จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเวลานี้ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่วันละเป็นพันคน อะไรคือ สาเหตุที่ทำระลอก 3 นี้ หนักหน่วงกว่าระลอก 1 และ 2 ที่ผ่านมา? ...ไขปมกับ "แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ" พร้อมเคลียร์ชัด จ่าย "ยาฟาวิพิราเวียร์" แบบไหนถึงได้ประโยชน์
ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2563 หลายๆ คนคงไม่ได้คาดคิดว่า ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมจะพุ่งทะลุหมื่น ดั่งเช่นในวันนี้ 6 พฤษภาคม 2564 ที่สูงถึง 76,811 ราย และเสียชีวิตสะสม 336 ศพ ที่น่ากังวล คือ นับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 เป็นต้นมา ผู้เสียชีวิตรายใหม่แต่ละวันเป็น "ตัวเลข 2 หลัก!"
อะไรคือ สาเหตุที่ทำให้ "โควิด-19 ระลอก 3" หนักหน่วงกว่าระลอก 1 และระลอก 2 ที่ผ่านมา?
"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" สนทนากับ นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ไขปมวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ พร้อมเคลียร์ชัด จ่าย "ยาฟาวิพิราเวียร์" แบบไหนถึงได้ประโยชน์
นายแพทย์ทวี ชี้ว่า โควิด-19 ระลอก 3 นี้ มีอยู่ 2-3 เหตุผลที่ทำให้สถานการณ์หนักหน่วงกว่าระลอกที่ผ่านๆ มา ไล่เรียงดังนี้
ข้อ 1 การระบาดระลอก 3 นี้ มีจุดเริ่มต้นเป็น "คนหนุ่มสาว" ซึ่งนำพาเชื้อเข้าสู่ครอบครัว ทีนี้พอเข้าสู่ "ครอบครัว" ที่อยู่บ้านเดียวกัน ก็จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) เด็กกับผู้สูงอายุ และ 2) ผู้มีโรคประจำตัว โดยกรณีของผู้สูงอายุนั้น มักจะมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาพที่เกิดขึ้นของการระบาดระลอก 3 จึงเห็นได้ว่า คนไข้เด็ก คนไข้ผู้สูงอายุ และคนไข้ที่มีโรคประจำตัวเพิ่มมากขึ้น
...
หากมองย้อนไปที่การระบาดระลอก 2 ที่เกิดขึ้นใน จ.สมุทรสาคร เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ไม่ค่อยมีผู้สูงอายุ และทั้งหมดนั้นเกือบจะไม่มีโรคประจำตัวเลย เพราะฉะนั้น อัตราการเสียชีวิตจึงต่ำมาก ขณะที่ การระบาดระลอก 1 เป็นนักท่องเที่ยวจีน อาจจะมีผู้สูงอายุปะปนมาบ้าง พบผู้สูงอายุเสียชีวิตบ้างเหมือนกัน แต่ครั้งนั้นยอมรับว่า อัตราการเสียชีวิตสูงกว่า นั่นเพราะว่า เรายังไม่ค่อยรู้อะไร เป็นการเจอโควิด-19 ครั้งแรก ซึ่งไม่ได้หมายความว่า มาตรฐานการดูแลรักษาของเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (2563) กับปีนี้ (2564) ต่างกัน
หากสังเกตจะเห็นว่า คนหนุ่มสาวที่มีสรีระร่างกายและแรงต่อสู้ของร่างกายดีกว่าผู้สูงอายุ รวมถึงมีอาการน้อย จะไปรักษาอยู่โรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทล (Hospitel) ต่างกับผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะเข้ารักษาในโรงพยาบาล
เมื่อพิจารณาจากประวัติของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ก็พบว่า ทุกรายล้วนมี "โรคประจำตัว" โดยนายแพทย์ทวียืนยันว่า 7 โรคกลุ่มเสี่ยง อาทิ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, เบาหวาน และโรคอ้วน มีความเสี่ยงทั้งหมด เพียงแต่ว่าโรคไหนเด่นกว่าเท่านั้นเอง ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2-3 โรค
1. โรคอ้วน หรือคนที่น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งไขมันจะพอกซี่โครงต่างๆ ทำให้การขยายตัวของซี่โครงต่างๆ เทียบเท่าคนผอมหรือสมส่วนกว่าไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาเชื้อลงก็จะเป็นผลให้การทำงานของปอดสู้คนสมส่วนหรือผอมกว่าไม่ได้
2. โรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง และคนสูบบุหรี่จัด ซึ่งพื้นฐานการทำงานของปอดจะแย่อยู่แล้ว ยิ่งพอเป็นผู้สูงอายุ เวลาที่เชื้อเข้าก็จะคล้ายกับไม่มีแบตเตอรี่สำรอง
3. โรคเบาหวาน ที่มีคนไทยเป็น 2-3 ล้านคน เป็นผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีการใช้เซลล์ในการต่อสู้กับเชื้อโรคพร่องกว่าคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ถึงจะสู้ได้ แต่ก็น้อยกว่า
เพราะฉะนั้น โรคอ้วน โรคปอด โรคเบาหวาน จึงเป็น 3 กลุ่มเสี่ยง นอกจากนั้นก็จะมีโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง และอื่นๆ
...
มาถึงสาเหตุข้อ 2 ที่ทำให้การระบาดระลอก 3 หนักหน่วงกว่าระลอกที่ผ่านมา คือ การระบาดระลอกนี้ใหญ่กว่าระลอกที่ 2 และระลอกที่ 1 รวมกันเสียอีก น่าจะประมาณ 3-4 เท่า อธิบายง่ายๆ อย่างตรงไปตรงมา เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมาก จำนวนการเสียชีวิตก็จะสูงขึ้น
ข้อ 3 อันนี้ยังไม่แน่ คือ การกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งเชื้อกลายพันธุ์มีการพิสูจน์แล้วว่า สามารถระบาดได้เร็วและกว้างไกล ส่วนที่ว่าเชื้อกลายพันธุ์แล้วจะทำให้เชื้อรุนแรงขึ้นไหม ขณะนี้ต้องจับตา และก็มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่า เชื้ออาจจะรุนแรงมากขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม
"ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์จะไปจับกับตัวรับ ซึ่งเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และหลบหลีกการจัดการของร่างกายได้ฉลาดกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ เพราะฉะนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเฝ้าติดตามข้อมูลต่อไป"
อีกด้านหนึ่ง สังคมมีการถกเถียงกันถึงกรณีของ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ที่มีกระแสข่าวจะนำไปจ่ายแก่ผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมากเพื่อป้องกันเชื้อลุกลาม หลังเกิดกรณีการแพร่ระบาดในชุมชนคลองเตย ว่าสามารถทำได้หรือไม่?
...
นายแพทย์ทวียอมรับว่า ในฐานะทีมแพทย์ที่ทำแนวทางการดูแลรักษา มีการปรับเปลี่ยนมาจนถึงเวอร์ชันที่ 14 แล้วในรอบเกือบ 2 ปีนี้ เปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แม้กระทั่งในชุมชนที่มีคนไข้เกิดเยอะๆ ก็มีการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งกรณีการแจกยาฟาวิพิราเวียร์ ก็เกิดคำถามว่า "การแจกยาไปทั่วนี้ได้ประโยชน์จริงหรือไม่?" ก็ต้องตอบว่า ขณะนี้ไม่มีข้อมูลว่า คนป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการใดๆ เลยจะได้ประโยชน์จากยาที่กิน และยังไม่มีประเทศไหนในโลกนี้แนะนำแบบนี้มาก่อน
ที่สำคัญ คือ ยาฟาวิพิราเวียร์มีพอไหม? ถ้าเผื่อต้องยืนระยะยาวแบบนี้อีกประมาณ 3-5 เดือน ถ้าเกิดใช้ยาหมด ถึงเวลานั้นยาขาดมือ แม้จะบอกว่าสั่งมาก็ได้ แต่ตอนนี้หลายประเทศก็สั่งกัน เมื่อถึงเวลาที่ผู้ป่วยอาการรุนแรงจะได้ประโยชน์จากยาจริงๆ แล้วไม่มี ตอนนั้นเราจะเสียโอกาสอย่างมาก
"ตามหลักการทางการแพทย์ ถ้าใช้ยาโดยไม่สมเหตุสมผล เชื้อจะดื้อยา กลายเป็นแป้ง เพราะฉะนั้น เวลานี้แพทย์ก็พยายามแนะว่า ขอให้ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลก่อน ตอนนี้มียาเยอะจริง แต่เราจะรู้หรือว่า เราจะยืนระยะอีก 3-5 เดือนอย่างเพียงพอ"
...
ส่วนสาเหตุที่ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยติดเชื้อกักตัวอยู่บ้านนั้น นายแพทย์ทวีอธิบายว่า การกักตัวอยู่บ้านมี "ข้อเสีย" คือ เชื้อสามารถกระจายต่อได้ ต้องยอมรับว่า ลักษณะชุมชนในนั้น 5-7 คน เวลาเจอเชื้อ 1 คนเมื่อไหร่ ต้องรีบควักออกมาให้ไปอยู่โรงพยาบาลสนามก่อน แม้จะทำไม่ได้ถึง 100% แต่ก็จะทำให้การต่อสู้ของเรามีความหวังว่าจะสามารถควบคุมได้
"ตอนนี้อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างตึงมือ แต่ก็ยังรับมือไหวอยู่"
นายแพทย์ทวีกล่าวย้ำ "โรงพยาบาลสนาม" จะเป็นตัวช่วยไขปัญหา เพราะโรงพยาบาลสนามขนาด 300 คน จะใช้ทีมดูแลประมาณ 5-6 คน วันนึง 3 กะ ก็ 15-18 คน แต่ถ้าไอซียู ต้องใช้ทีมดูแล 25 ต่อ 1 คน ที่สำคัญ 25 คนนี้ต้องเป็นคนที่ได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จะเห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นจุดที่การควบคุมดูแลยากที่สุด เพราะมีคนเข้าๆ ออกๆ รวมทั้งคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ เองกว่า 10 ล้านคน ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับประชาชนตอนนี้ คือ ที่ไหนรวมตัวกันก็มีโอกาสแพร่เชื้อ ขอให้หยุดพักการรวมตัวก่อน หลายๆ คนที่ยังแข็งแรงดี เมื่อทำงานเสร็จก็ขอให้รีบกลับ และป้องกันตัวเองขณะอยู่ข้างนอก ก็จะช่วยเบาแรงลงในระดับหนึ่ง สำหรับชุมชนคลองเตย ตอนนี้ทาง กทม. และสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือดูแลแล้ว
"พยายามเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว ให้น้อยที่สุด และก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการ เช่น ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ตอนนี้เรากำลังสู้กับโรคระบาด ซึ่งทุกคนควรมีส่วนในการรับผิดชอบ".
ข่าวน่าสนใจ:
- อย่าระวังแค่ "อินเดีย" สัญญาณเตือนความเสี่ยง จับตารอบบ้าน "ไทย"
- โควิดเขย่าแผน "ร้านขายยาโลก" โอกาส "อินเดีย" ท้าชนจีน ถูกสั่นคลอน
- โอกาสคนไทยฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ดีลตรงรัฐ ปิดทางเอกชน?
- หายจากโควิดแล้ว...ใช่ว่าสบายดี Long Covid อาการต่อเนื่องที่ต้องจับตา
- ชะตา "เด็กจบใหม่" ส่อเดินเตะฝุ่นอีกนับแสน รัฐต้องทุ่ม มหา'ลัยอย่านิ่งเฉย