“ขยะทะเล” มันคือ ปัญหาที่เกิดมาจากน้ำมือมนุษย์ ที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือสะสมปัญหาจากรุ่นสู่รุ่น จนทุกวันนี้เรียกว่าเต็มท้องทะเลเลยก็ว่าได้ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีส่วนร่วมมิใช่น้อย เป็นประเทศลำดับต้นๆ ของโลก ที่ร่วมสร้างผลกระทบนี้ แต่..ยังดีที่ตอนนี้เริ่มตื่นตัวแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการจากไปของพะยูนน้อย “มาเรียม” ที่กินพลาสติกเข้าไป แม้สัตวแพทย์ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้

ทั้งนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้ข้อมูลปัญหา “ขยะทะเล” ไทยว่า จากข้อมูลในปี 2559 คาดว่ามี “ขยะทะเล” ในพื้นที่ของไทยมีปริมาณ 10.78 ล้านตัน โดยสามารถนํากลับมาใช้ประโยชน์ได้ 1.67 ล้านตัน (ร้อยละ 15) มีการกําจัดที่ถูกต้อง 6.28 ล้านตัน (ร้อยละ 59) และกําจัดไม่ถูกต้อง 2.83 ล้านตัน (ร้อยละ 26)

สำหรับ ขยะมูลฝอยที่กําจัดไม่ถูกต้อง มักจะเป็น “ขยะพลาสติก” ประมาณ 339,600 ตัน (ร้อยละ 12) ในจำนวนนี้ ร้อยละ 10-15 หรือ ประมาณ 33,900-51,000 ตัน จะกลายเป็น “ขยะทะเล” มีโอกาสตกค้างในธรรมชาติ

...

คำถามคือ ไฉน “ขยะ” ถึงไปรวมอยู่ในใต้พื้นมหาสมุทร คำตอบของคำถามนี้ง่ายๆ คือ ขยะก็ลอยมาตามน้ำนี่แหละ...

กว่า 80% ของขยะใต้ทะเล มาจากขยะบนบก ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะตามบ้านเรือน ขยะจากเมือง ขยะในแม่น้ำคลอง โรงงานอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เองก็ไหลไปรวมลงแม่น้ำก่อนออกสู่ทะเล

9 ปากแม่น้ำ ไหลรวมขยะลงสู่มหาสมุทร

จากข้อมูลเศษเสี้ยวหนึ่งของ “ธนาคารโลก” ระบุไว้ว่า 90% ของ “ขยะ” ในทะเลทั่วทุกมุมโลกมาจากแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยก็เฉกเช่นเดียวกัน นายโสภณ ให้ข้อมูลว่า เรามีสถานีศึกษาขยะปากแม่น้ํา 9 แห่ง ได้แก่ บางปะกง (ฉะเชิงเทรา) เจ้าพระยา (สมุทรปราการ) ท่าจีน (สมุทรสาคร) แม่กลอง (สมุทรสงคราม) บางตะบูน (เพชรบุรี) ทะเลสาบสงขลา (สงขลา) แม่น้ําปัตตานี (ปัตตานี) บางนรา และแม่น้ําโกลก (นราธิวาส) โดยแบ่งเป็น อ่าวไทยตอนบน 5 สถานี และอ่าวไทยตอนล่าง 4 สถานี

ซึ่งในปี 2563 พบว่า มีขยะลอยไปติดถุงอวนขนาดปากกว้าง 5 เมตร ลึก 2 เมตร เฉลี่ย 25,741 ชิ้น/วัน (น้ําหนัก 398 กก./วัน) หรือคิดเป็น 9,395,465 ชิ้น/ปี (น้ําหนัก 145 ตัน/ปี)

ขยะทะเลที่พบส่วนใหญ่ไหลออกมาจากปากแม่น้ําบริเวณอ่าวไทยตอนบน พบปริมาณขยะเฉลี่ย 38,914 ชิ้น/วัน (น้ําหนัก 567 กก./วัน) โดยพบปริมาณขยะที่ไหลผ่านมาทางปากแม่น้ําเจ้าพระยามากที่สุด (จํานวนเฉลี่ย 58,277 ชิ้น/วัน น้ําหนัก 462 กก./วัน) รองลงมาคือ ปากแม่น้ําแม่กลอง ปากแม่น้ําท่าจีน และปากแม่น้ําบางปะกง ตามลําดับ

ส่วนบริเวณปากแม่น้ําอ่าวไทยตอนล่างพบปริมาณขยะเฉลี่ย 9,275 ชิ้น/วัน (น้ําหนัก 85 กก./วัน) พบขยะลอยน้ําไหลผ่านปากทะเลสาบ สงขลาออกสู่ทะเลมากกว่าปากแม่น้ําอื่นๆ จํานวนเฉลี่ย 22,730 ชิ้น/วัน (น้ําหนัก 414 กก./วัน) รองลงมาคือ ปากแม่น้ําโกลก

ประเภทวัสดุที่ก่อให้เกิดขยะมากที่สุด คือ พลาสติกแผ่นบาง คิดเป็น 62% ของจํานวนชิ้นขยะทั้งหมด (15,959 ชิ้น/วัน) รองลงมาคือพลาสติกแข็ง (15%, 3,861 ชิ้น/วัน) วัสดุผ้าและไฟเบอร์ (10%, 2,574 ชิ้น/วัน) ตามลําดับ

นายโสภณ บอกกับผู้เขียนว่า เมื่อเปรียบเทียบ ปริมาณขยะลอยน้ําที่ไหลลงสู่ทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบน จํานวน 5 ปากแม่น้ํา ในช่วงปี 2560-2562 จะเห็นได้ว่าปริมาณขยะในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเป็นที่น่าสังเกต ว่าปริมาณขยะลอยน้ําที่ไหลผ่านมาทางปากแม่น้ําเจ้าพระยานั้นมีปริมาณลดลงอย่างชัดเจนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

...

โดยในปี 2560 พบปริมาณขยะที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำรวม 45,811,729 ชิ้น (407 ตัน/ปี) โดยปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณขยะลอยน้ำไหลออกสู่ทะเลต่อปีสูงที่สุด 137,452,011 ชิ้น (1,425 ตัน/ปี) รองลงมาคือ ปากแม่น้ำท่าจีน 13,504,287 ชิ้น (361 ตัน/ปี) ปากแม่น้ำแม่กลอง 12,603,264ชิ้น (173 ตัน/ปี) ปากแม่น้ำบางปะกง 6,630,835 ชิ้น (166 ตัน/ปี) และปากแม่น้ำบางตะบูน 3,055,653 ชิ้น (48 ตัน/ปี)

 นายโสภณ ทองดี
นายโสภณ ทองดี

“ขยะทะเล” ทำท่าจะดีขึ้นแต่...โควิดมา ทำให้เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบาย รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการขยะบนบก มีแผนการปฏิบัติงานและแผนการจัดการขยะที่เป็นรูปธรรม และประสิทธิภาพมากขึ้น

“แต่ในปี 2563 นี้เอง บริเวณปากแม่น้ําในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นปากแม่น้ําบางตะบูน ท่าจีน และแม่กลอง มีปริมาณขยะ เพิ่มมากกว่าในช่วงก่อนนั้น เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด การใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจํานวนมากกลายเป็นขยะ ประกอบกับ ในหลายพื้นที่ขาดบุคลากรจัดการขยะบก และการบริหารจัดการขยะขาดความต่อเนื่อง” นายโสภณ กล่าว

...

อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมา เราก็พยายามเอาขยะออกจากทะเลให้ได้มากที่สุด ด้วยการดำเนินการโครงการต่างๆ ร่วมกับภาครัฐ เอกชน หรือภาคเครือข่ายสังคม และการจัดเก็บขยะโดยใช้นวัตกรรมทุ่นกักขยะ (Boom), ทุ่นกักขยะลอยน้ํา (SCG-DMCR Litter Trap) รวมถึงใช้เรือเก็บขยะ (Garbage Boat) ผลคือ เราช่วยกันจัดเก็บขยะตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้รวม ทั้งสิ้น 199,660 กิโลกรัม (หรือประมาณ 199 ตัน)

“ขยะ” ที่พบมากที่สุดในทะเล

สำหรับ ขยะที่พบมากที่สุดในทะเลไทย จากการประเมินจากการจัดกิจกรรม เก็บขยะชายหาดสากล (International Coastal Cleanup-ICC) ที่จัดขึ้นเป็นประจําในเดือนกันยายนของทุกปี และในปี 2563 เก็บได้ทั้งสิ้น 128,563 ชิ้น น้ําหนักรวม 11,337 กิโลกรัม หรือประมาณ 11 ตัน เมื่อมาจำแนกจากขยะที่เก็บได้ จึงคาดการณ์ว่า ขยะที่ยังตกค้างใต้พื้นสมุทรมากที่สุด คือ ถุงพลาสติกอื่นๆ (ร้อยละ 24) เศษโฟม (ร้อยละ 11) ถุงก๊อบแก๊บ (ร้อยละ 10) ขวดเครื่องดื่ม (พลาสติก) (ร้อยละ 10) ห่อ/ถุงอาหาร (ร้อยละ 6) ขวดเครื่องดื่ม (แก้ว) (ร้อยละ 6) เสื้อผ้า/รองเท้า (ร้อยละ 3) ฝาจุกขวด (พลาสติก) (ร้อยละ 3) หลอด/ที่คนเครื่องดื่ม (ร้อยละ 2) พลาสติก อื่นๆ/โฟมกันกระแทก (ร้อยละ 2) และถ้วย/จาน (โฟม) (ร้อยละ 3) ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 77 ส่วนที่เหลือเป็นขยะ ประเภทอื่นๆ (ร้อยละ 23)

...

นายโสภณ กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอย และได้ผลักดันให้ปัญหาขยะมูลฝอยและขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ มีแผน บริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีการดําเนินงานจัดทํามาตรการลดปริมาณขยะ ทะเลในพื้นที่เป้าหมาย
ตามหลักวิชาการในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือ “จิตสำนึก” ของทุกคน ที่ต้องร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โลกของเรายังคงน่าอยู่ คงไม่ต้องให้ผู้เขียนบอกว่าควรทำอะไร ผมว่าทุกคนรู้อยู่แล้ว ขอแค่เริ่มลงมือทำก็เพียงพอ

ผู้เขียน : อาสาม

กราฟิก : เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข้อมูล : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

อ่านข่าว