เป็นที่ฮือฮาในยุคโควิดระบาดหนัก เงินทองหายาก เมื่อหนุ่มชาวนครพนม ประกาศรับซื้อ "จิ้งจก" ผ่านเพจ ในราคากิโลกรัมละ 300 บาท หรือตันละ 3 แสนบาท นำไปแปรรูปตากแดดและรมควัน ส่งขายประเทศจีน พร้อมยังสอนวิธีจับจิ้งจก สำหรับผู้ที่สนใจจะทำอาชีพเสริมสุดแปลก รายได้งามๆ
จิ้งจก หรือขี้เกี้ยม คำเรียกตามภาษาถิ่นชาวอีสาน หรือจั้กกิ้ม ตามภาษาถิ่นชาวเหนือ เป็นสัตว์เลื้อยคลานพบเห็นได้ทั่วไปตามที่พักอาศัย มีทั้งจิ้งจกหางแบน และจิ้งจกหางหนาม ลำตัวมีความยาว 3-5 นิ้ว สามารถปรับตัวให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมได้ และมีเท้าเหนียวช่วยให้เกาะไต่ไปตามเพดานหรือข้างฝาได้ อายุเฉลี่ย 5-10 ปี
คนโบราณเชื่อกันว่า จิ้งจกเป็นสัตว์นำโชค หากจิ้งจกทัก หรือตกลงมาตรงหน้า จะโชคดี หรือเห็นจิ้งจกหางด้วนหรือจิ้งจกสองหาง เชื่อกันว่าจะมีลาภลอย บางคนตีเป็นเลขมงคลนำโชค 0, 1, 38, 69
ด้านสรรพคุณจิ้งจก มีการอ้างกันว่าสามารถช่วยรักษาโรค ทำให้ร่างกายแข็งแรง และยังเป็นยาโด๊ปเพิ่มพลังทางเพศให้ฟิตปั๋งอีกด้วย ย้อนไปเมื่อเดือนก.พ. ปี 2556 ทางไทยรัฐออนไลน์ เคยนำเสนอข่าวของชายวัย 74 ปี ชาวจังหวัดกำแพงเพชร กินจิ้งจกตัวเป็นๆ ติดต่อกันมา 12 ปี อ้างเป็นยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
...
“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ "ประเดิม ส่างเสน" หมอพื้นบ้านไทใหญ่ ศูนย์การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ชนเผ่าสมุนไพรนวลจันทร์เชียงใหม่ เพื่อให้หลายคนหายข้องใจ โดยยืนยันสรรพคุณของจิ้งจก เป็นอีกหนึ่งยาชูกำลัง ยาโด๊ป ยาอายุวัฒนะ ในการล้างเมือกมันในลำไส้ โดยการนำจิ้งจกไปตากแห้ง บดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งเวลากิน
หรือคนพื้นบ้านในชนเผ่าจะกินจิ้งจกดิบๆ ทั้งตัว โดยเฉพาะส่วนหาง มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศ แต่ข้อควรระวังไม่ควรกินกับแอลกอฮอล์ เพราะจะไปดึงพิษจากจิ้งจกออกมา ซึ่งเป็นอันตราย เหมือนกรณีคนนำคางคกไปดองเหล้า อย่างที่เคยเป็นข่าว กินแล้วตาย
นอกจากนี้คนโบราณ ยังนำจิ้งจก หรือจิ้งเหลนไปผสมกับยาสมุนไพรในกลุ่มที่มีฤทธิ์ร้อนไม่มากตามตำรายา หากเป็นคนจีนจะนำไปผสมกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน ส่วนชนเผ่าสิบสองปันนา ผสมกับสมุนไพรฤทธิ์กลางๆ เพื่อใช้เป็นยาโด๊ป
“จิ้งจกเป็นสัตว์ประเภทเดียวกับตุ๊กแก มีคนนำตุ๊กแก หรือจิ้งจก บดทำเป็นยาให้ไก่ชนกินเพื่อให้แข็งแรง มีความดุ และบางตำราบดผสมกันนกกระจอก ให้วัวชน ไก่ชนกินอีกด้วย”
สำหรับจิ้งจก มี 4-5 สายพันธุ์ คนนิยมเลือกตัวลายๆ สีดำ หรือมีลายจุดสีขาวเหมือนตุ๊กแกและมีหางแหลม อายุอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป นำไปทำยาโด๊ป ใช้บำรุงกำลังทั้งหญิงและชาย โดยวิธีเรียกจิ้งจกของคนโบราณ มีการนำใบตองแตกมาทุบ ซึ่งมีกลิ่นที่จิ้งจกชอบแล้วนำไปถูกับผนัง
“จิ้งจกตัวผู้ มีเสียงทุ้ม หางแหลม ส่วนจิ้งจกตัวเมีย เสียงแหลม หางทู่ เวลาผู้ชายนำไปกินเป็นยา จะกินจิ้งจกตัวผู้ และผู้หญิงต้องกินจิ้งจกตัวเมีย หากเลือกเพศจิ้งจกไม่ได้ ให้ใช้บอระเพ็ดนำมาผสมเพื่อตัดฤทธิ์ ในการปรับธาตุ สร้างสมดุลในร่างกายทำให้แข็งแรง”
ในบางตำรามีการนำใบตองแตก จิ้งจก นกกระจอก ตัวบึ้ง หรือที่เรียกกันว่า "แมงมุมยักษ์" และบอระเพ็ด อย่างละ 1 ส่วน นำมาผสมกับน้ำผึ้ง ใช้กินเพื่อให้มีกำลังเวลาอ่อนเพลีย และยังรักษาโรคหอบหืด
แม้จิ้งจกมีสรรพคุณเป็นยา ไม่ใช่ว่าจะนำไปกินได้ในทุกฤดูกาล มีข้อห้ามว่าหน้าร้อนไม่ควรกิน เพราะจิ้งจกมีฤทธิ์ร้อน ควรกินหน้าหนาว เพราะจะทำให้ความดันสูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนที่เป็นโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ อาจทำให้เส้นเลือดแตกเป็นอันตราย ซึ่งเรื่องสุขภาพสำคัญมาก ต้องกินให้เป็น
...
อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำ ห้ามนำจิ้งจกไปดองเหล้า โดยไม่มีความรู้ หากจะดองในเหล้าต้องใช้เวลา 5-7 เดือน และใช้มะแว้งแห้ง ใส่ลงไป หากจมลงไปในขวดดองเหล้า แสดงว่าใช้ได้ไม่มีพิษ แต่สรุปแล้วไม่ควรดองเหล้า เพราะบางคนจะกินเกินขนาด จนเป็นโทษ
ส่วนเคล็ดลับนั้น ไม่ควรกินจิ้งจกเกิน 3 ตัวต่อวัน หรือส่วนหาง กินได้วันละ 1 หาง และนำตัวจิ้งจกไปตากแดดให้แห้ง ก่อนนำไปบดเป็นผงทำเป็นยา ภายใต้หลักที่ว่ายาตัวใดมีฤทธิ์ร้อนให้กินหน้าหนาว และยาตัวใดมีฤทธิ์เย็นให้กินหน้าร้อน เหมือนการดองเหล้าในหน้าร้อน ก็ควรใส่ใบบัวบกลงไป ซึ่งยิ่งดองนานยิ่งดี
หมอประเดิม ทิ้งท้ายในเรื่องสรรพคุณของจิ้งจก ตุ๊กแก และจิ้งเหลน สำหรับผู้ชาย เพราะเนื่องจากสัตว์เลื้อยคลานประเภทนี้มีน้ำมันพิเศษ หากนำมาทอดทำเป็นน้ำมัน นำมาทาอวัยวะสำคัญของเพศชาย จะทำให้เกิดความ "ปึ๋งปั๋ง" จะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน.