชาชนอย่างไร
สำหรับมาตรการเยียวยาประชาชนจีนในช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมา จีนมีแจกเงินให้ประชาชนบ้างไหม กูรูด้านจีน ตอบว่า รัฐบาลจีนไม่เน้นนโยบายแจกเงินให้ประชาชน แต่เขาเน้นรักษาการจ้างงาน ทำอย่างไรไม่ให้คนจีนตกงาน ทำอย่างไรไม่ให้คนจีนขาดรายได้ และเน้นช่วยเหลือด้านหลักประกันสุขภาพ รวมไปถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานให้เพียงพอและทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนจีนที่ติดเชื้อไม่ต้องกังวลว่า จะมีเตียงพอหรือไม่ จะมีโรงพยาบาลสนามพอหรือไม่ หรือจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอหรือไม่ เพราะรัฐบาลจีนเตรียมการไว้อย่างดีและจัดหามาให้ชาวจีนได้อย่างรวดเร็ว
ดร.อักษรศรี อธิบายว่า จีนใช้ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง เพื่ออัดฉีดช่วยเหลือผู้ประกอบการและธุรกิจจีนไม่ให้ต้องปิดกิจการ และเพื่อไม่ให้พนักงานในกิจการเหล่านั้นต้องตกงาน ขาดรายได้ ที่สำคัญ คือ การประกาศสร้างงานใหม่เพิ่มอีก 11 ล้านตำแหน่ง ทั้งหมดนี้ จึงมีส่วนทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวเป็นรูปตัว V shape และเติบโตสวนกระแสโลก จีนเป็นเศรษฐกิจหลักของโลกเพียงชาติเดียวที่เติบโตเป็นบวกในปี 2563 ที่ผ่านมา
"จีนยังนำวัคซีนที่ตัวเองผลิตได้ไปบริจาคมอบให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทั้งหมดนี้เพื่อมุ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจีนในสายตาของนานาชาติ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า วัคซีนเพื่อการทูต (Vaccine Diplomay) นั่นเอง” ดร.อักษรศรี กล่าวทิ้งท้าย...
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Sathit Chuephanngam
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ