- เศรษฐกิจก่อนสงกรานต์ กำลังจะไปได้ดี จากบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยเมื่อปลายเดือน มี.ค. ได้กระตุ้นให้กำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวขึ้น หลังไทยเผชิญกับโควิดระลอกสอง เมื่อปลายปีที่แล้วจากจุดเริ่ม จ.สมุทรสาคร
- ไม่ทันไรโควิดกลับมาระบาดหนักระลอกสาม จากคลัสเตอร์ใหญ่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก กระทบต่อเศรษฐกิจเป็นรอบที่ 3 จากการออกมาตรการปรับเวลาการปิดร้านอาหารให้เร็วขึ้น ไม่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร และปิดสถานบริการที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
- แม้มาตรการไม่เข้มงวดเท่ากับการระบาดรอบแรก และไม่น่าส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ แต่ก่อนโควิดเข้ามา นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก ต่างคาดการณ์การบริโภคเอกชนโตต่ำกว่า 3% จากหลายๆ ปัจจัย ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่โงหัวขึ้นมาได้ง่ายๆ
“ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล” อาจารย์ประจำคณะบริหาร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ "โควิดระลอกสาม" จะมีความรุนแรงแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการระบาดของโควิด 2 รอบแรก จากเคยคาดการณ์หลังสงกรานต์จะแย่ แต่ไม่คิดว่าจะเร็วขึ้น ทำให้คนอยากกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ไม่ได้กลับบ้าน หลังไม่ได้กลับมานาน และนับจากนี้ 14 วัน จะเหมือนระเบิดเวลาผูกไว้กับคน รอการปะทุมากขึ้น
...
“เหมือนในต่างประเทศ เพราะคิดว่ามีวัคซีน เคยคุ้นชิน คุ้นเคยกับการไม่ใส่หน้ากากอนามัย และไม่ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ จากความชะล่าใจของมนุษยชาติ หวังน้ำบ่อหน้า จึงอยากให้ทุกคนกลับไปสู่แพลนเอ เหมือนการระบาดในช่วงแรก ไปดูกระแสเงินสดของตัวเอง ว่าเพียงพอหรือไม่จะอยู่ได้ 6 เดือน วิธีเดียวที่จะรอด ต้องดูแลตัวเองให้มีความปลอดภัยทั้งร่างกายและทรัพย์สิน ดูแลสุขภาพตัวเอง และระมัดระวังในการไปหาผู้ใหญ่ให้มากขึ้น ป้องกันการนำเชื้อไปติด"
เมื่อย้อนกลับไปในการระบาดรอบแรก เริ่มจากนักท่องเที่ยวชาวจีน มาสู่สนามมวย สถานบันเทิง ซึ่งครั้งนั้นเป็นครั้งแรก ทำให้ทุกคนกลัว เพราะไม่ชินเป็นโรคที่ทำให้คนเสียชีวิต จนรัฐบาลซีเรียสมีการล็อกดาวน์ ทำให้ทุกอย่างมืดสนิท เศรษฐกิจหยุดชะงัก
กระทั่งปลายปี 2563 มาเจอ "โควิด" รอบสอง ในกลุ่มชนชั้นฐานราก ชนชั้นแรงงานหาเช้ากินค่ำ มีการติดเชื้อโควิดทั้งตลาด ทั้งโรงงาน โดยคนกลุ่มนี้ไม่ได้ไปไหนมาไหน เพราะไม่ได้เดินทางมากมาย อีกทั้งมีแรงงานเมียนมาติดเชื้อเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การล็อกดาวน์ร้านค้าร้านอาหารให้ปิดบริการเร็วขึ้นในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ปทุมธานี และชายขอบกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ที่สามารถติดตามได้ว่าไปอยู่กับใครที่ไหน และมีการตั้งโรงพยาบาลสนาม
เหมือนทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น ทุกคนเตรียมพร้อมกลับบ้านช่วงหยุดสงกรานต์ ต้องมาเจอกับการระบาดรอบสาม จากแหล่งท่องเที่ยวกลางคืนย่านทองหล่อ ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว เพราะการสัมผัสใกล้ชิดด้วยการหายใจ โดยพนักงานต้องดูแลให้บริการลูกค้าที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และลูกค้าส่วนใหญ่ที่ไปใช้บริการมีฐานะดี เป็นไฮโซ นักธุรกิจ ชนชั้นนำ ได้มาใช้บริการเป็นหมู่คณะ ทำให้พนักงานมีการสัมผัสโดยตรง
“พนักงานในสถานบันเทิง อาศัยในคอนโดหรูใจกลางกรุง ส่วนใหญ่มีชนชั้นกลางอาศัยอยู่ ทำให้มีโอกาสสัมผัสสูงจากการใช้ลิฟต์ หลังออกไปทำงานในตอนกลางคืนไปพบกับกลุ่มซุปเปอร์วีไอพี ซึ่งคนกลุ่มนี้ไปไหนมาไหนในสังคมเพื่อพบปะในงานไพรเวทปาร์ตี้ และงานต่างๆ ในการสร้างคอนเนกชั่น มีการสัมผัสระหว่างกัน แตกต่างกับกลุ่มติดเชื้อระลอก 2 ต้องหาเช้ากินค่ำ”
...
คุมยาก สารพัดปัญหา ไม่ป้องกันตัวเอง ไม่เผยไทม์ไลน์
ดร.ภูษิต ไม่รู้สึกแปลกใจที่การระบาดระลอกสาม มีการติดเชื้อในกลุ่มคนหลายคนที่อยู่ในที่ประชุมใหญ่ๆ อยู่ในคอนโดฯหรู และที่เลวร้ายไปกว่านี้ เป็นการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนใหญ่ติดในกลุ่มคนอายุน้อย ทำให้ไม่แสดงอาการ จนผ่านไป 7 วัน ได้ไปแพร่เชื้อให้กับคนหลายคน โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนอินเตอร์ กลุ่มไฮโซ ซึ่งอาจติดมาจากผู้เป็นพ่อ นำเชื้อไปติดแม่ และไปติดลูกต่อ ทำให้บริษัทใหญ่ๆ มีคนติดเชื้อต่อเนื่อง โดยคนกลุ่มนี้สามารถจ่ายค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงได้ ทำให้ขณะนี้เกิดสถานการณ์เตียงเต็มในโรงพยาบาล
“ทั้งหมดทั้งมวล จะมีการติดมากกว่าระลอกสอง เพราะไม่ป้องกันตัวเอง และไม่ยอมเปิดเผยไทม์ไลน์อย่างเต็มที่ เพราะบางทีเปิดเผยไม่ได้ ทำให้การควบคุมยากในการหยุดโควิด ไม่ให้แพร่กระจาย จนรอบนี้มีการติดทั้งนักแสดง ช้าราชการชั้นสูง นักธุรกิจ ทำให้ค่อนข้างเป็นห่วงคนที่จองตั๋ว จะกลับต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศไปแล้ว”
...
ในการระบาดระลอกสาม เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่มีการล็อกดาวน์ คงขอความร่วมมืออย่างเดิม ทำให้คนเข้าใจว่าการไม่ออกมาตรการเข้มข้น เพราะคงไม่มีอะไรมาก จึงทำตัวเหมือนเดิมบนความคุ้นชิน อยู่บนความประมาท
ระบาดหนัก ทุกอย่างล้มเป็นโดมิโน ห่วงเปิดประเทศ
แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จากเดิมคนเริ่มปลดปล่อยในการใช้จ่ายเงินเที่ยวเตร่ จนท้องถนนเต็มไปด้วยรถ จราจรติดขัด แต่เมื่อเกิดโควิดระบาดหนัก ก็จะชะลอการใช้เงินมากขึ้น เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจแบบโดมิโน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ทำให้คนไปซื้อของฝาก เดินทางไปท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมาฟื้นตัว จะชะงักลง
“ทุกธุรกิจต้องปรับแผน ใครเปิดร้านอาหารก็ไปเน้นเดลิเวอรี่ เพราะยังไงเศรษฐกิจก็ไม่ดีอยู่แล้ว กระทบในแง่จิตวิทยาต่อผู้คน จากเดิมคิดว่ารอดแล้ว เพราะมีวัคซีนเป็นความหวัง แต่ทุกอย่างกลับชะลอแย่ไปหมดทั้งท่องเที่ยวและการใช้เงิน”
...
จากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่โทษใคร แต่เป็นบทเรียน และห่วงรัฐบาลกำลังดึงต่างชาติเข้าประเทศ ซึ่งไม่คัดค้าน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ถามว่าใครจะกล้าเข้ามา เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ต้องขอให้อยู่กับมันอย่างคุ้นชิน ท่ามกลางคนใกล้ชิดที่ติดเชื้อ และควรพักผ่อนให้เต็มที่ กินอาหารให้ครบหมู่ ดูแลสุขภาพตัวเอง และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อาจกลับไปทบทวนการใช้ชีวิต ต้องซีเรียสมากขึ้น ไม่ใช่แค่การใส่หน้ากากอนามัย แต่ต้องห้ามออกจากบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงมาก
"เพราะฉะนั้นเรื่องกระแสเงินสด เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องดูว่าพอใช้ไปจนถึง 6 เดือนหรือไม่ เป็นวิธีเดียวที่จะรอดได้ ในยุคโควิดระบาดระลอกสาม".
ผู้เขียน : ปูรณิมา
กราฟิก : sriwan singha