หลายๆ ประเทศตอนนี้กำลัง “ตกที่นั่งลำบาก” เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ไปจนถึงมาเลเซีย

เมื่อหันมามองบ้านเรา เวลานี้ก็ถึงขั้นเลวร้าย และหนักไม่แพ้ชาติอื่น
13 พ.ค.64 วันเดียวมีคนติดเชื้อรายใหม่ 4,887 ราย รวม 93,794 ราย เสียชีวิต 32 ราย รวม 518 รายเข้าไปแล้ว สถานการณ์สั่นคลอนรัฐบาลลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหนัก

จากตัวเลขดังกล่าว ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อแซงหน้าจีนไปแล้ว โดยอยู่อันดับที่ 95 ของทั่วโลก ส่วนจีนอยู่อันดับ 98 จากที่จีนเคยถูกมองว่าเป็น ประเทศต้นกำเนิดไวรัสนี้ และจีนต้องใช้ความเด็ดขาดปิดตายเมืองอู่ฮั่น นาน 76 วัน หากแต่ในขณะนี้ จีนสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติ และมีการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่เมืองอู่ฮั่น โดยมีคนเข้าร่วมงานนับหมื่นโดยไม่ต้องสวม “หน้ากากอนามัย” กันแล้ว

คอนเสิร์ตที่อู่ฮั่นหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด
คอนเสิร์ตที่อู่ฮั่นหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด

...

แต่ละวัน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนน้อยมาก ล่าสุดมีแค่ 16 ราย (ข้อมูล 13 พ.ค. 64)

จีนเอาชนะโควิด-19 ได้อย่างไร ไทยรัฐออนไลน์ได้มีโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่คร่ำหวอด รู้จริงเกี่ยวกับประเทศจีน และเดินทางไปจีนครบทุกมณฑลมาแล้ว เพื่อวิเคราะห์เบื้องหลังให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า

“การจัดการวิกฤติโควิด-19 ของจีน กว่าจะมีวันนี้ ไม่ใช่เพราะโชคช่วยนะคะ หากแต่เกิดจากการบริหารจัดการอย่างเฉียบขาด และตัดสินใจได้ทันท่วงที เจ็บแต่จบ” เมื่อเทียบกับขนาดประเทศและประชากร ก็สามารถพูดได้ว่า มาถึงวันนี้ จีนประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ได้แล้ว

ดร.อักษรศรี วิเคราะห์ว่า มี 6 ลักษณะเด่นของแนวทางที่จีนใช้เพื่อเอาชนะโควิด-19 ได้แก่

1.กล้าใช้ “ยาแรง” ตัดสินใจเร็ว ล็อกดาวน์ 76 วัน เจ็บแต่จบ !

ดร.อักษรศรี อธิบายประเด็นนี้ว่า เมื่อพบการระบาดครั้งแรกที่อู่ฮั่น และต่อมาเมื่อวันที่ 23 ม.ค.63 จีนกล้าประกาศปิดเมืองการล็อกดาวน์อู่ฮั่นที่มีประชากรกว่า 11 ล้านคนโดยทันที นับเป็นมาตรการที่เข้มงวดมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีนใหม่ ที่ผ่านมา จีนไม่เคยเผชิญเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้มาก่อน แต่เขาตัดสินใจได้เร็ว และจัดการปัญหาอย่างเฉียบขาด

จีนใช้การล็อกดาวน์ขั้นสูงสุด คือ “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า”โดยเด็ดขาด ปิดการเดินทางทั้งหมด รถสาธารณะไม่มีวิ่ง ห้ามบิน ห้ามใช้รถไฟ ปิดทุกช่องทาง และทุกคนกักตัวในที่พัก และสร้างโรงพยาบาลสนามได้อย่างรวดเร็วน่าทึ่ง และรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้อย่างเพียงพอด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบ

2. วางแผนดีมีชัย จัดการความเสี่ยงรายล้อมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน คลายปมทีละจุด

กูรูด้านจีน บอกกับผู้เขียนว่า หลังจากที่ได้มีล็อกดาวน์ปิดซีลเมืองอู่ฮั่น เพื่อสกัดการแพร่เชื้อในระดับเมืองแล้ว ก็ต้องขยายผลไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ของจีนเช่นกัน ด้วยการสั่ง ห้ามเดินทางข้ามระหว่างมณฑลอื่นๆ ด้วยตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม รอจนสถานการณ์ผ่อนคลาย สามารถสกัดการระบาดข้ามพื้นที่ได้แล้ว จึงเริ่มผ่อนปรนการเดินทางข้ามมณฑลในเดือนกรกฎาคม 2563

ที่สำคัญ ในยามวิกฤติหนักเช่นนี้ จีนกล้าประกาศปิดประเทศโดยทันที ห้ามเดินทางเข้าจีน (ยกเว้นกรณีจำเป็น หรือเหตุผลทางการทูต) และจนถึงขณะนี้ “จีนก็ยังไม่เปิดให้คนต่างชาติโดยทั่วไปเดินทางเข้าประเทศจีน ยกเว้นว่ามีความจำเป็นจริงๆ รวมทั้งนักศึกษาต่างชาติ เช่น นักเรียนไทยที่ศึกษาในจีนอยู่แล้วแต่กลับไทยช่วงวิกฤติ จนถึงตอนนี้ ก็ยังบินกลับเข้าไปเรียนต่อในจีนไม่ได้ หรือหากมีกรณีที่ผ่อนผันให้ชาวต่างชาติเข้าไปจีนได้ในบางกรณี ก็ต้องกักตัวนาน 14-21 วันอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น และต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยตัวเองด้วย”

...

3. ใช้ประโยชน์ data-driven policy นำเทคโนโลยีมาจัดการข้อมูล ออกแบบนโยบายได้แม่นยำตรงจุด

จีนเน้นใช้ประโยชน์จาก big data เพื่อนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านั้นมาออกแบบนโยบายที่แม่นยำและตรงจุด ที่สำคัญ คนจีนไม่หวง data ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐโดยไม่ลังเล หรือระแวงภาครัฐ เช่น การใช้ app ติดตามตัวหรือให้ความร่วมมือในการเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ (คล้าย app ไทยชนะ/หมอชนะ) และทางการจีนก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างเป็น data platform เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและเฝ้าระวังติดตามการระบาดของโรคร้ายนี้ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสะดวกให้ประชาชน

“ขอยกตัวอย่าง การจัดการเรื่องฉีดวัคซีนในจีน ชาวจีนสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้อย่างสะดวก ทั้งการลงทะเบียนผ่านองค์กรที่สังกัด/บริษัทที่ทำงาน หรือลงทะเบียนด้วยตัวเองในเขตพื้นที่ที่ตนพักอาศัย เพียงแค่สแกน QR code เพื่อลงทะเบียนออนไลน์จองคิวไปรับบริการฉีดวัคซีนในสถานที่ใกล้ที่พักหรือที่ทำงาน ตามวันเวลาที่นัดหมาย และจะมีข้อความ msg ส่งมาเตือนในมือถือด้วยเมื่อถึงวันนัด”

...

4. เน้นสร้าง “พลังบวก” ร่วมแรงร่วมใจ และสร้างความน่าเชื่อถือศรัทธาในผู้นำ

“สี จิ้นผิง” คือ ผู้นำที่ประชาชนจีนให้ความไว้วางใจและศรัทธา ความเป็นผู้นำที่กล้าตัดสินใจ มีความน่าเคารพนับถือ และมีผลงานเชิงประจักษ์ที่ทำเพื่อประชาชน ทำให้ชาวจีนชื่นชมและไว้วางใจในตัวผู้นำของตน เมื่อประชาชนมีศรัทธาในผู้นำและเชื่อมั่นในกลไกรัฐ รวมทั้งคนจีนมีความรักชาติยิ่งชีพ จึงสามารถสร้างความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจ เพื่อเอาชนะอุปสรรคร่วมกัน เป็นพลังบวก ที่ภาคส่วนต่างๆ ในจีนต้องการร่วมกันต่อสู้และเอาชนะวิกฤติใหญ่ในครั้งนี้ในจงได้

“ยกตัวอย่างตอนระบาดครั้งแรกที่อู่ฮั่น จีนสามารถระดมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มากกว่า 40,000 คน คนงานก่อสร้าง 40,000 คน เพื่อไปช่วยอู่ฮั่น ไปช่วยสร้างโรงพยาบาลสนาม ให้แล้วเสร็จภายในไม่กี่วัน นี่คือ ตัวอย่างความร่วมมือร่วมใจของคนจีนในยามยาก...”

...

ที่สำคัญ การมีกลไกการสื่อสารของทางการจีนที่ทันท่วงที รายงานสถานการณ์ด้วยข้อเท็จจริง ไม่สร้างความสับสนให้ประชาชน และไม่มีการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน นับเป็นปัจจัยสำคัญสามารถทำให้ประชาชนจีนได้คลายกังวล ไม่ต้องมีข้อกังขา หรือข้อสงสัยคาใจ ช่วยให้มั่นใจในข้อมูลของรัฐ โดยทางการจีนจะส่งข่าวสารให้ชาวจีนได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องในหลากหลายช่องทางที่ทันสมัย ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มและสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ในจีนด้วย ทำให้คนจีนอุ่นใจ วางใจ และรู้สึกเห็นอกเห็นใจเมื่อเห็นเพื่อนร่วมชาติในอู่ฮั่น หรือในเมืองที่มีการระบาดหนัก รวมทั้งการส่งบุคลากรทางการแพทย์จากมณฑลต่างๆ ไปช่วยที่อู่ฮั่น เป็นต้น มีกรณีตัวอย่างที่บรรดาทีมแพทย์เหล่านั้นที่ไปช่วยอู่ฮั่นจนสถานการณ์ดีขึ้น แล้วได้เดินทางกลับมาที่เมืองของตน ก็จะได้รับการปรบมือชื่นชม หรือจัดพิธีต้อนรับเสมือนเป็น “ฮีโร่” กำลังกลับบ้าน

5. จีนไม่มีปัญหากลไกราชการล้าหลัง และไร้ปัญหานักการเมืองขัดแย้งกันเอง

ข้อนี้เป็นอีกปัจจัยสำคัญมาก ดร.อักษรศรี ย้ำว่า ระบบจีนแตกต่างกับหลายประเทศ รวมทั้งไทย โดยเฉพาะในยามวิกฤติเช่นนี้ ระบบแบบจีนทำให้ไม่ต้องมาเสียเวลากับบรรดานักการเมืองที่มัวแต่ขัดแย้งหรือทะเลาะกันเอง และจีนไม่มีระบบราชการล่าช้าและเป็นอุปสรรคในการทำงาน ด้วยกลไกรัฐแบบจีน ทำให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่มีการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และท้องถิ่นพร้อมจะตอบสนองนโยบายจากส่วนกลาง ที่สำคัญ ระบบราชการจีนเน้นใช้ประโยชน์เทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้น แม้จีนจะมีการรวมอำนาจการตัดสินใจเชิงนโยบายไว้ที่ศูนย์กลาง แต่ระบบเช่นนี้จะมีประโยชน์ในยามวิกฤติ เพราะเมื่อสั่งการลงมา ทุกมณฑลทุกท้องถิ่นพร้อมเดินหน้าปฏิบัติตามทันที โดยไม่ไปเสียเวลากับวิวาทะของบรรดานักการเมือง

นอกจากนี้ จีนได้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดระเบียบสังคม เพื่อสอดส่อง/จับตาพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม ด้วยระบบที่เรียกว่า Social Credit System มีการประเมินให้คะแนน/ตัดคะแนนความน่าเชื่อถือทางสังคม และหากใครมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะถูกลงโทษทางสังคม (Social Sanction) เช่น ตัดสิทธิไม่สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินหรือตั๋วรถไฟ หรือหากคนไหนมีคะแนนเครดิตทางสังคมต่ำมาก อาจจะถึงขั้นถูกตัดความเร็วอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

6. สื่อจีนมีบทบาทช่วยนำเสนอข้อเท็จจริงให้คนจีนมั่นใจในมาตรการของรัฐ

บทบาทของสื่อจีน นับเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ชาวจีนมีความเชื่อมั่นต่อผู้นำจีนและมาตรการของรัฐบาลจีนที่นำมาใช้แก้ปัญหา สื่อจะเน้นรายงานข้อมูลเชิงสร้างสรรค์ และรายงานความคืบหน้าของการแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวจีนคลายกังวลและมั่นใจว่า จีนจะเอาชนะวิกฤติครั้งนี้ไปได้ รวมทั้งการนำเสนอภาพของการร่วมแรงร่วมใจของแต่ละภาคส่วนของจีนที่มุ่งแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น ภาพการเสียสละของนางพยาบาลจีนที่อยู่ต่างเมืองยืนกอดสั่งลาลูกและสามีที่สนามบินเพื่อจะบินไปช่วยชาวอู่ฮั่น ทั้งๆ ที่รู้ว่าเสี่ยงอาจจะติดเชื้อมรณะนี้ หรือคลิปภาพและเสียงตะโกนของชาวอู่ฮั่นที่ต้องถูกกักอยู่ในแต่ละตึกแต่ก็ตะโกนข้ามตึกให้กำลังใจกันและกันว่า “อู่ฮั่นเจียโหยว” ภาพที่น่าสะเทือนใจเหล่านี้ ช่วยสร้างความเห็นอกเห็นใจ และสร้างพลังบวกให้จีนต้องมุ่งมั่นเอาชนะไวรัสร้ายนี้ให้ได้

นี่คือ 6 ลักษณะเด่นของ “โมเดลจีนในพิชิตโควิด”ที่ ดร.อักษรศรี กูรูประเทศจีนได้วิเคราะห์สรุปจากประสบการณ์ของจีนในช่วงปีกว่าที่ผ่าน “หากแต่ประเทศอื่นจะนำโมเดลจีนไปปรับใช้ได้สำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศนั้นๆ ด้วยนะคะ” ดร.อักษรศรีสรุปปิดทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ผู้เขียนยังได้พูดคุย ดร.อักษรศรี ในอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนในจีน ซึ่งสามารถติดตามอ่านได้ในตอนต่อไป

ผู้เขียน : อาสาม 

กราฟิก : Sathit Chuephanngam

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ