I Care a Lot “ห่วง…แต่หวังฮุบ” หนังเรื่องใหม่ของ Netflix ที่หน้าหนังดูสุดแสนจะธรรมดา นักแสดงนำก็อยู่ในระดับกลางๆ ของฮอลลีวูด อาทิ โรซามันด์ ไพด์ (ถ้าใครเคยดู Gorn Girl ก็น่าจะจำได้), ไอซ่า กอนซาเลซ หรือจะเป็น ปีเตอร์ ดิงเคลจ ไทเรียน จาก Game Of Thrones ภาพรวมน่าจะเรียกว่าเป็น “หนังนอกสายตา” ก็ว่าได้ แต่ประเด็นที่หนังนำเสนอนั้นเรียกว่า “น่าสนใจ”
หนังว่าด้วย 2 สาวสุดแสบ ที่เสแสร้งทำตัวเป็นคนดี มาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ดีๆ ที่ห่วงใยสุขภาพคนแก่ แต่ลับหลังกลับไปฮั้วบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อหาเหยื่อ คือ “คนชรา” ที่ไม่มีลูกหลาน หรือลูกหลานที่ไม่ค่อยได้เรื่อง จากนั้นก็ออกใบรับรองแพทย์ ยื่นร้องต่อศาลครอบครัวว่า คนชรานั้นมีปัญหา ไม่อาจอยู่คนเดียวได้ และใช้เล่ห์ทางกฎหมายบีบบังคับให้เขาหรือเธอต้องกระเด็นจากบ้านของตัวเองที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิต เข้าไปอยู่บ้านพักคนชรา
จากนั้น 2 สาวแสบก็แปลงร่างเป็นนางสิงห์ ตะครุบลูกแกะที่โรยรา กลืนกินฮุบทรัพย์สมบัติของพวกเขาจนเกลี้ยง เรียกว่า “หน้าเนื้อใจเสือ” ของจริง
...
สิ่งที่เกริ่นมา 3 ย่อหน้า คือเนื้อหาในหนัง ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร คงต้องไปดูกันเอาเอง แต่..ความน่าสนใจของเรื่องนี้ คือ เมื่อเรากลับมามองสังคมไทยในเวลานี้เริ่มกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย มีอัตราการตายเพิ่มขึ้น การเกิดลดลง และคาดกันว่าภายในปี 2565 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (อ้างอิงจาก รายงาน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย พบว่า รอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ช้ามาก คือ เพิ่มไม่ถึงร้อยละ 0.5 ต่อปี ต่างกับเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่าร้อยละ 3 ต่อปี)
แน่นอน... เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น ก็มีปัญหาอื่นๆ ตามมา รวมไปถึงปัญหา "การบริหารจัดการทรัพย์สิน" ซึ่งสังคมไทยในยุคนี้ก็เปลี่ยนไปจากเดิมมาก จึงเริ่มมีแนวคิดผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติบริหารทรัพย์สินส่วนบุคคล หรือภาษาบ้านๆ “พ.ร.บ.ทรัสต์” เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้เองมีส่วนคล้ายคลึงกับประเด็นในหนัง
ผู้เขียนเองได้พูดคุยกับ ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการเงิน ที่ร่วมทำวิจัยให้กับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย หรือ มส.ผส. ได้สรุปแนวคิดร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ฟังว่า ปัจจุบันกฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีตัวไหนรองรับเรื่องการ “บริหารจัดการทรัพย์สินให้กับผู้สูงอายุ” เป็นการเฉพาะ ที่ผ่านมา มีความพยายามร่าง “พ.ร.บ.ทรัสต์” แต่สุดท้ายก็มีเหตุให้ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้ไปต่อ
ความเป็นจริงแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความตั้งใจในการบริหารทรัพย์สินของทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุที่ไปไม่ถึงสภา เพราะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงมาตรการ หรือกลไกทางกฎหมายอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยเริ่มจะเข้าสู่สังคมสูงวัย มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวเป็นจำนวนมาก และมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน แต่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือบางคนมีทั้งที่ดินและมีเงิน แต่ขาดคนดูแล เช่น การรักษาพยาบาล การใช้ชีวิตประจำวัน หรือออกไปบริหารจัดการเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน
“สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา คือ ใช้กฎหมายตัวเดียวไปจัดการไม่ได้ ที่ผ่านมาจึงเริ่มมีมาตรการออกมาใช้ ที่ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นโปรดักส์ของธนาคาร คือ Reverse Mortgage (สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ) คือเอาบ้านไปจำนองกับธนาคาร แล้วเอารายได้กลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับคนที่ไม่มีลูกหลาน หรือไม่คิดจะส่งต่อทรัพย์สิน”
แต่ปัญหาคือ มันขัดกับทัศนคติของคนไทยที่มองเรื่อง Reverse Mortgage หรือ จำนองย้อนกลับ เขาจะคิดว่ากลับมาเป็นหนี้อีก ซึ่งส่งผลต่อความสบายใจของผู้สูงอายุ ถึงแม้ความเป็นจริงในทางกฎหมายมันไม่ใช่แบบนั้น 100% ก็ตาม
...
ดร.ณรัณ อธิบายว่า ความเป็นจริงผู้สูงอายุบางคนอาจจะไม่มีลูก แต่อาจมีหลาน หรือคนที่อยากจะส่งต่อมรดก ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ Reverse Mortgage ถือว่าไม่เหมาะ เพราะ คนที่จะเข้ากับคอนเซปต์ Reverse Mortgage คือคนที่ไม่คิดส่งต่อมรดกให้ใครเลย...
ในขณะที่ คอนเซปต์ของทรัสต์ (Trust) คือ “ความไว้ใจ” แต่คนไทย ไม่ไว้ใจ “ธนาคาร” หรือคนแปลกหน้า!
การบริหารจัดการทรัพย์สินให้กับผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทย ถือเป็นเรื่องใหม่มาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ดร.ณรัณ ได้ยกตัวอย่างให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า กฎหมายทรัสต์ มีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการใช้บริหารทรัพย์สินข้ามเจเนอเรชั่น โดยมีแนวคิดว่าจะส่งต่อทรัพย์สินแบบไหนไม่เสียภาษี หรือใครมาโกงไป จากนั้นเขาก็เอาแนวคิดนี้มาช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งมี know-how มา 500 ปีแล้ว ส่วนประเทศไทยเพิ่งเริ่ม..เพราะไม่เคยคิดว่าผู้สูงอายุต้องดูแลตัวเอง แต่จะเป็นลักษณะครอบครัวใหญ่ ผู้สูงอายุคิดว่ายังไงลูกหลานต้องดูแล แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุต้องดูแลตัวเอง แต่เราไม่เคยสร้างองค์ความรู้ตรงนี้เลย
...
ร่างกฎหมายทรัสต์สำหรับผู้สูงอายุ ระบุว่า ให้ผู้บริหารทรัพย์สินถือครองเพื่อประโยชน์แก่ตัวผู้สูงอายุเอง จนกว่าจะแก่ตาย แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า ผู้บริหารทรัพย์สินที่ถูกกำหนดว่าจะต้องเป็น ผู้ประกอบธุรกิจเฉพาะ เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ (บลจ.) หรือ ผู้ดูแลจัดการทรัพย์สิน (Trustee) ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
“ในความเป็นจริง ผู้สูงอายุจะไว้ใจให้ ธนาคาร มาบริหารหลักทรัพย์หรือไม่? เขาไม่ไว้ใจหรอกครับ ผู้สูงอายุ ส่วนมากเขาก็จะไว้ใจคนที่อยู่กับเขา เช่น ลูกหลาน หรือเพื่อนบ้านที่อยู่ด้วยกันมา 30 ปี ซึ่งคนเหล่านี้เป็นบุคคลธรรมดา ไม่สามารถมาเป็น Trustee ได้ สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือ ตัวร่างกฎหมายดังกล่าวถูกถอดแบบมาจาก กฎหมายทรัสต์ ซึ่งเป็นกฎหมายธุรกรรมในตลาดทุน ซึ่งมันไม่ใช่เลยกับเรื่องการบริหารสินทรัพย์ของผู้สูงอายุ จึงเป็นที่มาของการตีกลับให้มาทบทวน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดของคนชรา”
ส่วนกรณีที่คนชรานั้นอาจจะเป็น “บุคคลไร้ความสามารถ” ในกฎหมายไทยสามารถทำได้ตามกฎหมายแพ่ง แต่...ประเด็นคือ คนที่จะขอได้ มีแค่ลูกหลานเท่านั้น ถึงแม้หมอจะมีใบรับรองแพทย์ประเมินว่าไม่สามารถดูแลตัวเองได้ก็ตาม (แตกต่างจากในหนังโดยสิ้นเชิง) สาเหตุเพราะประเทศไทยมีระบบครอบครัวใหญ่
“กลับกัน ประเทศเรากำลังเจอปัญหา การหลอกญาติผู้ใหญ่ตัวเองเพื่อเอาทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งการทำร้ายกันเพื่อแย่งทรัพย์สินจากพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย ซึ่งมีหน่วยงานเดียวที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ก็คือ หน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเขาจะมีอาสาสมัครเข้ามาดูแล หากผู้สูงอายุถูกเอาเปรียบจากลูกหลาน ซึ่งสามารถยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อมีคำพิพากษาเพื่อคุ้มครองผู้สูงอายุ”
...
ในเมืองไทย การช่วยบริหารทรัพย์สินผู้สูงอายุมีหลายวิธี เช่น มีกองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน ซึ่งหน่วยงานลักษณะนี้มีประมาณ 6-7 หน่วยงานที่มีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุ
คำถามคือ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าบริษัทเอกชนมีโอกาสเข้ามาบริหารทรัพย์สินคนชรา ดร.ณรัณ กล่าวว่า ขอพูดตามตรงเลยว่า ในระบบเศรษฐกิจ ถ้ามีตรงไหนสามารถทำเงินได้ เอกชนไปหมด
“ยกตัวอย่างเช่น เวลานี้ บริษัทเอกชนระดับยักษ์ใหญ่ของไทยหรือของโลก กำลังลงทุนสร้างบ้านพักคนชรา ซึ่งบ้านพักคนชราเหล่านี้ เป็นบ้านพักคนชราที่ตอบสนองกลุ่มคนที่มีเงินเท่านั้น ซึ่งสาเหตุเพราะเขาเห็นช่องทางทำเงิน ในขณะที่บ้านพักคนชราสำหรับคนจนเองก็มีไม่มาก เอาเป็นว่า ถ้าเอกชนเห็นช่องทางในการเข้ามาดูแลผู้สูงอายุ แล้วทำกำไรได้ ยังไงเขาก็มา..”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน มองว่า ทุกประเทศมีปัญหาสไตล์นี้หมด ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกง หลอกลวงผู้สูงอายุ ในหลายประเทศอาจจะมีปัญหานี้มาก่อนเรา โดยเฉพาะฝรั่ง ซึ่งเป็นสังคมเดี่ยว ซึ่ง “ความรู้” การบริหารจัดการทรัพย์สิน ฝรั่งจะถูกสอนมาดีตั้งแต่เด็ก หรือเริ่มทำงาน ที่สำคัญคือ เขามีการวางแผนสำหรับวัยเกษียณ โดยเฉพาะฝรั่งจากโซนยุโรป หรืออเมริกา
แต่สำหรับเมืองไทย ยังมีคอนเซปต์ว่า “ลูกหลานต้องเลี้ยงดู” ฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป.
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
อ่านข่าวที่น่าสนใจ