การระบาดของโควิด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โรงเรียนต้องปิดชั่วคราว ปรับการเรียนการสอนทางออนไลน์แทน ซึ่งประสิทธิภาพอาจไม่เทียบเท่ากับการสอนในห้องเรียน ทำให้การเรียนรู้ของเด็กอาจด้อยไป จากหลายๆ ปัจจัย กระทั่งมีคำสั่งจากกระทรวงศึกษาให้เปิดเรียนในวันที่ 1 ก.พ.นี้

"ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ" ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เห็นด้วยกับคำสั่งให้เปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.พ. เพราะการระบาดของเชื้อโควิด รอบใหม่นี้ต่างจากรอบที่แล้ว โรงเรียนไม่ใช่สถานที่แพร่เชื้อ แต่คล้ายกับที่กักกันโรคของรัฐ ในการดึงเด็กออกจากชุมชน พื้นที่ตลาด และมีระบบควบคุมดูแลที่เข้มงวด โดยครูทำหน้าที่ควบคุมดูแลได้ดีเท่ากับแพทย์

“ไม่เคยพบการติดเชื้อในโรงเรียน จนต้องสั่งปิดโรงเรียน มีแค่ปิดโรงเรียนตามคำสั่งอำนาจรัฐด้วยความกลัวเกินกว่าเหตุ หากคำนวณการปิดโรงเรียนสองรอบ รวม 90 วัน จากทั้งหมด 200 วัน คิดเป็น 40% ทำให้เด็กเกิดความถดถอยทางการเรียนรู้ 20-50% ทั้งด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จากเดิมมีปัญหาอยู่แล้ว เมื่อต้องปิดเรียนเพราะโควิด ยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้น”

...

ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายเยียวยาผลกระทบภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด" แต่โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบเพราะถูกสั่งปิด ความรู้ถดถอยจะมีมาตการเยียวยาอย่างไร จึงอยากให้มีโครงการ “โรงเรียนชนะ” เพื่อเยียวยาโรงเรียนและนักเรียน หากไม่รีบแก้ปัญหาเรื่องการเรียนที่ถดถอย จะส่งผลระยะยาวยากต่อการแก้ไข อยากให้มาช่วยคิดกันว่าจะช่วยเหลือโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็กอย่างไร

รวมทั้งการวัดประเมินผลเด็กในช่วงที่จะกลับมาเปิดเรียนอีกครั้ง ทั้งการประเมินผลเพื่อการพัฒนา และการประเมินเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ ซึ่งเห็นว่าควรจะต้องเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องนวัตกรรม ช่วยเรื่องการอ่านออกเขียนได้ จากความรู้ที่ถดถอย เรื่องอาหารเช้าที่เด็กได้รับผลกระทบ และหาอาสาสมัครมาช่วยครู ดูแลนักเรียนในช่วง 45 วันนับจากนี้

นอกจากนี้ การพิจารณาเรื่องการศึกษา ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ควรมีฝ่ายการศึกษาเข้าร่วมด้วย เพราะกว่า 80% มีสัดส่วนสาธารณสุขและเศรษฐกิจเท่านั้น

"ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค" ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุที่ผ่านมาเด็กไทยอายุต่ำกว่า 10 ขวบ มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ 23 % ขณะที่ประเทศเวียดนามอยู่ที่ 2 % เท่านั้น อีกทั้งหากวัดเป็นจำนวนปีการเรียนรู้จากอนุบาลถึงมัธยมทั้งหมด 12.7 ปี แต่การเรียนรู้ของเด็กไทยจริงๆ จะอยู่แค่ 8.7 ปีเท่านั้น

“เมื่อต้องปิดเรียนเพราะโควิดอีก ย่อมซ้ำเติมการเรียนรู้ จนเกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยมากขึ้น และเด็กนอกระบบมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น จากการประเมินในทางเศรษฐศาสตร์การหยุดเรียน 4 เดือนจะทำให้จีดีพีของไทยในปี 2100 หายไป 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ”

จากการศึกษาของสหรัฐอเมริกาพบว่า ผลกระทบจากโควิดส่งผลต่อเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต และส่งผลกระทบกับเด็กด้อยโอกาส ยากจน และเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เทียบกับไทยคล้ายกับกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ เพราะเมื่อไม่ได้มาโรงเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับครูหรือเพื่อน ทำให้ทักษะภาษาหายไป รวมทั้งทักษะคณิตศาสตร์ การอ่านที่หายไป

...

นอกจากนี้การจัดการเรียน ต้องทำแบบยืดหยุ่น มีทักษะความรู้ใหม่ๆ จัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์การศึกษาใหม่ ควรให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างการเรียนรู้ เช่น เอสโตเนีย มีการจัดที่ปรึกษาให้กับพ่อแม่ และมีนักจิตวิทยามาช่วยดูแลเด็กที่ไม่ได้มาโรงเรียน ส่วนอังกฤษ ตั้งงบ 1,000 ล้านปอนด์ ฟื้นฟูทักษะของเด็กที่หายไป พร้อมจ้างติวเตอร์มาช่วยสอนเสริม

“เมื่อเราเปิดเทอมก็อยากให้ครูให้ความสำคัญกับความรู้ที่หายไป ใส่ใจฟื้นฟูสุขภาพ กาย สุขภาพใจ อารมณ์ เด็กเล็ก เด็กเปราะบาง เด็กด้อยโอกาสที่ควรให้ความสำคัญเป็นกลุ่มแรก”.