“ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ปลากัดก็เป็นสัตว์น้ำคู่บ้านคู่เรือน”

นี่คือคำจำกัดความของ “ปลากัด” ที่เวลานี้เปรียบเสมือนสินค้าส่งออกที่ทำเงินเข้าประเทศปีละพันล้านบาท!

ฟังไม่ผิดหรอกครับ ปลาตัวเล็กๆ นี้ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากมาย โดยจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงปลากัด และนำมาสร้างรายได้ต้องย้อนกลับไปกว่า 40 ปีก่อน โดย คุณเอก นครปฐม หรือนายชูชาติ เล็กแดงอยู่ กรรมการสมาคมปลากัด เล่าให้ฟังว่า...

“ปลากัด” ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ปลากัดพื้นบ้าน ซึ่งก็หาได้ทั่วไป อาจจะหาช้อนมาเลี้ยงบ้าง นำมากัดกันบ้าง

ส่วนอีกแบบคือ “ปลากัดสวยงาม” ซึ่งมีที่มาจากปลากัดทั่วไป แต่เอามาเพาะพันธุ์ โดยทำให้มันหางยาวขึ้น สีสวยขึ้น

เดิมทีหางปลากัดไทย จะมีลักษณะเหมือน “ใบโพธิ์” แต่เมื่อมีการเพาะพันธุ์ หางมันจึงยาวและสวยงามขึ้นตามจินตนาการของผู้เลี้ยง สมัยดั้งเดิม หางปลากัดที่สวยงาม จะมีลักษณะเหมือนอุปรากรจีน งิ้ว หรือ พู่กันจีน คนไทยจึงเรียกติดปากว่า “ปลากัดจีน” แต่จริงๆ แล้ว ประเทศจีน ไม่มีปลากัด มันคือปลากัดไทยนี่แหละ

...

จุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่เมืองหลวง “ปลากัด”

กูรูปลากัด เล่าอย่างมีความสุขว่า เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน คนขับรถที่ทำงานใน ม.ศิลปากร คนหนึ่ง ก็ทำงานขับรถรับส่งอาจารย์คนหนึ่ง ระหว่างวันก็มีเวลาว่าง ก็เดินแถวสนามหลวง ตอนนั้นมีคนเอา “ปลากัด” มาขาย ก็ดูๆ ก็ซื้อมา 5-10 บาท

เมื่อซื้อกลับมา เขากับภรรยาก็ช่วยกันเพาะพันธุ์ขึ้นมา กลายเป็นปลากัดสวยงาม จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ “นครปฐม” จึงกลายเป็นเมืองหลวงของปลากัด

ทำไม “นครปฐม” จึงกลายเป็นเมืองหลวงของปลากัด ผู้เขียนเองก็งง คุณเอกก็ได้ไขคำตอบทันควัน คือ นครปฐมคือเมืองของฟาร์มหมู แต่...ด้วยความที่มีหมูเยอะนี่แหละครับ จึงมีแหล่งอาหารชั้นดีของปลากัด คือ “ไร” ที่มีมากตามฟาร์มหมู

เพราะ “ลูกปลากัด” ยังไม่สามารถกินลูกน้ำได้ จึงต้องกิน “ไร” แทน ซึ่งนครปฐมถือว่ามีอาหารสำหรับปลากัดสมบูรณ์มากจึงเกิดฟาร์มปลากัดมากมาย และกลายเป็นสินค้าส่งออก

จากข้อมูลกรมศุลกากรพบว่า ในปี 2563 “ปลากัดไทย” ส่งออกไปยัง 74 ประเทศทั่วโลก มูลค่า 213,659,261 บาท โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 108,282,383 บาท (50.68%) รองลงมา จีน (19 ล้านบาท) อินเดีย (10.6 ล้านบาท) ญี่ปุ่น (10 ล้านบาท)

ส่วนในรอบ 2 เดือนปี 2564 (มกราคม-กุมภาพันธ์) มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 35,627,434 บาท ประเทศที่ส่งออกมากที่สุด คือ สหรัฐฯ มูลค่ามากกว่า 17 ล้านบาท รองลงมาคือฝรั่งเศส (1.9 ล้านบาท) จีน (1.7 ล้านบาท)

ช่วงเทศกาลที่มีส่งออกปลากัดมากที่สุด คุณเอกให้ข้อมูลว่าเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ เพราะบางประเทศถือเป็นการให้ของขวัญอย่างหนึ่ง โดยมีการขายกันเป็นล้านๆ ตัวเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน นครปฐมเองก็มีฟาร์มปลากัดมากกว่า 500 ฟาร์ม ฟาร์มใหญ่ๆ มีปลากัด 200,000 - 500,000 ตัว ถ้าเป็นฟาร์มเล็กๆ ก็มีระดับหมื่นตัว ด้วยเหตุนี้ นครปฐม จึงเปรียบเสมือน “เมืองหลวงของปลากัด” เพราะมีประชากรนับไม่ถ้วนเลย...

ปัจจุบันธุรกิจฟาร์มปลากัด ถือเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ และส่วนตัวเชื่อว่าตลาดยังเติบโตได้มากกว่านี้ ที่ผ่านมา ทราบข้อมูลจากกรมประมงว่า แต่ละปี มีการส่งออกประมาณ 800 ล้านบาท รวมกับอีกบางส่วนที่ยังไม่ทราบตัวเลขแน่ชัด มูลค่ารวมจึงคาดว่ามากกว่าพันล้านบาท อีกทั้งเวลานี้รัฐบาลก็ให้การสนับสนุน ทั้งกรมประมง สสว. และไปรษณีย์ไทย ที่เปิดโอกาสให้ส่งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (เมื่อก่อนไม่ให้ส่งของที่เป็นสิ่งมีชีวิต)

...

“ส่วนหนึ่งเพราะ “ปลากัด” เป็นปลาที่ค่อนข้างอึด เลี้ยงง่าย ขอแค่ไม่เอาไปตากแดด มันก็ไม่ตาย ขอแค่ให้อากาศอยู่ในถุงก็สามารถอยู่ได้ยาวนาน ซึ่งมีอยู่เคสหนึ่งส่งไปบราซิล แถมยังส่งผิดไปติดค้างอยู่ที่อื่น เรียกว่ากว่าจะถึงมือผู้รับก็ผ่านมาแล้ว 20 กว่าวัน แต่มันก็ไม่ตาย แต่อาจจะซูบผอมไปบ้าง แค่ให้อาหารตามปกติมันก็กลับมาฟื้นใหม่” คุณเอก เล่าอย่างเมามัน

มูลค่าปลากัดไทย ขึ้นอยู่กับ ความนิยม และตลาด

สำหรับ มูลค่าของปลากัด ขึ้นอยู่กับ...ความนิยม และตลาด ยกตัวอย่าง ตัวผมเอง ได้ประมูลปลากัด “ไตรรงค์” ในราคาที่สูงสุดในโลก ราคา 53,500 บาท สาเหตุที่ประมูลมา เพราะทำงานด้านถ่ายภาพ จึงอยากถ่ายภาพปลากัดที่มีสีธงชาติเพื่อให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ปลากัด เป็นปลาชนิดเดียวในโลกที่ทำให้สีธงชาติไทยไปปรากฏบนตัวปลาได้ ตรงนี้เองคือคุณค่าของปลากัดที่เราตั้งใจประมูลมา

เบื้องหลังการประมูล...วันนั้นคือ ดุเดือดมาก เริ่มต้นจากราคา 99 บาท มีการแข่งขันกัน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีแรกราคาเพิ่มขึ้นไปถึง 57,500 บาท แต่ว่ามีกติกาอยู่ข้อหนึ่ง คือ ห้ามประมูลช้ากว่า 2 นาที ซึ่งคนที่ประมูลต่อจากผมนั้นทำผิดกติกา แอดมินได้แจ้งเรื่องนี้ในภายหลัง “ผมจึงถือว่าเป็นผู้ชนะ”

...

เป้าหมายการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลากัด เอก นครปฐม เผยว่า ผู้เพาะพันธุ์ปลากัด พยายามเพาะพันธุ์ให้ออกมาเป็นสีต่างๆ เช่น ทำให้ออกมาเป็นสีเดียว คือ ขาว แดง ดำ เหลือง หรือจะแบบสีผสม แดงผสมน้ำเงิน จนออกมาเป็นสีธงชาติ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเกล็ดอีก คือ เกล็ดเคลือบเงา กับ ไม่เงา อีก

เพราะตัวปลากัดเอง สามารถผสมพันธุ์ให้สีออกมาได้หลากหลาย ซึ่งคุณค่าของปลาจึงอยู่ที่ตรงนี้ บวกกับความนิยมของแต่ละชาติแตกต่างกัน เช่น ในยุโรป เขาไม่ชอบปลากัดสีขาวล้วน เพราะชีวิตเขาเจอแต่หิมะ จะเลี้ยงปลาสีขาวอีกก็หาใช่เช่นนั้น (หัวเราะ)

ปลากัดสีธงชาติ ถ้าคนไทยเห็นเป็นธงชาติไทย ก็รู้สึกโดนใจ รู้สึกดีที่ได้เลี้ยง... ในขณะที่คนจีนจะชอบปลาสีแดง สีทอง เพราะความหมายดี ส่วนคนญี่ปุ่นก็จะชอบปลาสีขาว

“คนไทยชอบเลี้ยงปลาตามกระแสนิยม หลายปีก่อน ชอบคล้ายปลานีโม่ ก็เลี้ยงสีคล้ายนีโม่ เวลานี้ชอบแนว กาแล็คซี่ ก็คือ ปลาตัวดำๆ มีจุดสีฟ้าบนตัวปลา”

ปลากัดราคาไม่แพง แต่อนาคตไม่แน่...

สำหรับเรตราคาปลากัด แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ ปลาแบบมีเกรด และ ปลาลัง (ขายจำนวนเยอะ)
ปลาลัง 5 - 30 บาท/ตัว เช่น ปลากัดจีน ปลากัดคราวน์เทล ฮาฟมูน
ปลาเกรดดี (ไม่ถึงขั้นประกวด) ราคา 300 บาท
ปลาเกรดประกวด ประมาณ หลักพันถึงหลักหมื่น
ปลากเกรดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะเริ่มต้นหลักพันถึงหลายหมื่นบาท

...

กรรมการสมาคมปลากัด ยังบอกด้วยว่า ส่วนตัวเชื่อว่าราคาปลากัดอาจจะแพงขึ้นกว่านี้ ถึงแม้เวลานี้จะราคาไม่แพง แต่ถ้าวันนี้สามารถผสมสีปลากัดออกมาได้เป็นสีธงชาติอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เราสามารถผสมพันธุ์ปลาออกมาขาวทั้งตัว มีจุดแดงตรงกลาง ผมถามว่าคนญี่ปุ่นจะซื้อไหม ราคาค่าเงินของญี่ปุ่นเป็นยังไง มูลค่าจะเพิ่มขนาดไหน ราคาอาจจะพุ่งขึ้นเป็นแสนเลยก็ได้

ปลากัดกาแล็คซี่
ปลากัดกาแล็คซี่

ของแถมเกร็ดความรู้การผสมสีปลากัด

กรรมการสมาคมปลากัดเผยเคล็ดลับการผสมสีปลากัดว่า ความเป็นจริงไม่มีกฎตายตัว ส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้จินตนาการส่วนตัว ผสมกับความชำนาญ แต่...เคยถามพี่ที่รู้จักผสมปลากัดสีไตรรงค์ เขาบอกว่า เขาใช้ปลากัดตัวเมียสีน้ำเงิน ตัวผู้สีแดง ผสมพันธุ์กัน

คำถามคือ แล้วสีขาวมาจากไหน...คำตอบคือ “สีขาว” คือ ยีนด้อย เกิดขึ้นเอง ดังนั้นจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยก็แล้วแต่มันจะเกิด ดังนั้นปลากัดที่ได้ครอกหนึ่ง จะมีทั้งขาว แดง น้ำเงิน หรือแดงน้ำเงิน ไม่มีสีขาว จากนั้นก็คัดเลือกปลาที่สวยที่สุดมาพัฒนาต่อ จนกระทั่งเป็นสีธงชาติในที่สุด ทำให้ยีนปลากัดที่ได้เริ่มนิ่งขึ้น...นี่คือข้อมูลจากกูรู

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ขอบคุณภาพทั้งหมดจาก คุณ เอก นครปฐม 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ