แม้สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในหลายๆ ประเทศจะเริ่มผ่อนคลายกันแล้ว แต่ก็อย่าเพิ่งรีบเอา "การ์ดลง" เพราะจาก "วิกฤติอินเดีย" ก็พอมองเห็นสัญญาณเตือนความเสี่ยงที่กำลังกระจายตัวโอบล้อม "ประเทศกำลังพัฒนา" จับตา "รอบบ้าน" ให้ดี และ "ไทย" เองก็อย่าชะล่าใจ...
ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ประเทศที่กำลังอลหม่านและเผชิญกับภาวะวิกฤติขั้นรุนแรงอย่าง "อินเดีย" ก็มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมสูงถึง 20,658,234 รายแล้ว เป็นรองเพียงแค่ "สหรัฐอเมริกา" เท่านั้น โดยรอบ 7 วันที่ผ่านมา (28 เม.ย. - 4 พ.ค.) มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 381,371 ราย ซึ่งวันที่ 2 พฤษภาคม เป็นวันที่มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุด 402,110 ราย ขณะเดียวกัน วันที่ 4 พฤษภาคม ก็มีผู้เสียชีวิตเพิ่มถึง 3,786 ราย จากตัวเลขที่ว่านี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลหลายแห่งและสถานที่เผาศพต้องทำงานกันชนิดหามรุ่งหามค่ำ เพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้
และอย่างที่ทราบกัน คลื่นโควิด-19 ที่ซัดเข้าใส่ "อินเดีย" ไม่ได้เป็นแค่วิกฤติของยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาวะขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย เช่น ออกซิเจนทางการแพทย์ จนเกิดภาพผู้ป่วยปอดติดเชื้อนั่งหายใจรวยรินอยู่หน้าประตูบ้านเพื่อกอบโกยอากาศให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากลองมองไปรอบๆ ทั่วทั้งแผนที่โลกในยามนี้ โดยมี "อินเดีย" เป็นศูนย์กลาง ก็พอจะมองเห็นสัญญาณเตือนความเสี่ยงแล้วว่า ไม่ใช่แค่อินเดียเท่านั้นที่เผชิญกับการถาโถมของคลื่นโควิด-19 ลูกใหม่นี้ แต่เจ้าไวรัสร้ายนี้ยังโอบล้อม "ประเทศกำลังพัฒนา" อื่นๆ ที่กระจายอยู่ทั่วโลกด้วย
ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่ "อินเดีย" เท่านั้นที่ "ไทย" ต้องระวัง
...
"เราต้องให้ความสำคัญในการตระหนักว่า สถานการณ์เช่นในอินเดียสามารถเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ในโลก" หนึ่งในข้อห่วงใยของ ดร.ฮานส์ คลุกก์ หัวหน้าสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำทวีปยุโรป (WHO)
ถึงแม้ว่า เมื่อเทียบขนาดประชากรแล้วจะไม่มีประเทศใดที่ใกล้เคียงกับ "อินเดีย" หรือการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในขอบเขตเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขของ "ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่" ของหลายๆ ประเทศกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย
จับตา "ประเทศกำลังพัฒนา" ที่อาจกลายเป็น RED ZONE
ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นที่หมายถึงก็ตั้งแต่ สปป.ลาว และใช่ "ไทย" ด้วยเช่นกัน อธิบายภาพง่ายๆ ว่า บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรอบๆ ชายแดนของอินเดีย เช่น ภูฏาน และเนปาล โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ "ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่" เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น อ้างว่าเป็นเพราะ "สายพันธุ์" ของไวรัสที่แพร่กระจายเชื้อได้ง่าย ตลอดจนขาดแคลนทรัพยากรในการยับยั้งการแพร่ระบาดระลอกนี้
ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ที่ว่านั้น กำลังเผชิญสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แบบไหนกันบ้าง "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ขอไล่เรียงตามลำดับของ "ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่" ในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (ข้อมูล ณ 2 พ.ค. 64)
1. สปป.ลาว
- ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ช่วงเดือนที่ผ่านมา : 884 ราย
- การเปลี่ยนแปลงเทียบเดือนก่อนหน้า : +22,000%
จากตอนแรกที่มีการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อแค่ 60 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตจนถึงปัจจุบัน แต่พอมาจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2564 ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีสาธารณสุขของ สปป.ลาว ออกมาประกาศเร่งจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย หลังผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่พุ่งพรวดขึ้นมากกว่า 200 เท่าในเดือนเดียว แม้ว่า สปป.ลาว จะเป็นประเทศไร้ชายฝั่ง ล้อมรอบไปด้วยแผ่นดิน กลับพบความท้าทายบางอย่าง นั่นคือ "ช่องทางธรรมชาติ" มากมายที่เอื้อต่อการ "ข้ามแดนผิดกฎหมาย" และยากต่อการควบคุม
สปป.ลาว ลั่นกลอน "ล็อกดาวน์" เวียงจันทน์ และห้ามการเดินทางระหว่างเมืองหลวงแห่งนี้กับจังหวัดอื่นๆ พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีสาธารณสุขยังพยายามโน้มน้าวเพื่อนบ้านอย่าง "เวียดนาม" เพื่อขอการสนับสนุนทรัพยากร โดยวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 1,026 ราย
...
2. เนปาล
- ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ช่วงเดือนที่ผ่านมา : 58,390 ราย
- การเปลี่ยนแปลงเทียบเดือนก่อนหน้า : +1,645%
ภาพที่เกิดขึ้นใน "เนปาล" ตอนนี้ คือ โรงพยาบาลหลายแห่งอัดแน่นไปด้วยผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่เพียงเท่านั้น "ออกซิเจน" ก็กำลังร่อยหรอลงทุกที โดยวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 351,005 ราย
มาถึงลำดับ 3 นั่นคือ ไทย
- ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ช่วงเดือนที่ผ่านมา : 40,037 ราย
- การเปลี่ยนแปลงเทียบเดือนก่อนหน้า : +1,293%
เวลานี้เรียกว่าน่าเป็นกังวลมากทีเดียว ถัดจาก "คลัสเตอร์ทองหล่อ" ก็ผุดคลัสเตอร์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น "ชุมชนคลองเตย" โดยวันที่ 4 พฤษภาคม มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 72,788 ราย เมื่อคำนวณผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่รอบ 7 วัน (28 เม.ย. - 4 พ.ค.) อยู่ที่ 1,871 ราย ซึ่งนับว่ายังสูงมากเทียบกับการระบาดระลอก 1 และ 2 ที่ผ่านมา
สถานการณ์โควิด-19 เวลานี้ของไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้การวาดหวังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 "ผิดแผน" ไปหมด จากตอนแรกที่วางไว้ว่าจะเร่งฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังใกล้มอดม้วย ด้วยวิธีการรื้อข้อบังคับการกักตัว 14 วัน พร้อมตั้งเป้าสร้างรายได้ 2.6 แสนล้านบาท ก็หั่นประมาณการรายได้เหลือแค่ 1.7 แสนล้านบาท อีกทั้งระบบสาธารณสุขก็กำลังอยู่ในภาวะที่แสนจะกดดัน เร่งติดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่กำลังท่วมท้นในเวลานี้
...
แค่ภายในประเทศก็หนักหนาแล้ว ดังนั้น อย่ามีจากข้างนอกมาเพิ่มอีก ซึ่งหนึ่งในข้อกังวลที่ย้ำเตือนกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ของ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ "ทีดีอาร์ไอ" (TDRI) คือ ภาครัฐต้องเพิ่มความเข้มงวดให้มากกว่าเดิมอีกเป็น 2 เท่า นอกจากฝั่ง "เมียนมา" แล้ว ฝั่ง "กัมพูชา" และ "ลาว" ก็ด้วยเช่นกัน เพราะการป้องกันไว้ก่อนนั้นย่อมดีกว่าแก้ทีหลัง
"แรงงานต่างด้าวที่ผ่านมาทางชายแดนต้องให้อยู่ภายในพื้นที่กักกันตัวเท่านั้น เพื่อทำการตรวจหาเชื้อ"
4. ภูฏาน
- ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ช่วงเดือนที่ผ่านมา : 222 ราย
- การเปลี่ยนแปลงเทียบเดือนก่อนหน้า : +909%
หนึ่งในสาเหตุการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ใน "ภูฏาน" เหมือนว่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับ "เนปาล" คือ การเดินทางกลับประเทศ โดยใน "เนปาล" คาดการณ์ว่าเป็น "สายพันธุ์อินเดีย" ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเวลานี้กำลังเผชิญกับภาวะทรัพยากรตึงมือ และเร่งจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้ออย่างเร่งด่วน โดยวันที่ 4 พฤษภาคม ภูฏานมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 1,135 ราย
...
5. ตรินิแดดและโตเบโก
- ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ช่วงเดือนที่ผ่านมา : 3,917 ราย
- การเปลี่ยนแปลงเทียบเดือนก่อนหน้า : +701%
"ตรินิแดดและโตเบโก" ประกาศลั่นกลอนล็อกดาวน์บางส่วน หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้น พร้อมกันนี้ยังสั่งปิดร้านอาหาร ศูนย์การค้า และโรงภาพยนตร์ ลากยาวไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม โดยวันที่ 4 พฤษภาคม มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 11,706 ราย
6. กัมพูชา
- ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ช่วงเดือนที่ผ่านมา : 11,974 ราย
- การเปลี่ยนแปลงเทียบกับเดือนก่อนหน้า : +604%
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกปัจจุบันของ "กัมพูชา" เริ่มต้นขึ้น ก็พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ภายในท้องถิ่นมากกว่า 10,000 ราย หลังจากดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกมากกว่า 20 จังหวัด ซึ่งขณะนี้ "พนมเปญ" เมืองหลวงของกัมพูชา กลายเป็น "พื้นที่สีแดง" แล้ว โดยวันที่ 4 พฤษภาคม มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 16,299 ราย
จากประเทศต่างๆ ที่ว่ามานั้น ยืนยันได้ว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในเวลานี้ ทุกประเทศยังคงอยู่กับสถานะ "ความเสี่ยง" โดย เดวิด เฮย์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อ ประจำวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน มองว่า อาจแปรเปลี่ยนเป็น "โรคประจำถิ่น" เพราะฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้...ทุกประเทศยังคงมีความเสี่ยง
สอดรับกับ โจนาธาน ไพรก์ หัวหน้าทีมวิจัยในส่วนภูมิภาคแปซิฟิกแห่งสถาบันโลวี ที่ระบุว่า "อินเดีย" กำลังส่งสัญญาณเตือนอันน่าเขย่าขวัญแก่ประเทศรอบๆ ภูมิภาค ว่า การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ สามารถหมุนออกจากการควบคุมได้ ซึ่งวิธีการที่จำเป็นอาจไม่ใช่แค่การพึ่งพาการคุมเข้มชายแดนที่เข้มงวด แต่ยังรวมถึงการฉีดวัคซีนภายในประเทศด้วย
ทั้งนี้ ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 "ไทย" ฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม 1,573,075 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 1,150,564 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 422,511 ราย
แต่การฉีดวัคซีนโควิด-19 เวลานี้ มี "ข้อกังวล" ที่กำลังเป็น "ข้อถกเถียง" เพิ่มขึ้นมาอีก คือ วัคซีนที่มีอยู่อาจไม่ตอบโจทย์ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว อาจต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้น หากว่าการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างล่าช้า
จริงๆ แล้วการฉีดวัคซีนกระตุ้นไม่ใช่วิธีการ หรือปรากฏการณ์แปลกใหม่อะไร เพราะเคยใช้ในกรณีวัคซีนชนิดอื่นๆ มาแล้ว เช่น การฉีดวัคซีนกระตุ้นของวัคซีนโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะก่อให้เกิด "ภูมิคุ้มกัน" อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี สำหรับกลุ่มเปราะบาง เพื่อป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ด้วย
ขณะที่ ในมุมมองของวงการแพทย์ในประเทศต่างๆ ยังคงชี้ว่า "สายพันธุ์โควิด-19" ที่น่ากังวลมีเพียงหยิบมือเท่านั้น นั่นคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล และสายพันธุ์อินเดีย ด้วยเพราะสายพันธุ์เหล่านี้มีการกลายพันธุ์ของปุ่มโปรตีน จึงอาจทำให้การจดจำของเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนเป็นไปได้ยาก จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อกระตุ้นร่างกายให้จดจำไวรัสสายพันธุ์ใหม่ต่างๆ ได้
อย่างไรก็ตาม หลากความเห็นนอกเหนือจากนั้น คือ "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" ควรเร่งส่งวัคซีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาและยากจนเพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบของหลายๆ ประเทศ และป้องกันการแพร่ระบาดยืดเยื้อ
ซึ่งในวงสนทนาของ WHO มีคำทิ้งท้ายที่เป็น "ข้อสังเกต" ที่น่าสนใจ คือ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น ยังไม่มีประเทศไหนที่ขานรับการระดมสมองในระดับโลกเลย ทั้งๆ ที่ภาวะวิกฤติเช่นนี้ ประเทศต่างๆ ควรไว้เนื้อเชื่อใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฉะนั้น จึงมีความหวังว่า ประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังกลับสู่สภาพปกติ เพราะการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ควรพิจารณาว่า สามารถช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอะไรได้บ้าง อาทิ การกระจายวัคซีนออกไปทั่วโลกอย่างเสมอภาค.
ข่าวน่าสนใจ:
- โควิดเขย่าแผน "ร้านขายยาโลก" โอกาส "อินเดีย" ท้าชนจีน ถูกสั่นคลอน
- โอกาสคนไทยฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ดีลตรงรัฐ ปิดทางเอกชน?
- หายจากโควิดแล้ว...ใช่ว่าสบายดี Long Covid อาการต่อเนื่องที่ต้องจับตา
- เทียบ 7 วัคซีนโควิด Johnson & Johnson ความหวังที่น่าจับตา
- ชะตา "เด็กจบใหม่" ส่อเดินเตะฝุ่นอีกนับแสน รัฐต้องทุ่ม มหา'ลัยอย่านิ่งเฉย