ส่อวุ่นขึ้นทะเบียนต่างด้าว "บัตรชมพู" ขีดเส้นเสร็จก่อน 13 ก.พ. 68 นายจ้างโวยขั้นตอนยุ่งยาก รายงานตัวประเทศต้นทางเอื้อคอร์รัปชัน ชี้พม่ากลัวถูกกักตัวเกณฑ์ทหาร ด้าน ‘กระทรวงแรงงาน’ ยันระบบ MOU ไร้ปัญหา
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ร่วมกับกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว จัดเวทีเสวนา “ชำแหละมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 ก.ย. 67 การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ” เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหา ข้อกังวลใจของนายจ้างผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องการดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานตามมติ ครม.วันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา และจัดทำข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาวต่อรัฐบาลกระทรวงแรงงานต่อไป
"อดิศร เกิดมงคล" ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) มองว่า มติ ครม.วันที่ 24 ก.ย. 2567 พูดถึงคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่จะจดทะเบียนใหม่ กลุ่มนี้จะไม่มีปัญหามาก แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้นคือ ให้ดำเนินการภายใน 15 วัน รอบนี้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานคาดการณ์ว่าจะมีผู้ขึ้นทะเบียนใหม่ 4 แสนคน แต่ประเมินว่า 7 แสนคน ซึ่งอาจทำให้ระบบออนไลน์ของกระทรวงล่มได้
...
ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาคือ กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 13 ก.พ. 2568 ซึ่งในมติ ครม.ดังกล่าว ให้ทำในรูปแบบของการต่อ MOU ปัญหาคือต้องติดต่อประเทศต้นทาง ขั้นตอนคือให้นายจ้างหรือบริษัทที่นำคนต่างด้าวมาทำงาน เป็นผู้ยื่นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวในระบบ เพื่อนำบัญชีรายชื่อนี้ติดต่อกับประเทศต้นทาง ขณะนี้มี 2 ประเทศที่ตกลงว่าจะดำเนินการในประเทศไทย คือ กัมพูชา และพม่า อีก 2 ประเทศ ยังไม่ได้มีการยืนยันอะไร เท่ากับว่าต้องกลับไปทำ MOU เข้ามาใหม่ก็คือลาวกับเวียดนาม ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้จำนวนคนไม่เยอะ อาจไม่กระทบมาก แต่กัมพูชาและพม่าคนเยอะ ตรงนี้อาจมีปัญหา
ขึ้นทะเบียนแรงงานพม่าลำบาก
"อดิศร" มองว่า การดำเนินการกรณีของพม่า จะมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะว่าจำนวนแรงงานพม่าถ้าต้องดำเนินการในรอบนี้มีจำนวนกว่า 2 ล้านคน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 2.3 ล้านกว่าคน ปัญหาคือความพร้อมของประเทศต้นทาง โดยในระบบต่อ MOU มี 5 ขั้นตอน คือ 1.ยื่นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว 2.ให้กรมการจัดหางานอนุมัติบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name list) 3.ติดต่อประเทศต้นทางเพื่อจองคิว ดำเนินการรับรองเอกสารจากประเทศต้นทาง 4.ตรวจสุขภาพ ตรวจโรค ซื้อประกัน 5.ยื่นขอใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน และกรมจะออกเอกสารให้ไปขอตรวจลงตราวีซ่า ก่อนนำไปทำบัตรชมพู
ขั้นตอนทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายใน 13 ก.พ. 2568 ซึ่งเหลือเวลาน้อยมาก ปัญหาจะหนักที่แรงงานพม่า แม้ดำเนินการในประเทศ แต่มีศูนย์ดำเนินการเพียง 3 แห่งคือ สถานทูตพม่าใน กทม. สถานกงสุลพม่าที่ จ.เชียงใหม่ และระนอง มีนายจ้างทั้งหมดจำนวน 3-4 แสนคน หากนายจ้างต้องไปดำเนินการเอง แต่ละศูนย์ต้องรับภาระวันละประมาณ 1,000-3,000 คนต่อวัน โดยหลักการก็ดูเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงน่าจะเกิดปัญหาการต่อใบอนุญาตไม่ทันแน่นอน
แรงงานพม่าหวั่นเรียกตัวกลับไปเป็นทหาร
"อดิศร" กล่าวถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะพม่ามีเงื่อนไขในเรื่องการเสียภาษี 2 เปอร์เซ็นต์ ต้องแสดงหลักฐานการส่งเงินกลับบ้าน 25 เปอร์เซ็นต์ ที่ค่อนข้างยุ่งยาก ทำให้เวลาดำเนินการช้าลงด้วย นอกจากในเรื่องการตรวจโรค ตรวจสุขภาพ การเก็บข้อมูลลักษณะใบหน้าและสแกนม่านตาเพื่อระบุตัวบุคคลก็จะเพิ่มความยุ่งยากในการตรวจมากขึ้นอีก จึงประเมินว่าไม่น่าจะทันตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้
“ตัวแรงงานพม่าเองก็มีความกังวลใจ ที่ต้องไปติดต่อกับประเทศพม่า เพราะพม่ามีเงื่อนไขเกี่ยวกับแรงงานค่อนข้างเยอะ เช่น เรื่องภาษีที่ต้องเสีย ล่าสุดคือ การประกาศว่ากรณีแรงงานพม่าเข้ามาทำงานในเมืองไทยแล้วหมดสัญญา ให้บริษัทจัดหางานของพม่าสามารถเรียกคนกลับมาเป็นทหารได้ถ้าหากทางรัฐบาลต้องการ ซึ่งมีแรงงานที่หนีการเกณฑ์ทหารเข้าในไทย 1.4 ล้านคน จึงทำให้เกิดภาวะหวั่นวิตกกัน และคนยังกังวลใจว่าถ้าตัวเองอยู่ในรายชื่อที่จะถูกเรียกไปตั้งแต่ต้น ทางพม่าจะไม่อนุมัติหรือไม่ และจะทำให้เขากลายเป็นคนผิดกฎหมายทันที จึงเป็นปัญหาที่ค่อนข้างพัวพันกันพอสมควร ถ้ายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการต่ออายุแรงงาน 2 ล้านคน จะกระทบทั้งต่อความมั่นคงและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจด้วย”
...
ทางออกปิดช่องเอื้อนายหน้า
"อดิศร" กล่าวต่อว่า ข้อเสนอของเขาคือ ในเมื่อเวลามันสั้นทำไมจึงต้องเอาไปผูกกับประเทศต้นทาง ทำไมไม่ดำเนินการเองในฝั่งไทยไปเลย เพราะประเมินอย่างไรเวลาก็ไม่พอ จึงเสนอว่าให้ตัดประเทศต้นทางออก ไม่ใช่ไปง้อประเทศต้นทางอยู่ตลอดเวลา กลับมาใช้การต่อใบอนุญาตภายในประเทศแทนได้หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องไปประสานกับประเทศต้นทาง ดำเนินการในฝั่งไทยแทน
ทั้งหมดก็คือแค่ยื่นบัญชีรายชื่อขอต่อใบอนุญาตและขอต่อวีซ่าตามปกติ ขั้นตอนก็จะสั้นกระชับลงไม่ต้องรอคิวของประเทศต้นทาง ค่าใช้จ่ายก็จะถูกลง ไม่ต้องไปเสียให้กับประเทศต้นทางด้วยซึ่งนอกจากเรื่องภาษีแล้วยังไม่มีความชัดเจนว่าประเทศต้นทางจะเรียกเก็บค่าดำเนินการเท่าไร คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,500 บาท หรือมากกว่านั้น สิ่งกังวลใจคือ พอระยะเวลาจำกัด มีขั้นตอนที่ถูกบีบเช่นนี้ จะเป็นการเอื้อและเปิดช่องให้นายหน้าหรือผู้นำเข้าแรงงานหาประโยชน์จากตรงนี้และทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย เช่น มีการขายคิวเกิดขึ้น
จึงต้องมีมาตรการดูแลในเรื่องนี้ รวมถึงข้อกังวลในเรื่องการเปิดให้ซื้อประกันเอกชนได้ โดยมติ ครม.ระบุว่าสิทธิประโยชน์ที่ต้องได้จากการซื้อประกันเอกชนต้องไม่ต่ำกว่าของกระทรวงสาธารณสุข แต่ที่ผ่านมาเราพบว่าต่ำกว่าและไม่มีระบบตรวจสอบ เช่น ไม่รวมคลอดบุตร งานส่งเสริมสุขภาพ วงเงินคุ้มครองจำกัด ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อ 1 กรมธรรม์ เป็นต้น
ซึ่งพบว่าแรงงานข้ามชาติหายจากระบบประกันสังคมไป 45 เปอร์เซ็นต์ “ข้อสังเกตอีกเรื่องคือที่ผ่านมานายจ้างเจอปัญหาน้ำท่วม เกือบทั่วทุกภาค ทำให้รายได้ที่มีหายไป การมาเก็บค่าใช้จ่ายแพงขึ้นยิ่งทำให้คนไม่สามารถเข้าระบบได้เรื่อยๆ เพราะไม่มีเงินจ่าย จึงอยากให้ทำระบบให้กระชับขึ้น เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนั้นข้อเสนอคือเปลี่ยนจากระบบ MOU พิเศษให้เป็นระบบวันสต็อปเซอร์วิสแทนได้หรือไม่ เพราะจะได้ไปที่เดียวให้มันจบ ลงทะเบียนรอไว้ ไปที่วันสต็อปเซอร์วิส วันเดียวครบทุกอย่างจบเลย ไม่ต้องเสียเงินเยอะ
...
“ตัวแทนนายจ้าง” กังขาให้ประเทศต้นทางมาร่วมรีดไถเอาเงิน
นิลุบล พงษ์พยอม ตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว กล่าวว่า มติ ครม.นี้ทำให้ขั้นตอนการต่อใบอนุญาตของแรงงานมีความยุ่งยากลำบากมาก เพราะกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีการต่อในประเทศมาตลอด ประกาศตามมติ ครม. เป็นแบบเดียวกับ MOU นำเข้า ใช้ชื่อเรียกว่า PRE-MOU จะทำให้แรงงานต่างด้าวกว่า 2.3 ล้านคน ประกอบด้วยแรงงาน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่เคยทำ MOU มาก่อน รวมทั้งนายจ้าง หากจะให้ทำและเริ่มต้นตามประกาศ จะมีปัญหาตั้งแต่เอาพม่ามายุ่งเกี่ยวเป็นเงื่อนไขในการดำเนินการ
ปกติเราขอใบอนุญาตทำงาน วีซ่า ตรวจโรคแล้วจบ แต่ตอนนี้คือต้องเอาพม่ามานั่งรีดไถค่าบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว มีค่ารีดไถเกี่ยวกับเรื่องภาษีซึ่งที่นี่คือประเทศไทย ตัวแรงงานเองก็ไม่อยากมีปัญหา คือถ้ารีดไถเงินไปเพื่อสนับสนุนเกี่ยวกับการสู้รบในพม่า เขาไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเงินตรงนี้จะจ่ายและเป็นภาษีเข้าประเทศไทยแรงงานทุกคนยินยอม
“ปัญหานี้ทำให้แรงงานและนายจ้างมีความกังวล เพราะเขาไม่อยากขึ้นทะเบียนรอบนี้ ไม่อยากขึ้นทะเบียนคนเถื่อน ไม่อยากขึ้นทะเบียนใดๆ แล้ว ตอนแรกเขาตั้งใจจะขึ้นทะเบียนกันทั้งหมด แต่พอกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เอาประเทศต้นทาง เอาพม่าเข้ามาเกี่ยวข้อง เขารู้สึกไม่ปลอดภัย และคนที่บ้านเขาก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน เพราะมีการเผาบ้าน ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน เกิดขึ้น ซึ่งตัวแรงงานมาร้องขอความเห็นใจจากนายจ้างว่าไม่ขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ ทำให้เป็นปัญหากับนายจ้างอย่างมาก และตัวนายจ้างเองก็ไม่เคยต่อสัญญาการจ้างงานในรูปแบบ MOU มาก่อน ทำให้ไม่รู้ว่าจะดำเนินการหรือติดต่อสถานทูตอย่างไร และต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง” นิลุบลกล่าว
...
เราอยากให้ปรับมาใช้วิธีการที่ผ่านระบบออนไลน์แล้วเข้าศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส (OSS) ให้จบให้ง่าย ซึ่งเขาเคยทำแล้ว ทำไมตอนนี้จึงถอยหลังลงคลอง เดิมจ่ายแค่ 3,000 กว่าบาท ก็จบและได้บัตรชมพูแล้ว ไม่ต้องเอาพม่ามาทำหนังสือรับรองสถานะบุคคล (CI) ไม่ต้องเอาพม่ามารีดไถเงินที่นี่ จำนวนของแรงงานเราคำนวณจากตัวเงินที่จะต้องจ่ายค่าบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวและค่าภาษีเฉพาะประเทศพม่า ซึ่งมีแรงงานจำนวน 2 ล้านกว่าคนนั้น คำนวณแล้วเป็นตัวเงินเกือบ 1 หมื่นล้านบาทที่เราจะต้องจ่ายให้กับพม่าในราชอาณาจักรไทย ทั้ง ๆ ที่เงินก้อนนี้ควรต้องนำมาช่วยเหลือเยียวยานายจ้าง ทำให้เศรษฐกิจ ระบบการค้าในประเทศเราสามารถไปต่อได้
หากแรงงานที่ไม่เคยจ่ายอะไรเลยจะต้องจ่ายคนละ 1,950 บาท ส่วนค่า Name list ที่จะต้องจ่ายให้พม่ากระทรวงแรงงานไม่บอกว่าเท่าไร และใช้คำว่ามันเป็นเรื่องของสถานทูตพม่าที่จะจัดการ อยากถามว่าแล้วคุณเชิญเขาเข้ามาร่วมวงในการรีดไถครั้งนี้ทำไม ถ้าทำระบบวันสต็อปเซอร์วิสในระบบออนไลน์ สแกนจ่ายเงินเข้ากระทรวงแรงงานเลย แต่เขาไม่ทำ แต่ให้วิ่งไปจ่ายเงินที่กรมการจัดหางานเพื่ออะไร ตรงนี้ควรต้องตรวจสอบว่าเหตุใดไม่ให้สแกนจ่ายในระบบได้เลย เป็นข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องของการมีนอกมีในอะไรหรือไม่
เรื่องนี้สามารถขอมติ ครม.ได้ ทำไมในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร หรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี สามารถทำได้ ทำไมเสียแค่ 3,000 แล้วจบไม่ต้องจ่ายอะไรแล้ว ทุกคนขึ้นระบบถูกต้อง เราจะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าแรงงานจะมาใช้ภาษีเราหรือมาก่ออาชญากรรมใดๆ หรือไม่ กระทรวงแรงงานทำแบบนี้ เพราะคิดว่าจะเงียบไม่มีเรื่องและเก็บเงินตรงนี้ แต่สุดท้ายมันทำให้ปัญหาลุกลาม พอมีการประท้วงในกลุ่มของนายจ้าง กระทรวงแรงงานก็จะกลับลำ แต่พม่าเขาเห็นตัวเงินแล้วว่ายอดเงินเกือบ 1 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นของเขาเท่าไร ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นชนวนให้มีการยิงเรือประมงไทยหรือไม่
ตอนนี้เท่าที่ทราบทางกระทรวงมีปัญหาคือระบบไม่นิ่ง ไม่ยอมต่อในเรื่องคิวของแรงงานพม่าให้กับนายจ้าง นายจ้างมีความลำบากมากในเรื่องนี้ เพราะจำนวนแรงงานพม่าถึง 2 ล้านกว่าคน แต่ระยะเวลาเหลือไม่ถึง 40 วัน จะทำอย่างไรให้ดำเนินการได้ทัน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาคิวผี คิวส่วยวุ่นวายตามมา นำไปสู่การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายอีก โดยที่ผ่านในกรณีการทำหนังสือ CI ทราบว่ามีการเรียกเก็บส่วยค่าคิวถึง 3,800-4,000 บาท
“กระทรวงแรงงาน” มั่นใจระบบ MOU
จำนงค์ ทรงเคารพ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีมานาน มีมาเกือบทุกแบบ ขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ในขณะนั้น การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ การนำเข้าตาม MOU ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกกฎหมายเข้ามาตั้งแต่ต้นทาง แต่ปัญหาคือการลักลอบเข้าเมือง ไม่มีสถานะถูกกฎหมายตั้งแต่ต้น ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวคือให้เขาทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย
ทั้งนี้มติ ครม. นี้ไม่ใช่การต่ออายุ แต่เหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ ในกลุ่มที่จะสิ้นสุดอายุการทำงานในวันที่ 13 ก.พ. 2568
การต่ออายุหรือการขออนุญาตทำงานใหม่จึงเริ่มขึ้นหลังวันที่ 13 ก.พ. ปีหน้าเป็นต้นไป โดยวิธีการหารือประเทศต้นทางว่าเราจะทำอย่างไร ในเมื่อคนเหล่านี้อยู่ในไทยมานาน ได้รับอนุญาตมานานแล้ว เราอยากให้เขาอยู่ในไทยยาวนานกว่าเดิม ก็เลยมองถึงเรื่อง MOU เป็นความร่วมมือประเทศต้นทางและไทยในการดำเนินการ อนุญาตครั้งละ 2 ปี และต่ออายุได้อีก 2 ปี ในเรื่องการควบคุมตาม MOU นายจ้างสามารถดำเนินการได้เอง ถ้าไม่ทำเองก็ให้บริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าวดำเนินการให้ ไม่ใช่ไปมอบอำนาจให้นายหน้าเถื่อน หรือคนไม่รู้จักมาชักชวน ซึ่งตรงนี้เราไม่อนุญาตและไม่ใช่หลักการของ MOU
หากแรงงานต้องการเดินทางกลับประเทศต้นทาง ก็ไม่ได้ขัดข้อง แต่ถ้าไม่สะดวก โดยเฉพาะแรงงานพม่า ไม่ต้องกลับประเทศต้นทางเอง แต่ไปดำเนินการที่สถานทูต สถานกงสุล ใน 3 พื้นที่ คือ เชียงใหม่ ระนอง และ กทม. ซึ่งมีส่วนแยกเพื่ออำนวยความสะดวก ดำเนินการโดยทูตแรงงานเสมือน MOU จากประเทศต้นทาง ยืนยันว่าไม่ใช่ให้ตัวแรงงานต้องไปเอง แต่นายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจต้องไปตรวจสอบเซ็นสัญญาที่สถานทูตหรือสถานกงสุล
“การอำนวยความสะดวกเราใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ดำเนินการ การไปที่สถานทูตส่วนแยก ไม่จำเป็นต้องพาแรงงานต่างด้าวไป บริษัทหรือนายจ้างสามารถไปดำเนินการได้ ดูแล้วจึงไม่น่ามีข้อขัดข้องกังวลหรือห่วงใย แต่เราพร้อมรับฟังและหาแนวทางปรับปรุงหากเกิดปัญหาขึ้น โดยได้เริ่มดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา และมีการปรับปรุงกระบวนการและระบบให้ดีขึ้น หวังว่ากระบวนการต่ออายุในลักษณะ MOU จะทำให้นายจ้าง และคนงานต่างด้าวทำงานได้ต่อไป คนงานอยู่เฉยๆ ทำงานต่อไป ธุรกิจการประกอบกิจการดำเนินต่อไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร”