ปรากฏการณ์คว่ำประกาศกฎอัยการศึกของเกาหลีใต้ สั่นสะเทือนไปหลายประเทศทั่วเอเชีย โดยเฉพาะไทย ที่ถูกตั้งคำถาม ระบบการถ่วงดุลอำนาจ นักวิชาการ ชี้ทางออก ประชาชนสามารถจำกัดอำนาจฉุกเฉินของกองทัพ ภายใต้ระบบ “นิติรัฐ”
เมื่อ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา “ยุน ซอกยอล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ออกมาประกาศกฎอัยการศึก โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องเกาหลีใต้จากภัยคุกคามเกาหลีเหนือ ทำให้ประชาชนออกมาต่อต้าน และชุมนุมกันที่รัฐสภา ก่อนที่ ส.ส. จะฝ่าวงล้อมความวุ่นวาย เข้าไปโหวตยกเลิกประกาศดังกล่าว ทำให้ประธานาธิบดีต้องประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง และหลังจากนั้นมีการประกาศลาออกของบรรดาผู้นำภายในพรรครัฐบาล
เหตุการณ์คว่ำประกาศกฎอัยการศึกของเกาหลีใต้ สะท้อนมายังประเทศไทย ถูกตั้งคำถาม ถึงระบบการถ่วงดุลของประชาชน ที่ไม่อาจก้าวไปถึงแบบเกาหลีใต้หรือไม่?
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาด้านการชุมนุมสาธารณะ และการประกาศกฎอัยการศึก วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ในเกาหลีใต้ เมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน จะมีระบบที่ฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถลงความเห็นว่า เห็นชอบกับฝ่ายบริหารหรือไม่เห็นชอบได้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีระบบที่เข้มแข็ง
...
“ข้อบังคับกฎอัยการศึกของไทย มีการเขียนขึ้นก่อนยุค พ.ศ. 2475 แต่กลับยังไม่มีการแก้ไข เพื่อให้เกิดระบบการตรวจสอบก่อนการประกาศใช้ สิ่งนี้ทำให้ทุกครั้งที่เกิดการยึดอำนาจ ฝ่ายทหารจะประกาศกฎอัยการศึก และไม่ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้เริ่มต้นในการยึดอำนาจ สุดท้าย ผู้นำฝ่ายทหารก็มีอำนาจ หลังการประกาศออกมาแทบทุกครั้ง”
การประกาศกฎอัยการศึกของเกาหลีใต้ ระบบรัฐสภามีการโต้ตอบที่รวดเร็ว โดยเสียงของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างโหวตไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ชนะขาด เห็นได้ชัดว่าตัวกฎหมายของเกาหลีใต้ มีการบังคับใช้ชัดเจนตามหลักประชาธิปไตย เปิดช่องให้สามารถล้มการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดีได้รวดเร็ว
อีกประเด็นสำคัญคือ วัฒนธรรมคนเกาหลีใต้ มีความเจ็บปวดกับการออกกฎอัยการศึก ตั้งแต่ “การลุกฮือของประชาชนกวางจู” ปี 2523 มีการใช้กฎอัยการศึก เพื่อรักษาอำนาจของผู้นำเผด็จการ และหลังจากนั้นมีการประกาศอีก ประชาชนของเกาหลีใต้ ก็เริ่มลุกฮือ
น่าสนใจคือ เมื่อเริ่มมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีการห้ามชุมนุม แต่กรณีล่าสุด มีการนำทหารไปล้อมสภาเกาหลีใต้ ไม่ให้ ส.ส.เข้าไปประชุม แต่ ส.ส.มีอภิสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญที่จะเปิดประชุมฉุกเฉินได้ ด้วยความที่ระบบประชาธิปไตยที่แข็งแรง ประชาชนมีการตื่นตัว จึงสามารถเปิดประชุมได้ ซึ่งถ้าไม่เกิดการชุมนุมต่อต้าน ก็อาจเกิดการรัฐประหารสำเร็จ
ไทยกับการถ่วงดุล ประกาศกฎอัยการศึก
การประกาศกฎอัยการศึก ถ้าหันกลับมามองที่ไทยในการถ่วงดุลอำนาจ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชร์” มองว่า หากเกิดการประกาศกฎอัยการศึกแบบเดียวกับที่เกาหลีใต้ ถ้าเป็นประเทศไทย สส.ก็ไม่สามารถเข้าไปประชุมในสภาได้ ขณะที่ถ้ามีการชุมนุมก็จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิด ที่ผ่านมาบทบาทตุลาการในการจำกัดอำนาจฉุกเฉินยังมีค่อนข้างต่ำ
สิ่งที่ไทยสามารถยับยั้งการประกาศกฎอัยการศึกได้แบบเกาหลีใต้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นโครงสร้างหลักของประเทศ และต้องไปปลดล็อกหลายประเด็นที่ยังไม่เอื้อประโยชน์ให้กับระบบการถ่วงดุลอำนาจโดยประชาชน
...
การปรับเปลี่ยนบทบาทของกองทัพที่เกี่ยวกับการประกาศกฎอัยการศึกในไทย ถ้ามองในภาพรวมทั่วโลก ทุกประเทศจำเป็นต้องมีกฎอัยการศึก แต่จะใช้ในการรบหรือเกิดเหตุภัยคุกคามภายในประเทศที่เกี่ยวกับการอยู่รอดของชาติ แต่ปัญหาคือการประกาศกฎอัยการศึกต้องตรวจสอบได้และโปร่งใสมากกว่านี้
“สำหรับด้านกฎหมายที่สอดคล้อง ต้องพยายามนำกลไกของรัฐสภาเข้ามาควบคุมการใช้อำนาจฉุกเฉินให้ได้ และต้องมีการตรวจสอบจากฝ่ายอื่น”
กรณีในต่างประเทศที่สามารถยับยั้งการประกาศกฎอัยการศึกได้ เช่น เหตุการณ์ “บอริส เยลต์ซิน” ในยุคสหภาพโซเวียต มีการรัฐประหารโดยฝ่ายผู้นำทหาร มีประชาชนมาชุมนุมรอบรัฐสภา ซึ่งผู้นำทหารมีคำสั่งให้ยิงใส่ผู้ชุมนุมและทำลายรัฐสภา แต่สุดท้ายทหารไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ผู้นำรัฐประหารพ่ายแพ้
การพัฒนาระบบที่ควบคุมการประกาศกฎอัยการศึกของไทย แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งประชาชนในประเทศต้องมีความตื่นตัวและตรวจสอบระบบการใช้อำนาจให้ได้มากที่สุด.