• ปี 2563 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มากถึง 13% โดยคาดว่า ในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นถึง 16.2%
  • "โอกาสทอง" ของ "ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุ" กับการชิงเค้กหมุดหมายดึง "ต่างชาติวัยเกษียณ" มาพักกายที่เมืองไทย
  • การทำ "ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุ" จะไม่ได้เป็นเพียงแค่การขายอสังหาฯ ธรรมดา แต่ต้องมีฟังก์ชันสุขภาพร่วมด้วย

"ในวิกฤติย่อมมีโอกาส" ...ประโยคนี้ยังคงหยิบมาใช้ได้เสมอ เพราะในเวลานี้ แม้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ Aged Society หรือ "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" จนเกิดความกังวลถึง "ปัญหา" ทางสังคมในหลายๆ ด้าน แต่ขณะเดียวกันในทาง "ธุรกิจ" กลับมองเห็น "โอกาสทอง" ที่มีแววว่าจะเติบโตดีในอนาคต

ณ เวลานี้ คุณคิดว่า "ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกี่คน?"

คำตอบ คือ มากกว่า 12 ล้านคน!

หากคิดเป็นสัดส่วนของประชากรทั้งหมดนั้น ในปี 2563 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มากถึง 13% เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่แล้วที่มีเพียง 10.6% เท่านั้น โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 16.2%

ซึ่งตัวเลขที่ปรากฏเช่นนั้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งการลดขนาดครอบครัวลง และการที่ช่วงชีวิตการดำรงชีพนานขึ้น จนส่งผลให้ประชากรสูงอายุมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการคาดการณ์อีกว่า ประเทศไทยจะกลายเป็น Super Aged Society หรือ "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด" ภายในปี 2573 หมายความว่า ในห้วงเวลานั้นจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 30% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่า ในปี 2643 จะมีมากถึง 35.1% ทีเดียว

...

การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยเหล่านี้ในประเทศไทย บอกได้เลยว่าเป็น "โอกาส" ที่มีนัยสำคัญต่อการลงทุนในกลุ่มธุรกิจต่างๆ มากมายมหาศาล ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มการดูแลสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยี, ยานยนต์, บันเทิง, ท่องเที่ยว และกลุ่มที่พัก-อสังหาริมทรัพย์

นี่ถือเป็น "โอกาสทอง" ของเศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) เลยก็ว่าได้

อาจยังนึกภาพไม่ออก ตัวเลขคร่าวๆ ปี 2559 ประเทศไทยมีการจับจ่ายใช้สอยในการดูแลสุขภาพมากถึง 3.71% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทีเดียว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะ "กลุ่มสูงวัย" ที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราการใช้จ่ายเงินจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ฉะนั้น ไม่ต้องรอช้า... เราจะมาเจาะ "โอกาสทอง" ของหนึ่งในธุรกิจที่ "แววดี" ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็น "สังคมสูงวัย" นั่นก็คือ "ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุ"

คุยเรื่องบ้านๆ กับ "นักธุรกิจเบอร์ใหญ่" วงการอสังหาฯ

"บ้านผู้สูงอายุมีโอกาสโตอยู่แล้ว"

อธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เริ่มบทสนทนาด้วยการมอง "โอกาส" ของ "ธุรกิจบ้านสูงอายุ" ผ่านภาพที่เกิดขึ้นตลอด 1-2 ปีนี้ ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราก็มีโอกาสเห็นคนเริ่มมาจับธุรกิจบ้านผู้สูงอายุอยู่พอสมควร และอนาคตก็มีแววว่าน่าจะเติบโตไปได้ดีพอสมควร แต่นี่บังเอิญมาติดเรื่องภาวะที่ผิดปกติซะก่อน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติโควิด-19 หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ก็เลยทำให้ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุมีการชะลอตัวลงบ้าง แต่ดูลักษณะอนาคต คือ ถ้าเรามองข้ามช่วงนี้ไปสัก 1-2 ปี แนวโน้มธุรกิจบ้านผู้สูงอายุคงจะมีการกลับมาเติบโตเหมือนเดิม แต่การแข่งขันอาจยังไม่รุนแรงมากนัก ค่อยเป็นค่อยไป

อธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)
อธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

...

หากมอง "ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุ" ดีๆ นั้น แนวโน้มน่าจะมี "โอกาส" ทั้ง 2 แบบ คือ ผู้พัฒนาเป็นคนไทย แต่ "ผู้โอเปอเรเตอร์" อาจเป็นการร่วมกับต่างประเทศ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ความชำนาญในด้านการบริหารงานบ้านผู้สูงอายุในเมืองไทยยังมีข้อจำกัดอยู่นิดหน่อย ซึ่งถ้าพูดตามตรง ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ยังมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการจับมือกับกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล

หากเป็นเช่นนี้ เราต้องทำอย่างไร...หากต้องการเข้าสู่ "ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุ" นี้?

"อธิป" มองว่า ในอนาคต เราจะต้องไปเรียนรู้กับผู้ประกอบการที่ทำด้านธุรกิจบ้านผู้สูงอายุที่ต่างประเทศเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, อเมริกา แล้วก็ยุโรป แต่จริงๆ แล้วเราก็ไปดูงานกันมาพอสมควร แนวโน้มอาจจะต้องเริ่มต้นจากการว่าจ้างแบบร่วมทุน ที่น่าสนใจในอนาคต คือ อาจจะมี "ผู้พัฒนาต่างประเทศ" เข้ามาทำในเมืองไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกของธุรกิจบ้านผู้สูงอายุนี้ จะเป็นลักษณะคนไทยทำฮาร์ดแวร์ แล้วคนต่างชาติเข้ามาดำเนินการ หรือการร่วมทุน เป็นจอยท์เวนเจอร์กัน

...

"ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุ" มีโอกาสเติบโต แต่ต้องรอพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 เพราะอะไร?

"อธิป" อธิบายภาพว่า ในตอนนี้ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุในไทย ส่วนหนึ่งมีทาร์เก็ตกรุ๊ปเป็น "คนต่างประเทศ" แล้วคนต่างประเทศเดินทางเข้ามาไทยไม่ได้ แม้ตลาดภายในประเทศจะเติบโต แต่ก็ในอัตราหนึ่ง ไม่ได้เยอะมาก ซึ่งแนวโน้มที่เราคิดว่ามีการเติบโต คือ ต้องมีการเสริมคนต่างชาติให้เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย

อย่างเช่น ตอนนี้ที่มีการคุยกัน อาทิ ญี่ปุ่น ก็มีความสนใจที่จะมาอยู่เป็นรีไทน์เมนต์ หรือเป็นบ้านผู้สูงอายุในเมืองไทย พูดง่ายๆ ว่ามาพักผ่อนชีวิตหลังเกษียณที่นี่ แล้วก็มีคนแถบสแกนดิเนเวียและออสเตรเลีย ที่ก็สนใจมาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เมืองไทยเช่นกัน เพราะว่า 1.เราอยู่ในโซนที่มีภูมิอากาศไม่เป็นภัยต่อผู้สูงอายุ ไม่ได้หนาวจัด ฤดูกาลของเราค่อนข้างเสถียร อันที่ 2.การบริการและความคุ้มค่าของเงินเขาที่มาอยู่เมืองไทย ดีกว่าการอยู่ประเทศเขาเอง แล้วก็ข้อที่ 3.เมืองไทยเราเป็นจุดเริ่มต้น ฉะนั้น การที่เราจะใช้การจัดการจากต่างประเทศที่มีโอกาสสูง ก็จะมีแนวโน้มที่คนต่างประเทศก็จะเชื่อมั่นว่า เราไม่ได้บริหารเอง คนญี่ปุ่นมาเนี่ย คนไทยไม่ได้บริหารเอง เพราะต้องจ้างบริษัทเขามาด้วย

จากวิกฤติโควิด-19 "ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุ" ต้องชูฟังก์ชันด้านสุขภาพเป็นจุดขายร่วม?

...

"อธิป" เห็นด้วยว่าต้องเสริมเข้ามา พร้อมบอกว่า โดยหลักการแล้ว การบริหารบ้านผู้สูงอายุจะมีรูปแบบของมันอยู่ว่าจะต้องมีการบริการแบบไหน แบ่งเป็นระดับอายุ ซึ่งที่เมืองนอกจะแบ่งเป็น 1.ระดับที่ไม่ได้ติดเตียง ไม่ได้ต้องการการดูแลมากนัก แล้วก็ 2.ระดับที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ก็จะมีประมาณ 2 ระดับใหญ่ๆ ถ้าระดับ 3 ก็ต้องไปอยู่โรงพยาบาลแล้ว

ดังนั้น ใน 2 ระดับนี้ เมืองไทยจะทำจากระดับแรกก่อน คือ ผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองได้ เพิ่งเกษียณใหม่ๆ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสุขภาพมากนัก แต่ว่าเราก็จะต้องพัฒนาสู่ระดับที่ 2 คือ ผู้สูงอายุที่อาจช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มาก แต่ว่ายังไม่ถึงขั้นไปนอนโรงพยาบาล เป็นผู้ป่วยติดเตียง ส่วนระดับที่ 3 ต้องไปร่วมกับโรงพยาบาลเลย แต่ทีนี้ระดับที่ 2 ก็ต้องมีการจอยท์เวนเจอร์กับโรงพยาบาลระดับหนึ่ง ส่วนระดับที่ 1 ไม่ต้อง ซึ่งลักษณะของผู้มาบริหารจะเป็นผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องการบริหารการบริการผู้สูงอายุ ทั้งการดูแลทั่วไปและจัดกิจกรรม

หากคิดภาพตามดังที่ว่านี้ "โอกาส" ของ "ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุ" ในไทย น่าจะเป็นลักษณะ "คอมมูนิตี้" มากกว่าพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบโดดๆ ใช่หรือไม่?

"อธิป" ยืนยันว่า "ใช่!" พร้อมอธิบายว่า เราพัฒนามาจากระดับที่ 1 คือ ซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก และคนที่เข้ามาพักต้องการการบริการระดับหนึ่ง ช่วยตัวเองได้ พอมาระดับที่ 2 เนี่ย อสังหาริมทรัพย์จะเป็นระดับรอง การบริการจะเป็นระดับหลัก

"จะเข้าใจได้ว่า อันแรกเนี่ยคนต้องการฮาร์ดแวร์ ไม่ต้องการซอฟต์แวร์ ระดับที่ 2 คือ ต้องการซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์"

พอจะเห็นทิศทางในอนาคตของ "ธุรกิจบ้านผู้สูงอายุ" ได้ชัดเจนทีเดียว กับการพัฒนา "บ้าน" ที่ไม่ใช่แค่เรื่องบ้านๆ โดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่หากเปิดน่านฟ้าได้เต็มศักยภาพเมื่อไร "โอกาสทอง" ที่จะชิงเค้กหมุดหมายที่พัก "ต่างชาติวัยเกษียณ" ก็น่าจะดุเดือดไม่น้อย ใครอยากลงสนาม...ก็วางแผนแต่เนิ่นๆ ได้เลย.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Phantira Thongcherd

ข่าวน่าสนใจ: